ประกันสังคมให้สิทธิตรวจสุขภาพฟรีแล้วนะ
รู้ยัง ประกันสังคมให้สิทธิตรวจสุขภาพฟรีแล้วนะ
เมื่อวันที่ 22 ธันวาคมที่ผ่านมา นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงการเพิ่มสิทธิประโยชน์การส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคของผู้ประกันตน ว่า สปส. เล็งเห็นความสำคัญของการตรวจสุขภาพของผู้ประกันตน เนื่องจากเป็นสิทธิที่ควรได้รับ และจากมาตรา 63(2) เรื่องการตรวจสุขภาพของผู้ประกันตน ของ พ.ร.บ. ประกันสังคมฉบับแก้ไขนั้น ล่าสุด สปส. ได้จัดทำข้อกำหนดในการตรวจสุขภาพของผู้ประกันตนกว่า 12 ล้านคนแล้วเสร็จ รู้ยัง ประกันสังคมให้สิทธิตรวจสุขภาพฟรีแล้วนะ ทางคณะกรรมการการแพทย์ได้ลงนามแล้ว โดยอยู่ระหว่างประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งกำหนดไว้ว่ามีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560
นพ.สุรเดช ยังได้กล่าวอีกว่า สำหรับสิทธิประโยชน์การให้บริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ได้กำหนดให้ผู้ประกันตนทุกคน เข้ารับบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยการตรวจสุขภาพได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ต้องรับบริการในโรงพยาบาลตามสิทธิที่ผู้ประกันตนได้เลือกเอาไว้ เบื้องต้นในปีแรกคาดว่าจะใช้งบประมาณ 1,500 – 1,800 ล้านบาท โดยผู้ประกันตนที่เข้ารับบริการตรวจสุขภาพนั้น จะสามารถตรวจสุขภาพพื้นฐานได้ อาทิ ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจการทำงานของไต เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยง ภาวะผิดปกติ หรือโรค ซึ่งนำไปสู่การป้องกันการส่งเสริมสุขภาพของผู้ประกันตน หรือหากพบความผิดปกติจะได้รับการบำบัดรักษาตั้งแต่ระยะแรกตามรายการ และหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการแพทย์กำหนด ซึ่งจะดูตามอายุ และความจำเป็น อาทิ การตรวจเต้านมโดยแพทย์ หรือบุคลากรสาธารณสุข ผู้ประกันตนอายุ 30 – 39 ปี ตรวจได้ทุก 3 ปี แต่ถ้าอายุ 40 – 54 ปี ตรวจได้ทุกปี หรือการตรวจน้ำตาลในเลือด อายุ 35 – 54 ปี ตรวจทุก 3 ปี แต่ถ้าอายุ 55 ปีขึ้นไป ตรวจได้ 1 ครั้งต่อปี หรือการเอกซเรย์ทรวงอก Chest x-ray ได้ปีละ 1 ครั้งอายุ 15 ปีขึ้นไป เป็นต้น อย่าลืมไปใช้สิทธิของตัวเองกันนะคะ!
