คุณแม่อาจจะสงสัยว่า “ทารกหรือเด็กเล็ก ๆ ตัวแค่นี้เนี้ยนะ เครียดเป็นด้วยเหรอ” ใช่แล้วละครับ! เห็นตัวเล็ก ๆ แบบนี้ผมก็มีหัวใจนะครับ…แหม! แต่สิ่งที่ผมเป็นนั้น เค้าเรียกกันในศัพท์ทางการแพทย์ที่รู้จักกันดีว่า “ภาวะเครียดในเด็ก” ฟังดูแล้วเริ่มที่จะซีเรียสกันแล้วใช่ไหมละครับ … แต่ไม่ต้องกังวลไปหรอกครับ วันนี้ผมจะมาอธิบายถึง ภาวะเครียดในเด็กให้ฟังว่าจะมีวิธีการสังเกตพร้อมกับวิธีแก้ไขอย่างไรกันบ้าง
จริง ๆ แล้วไม่ว่าจะทารกหรือเด็กเล็กก็สามารถมีความเครียดด้วยกันทั้งนั้นละครับ ซึ่งความเครียดเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วมักจะเกิดจากสิ่งแวดล้อมทั้งภายในบ้านและนอกบ้านครับ ยกตัวอย่างเช่น
- ความเครียดที่เกิดจากครอบครัว ทุกครั้งเวลาที่คนในบ้านหรือคุณพ่อคุณแม่ ทะเลาะหรือลงไม้ลงมือกันต่อหน้าพวกผม พวกผมจะรู้สึกกลัว และรู้สึกว่าที่เป็นเช่นนี้ เป็นเพราะคุณพ่อคุณแม่ไม่รักกันแล้วหรือว่าไม่รักพวกผมแล้วกันแน่
- ความเครียดอันเกิดจากโรงเรียน พวกผมรู้ว่า เมื่อถึงเวลาพวกผมก็ต้องไปโรงเรียน และนั่นแหละคือเหตุผมที่ทำให้พวกผมรู้สึกเครียด ๆ ที่ต้องอยู่กับคนแปลกหน้า เครียดที่ต้องห่างจากคุณพ่อและคุณแม่ เป็นต้น
- ความเครียดอันเกิดจากปัญหาทางด้านสุขภาพ อย่าคิดว่าเวลาที่พวกผมไม่สบายแล้วพวกผมจะไม่เครียดนะครับ พวกผมก็เครียดไม่แพ้คุณพ่อคุณแม่หรอก เพราะนั่นหมายถึงพวกผมจะทานอะไรไม่ค่อยได้ นอนก็ไม่ค่อยหลับ แถมยังกลัวโดนคุณหมอจับฉีดยาเจ็บ ๆ อีก
วิธีการสังเกตว่าเมื่อไหร่ที่ทารกและเด็กเล็ก ๆ อย่างพวกผมเกิดความเครียด
– ร้องไห้งอแงหงุดหงิด ไม่เชื่อฟังพ่อแม่จนกลายเป็นเด็กดื้อ
– มีพฤติกรรมที่ผิดแปลก เช่น ดูดนิ้วมือ ดึงผม เช็ดจมูก
– มีอาการปวดท้อง ปวดศีรษะ อาเจียน
– นอนหลับยาก ตื่นนอนในเวลากลางคืน ละเมอเดิน ปัสสาวะรดที่นอน
– บางคนอาจแสดงออกถึงความไม่มั่นใจในตนเอง ไม่กล้าแสดงออก เอาแต่ใจตนเอง
– แยกตัวไปอยู่ตามลำพัง เก็บตัว และอาจมีอาการซึมเศร้า
– เด็กมีลักษณะไม่นิ่ง บางคนอาจอาละวาดไม่ยอมหยุด ไม่มีเหตุผล
– เด็กเริ่มโกหก นิสัยก้าวร้าวรุนแรงมากขึ้น จะพบในเด็กที่โตขึ้น
– ในบางคนที่มีภาวะสมาธิสั้นอยู่แล้วจะทำให้มีอาการมากขึ้น ซึ่งอาการต่าง ๆ เหล่านี้จะมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่มากระตุ้น และวิธีการปรับตัวของเด็ก
วิธีการลดความเครียดให้กับเด็กและทารกอย่างพวกผมก็ทำได้ไม่ยากหรอกค่ะ ขอแค่ให้คุณพ่อคุณแม่มีเวลาและหากิจกรรมต่าง ๆ ทำร่วมกันกับพวกผม แสดงออกถึงความรัก กอดและสัมผัสพวกผมให้มาก ๆ ที่สำคัญเมื่อพวกผมโตขึ้นและเริ่มพูดได้มากขึ้น ขอแค่คุณพ่อคุณแม่ถามถึงสาเหตุที่พวกผมทำไปก่อน อย่าเพิ่งดุว่าผมในตอนแรก เพราะบางทีสิ่งที่พวกผมทำไป อาจจะมีเหตุผลบางอย่างที่คุณพ่อคุณแม่อาจจะคาดไม่ถึงก็ได้นะครับ
ที่มา: Health Today
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
8 วิธีจัดการนอน ไม่ให้ทารกเสี่ยงตายก่อนวัยอันควร
7 สัญญาณที่ทำให้ทารกร้องไห้
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!