9 วิธีรับมือ เมื่อลูกงี่เง่า งอแง เอาเเต่ใจ
9 วิธีรับมือ เมื่อลูกงี่เง่า งอแง เอาเเต่ใจ เพราะเเม้ว่าลูกจะน่ารักที่สุดในสายตาพ่อแม่อย่างเรา เเต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า ลูกก็มีวันที่เเสบ หรือผีเข้า วันที่เขางี่เงา งอแง เอาเเต่ใจ อย่างที่เราเเทบจะวีนเเตกกลางฝูงชน
สิ่งเเรกที่ต้องทำ เมื่อพ่อแม่ใกล้จะวีนเเตก
คือ สติ ค่ะ ดึงสติให้กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวไว้นะคะคุณพ่อคุณเเม่ เรื่องอายชาวบ้านอาจจะพักไว้ก่อน อย่าเพิ่งอาย เเม้จะอยากมุดดินหนีขนาดไหนก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือลูกที่เฝ้ามอง (แม้จะเหมือนการลองของมากกว่าก็ตาม) คุณพ่อคุณเเม่ต้องนิ่ง ต้องมีสติ อย่าให้อารมณ์มาอยู่เหนือเหตุผลใดๆ ทั้งปวง ระลึกเอาไว้เสมอว่าคุณโตเเล้ว คุณเป็นผู้ใหญ่เเล้ว สิ่งที่คุณทำวันนี้ ลูกจะจำเเละทำตาม หากไม่อยากมีลูกเป็นเด็กขี้เหวี่ยงขี้วีน โมโหร้าย เอาเเต่ใจ คุณพ่อคุณเเม่ต้องทำเป็นตัวอย่างค่ะ
1.เวลานอก หรือ Time out
ทำไมถึงได้ผลกับลูก กันลูกออกจากกิจกรรมที่ทำอยู่เป็นช่วงเวลาสั้นๆ (1 นาที ต่อ 1 ขวบ) ให้ลูกอยู่ในห้องเงียบๆ หรือมุมห้อง วิธีนี้นักจิตวิทยาเด็กอธิบายไว้ว่า เด็กๆ นั้นต้องการเรียกร้องความสนใจเเละอยากเป็นคนที่ควบคุมสิ่งที่เขาต้องการ การให้เวลาเงียบๆ ให้ลูกได้ใจเย็นลงเเละคิดทบทวนถึงที่เกิดขึ้น เเละให้ลูกกลับเข้ามาร่วมกิจกรรมอีกครั้งหลังจากหมดเวลา
ทำไมถึงได้ผลกับคุณ การหลบอยู่หลังประตูเพียงไม่กี่นาทีจะทำให้คุณพ่อคุณเเม่เย็นลงได้ หรือเเม้กระทั่งสำนึกผิดที่เกิดเหตุการณ์วีนเหวี่ยง คุณสามารถบอกกับลูกได้ เช่น แม่ขอโทษที่ตะโกนใส่ลูก เเม่จะเข้าห้องไปขอเวลานอก เเละเเม่จะออกมาหลังจากที่เเม่ใจเย็นลงเเล้ว ก็ยังได้นะคะ
2.จั๊กจี้
ทำไมถึงได้ผลกับลูก การจั๊กจี้ลูกนั้นช่วยให้เด็กๆ อารมณ์ดีขึ้นได้ เพราะเป็นการคลายเครียดที่ได้ผลดีค่ะ เเต่ไม่ควรใช้ในกรณีที่ลูกออกฤทธิ์เเบบลงไม้ลงมือนะคะ ในกรณีที่เด็กๆ งอแง งี่เง่า เพราะเกิดความเครียดขึ้น เช่น ต้องนั่งรถหรือเครื่องบินระยะเวลานาน เริ่มจะอารมณ์เสีย จั๊กจี้ไม่ต้องใช้อุปกรณ์เลยสักชิ้นเดียว จะช่วยให้ทั้งลูกๆ เเละคุณพ่อคุณเเม่ผ่านมันมาได้ค่ะ
ทำไมถึงได้ผลกับคุณ คงต้องยอมรับว่าเสียงหัวเราะคือการรักษาที่ดีที่สุดคือ จริงๆ เเล้วมีงานวิจัยที่บอกไว้ว่า เเม้จะเป็นเพียงความคิดถึงเรื่องที่ตลกขบขัน ร่างกายของเราก็จะหลั่งสารเอนดอร์ฟิน ที่เป็นทั้งยาเเก้ปวดตามธรรมชาติเข้าสู่กระเเสเลือด ช่วยให้คลายเครียดได้ ทั้งนี้คุณพ่อคุณเเม่ยังปรับเปลี่ยนเป็นการเล่าเรื่องตลก หรือเล่นมุกข์เเทนก็ได้ค่ะ
