คุณแม่ท่านนี้ได้โพสต์เล่าประสบการณ์ผ่านเพจดังอย่าง Herkid รวมพลคนเห่อลูก ถึงอาการของลูกชายว่า ภายหลังจากที่น้องเกิดได้เพียงแค่ 26 วันก็ต้องกลับเข้าโรงพยาบาลอีกครั้ง เนื่องจากน้องมีอาการใบหน้าเขียวคล้ำเวลาไอ
เมื่อมาถึงโรงพยาบาล คุณหมอรีบให้นอนโรงพยาบาลและตรวจน้องอย่างละเอียด จนพบว่าน้องมีเม็ดเลือดขาวสูงมากถึง 24,700 เลยทีเดียว จากวันนั้นถึงวันนี้ น้องก็ยังคงต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล แต่คุณหมอได้อนุญาตให้น้องออกมานอนพักฟื้นอยู่ในห้องปลอดเชื้อได้แล้ว
ตอนนี้น้องทานนมแม่เก่งมาก น้ำหนักขึ้นอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่อาการก็ยังคงทรงตัว บางวันน้องก็ไม่ไอเลย แต่บางวันน้องก็ยังคงมีอาการไอและหน้าเขียวอยู่ ทั้งคุณพ่อและคุณแม่ได้แต่เฝ้าหวังว่า น้องจะดีขึ้น และสามารถออกจากโรงพยาบาลได้โดยเร็ว
ทีมงานดิเอเชี่ยนพาเร้นท์ทุกคนขอเป็นกำลังใจและภาวนาให้น้องหายไว ๆ นะคะ และเนื่องจากโรคไอกรนในเด็กเล็กนั้น เป็นอีกโรคนึงที่คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยระวัง ซึ่งคุณแม่สามารถทำความรู้จักกับโรคไอกรนกันได้ที่หน้าถัดไปค่ะ
ไอกรน (Pertussis) เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ ทำให้มีอาการอักเสบของเยื่อบุทางเดินหายใจ และเกิดอาการไอที่มีลักษณะไอซ้อน ๆ ติด ๆ กัน 5-10 ครั้ง หรือมากกว่านั้น ทำให้เด็กหายใจไม่ทัน เสียงไอของโรคนี้เป็นการไอที่มีเอกลักษณ์ โดยมีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Whooping cough เป็นการไอลึก ๆ เป็นเสียงวู้ป สลับกับการไอเป็นชุด ๆ บางครั้งอาจมีอาการเรื้อรังนาน 2-3 เดือน
สาเหตุการเกิดโรคไอกรน นั้นเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ Bordettella โรคนี้ติดต่อกันง่ายมาก โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีภูมิต้านทานจะติดเชื้อโรคจากผู้ป่วยที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันมีโอกาสมากถึง 80 – 100% ถึงแม้จะมีภูมิต้านทานก็ยังมีโอกาสติดเชื้อได้ถึง 20 % โดยเชื้อโรคจะแพร่กระจายอยู่ในละอองของเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย และจะติดต่อไปยังผู้อื่นต่อไป ไอกรนจะพบได้บ่อยในเด็ก ส่วนใหญ่จะติดเชื้อมาจากผู้ใหญ่ในครอบครัว โรคไอกรนเป็นได้ตั้งแต่เดือนแรก เนื่องจากภูมิคุ้มกันจากแม่ผ่านมายังลูกไม่ได้หรือได้น้อยมาก ในเด็กเล็กอาการจะรุนแรงมากและมีอัตราการตายสูง ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่มีอาการรุนแรงและมีโอกาสเสี่ยงเสียชีวิตมักจะเป็นเด็ก อายุต่ำกว่า 1 ปี
อาการของโรคไอกรน แบ่งออกเป็น 3 ระยะด้วยกันดังนี้
1.ระยะแรก เด็กจะเริ่มมีน้ำมูก และไอ อาการเริ่มแรกดูเหมือนเป็นหวัดธรรมดา อาจมีไข้ต่ำ ๆ ตาแดง น้ำตาไหล อาการเช่นนี้จะเป็นอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ระยะนี้จะยังวินิจฉัยโรคไอกรนยังไม่ได้ แต่มีข้อสังเกตว่าไอนานเกิน 10 วัน และไอแบบแห้ง ๆ