สิทธิประกันสังคม ที่ผู้ประกันตนจะได้รับมีอะไรบ้าง
สำหรับสิทธิประกันสังคม ผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุน 2 กองทุน ได้แก่ กองทุนประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทน ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกันแล้วแต่กรณี ในที่นี้จะขอพูดถึงเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ของกองทุนประกันสังคมก่อน
กรณีเจ็บป่วย
รู้ยัง ประกันสังคมให้สิทธิตรวจสุขภาพฟรีแล้วนะ
เงื่อนไข : ต้องจ่ายสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน
ในกรณีเจ็บป่วยสามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ในกรณีที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอื่นโดยที่ได้สำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปก่อน สามารถเบิกคืนจากสำนักงานประกันสังคมในอัตราที่กำหนดดังนี้
เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐ การรักษาทั้งอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย สามารถเข้ารับการรักษาได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ในกรณีเป็นผู้ป่วยนอก เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น และในกรณีเป็นผู้ป่วยใน เบิกได้ตามที่จ่ายจริง ยกเว้น ค่าห้องและค่าอาหาร เบิกได้ไม่เกินวันละ 700 บาท
เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของเอกชน กรณีผู้ป่วยนอกเบิกค่ารักษาได้ไม่เกิน 1,000 บาท กรณีผู้ป่วยใน ค่ารักษาพยาบาลกรณีไม่ได้รักษาในห้อง ICU เบิกได้ไม่เกินวันละ 2,000 บาท ค่าห้องค่าอาหารไม่เกินวันละ 700 บาท ค่าห้องกรณีรักษาในห้อง ICU เบิกได้ไม่เกินวันละ 4,500 บาท กรณีต้องผ่าตัดใหญ่เบิกได้ไม่เกินครั้งละ 8,000 – 16,000 บาทตามระยะเวลาการผ่าตัด
กรณีทันตกรรม เข้ารับบริการ ณ สถานพยาบาลที่ทำความตกลงกับสำนักงานประกันสังคม (ตรวจสอบรายชื่อสถานพยาบาลได้จาก สำนักงานประกันสังคม ) สามารถรับค่าบริการทางการแพทย์ได้ตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 900 บาทต่อปี
กรณีคลอดบุตร
เงื่อนไข: ต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนเดือนคลอดบุตร สามารถเบิกค่าคลอดบุตรได้ 13,000 บาทต่อการคลอดบุตร 1 ครั้ง (ไม่จำกัดจำนวนครั้ง) ผู้ประกันตนหญิงได้รับเงินสงเคราะห์จากการลาคลอดเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของเงินเดือนเป็นระยะเวลา 90 วัน (ใช้สิทธิได้เฉพาะบุตรคนที่ 1 และ 2 เท่านั้น) กรณีสามีและภรรยาเป็นผู้ประกันตนทั้งคู่ สามารถเลือกใช้สิทธิได้เพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
กรณีเสียชีวิต
เงื่อนไข : สาเหตุการเสียชีวิตต้องไม่เกิดจากการทำงาน และจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 1 เดือนขึ้นไปผู้จัดการศพสามารถขอค่าทำศพได้ 40,000 บาท
เงินสงเคราะห์ กองทุนประกันสังคมจะจ่ายให้บุคคลที่มีชื่อระบุอยู่ในหนังสือระบุให้เป็นผู้รับเงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตนเสียชีวิต หากไม่มีหนังสือระบุไว้ต้องนำมาเฉลี่ยให้ บิดามารดา หรือ สามีหรือภรรยา หรือบุตร ในจำนวนที่เท่ากัน ซึ่งจะได้เงินสงเคราะห์ดังนี้ หากผู้เสียชีวิตจ่ายเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 120 เดือนจะได้รับเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้าง 2 เดือน หากผู้เสียชีวิตจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ไม่ 120 เดือนขึ้นไป จะได้เงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้าง 6 เดือน
ทายาทสามารถขอรับคืนเงินกรณีชราภาพได้ภายใน 2 ปี (ดูรายละเอียดที่กรณีชราภาพ)
กรณีบำนาญชราภาพ
เงื่อนไข: ต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน (ไม่จำเป็นต้องจ่าย 180 เดือนติดต่อกัน) ถ้าจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือนจะได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือน ในอัตราร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย
ถ้าจ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือนจะได้รับการปรับเพิ่มบำนาญชราภาพอีกร้อยละ 1.5 สำหรับระยะเวลาที่จ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือนทุกๆ 12 เดือนที่จ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือนนั้น
กรณีบำเหน็จชราภาพ
เงื่อนไข: จ่ายเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน ถ้าจ่ายเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ
ถ้าจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายสมทบ พร้อมทั้งผลประโยชน์ตอบแทนที่สำนักงานประกันสังคมประกาศกำหนด
กรณีผู้รับเงินบำนาญชราภาพถึงแก่ความตายภายใน 60 เดือนนับตั้งแต่ได้สิทธิบำนาญชราภาพ จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพจำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนเสียชีวิต
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!