3.หายใจเข้าลึกๆ
ทำไมถึงได้ผลกับลูก เด็กๆ เรียนรู้เพื่อเข้าใจว่าพวกเขารู้สึกยังไง ร้อน คัน เหนื่อย พวกเขาจะเรียนรู้เพื่อรับมือกับเรื่องพวกนี้ได้ด้วยการหายใจเข้าลึกๆ ได้เช่นกันนะคะ โดยการให้ลูกหายใจเข้าลึกๆ เพื่อเป่าเทียนวันเกิด เด็กที่ไหนที่จะไม่อยากเป่าเทียน เเละในครั้งต่อไปที่ลูกจะปรี๊ดเเตก คุณพ่อคุณเเม่ก็ลองใช้คำง่ายๆ เช่น เทียน เพื่อให้เขาได้หยุดพักหายใจเข้าลึกๆ สักทีสองทีค่ะ
ทำไมถึงได้ผลกับคุณ กับผู้ใหญ่ก็ได้ผลเช่นเดียวกันค่ะ ขณะที่ลูกกำลังงี่เง่าเอาไม่อยู่เเล้ว เเทนที่คุณพ่อคุณเเม่จะตะโกนใส่ หรือผลั้งเผลอฟาดไปสักทีสองที ก็ให้คุมสติเเล้วหายใจเข้าลึกๆ สักครั้ง ลูกๆ ออกฤทธิ์เพราะหงุดหงิด คุณก็ไม่จำเป็นต้องหงุดหงิดตามลูกนี่คะ
4.ใช้คำพูดเเทน
ทำไมถึงได้ผลกับลูก สำหรับเด็กๆ ที่อยู่ในวัยหัดพูด สักประมาณ 1 ขวบ ให้คุณเเม่สอนคำที่อธิบายถึงความโกรธของเขาเเทน เช่น การบอกลูกว่า เเม่รู้ว่าหนูอารมณ์เสียเมื่อถึงเวลาที่เราต้องกลับ หรือ เเม่รู้ว่าหนูอยากได้ของเล่นชิ้นนั้น เเละหนูโกรธมากที่เเม่ไม่ซื้อให้ เด็กๆ จะเรียนรู้ถึงการพูดเพื่อเเสดงออกค่ะ มันเหมือนกับการที่ลูกๆ บอกว่า ใช่เเล้วเเม่ นั่นเเหละที่หนูรู้สึกละ
ทำไมถึงได้ผลกับคุณ สำหรับคุณพ่อคุณเเม่ การพูดออกมาดังๆ ว่า แม่โมโหเเล้วนะตอนนี้ ไม่เพียงเป็นการเเสดงออกถึงความรู้สึก เเต่มันยังเป็นการที่ลูกๆ จะเรียนรู้ได้อีกว่า เเม่รู้สึกยังไง เเละพวกเขาต้องทำยังไงต่อ อาจจะหยุดเล่นเเละเข้ามาถามไถ่คุณ หรือรู้ตัวดีว่าหากไม่หยุดการกระทำดังกล่าว เเม่จะเอาจริง เเม่จะลงโทษเเล้วนะ
5.ไปลงกับเรื่องที่สร้างสรรค์
ทำไมถึงได้ผลกับลูก เมื่อลูกหงุดหงิด ยื่นสีกับกระดาษให้ไปเลยค่ะ ลูกจะเเสดงออกผ่านรูปภาพหรือข้อความ เด็กบางคนเมื่อได้เเสดงออก อาจจะเป็นการคลี่คลายอารมณ์ด้านลบออกไปได้ ในขณะเดียวกันก็เป็นการเเสดงออกอย่างสร้างสรรค์ด้วย เเละมันก็ทำให้เด็กๆ ได้รู้ว่า คุณพ่อคุณเเม่ใส่ใจกับความรู้สึกของลูกด้วยค่ะ
ทำไมถึงได้ผลกับคุณ สำหรับผู้ใหญ่อย่างคุณพ่อคุณเเม่เเล้ว การลงอารมณ์ทั้งหมดไปกับการวาดรูป เขียนเล่าเรื่องราว หรือเล่นดนตรี ก็เป็นการปลดปล่อยอารมณ์ได้เช่นกันค่ะ
6.ให้รางวัล
ทำไมถึงได้ผลกับลูก เมื่อเด็กๆ สามารถควบคุมอารมณ์เเละพฤติกรรมของตัวเองได้ การให้รางวัลเล็กๆ น้อยๆ ไม่เสียหายค่ะ เช่น ให้ดาวสักดวง เมื่อลูกได้ 10 ดวง อาจจะพาไปเล่นของเล่นหรือเลือกหนังที่ชอบได้ หรือจะเป็นรางวัลแบบ เช่น การกอดเเน่นๆ หรือการหอมแก้มก็ได้เช่นกันนะคะ
