“รถฉีดน้ำแรงดันสูง” หรือที่เรียกกันว่า “จีโน” ใช้ควบคุมฝูงชน นำเข้ามาจากประเทศเกาหลีใต้ ในราคาคันละ 25 ล้านบาท มีคุณสมบัติเด่นด้วยล้อกันกระสุน ตะแกรงป้องกันกระจกรอบคัน มีคันกั้นเหล็กหน้ารถไว้เคลียร์พื้นที่ที่อาจมีสิ่งกีดขวาง และยังมีกล้องวงจรปิดติดตั้งรอบคัน เพื่อบันทึกภาพเหตุการณ์แบบรอบทิศทาง
สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานในกรณีเกิดเหตุการณ์รุนแรง
ไม่เพียงเท่านั้น…เจ้าจีโนยังมีกระบอกฉีดน้ำตั้งตระหง่านอยู่บนหลังคารถ ซึ่งบรรจุน้ำได้มากถึง 12,000 ลิตร โดยแรงฉีดน้ำสามารถยิงระยะไกลได้สูงสุด 65 เมตรเลยทีเดียว และน้ำยังสามารถผสมใส่สี เช่น สีม่วง น้ำเงิน เขียว ทำให้สีติดตามร่างกายของผู้ถูกฉีด สามารถบ่งชี้ชัดในการแบ่งแยกกลุ่มผู้ชุมนุมออกจากประชาชน รวมไปถึงสามารถผสมแก๊สน้ำตา หรือโฟมดับไฟ ขึ้นอยู่กับว่าอยู่ในสถานการณ์ใด
หนึ่งในคำถามสำคัญที่หลายคนสงสัย “น้ำสีฟ้า” เป็นสารเคมีหรืออะไรกันแน่?
“เคมีฟิสิกส์ของสิ่งทอ อาหาร และของรอบตัว” @textile.phys.and.chem วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรม เฟซบุ๊กเพจ แหล่งข้อมูลทฤษฎีทางด้านเคมีและฟิสิกส์ของสิ่งทอและวิทยาศาสตร์นอกกระแสอื่นๆ โพสต์ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ วันที่ 1 ก.ย.2562 ขออนุญาตคัดลอกตัดตอนให้เป็นความรู้ ดังนี้
อ้างอิงถึงที่ทางการของฮ่องกงได้มีการใช้งานสีย้อมสีน้ำเงินละลายน้ำ แล้วฉีดใส่ผู้ชุมนุมประท้วงเพื่อเป็นการยืนยันตัวตนของผู้ชุมนุมได้
แบบที่เรียกว่า…เป็นหลักฐานติดตัวอย่างน้อย 3-7 วันได้เลย
แอดเห็นสีที่ละลายน้ำที่เป็นสีน้ำเงิน (Blue)…แต่คราบสีที่ติดบนผิวหนังที่เป็นสีฟ้าอมเขียว (Greenish blue) บนร่างกายของผู้ชุมนุมนั้น
คาดว่า…สีที่ว่านั้นน่าจะคือ “เมธิลลีนบลู” (Methylene Blue) หรือไม่ก็สีในกลุ่มของ Azure A, B, C หรืออาจจะเป็นสีของ “Thionine” (Lauth’s violet) ก็ได้นะครับ
โดยสีทั้งหมดในซีรีส์นี้ต่างก็เป็นสีย้อมที่มีโครงสร้างส่วนให้สี (Chromophore) เป็น “ไธอะซีน” (Thiazines) ที่มีประจุบวก (cationic dyes) ที่สามารถติดบนวัสดุโปรตีน (Protein material) ทั้งผิวหนังคน เชื้อแบคทีเรีย รวมไปถึงเส้นใยไหมและขนสัตว์ได้ดี แม้ที่อุณหภูมิห้องนะครับ
และ…เมื่อทางการของฮ่องกงได้นำมาใช้ในการละลายน้ำฉีดใส่ผู้ชุมนุมนั้น ก็สามารถที่จะทำให้สีนั้นสามารถติดบนผิวหนังได้ตามระยะเวลาประมาณ 3–7 วัน ตามแต่ความเข้มและความสามารถในการ ขัดล้างของผู้ที่โดนฉีดสีเหล่านี้ (ตามอายุของขี้ไคลและหนังกำพร้าที่เกาะอยู่บนผู้เปื้อนสี)
หลายๆคนก็คงสงสัยว่า อ้าว…แล้วสีในกลุ่มนี้จะขัดไม่ออกเลยรึ?
สีกลุ่มนี้มีสภาพประจุบวกที่แรงมากๆที่สามารถติดบนวัสดุที่มีประจุลบ ทั้งๆที่มีคราบไขมัน รวมไปถึงเกิดพันธะไอออนิกกับหมู่ “คาร์บอก-ซิเลต” (Carboxylate : –COO) ของโปรตีนได้ดีมาก จึงทำให้การชำระล้างด้วยสารซักล้างธรรมดานั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยนะครับ เว้นแต่ว่าจะขัดคราบขี้ไคลหรือหนังกำพร้าออกจนหมด
ซึ่ง…ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะมีความยากลำบากในการ ขัดออกมากๆ
แม้ว่าสีเหล่านี้จะสามารถถูกรีดักชัน (Reduction) ด้วยกลูโคสในสภาวะเบสแก่จน “สีหาย” ได้ แต่เมื่อทิ้งไว้สักพักในบรรยากาศที่มีออกซิเจนนั้น สีก็จะกลับกลายมายิ้มโชว์ความฟ้าอย่างชัดเจนอยู่ดี
ลองค้นหาคำว่า “Blue bottle experiment” ดู นอกจากนี้ สีกลุ่มนี้จะทนต่อสารฟอกขาวออกซิไดซ์ (oxidative bleaching agents) เช่น สารฟอกขาวคลอรีน และสารฟอกขาวเปอร์ออกไซด์ได้ดีมากๆเลย
คือ…ได้แต่รอให้เวลาผ่านไปจนเกิดการผลัดเซลล์ผิวหนังนั่นแหละครับ ท่านผู้ชม!
