โรคสะพั้น คืออะไร
ในสมัยก่อนทารกแรกเกิดเสียชีวิตด้วยโรคสะพั้นกันมาก เนื่องจาก การคลอดตามบ้านโดยใช้อุปกรณ์ที่ไม่สะอาดตัดสายสะดือ รวมถึงการดูแลสะดือเด็กแรกเกิดที่ไม่ถูกต้อง ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายผ่านทางสะดือของเด็กแรกเกิด โดยเด็กจะมีอาการดูดนมไม่ได้ ขากรรไกรแข็ง ชักหลังแอ่น ในช่วงหลังคลอด 5-10 วัน และเสียชีวิตภายในไม่กี่วัน ซึ่งอาการที่ว่านี้ เป็นอาการของโรคบาดทะยักในเด็กแรกเกิดนั่นเอง
สาเหตุ โรคบาดทะยักในเด็กแรกเกิด
เชื้อบาดทะยักเป็นเชื้อที่อยู่ในลำไส้ของวัว ควาย เมื่อสัตว์ถ่ายมูลลงที่พื้นดิน เชื้อบาดทะยักก็จะกระจายอยู่ในดินและฝุ่นละออง โดยสามารถมีชีวิตอยู่ได้เป็นปีๆ และเจริญเติบโตได้ดีในที่ที่มีออกซิเจนน้อย แม้มันจะถูกต้มให้เดือดก็ยังไม่สามารถกำจัดเชื้อบาดทะยักให้หมด
ในสมัยก่อนคนในชนบทคลอดลูกที่บ้าน หรือทำคลอดด้วยหมอตำแย เมื่อเด็กคลอดออกมาก็เอาสายสะดือพาดบนก้อนดิน แล้วใช้ไม้เรียวไผ่เฉือนตัดสายสะดือบนก้อนดินจนกว่าจะขาด แล้วก็ใช้ยาผงโรงสะดือเพื่อให้เลือดหยุด
การตัดสายสะดือบนก้อนดินเช่นนี้ทำให้เชื้อบาดทะยักจากก้อนดินเข้าไปในสะดือเด็กได้ง่าย และการโรยผงบนสะดือ อาจยิ่งทำให้อาการรุนแรงขึ้น เพราะผงยาจะไปขัดขวางไม่ให้ออกซิเจนเข้าถึงเชื้อบาดทะยัก ยิ่งมีออกซิเจนน้อยเชื้อบาดทะยักก็จะยิ่งเจริญเติบโตได้ดี ตามที่ได้กล่าวมาแล้วค่ะ
บทความแนะนำ 5 สิ่งห้ามใช้กับสะดือเด็กแรกเกิด
อาการ โรคบาดทะยักในเด็กแรกเกิด
ในช่วงหลังคลอด 5-10 วัน เด็กแรกเกิดที่ติดเชื้อบาดทะยักมักจะแสดงอาการดังต่อไปนี้
- ร้องกวน ไม่ยอมดูดนม ขากรรไกรแข็ง กลืนลำบาก ขยับปากไม่ได้ ยิ้มแสยะ
- ชักเกร็งกล้ามเนื้อทุกส่วน แขนขา หน้าอก คอ หน้าท้อง หลัง ทำให้มีอาการคอแข็ง ท้องแข็ง หลังแอ่น
- ในขณะที่มีอาการหดเกร็งและแข็งตัวของกล้ามเนื้อ ทารกจะยังมีสติรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลา ต่างจากโรคลมชัก โรคสมองอักเสบ และเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่ผู้ป่วยจะไม่ค่อยรู้สึกตัว
- ถ้ากล้ามเนื้อหดเกร็งและแข็งตัวเป็นเวลานาน ทำให้ขาดอากาศและตัวเขียว กล้ามเนื้อที่ช่วยในการหายใจทำหน้าที่ตามปกติไม่ได้ หลอดลมหดเกร็ง จนเกิดภาวะหายใจล้มเหลวตามมาและเสียชีวิตในที่สุด
การป้องกัน โรคบาดทะยักในทารกแรกเกิด
ในปัจจุบัน คนส่วนใหญ่คลอดบุตรในโรงพยาบาล ไม่ได้คลอดตามบ้านเหมือนแต่ก่อน รวมทั้งมีการดูแลสะดือทารกอย่างถูกต้องมากขึ้น โรคบาดทะยักในเด็กแรกเกิด จึงพบน้อยลงมาก แต่บาดทะยักเป็นโรคติดเชื้อที่อันตรายและรุนแรงมาก การป้องกันจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดค่ะ
- ตัดสายสะดือด้วยอุปกรณ์ที่สะอาดปลอดภัย หากเกิดเหตุฉุกเฉินที่ทำให้คุณแม่ไม่สามารถไปคลอดที่โรงพยาบาลได้ทัน ควรใช้มีดเผาไฟเพื่อฆ่าเชื้อเสียก่อน จากนั้นทิ้งไว้ในอากาศให้เย็นแล้วค่อยตัดสายสะดือ โดยไม่ให้สะดือเด็กไปถูกสิ่งอื่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาผงโรงสะดือทารกแรกเกิด เมื่อตัดสายสะดือเรียบร้อยแล้ว ให้ใช้ เจ็นเชี่ยน ไวโอเล็ทซึ่งเป็นยาสีม่วงสำหรับป้ายลิ้นเด็ก เวลาที่ลิ้นเป็นฝ้าขาวทาที่สะดือ เมื่อยาแห้งแล้วจึงค่อยใส่เสื้อผ้าให้ทารก วิธีนี้สะดือจะสะอาดปราศจากเชื้อโรค ไม่เป็นบาดทะยัก
- ให้คุณแม่ท้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก เพื่อที่จะสร้างภูมิคุ้มกันส่งต่อไปยังลูกน้อยในท้อง
- เด็กเล็กควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ซึ่งรวมอยู่ในเข็มเดียวกัน ตั้งแต่อายุได้ 2, 4 และ 6 เดือน และฉีดกระตุ้นเมื่ออายุ 4 ปี ต่อไปฉีดกระตุ้นเฉพาะวัคซีนป้องกันบาดทะยักทุก 10 ปี
คุณแม่ท้องและคุณแม่ที่มีลูกแรกเกิดจึงไม่ควรพลาดการฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักตามกำหนด เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดจากการติดเชื้อบาดทะยักนะคะ ป้องกันไว้ปลอดภัย อุ่นใจกว่าค่ะ
ที่มา www.doctor.or.th/article/detail/5063
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
วัคซีนป้องกันบาดทะยักสำคัญอย่างไรเมื่อตั้งครรภ์
รู้หรือไม่ การฉีดวัคซีนโรคไอกรนนั้นสำคัญไฉน
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!