ถึงแม้ว่าปัจจัยที่ไม่เอื้อต่อการให้ลูกได้ดูดนมจากเต้าไม่ใช่แค่เรื่องสองเรื่อง นับตั้งแต่ที่คุณแม่มองว่าน้ำนมตัวเองมีไม่พอสำหรับลูก การที่จะต้องกลับไปทำงานต่อหลังเลี้ยงลูก 3 เดือน สถานที่ต่อการให้ลูกดูดนมยังไม่เอื้ออำนวย การไม่สะดวกให้นมในที่สาธารณะ ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้ล้วนทำให้คุณแม่ “น้ำนมลด” ได้ ดังนั้นถ้าคุณแม่พร้อมที่จะให้ลูกกินนมแม่ เรื่องน้ำนมน้อยแก้ได้ด้วย เทคนิค 4 ดูด นี้
เทคนิค 4 ดูด ให้ “นมแม่” มามาก
#1 ดูดเร็ว
สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับทารกแรกเกิดคือ คุณแม่ควรให้ลูกได้ดูดนมแม่โดยเริ่มให้เร็วที่สุดตั้งแต่หลังคลอด เพราะน้ำนมแรกหรือที่เรียกกันว่า น้ำนมเหลือง นั้นสำคัญต่อลูกที่สุด ยิ่งให้ลูกดูดมากเท่าไหร่ยิ่งเป็นผลดี เพราะจะมีภูมิต้านทานโรคจากนมแม่นานาชนิดที่จะช่วยทำให้ทารกแข็งแรง
#2 ดูดบ่อย
การให้ลูกดูดนมบ่อยน้ำนมจะช่วยกระตุ้นให้ต่อมน้ำนมผลิตออกมามากขึ้น คุณแม่มือใหม่อาจจะรู้สึกว่าน้ำนมยังมีน้อยหรือมาไม่เยอะ ซึ่งเป็นปกติของการให้นมช่วงสัปดาห์แรก ๆ หลังคลอด แต่ถ้าขยันเอาลูกเข้าเต้าให้บ่อยครั้งอย่างสม่ำเสมอ กลไกการหลั่งน้ำนม จะทำหน้าที่ขึ้นมา เมื่อมีน้ำนมมากลูกจะดูดเรื่อย ๆ จนคุณแม่เริ่มเจ็บเต้า ก็ควรสลับเต้าให้ลูกได้ดูด แต่สำหรับแม่มือใหม่ที่ยังไม่ชำนาญ สามารถหัดกระตุ้นน้ำนมได้ด้วยการใช้มือนวดคลึงหัวนมเบา ๆ อย่าเพิ่งไปเครียดว่าน้ำนมมีน้อย การให้ลูกดูดบ่อย ๆ ก็จะรู้จังหวะ เพราะยิ่งเครียดและความกังวล จะทำให้กลไกการหลั่งน้ำนมไม่ทำงาน น้ำนมยิ่งไหลน้อยนะคะ
#3 ดูดให้ถูกวิธี
โดยขยับปากหรือค่อย ๆ แตะที่ปากทารกเบา ๆ เพื่อให้ลูกดูดลึกถึงลานนม ให้เหงือกลูกกดรีดลงบนกระเปาะน้ำนมใต้ลานนม ลิ้นอยู่ใต้ลานนม ริมฝีปากของลูกไม่เม้มเข้า ขณะดูดเหงือกจะขยับเข้าหากันกดบนลานนมเป็นจังหวะ เมื่อลูกดูดนมอย่างถูกวิธี แก้มป่องทั้งสองข้างและได้ยินเสียงกลืนน้ำนมเบา ๆ
อ่านเทคนิค 4 ดูดและข้อสังเกตว่าลูกน้อยจะดูดนมอิ่มได้อย่างไร หน้าถัดไปค่ะ >>
#4 ดูดให้เกลี้ยงเต้า
คือการให้ลูกดูดจนรู้สึกว่าเต้านิ่ม หรือให้ดูดข้างละไม่ต่ำกว่า 10 – 20 นาที หากลูกดูดไม่อิ่มก็สลับข้างที่เหลือ โดยทั่วไปให้ทารกจะดูดนมแม่ 8 – 12 ครั้งต่อวัน และมื้อต่อไปให้เริ่มจากเต้าข้างที่เหลือเพื่อให้เกิดการระบายน้ำนมหรือไม่ให้คุณแม่คัดเต้าจนรู้สึกเจ็บ เพราะถ้าหากปล่อยให้เต้าเต็มบ่อย ๆ จะเป็นการส่งสัญญาณว่าความต้องการน้ำนมลดลง และทำให้ร่างกายจะผลิตน้ำนมลดลง ดังนั้นการให้ลูกดูดเกลี้ยงเต้าไม่ได้หมายถึง “เกลี้ยงเต้า” จริง ๆ เนื่องจากร่างกายแม่ให้นมนั้นจะมีการผลิตน้ำนมอยู่ตลอดเวลา แต่เป็นการให้ลูกได้ดูดนมเพื่อร่างกายจะผลิตน้ำนมใหม่มาแทนที่นั่นเอง
หลังให้นมจะรู้ได้อย่างว่าลูกอิ่มหรือไม่อิ่มได้ง่าย ๆ โดยสังเกตได้จากเต้านมแม่ที่จะคัดตึงก่อนให้นมและนิ่มลงหลังให้นมแม่ แม่อาจจะได้ยินเสียงกลืนนมของทารก หลังกินนมอิ่มลูกน้อยจะนอนสงบ หลับสบาย ไม่ตื่นร้องหิวระหว่างมื้อนม ภายใน 24 ชั่วโมงลูกน้อยจะปัสสาวะ 6 ครั้งขึ้นไป และอุจจาระ 4 – 8 ครั้ง ทารกที่กินนมแม่จะมีน้ำหนักขึ้นโดยเฉลี่ย 18 – 30 กรัมต่อวัน หรือ 125 – 210 กรัมต่อสัปดาห์
นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า “การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือน และเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ร่วมกับอาหารอื่นตั้งแต่อายุ 6 เดือน – 2 ปี ตามคำแนะนำองค์การอนามัยโลกด้วย จะทำให้ลูกได้รับสารอาหารกว่า 200 ชนิด ช่วยเพิ่มภูมิต้านทาน ไม่เจ็บป่วยง่าย โดยคุณภาพของน้ำนมแม่นั้นจะขึ้นอยู่กับอาหารที่แม่รับประทานด้วย ทั้งนี้ สมองเด็กจะพัฒนาการเร็วที่สุดในขวบปีแรก หากแม่ได้รับอาหารที่มีคุณค่าครบถ้วนตามลูกก็จะได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ มีสติปัญญาดี รวมทั้งการอุ้มกอดสัมผัสตัวขณะดูดนมจากอกแม่จะช่วยให้ลูกได้รับความอบอุ่นและเกิดสายสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างแม่ลูกที่ดีด้วย”
ที่มา : manager.co.th
บทความอื่นที่น่าสนใจ :
“ให้ลูกดูดเต้าเท่าไหร่ถึงพอ บ่อยแค่ไหน นานเท่าไหร่” กับอีกสารพัดเรื่องเกี่ยวกับ “นมแม่”
คู่มือปั๊มนมสำหรับคุณแม่ที่ลูกดูดนมจากเต้า อยากสะสมน้ำนม จะเริ่มปั๊มนมเมื่อไหร่ดี
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!