#สีน้ำเงินที่ใช้ระบุตัวตนของผู้ชุมนุม #ไม่อันตรายเท่ากับสีลิปสติกบนเสื้อผ้าคุณผู้ชายแน่นอน
บันทึกเพิ่มเติม…มีหลายท่านก็มองดูเหมือนจะเป็น “มาลาไคต์กรีน” (Malachite Green) ที่ให้สีเขียวอมฟ้า (Bluish green) ก็เป็น ไปได้นะครับ เนื่องจากเป็น Cationic dyes เช่นเดียวกัน และมีคุณสมบัติเป็น Biological staining ได้ดีเช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่ามีโครงสร้างส่วนให้สีเป็น Triarylmethane นะครับ
ตรงนี้…แอดจึงขอคาดเดาเพิ่มเป็นอีกหนึ่งตัวด้วยนะครับ แต่ถ้าหากจะย้อนกลับมามองเหตุการณ์ในบ้านเราในครั้งนี้ ไม่แน่ใจว่าจะเป็นสารตัวเดียวกันหรือไม่ ต้องมีข้อมูลที่ชัดเจนอีกทีหนึ่ง
ในปี 2556 มีข้อมูลสะท้อนออกมาว่า “รถจีโนประจัญบานม็อบ” มีการใส่แก๊สน้ำตาแบบสารเคมีใส่สีผสมน้ำฉีดใส่ผู้ชุมนุม เมื่อถูกผู้ชุมนุมจะรู้สึกแสบร้อน เหมือนโดนแก๊สน้ำตาเช่นกัน ส่วน “น้ำมีสีม่วง” ที่ใช้สำหรับควบคุมฝูงชนนั้น เป็นการใช้สีผสมลงไป เพื่อให้กลุ่มผู้ชุมนุมเกิดความกลัว และล้างออกยากเมื่อถูกตามร่างกาย
ประเด็นน่าสนใจมีอีกว่า…จากการสอบถามข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ และการค้นหาข้อมูลจากศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา (ซีดีซี) และองค์กรอาวุธเคมีระดับสากล เกี่ยวกับน้ำสีม่วง ที่ใช้ฉีดพ่นผู้ชุมนุมในหลายพื้นที่ของ กทม. ที่กลุ่มผู้ชุมนุมเชื่อว่าเป็นการนำน้ำผสมแก๊สน้ำตานั้น ในความเป็นจริงเป็นสารเคมีที่มีสีใช้ในการสลายการชุมนุม เพื่อให้ระบุตัวผู้ชุมนุมได้ง่าย เนื่องจากสีจะติดตามตัวและเสื้อผ้าทำให้ล้างออกได้ยาก
สารเคมีที่ใช้ คือ “โปแตสเซียมเปอร์แมงกาเนต (Potassium permanganate)” หรือ “ด่างทับทิม” ที่ใช้ละลายน้ำแช่ผักผลไม้ผสมกับโซเดียมไธโอซัลเฟต (Sodium thiosulphate) เพื่อให้ฉีดพ่นได้ดีขึ้น
สารเคมี 2 ชนิดนี้ เมื่อทำปฏิกิริยากันแล้ว จะทำให้เกิด “ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์” หรือ “กรดกำมะถัน” แบบเดียวกับฝนกรด ที่มีฤทธิ์ทำให้ผู้ที่สัมผัสกับสารนี้ เกิดอาการระคายเคืองเยื่อบุตา ทางเดินหายใจและเมื่อทำปฏิกิริยากับน้ำ…ก็จะกลายเป็นกรดกำมะถันอ่อนๆ ที่มีค่า Ph ประมาณ 6.5-6.9
อาจเป็นเหตุให้ “ผู้ถูกน้ำสีม่วง” จะมีอาการแสบคันตามผิวหนังได้ ข้อแนะนำ คือ ถ้าโดนน้ำสีม่วงต้องล้างน้ำ หรือเปลี่ยนเสื้อผ้าที่เปื้อนออก
เงื่อนประเด็นสงสัย สิ่งที่คาใจประชาชน ไม่ว่าจะเป็น…“น้ำสีฟ้า” มีการผสม “แก๊สน้ำตา” หรือไม่ ถ้ามีได้รับการพิสูจน์หรือยังว่าปลอดภัยและไม่มีอันตรายไปมากกว่าการระคายเคือง…แสบร้อน? หรือแม้กระทั่งอัตราส่วนในการผสมน้ำสีม่วงจะมั่นใจได้แค่ไหนว่า ตำรวจจะไม่ผสมสารจนเข้มข้นเกินกว่าที่กำหนดว่าปลอดภัย?
ประเด็นเหล่านี้ทาง “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” ก็ชี้แจงทำความเข้าใจให้ความกระจ่างไปแล้ว และยืนยันยํ้าได้อีกระดับหนึ่งก็คือ ไม่ว่าจะเป็นสารเคมี หรือสี ก่อนที่จะนำมาใช้จะต้องผ่านการตรวจสอบจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น อย. เพื่อเป็นการป้องกันการฟ้องร้องที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต.