การฝึกลูกให้รู้จัก การเข้าห้องน้ำ ได้เองเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวค่ะ เพราะนอกจากสภาพแวดล้อม และการเลี้ยงดูของแต่ละครอบครัวจะแตกต่างกันแล้ว ลักษณะนิสัย ร่างกาย และพัฒนาการของเด็กแต่ละคน ก็ยังแตกต่างกันด้วย
คุณพ่อ – คุณแม่หลาย ๆ บ้าน มักจะเริ่มฝึกหัด การเข้าห้องน้ำให้ลูก เพื่อฝึกการขับถ่ายที่ถูกต้อง ก่อนจะต้องส่งลูกไปโรงเรียนค่ะ (โดยอาจเริ่มฝึก ให้เข้าห้องน้ำตั้งแต่ 2 – 3 ขวบขึ้นไป เมื่ออายุเพิ่มขึ้น ก็เริ่มให้เขาลองเข้าเอง โดยที่คุณพ่อคุณแม่ ยังดูแลความสะอาดให้อยู่) นั่นเองค่ะ
การที่ลูกจะต้องออกไปเผชิญโลกภายนอก โดยไม่มีคนคอยพาไปห้องน้ำ คอยเปลี่ยนผ้าอ้อม หรือล้างก้นให้แบบที่บ้านแล้ว สำหรับวิธีสังเกตง่าย ๆ ว่าลูกของเราพร้อมจะโบกมือลาผ้าอ้อมได้ตอนไหน มีหลักง่าย ๆ ดังต่อไปนี้ค่ะ
ต้องเตรียมความพร้อมอะไรบ้าง?
การสื่อสารระหว่างคุณ และลูกเป็นเรื่องที่แต่ละบ้าน และแต่ละคนมีความพร้อมแตกต่างกันไป พัฒนาการ ทางการสื่อสารของเด็กวัยเดียวกัน อาจไม่เหมือนกัน เด็กบางคนพูดได้เร็ว เด็กบางคนพูดได้ช้า แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาค่ะ เพราะการสื่อสาร ยังรวมถึงอวัจนภาษา อย่างเช่น การส่งสายตา กิริยาท่าทาง การส่งเสียงแบบต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งการสัมผัส ถ้าลูกยังพูดออกมาไม่ได้ชัดเจน ว่าปวดฉี่ หรือปวดอึ เรายังสามารถสื่อสารกัน ด้วยการทำท่าทาง หรือกำหนดสัญลักษณ์ต่าง ๆ เช่น ให้ลูกชี้ไปในทิศของห้องน้ำ ชี้ไปที่กระโถน หรือทำท่าทางที่รู้กันว่าลูกกำลังปวดฉี่ หรือปวดอึ
ความร่วมมือในที่นี้หมายถึง ทุกคนในครอบครัว ต้องร่วมมือร่วมใจกัน ด้วยวิธีการเดียวกัน เพื่อเป้าหมายเดียวกัน คุณพ่อคุณแม่รวมถึงสมาชิกท่านอื่น ๆ ในบ้านควรพูดคุยตกลงกันให้ดีค่ะ เพราะการฝึกเรื่องอะไรก็ตาม ต้องเป็นไปด้วยความสม่ำเสมอ ไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา และต้องใช้ความอดทนอย่างมาก
ในช่วงแรกที่ฝึกการเลิกใช้ผ้าอ้อม อาจจะเกิดการเลอะเทอะเปรอะเปื้อน ต้องช่วยกันทำความสะอาดบ่อยเป็นพิเศษ รวมถึงยามที่ลูกส่งสัญญาณมาว่าปวดอึ หรือปวดฉี่เราก็ต้องใช้ความรวดเร็ว เพื่อพาตัวลูกไปให้ถึงเป้าหมายอย่างทันท่วงที ฯลฯ ทีมเวิร์คที่ดี จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งค่ะ
ด่านที่ยากที่สุดในการฝึกลูกเข้าห้องน้ำ ก็คือ ช่วงที่ลูกหลับค่ะ นั่นหมายถึงสภาวะ “ฉี่รดที่นอน” ที่อาจเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง นั่นเพราะ ร่างกาย และจิตใจของลูก ยังไม่พร้อมค่ะ แต่เรื่องการเข้าห้องน้ำได้ หรือไม่ได้นั้น ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายนะคะ คุณพ่อ – คุณแม่ควรทำใจให้สบาย ค่อยเป็นค่อยไป ไม่ต้องเครียดกังวล และกดดันจนเกินไป เมื่อถึงเวลาที่กาย และใจพร้อมคุณลูก ก็จะสามารถทำได้เองค่ะ ขอเพียงมีกำลังใจ และการสนับสนุนที่ดีจากทุกคนในครอบครัว
เทคนิคบอกลาผ้าอ้อมโดยไว
- หมั่นพาลูกน้อยเข้าห้องน้ำ เช่น ทุก ๆ 1 – 2 ชั่วโมง เพื่อสร้างความคุ้นเคย และเกิดวินัย ว่าถ้าลูกต้องการขับถ่ายต้องไปที่ห้องน้ำ
- หาหนังสือนิทาน ที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับการฝึกเข้าห้องน้ำ มาอ่านให้ลูกฟังเป็นการสร้างพื้นฐานความเข้าใจด้วยทัศนคติที่ดี
- เริ่มฝึกช่วงกลางวันก่อน เพราะคุณพ่อ – คุณแม่ สามารถช่วยเหลือ ดูแลอย่างใกล้ชิด ได้สะดวกกว่า เมื่อสามารถเลิกใช้ผ้าอ้อม ช่วงกลางวันได้ นั่นหมายถึงลูกมีทักษะ และความเข้าใจเรื่องการเข้าห้องน้ำในระดับหนึ่ง แล้วจึงฝึกเลิกผ้าอ้อมในช่วงกลางคืนต่อไป
- การฝึกเลิกผ้าอ้อมช่วงกลางคืน หรือช่วงที่นอนหลับ เป็นเรื่องที่ต้องใช้ความอดทนมากนะคะ เพราะลูกอาจเผลอปัสสาวะในขณะที่หลับ เพราะความเคยชิน คุณพ่อคุณแม่ต้องอดทน เตรียมพร้อมรับมือ และไม่กดดันลูกจนเกินไป ควรงดดื่มน้ำเยอะก่อนเข้านอน เพื่อลดอาการปวดปัสสาวะด้วยค่ะ
อุปกรณ์ที่ใช้ในการฝึกเข้าห้องน้ำ มี 2 ชนิดที่นิยมใช้กัน
- กระโถนขนาดเล็กสำหรับเด็ก จะมีกระโถนตั้งอยู่บนขาตั้งเล็ก ๆ ที่มีลักษณะเหมือนเก้าอี้ และสามารถเอาส่วนกระโถนออกเพื่อไปเทในห้องน้ำได้ หลังจากทำธุระเสร็จ
- ฝารองนั่งชักโครกขนาดเล็กสำหรับเด็ก ที่สามารถเอาไปวางไว้บนชักโครกขนาดปกติ เพื่อให้เด็กนั่งได้อย่างปลอดภัยโดยไม่รู้สึกกลัวว่าจะตกลงไป ถ้าผู้ปกครองเลือกอุปกรณ์ชนิดนี้ในการฝึก จำเป็นต้องมีอุปกรณ์เสริม เช่น เก้าอี้ เพื่อให้เด็กสามารถก้าวขึ้นไปนั่งบนชักโครกเองได้ และใช้วางขาในขณะนั่งทำธุระบนชักโครกเพื่อให้ท่าการขับถ่าย และลำไส้อยู่ในมุมที่ถูกต้อง
กางเกงสำหรับฝึกเข้าห้องน้ำ
กางเกงสำหรับฝึกเข้าห้องน้ำนั้น มีประโยชน์มาก ในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากการใส่ผ้าอ้อมมาเป็นกางเกงชั้นใน เมื่อเด็กไม่ฉี่ หรือถ่ายในขณะที่ใส่กางเกงสำหรับฝึกเข้าห้องน้ำเป็นเวลา 2 – 3 วัน แสดงว่าพวกเขาพร้อมที่จะใส่กางเกงชั้นใน แทนผ้าอ้อมอย่างสมบูรณ์แล้ว แต่ก็มีบางความเห็น ที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้กางเกงสำหรับฝึกเข้าห้องน้ำ
ผู้ปกครองควรใส่ใจ และสังเกตอาการของลูกน้อย เมื่อเริ่มปล่อยให้ฝึกเข้าห้องน้ำเอง ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับการพัฒนาการของเด็กแต่ละคน ว่าสามารถพัฒนาการของร่างกาย ความพร้อม และจิตใจไปได้เร็วแค่ไหนต่อการช่วยเหลือตัวเอง
ที่มา : kidshealth.org , babylove.co.th
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
5 วิธีสอนลูกนั่งกระโถน ลูกชอบถ่ายใส่ผ้าอ้อม ไม่ยอมเข้าห้องน้ำทำไงดี?
สกัดจุด หยุดเชื้อรา ตัวร้ายในห้องน้ำ เพื่อสุขภาพของลูกรัก
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!