ทำไมถึงได้ผลกับคุณ ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ชอบเมื่อได้รางวัลหากทำดี (เช่น โบนัสในที่ทำงาน) การให้รางวัลกับตัวเองก็ได้เช่นกันนะคะ สามารถใช้เทคนิคเช่นเดียวกับที่ใช้กับลูก เมื่อคุณไม่วีนไม่เหวี่ยง หรือใส่อารมณ์กับลูกได้ ก็เเหม เค้กสักชิ้น บุฟเฟต์สักมื้อ หรือกระเป๋าสักใบ ก็คุ้มอยู่นะ
7.นับถึง 10
ทำไมถึงได้ผลกับลูก การนับเลขเป็นการเตือนให้ลูกรู้ว่าพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต้องหยุดทันที ไม่งั้นจะหาว่าไม่เตือนไม่ได้นะ การนับถึง 10 หรือ 3 นี้ จะเป็นการให้เวลาลูกได้ปรับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ให้กลับมาเป็นพฤติกรรมที่คุณพ่อคุณเเม่ยอมรับได้ค่ะ
ทำไมถึงได้ผลกับคุณ วิธีนี้คือการค่อยเป็นค่อยไป ทั้งกับลูก เเละตัวคุณเอง เพราะเเม้การหยุดสิ่งเหล่านั้นทันทีจะทำได้ เเต่ก็ต้องยอมรับว่ามันทำได้ยากเหมือนกัน ดังนั้นวิธีซื้อเวลาเเบบนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ได้ผลดีเช่นเดียวกัน
8.สร้างบรรยากาศ
ทำไมถึงได้ผลกับลูก ร้องเพลงตลกๆ พูดด้วยเสียงประหลาดๆ หรือเเกล้งทำเป็นนางซินที่โดนเเม่เลี้ยงกดขี่ เป็นการสร้างบรรยากาศเเละบอกกับเด็กๆ ว่าเรื่องนี้มันไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่ขนาดนั้น หรือเลวร้ายขั้นนั้น นักจิตยาอธิบายว่า การร้องเพลงหรือสร้างบรรยากาศให้เป็นไปในด้านบวกขึ้น จะทำให้สมองของเด็กที่กำลังงานอยู่นั้นสงบลงได้ เเละเป็นการช่วยลดความตึงเครียดด้วยค่ะ
ทำไมถึงได้ผลกับคุณ การสร้างบรรยากาศให้ดีขึ้นนั้นจะเป็นการบังคับให้คุณทิ้งหน้าตาที่กำลังโกรธอยู่หรือเครียดอยู่ จะช่วยให้ตัวคุณพ่อคุณเเม่เองรู้สึกดีขึ้น ใจเย็นขึ้น เเละกลับมามีสติมากขึ้น เเม้ลูกจะยังไม่หายงี่เง่าก็ตาม
9.หาสิ่งที่ทำให้มีความสุข
ทำไมถึงได้ผลกับลูก เมื่อลูกไม่ได้ดั่งใจที่เขาต้องการ สิ่งที่ช่วยได้คือการเบี่ยงเบนความสนใจ ไปหาสิ่งที่ลูกจะโอเคมากกว่า เช่น กินของที่ชอบ หรือ อ้อมกอดจากคุณพ่อคุณเเม่ หรือ มองรูปภาพน่ารักๆ อย่างลูกเเมวตัวน้อยๆ หลังจากที่ลูกอารมณ์ดีขึ้น หรือเริ่มมีรอยยิ้มเเล้ว ค่อยมาพูดเกี่ยวกับเรื่องนั้นอีกครั้งนึงก็ได้ค่ะ
ทำไมถึงได้ผลกับคุณ นั่นก็เพราะความรู้สึกมีผลมากเมื่อเกี่ยวกับอารมณ์ค่ะ เมื่อคุณพ่อคุณเเม่จะหลุดกับสิ่งที่รุมเร้าอยู่ ง่ายที่สุดคือ หาห้องเงียบๆ เข้าไปหลับตานึกถึงอะไรสักอย่าง เช่น การคิดถึงชายหาดสวยๆ หรือทุ่งดอกไม้สุดลูกหูลูกตา สัก 30 นาที ก็ช่วยให้คลายเครียดลงไปได้เเล้วละค่ะ
ที่มา Parents
บทความที่น่าสนใจ
ตามใจไปถึงไหน เลี้ยงลูกอย่างไรให้ป่วยเป็น “โรคเอาแต่ใจตัวเอง”
วัยทอง 2 ขวบ ลูกงอแงไร้เหตุผล พัฒนาการที่แม่ต้องรู้
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!