2.ระยะไอ หรือระยะอาการกำเริบ เป็นระยะที่มีอาการไอเด่นชัด มีอาการไอเป็นชุด ๆ ไม่มีเสมหะ จะเริ่มมีลักษณะอาการไอกรน คือ มีอาการไอถี่ ๆ ติดกันเป็นชุด 5-10 ครั้ง ตามด้วยการหายใจเข้าอย่างแรงจนเกิดเสียง “วู้ป” (Whoop) เป็นเสียงการดูดลมเข้าอย่างแรง ในช่วงที่ไอผู้ป่วยจะหน้าแดง น้ำมูก น้ำตาไหล เส้นเลือดที่คอโป่งพอง การไอเป็นกลไกของร่างกายที่ขับเสมหะที่เหนียวข้นในทางเดินหายใจออกมา ผู้ป่วยจะไอติดต่อกันไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะขับเสมหะที่เหนียวข้นออกมา ในเด็กเล็กอาจจะไอจนหน้าเขียว เพราะหายใจไม่ทัน ซึ่งอาการหน้าเขียวอาจเกิดจากเสมหะอุดตันทางเดินหายใจ ส่วนใหญ่ในเด็กเล็กจะมีอาการอาเจียนตามหลังการไอเป็นชุด ๆ อาการเช่นนี้จะเป็นอยู่ประมาณ 2-4 สัปดาห์
3.ระยะฟื้นตัว หรือระยะพักฟื้น ระยะนี้กินเวลาตั้งแต่ 1 – 3 เดือน เป็นระยะที่อาการไอจะค่อย ๆ ทุเลาลงจนหายในที่สุด
คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปหาหมอเมื่อลูกมีอาการดังนี้
1.ผู้ที่อาการชัดเจนว่าเป็นไอกรน คือ มีอาการไอเป็นชุด ๆ ช่วงสุดท้ายมีเสียงดังวู้ป หรือหลังไอมีอาการอาเจียนตามมาและมีไข้ ให้รีบพบแพทย์โดยเร็ว
2.ในกรณีที่อาการไม่ชัดเจน แต่ไอติดต่อกันมาประมาณ 2 สัปดาห์ ควรพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและรักษาต่อไป
3.ถ้าในบ้านของผู้ป่วยมีทารกอายุต่ำกว่า 1 ปี หรือมีผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคไอกรนกับบุคคลเหล่านี้ ผู้ป่วยควรแยกน้ำดื่ม อาหารการกิน ของใช้ส่วนตัว และแยกห้องนอนจนกว่าจะผู้ป่วยจะได้รับยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อไปแล้วมากกว่า 5 วัน
การรักษาโรคไอกรน คือ การให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และรักษาแบบประคับประคองตามอาการ
1.ผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง จะรักษาแบบให้ยาปฏิชีวนะแบบรับประทาน สำหรับยาแก้ไอไม่ได้ช่วยในการรักษาหรือบรรเทาอาการไอ จึงไม่จำเป็นต้องใช้
2.สำหรับเด็กทารกและผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล เพื่อดูแลเกี่ยวกับเรื่องระบบทางเดินหายใจไม่ให้ร่างกายขาดออกซิเจน ในบางครั้งอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และต้องแยกห้องผู้ป่วยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
การป้องกันโรคไอกรน
1.โรคไอกรนมีวัคซีนสำหรับป้องกัน ในเด็กเล็กต้องได้รับการฉีดวัคซีนช่วงอายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน 15 – 18 เดือน ในรูปของวัคซีนรวม คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก หลังจากนั้นเมื่ออายุ 4 – 6 ปี ให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นอีก 1 ครั้ง
2.ในช่วงอายุ 11-12 ปี ปกติเด็กควรจะได้รับวัคซีนรวม คอตีบ บาดทะยัก กระตุ้นอีก 1 เข็ม แต่ผู้เชี่ยวชาญบางท่านจะแนะนำให้ฉีดวัคซีนรวมคอตีบไอกรน บาดทะยัก แทนการฉีดวัคซีนคอตีบ บาดทะยัก
3.สำหรับแม่ตั้งครรภ์ ควรได้รับการฉีควัคซีนไอกรน เพราะช่วยป้องกันโรคไอกรนในแม่และลูกที่คลอดมา ซึ่งเป็นที่รู้ว่า เกินร้อยละ 50 ของลูกที่ป่วยเป็นโรคไอกรน ติดมาจากเชื้อโรคไอกรนในแม่ ซึ่งหากลูกเป็นโรคไอกรนใน 3 เดือนแรก ลูกมีโอกาสเจ็บป่วยรุนแรงจนเสียชีวิต แต่หากฉีดวัคซีนไอกรนให้แม่ สามารถป้องกันโรคไอกรนในลูกที่คลอดออกมาได้ตั้งแต่ 2-6 เดือน
ที่มา: Herkid รวมพลคนเห่อลูก
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
อาการไอของลูก บอกอะไรได้บ้าง
อย่าเขย่าลูก ถ้าไม่อยากเสียใจไปตลอดชีวิต
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!