หมอไม่ยอมแพ้ ช่วยชีวิตทารกชาวพม่า จนสุดความสามารถ
สำหรับตอนนี้คงไม่มีเรื่องราวไหนจะประทับใจและมีการแชร์กันมากที่สุดเท่ากับเรื่องของคุณหมอผู้แสนจะใจดี ที่ยอม ช่วยชีวิตทารกชาวพม่า ที่เกิดด้วยน้ำหนักตัวเพียง 8 ขีด พร้อมลั่นว่า “ช่วยก่อนครับ เรื่องเงินเอาไว้ทีหลัง”
หมอไม่ยอมแพ้ ช่วยชีวิตทารกชาวพม่า จนสุดความสามารถ
เมื่อสมาชิกเฟซบุ๊กนามว่า พิพัฒ เคลือบวัง นายแพทย์เชี่ยวชาญ สาขากุมารเวชกรรมกลุ่มงานกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลแม่สอด ได้โพสต์ภาพ ทารกในตู้อบ พร้อมเรื่องราวสุดสะเทือนใจว่า
“ทารกพม่า เพิ่งเกิด 8 ขีด พ่อแม่ไม่มีตังค์ เซ็นต์ไม่ขอเข้าไอซียู 12 ชม.แล้วเขียวแล้ว เหนื่อยมากแล้ว ชีวิตหมอทนดูทารกน้อยทรมานไม่ได้ “..เอาเข้าไอซียู ช่วยก่อนครับ เรื่องเงินไว้ทีหลัง..”
“เช้านี้ดีแล้ว มีแววอีกนาน ตัดสินใจไปแล้ว มีปัญหา มีข้อจำกัดก็แก้กันไป หมอช่วยแล้ว หนูช่วยลุงหมอด้วยน่ะ ..หายใจเข้าไว้ลูก หายใจเข้าไว้ สู้ๆน่ะ”
ทั้งนี้ รพ.แม่สอด ถือเป็นโรงพยาบาลชายแดน ที่ต้องแบกรับภาระการรักษาคนไข้ที่ไม่มีสัญชาติ ซึ่งไม่สามารถเบิกงบประมาณบัตรทองได้ปีละจำนวนมาก ซึ่งต้องหางบประมาณมาช่วยดูแลผู้ป่วยด้วยหลักมนุษยธรรมเป็นที่ตั้ง ผู้ใดสนใจอยากบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือ สามารถโอนเงินช่วยเหลือได้ตามรายละเอียดด้านล่างเลยค่ะ
มูลนิธิ ร.พ. แม่สอด
เลขบัญชี 302-136-370-8
ธนาคารกรุงศรี บช ออมทรัพย์
คลอดบุตรครั้งนี้ ใช้เงินเท่าไหร่
การคลอดลูกแต่ละครั้งก็มีค่าใช้จ่ายที่คุณพ่อคุณแม่ต้องแบกรับ โดยแตกต่างกันไปในแต่ละโรงพยาบาล อย่างไรก็ตามค่าใช้จ่ายพื้นฐานโดยทั่วไป ก็จะมี ค่าฝากครรภ์ ค่าตรวจครรภ์ ค่ายาตลอดช่วงตั้งครรภ์ ค่าตรวจอัลตราซาวนด์ และค่าวัคซีน มาดูกันว่าค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เหล่านี้ ในโรงพยาบาลรัฐ และโรงพยาบาลเอกชน แตกต่างกันเท่าไหร่
ค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์
เมื่อไหร่ที่เริ่มตั้งครรภ์ เมื่อนั้นคุณแม่ก็เตรียมค่าใช้จ่ายเอาไว้ได้เลย โดยสิ่งแรกที่คุณแม่ต้องนึกถึง นั่นก็คือ การฝากครรภ์ ซึ่งค่าฝากครรภ์นั้น ก็จะมีราคาที่แตกต่างกันออกไป หากคุณแม่ท้องเลือกที่จะฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลรัฐ ก็อาจจะต้องตื่นเช้าเพื่อไปรอคิวตรวจนานเป็นพิเศษ เนื่องจากมีผู้ไปรับบริการเป็นจำนวนมาก แต่ข้อดีของการฝากครรภ์ในโรงพยาบาลของรัฐ นั่นก็คือจะมีค่าใช้จ่ายที่ไม่แพงมากนัก
ส่วนโรงพยาบาลเอกชน ราคาก็จะสูงขึ้นตามความสะดวกสบาย เหมาะสำหรับแม่ท้องที่ไม่ค่อยมีเวลาหรือมีเงินที่พร้อมจ่ายในส่วนนี้อยู่แล้ว ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับคุณพ่อและคุณแม่ บวกกับสถานะทางการเงินเป็นหลัก ซึ่งเมื่อคุณแม่ฝากครรภ์แล้ว คุณหมอก็จะนัดตรวจครรภ์โดยเฉลี่ยประมาณ 9 – 12 ครั้ง อาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่าก็ขึ้นอยู่กับสุขภาพครรภ์ของคุณแม่ ซึ่งในแต่ละครั้งก็จะมีค่าใช้จ่าย เช่น
โรงพยาบาลรัฐ
- ค่าฝากครรภ์ครั้งแรก ประมาณ 1,500 บาท
- ค่าตรวจครรภ์ ครั้งละประมาณ 100 – 300 บาท
- ค่ายาตลอดช่วงตั้งครรภ์ ประมาณ 1,000 บาท
- ค่าตรวจอัลตราซาวนด์ ประมาณครั้งละ 500 บาท
- ค่าวัคซีน ประมาณ 200 บาท
โรงพยาบาลเอกชน
ส่วนมากแล้ว สำหรับโรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่ ค่าใช้จ่ายจะรวมอยู่ในแพ็คเกจคลอดอยู่แล้ว ซึ่งก็จะครอบคลุมการตรวจทั้งหมด และสามารถแบ่งชำระเป็นงวดได้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละโรงพยาบาล ในส่วนของค่าใช้จ่ายแบบแพ็คเกจเหมาคลอดนั้น ก็จะเริ่มต้นที่ประมาณ 10,000 – 35,000 บาท
หมายเหตุ ราคาข้างต้นเป็นราคาโดยประมาณเท่านั้น และยังไม่รวมค่าใช้จ่ายพิเศษอื่นๆ ในกรณีที่คุณแม่มีภาวะเสี่ยงต่างๆ
ค่าใช้จ่ายในการคลอดลูก
สำหรับ ค่าใช้จ่ายในการคลอดลูก นั้น ราคาก็จะแตกต่างกันไปตามรูปแบบการคลอดและลักษณะของโรงพยาบาล หากคลอดธรรมชาติ ก็จะถูกกว่าผ่าคลอด และโรงพยาบาลรัฐ จะถูกกว่าโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งค่าใช้จ่ายโดยประมาณมีดังนี้
โรงพยาบาลรัฐ
ค่าคลอดของโรงพยาบาลรัฐ กรณีคลอดธรรมชาติจะอยู่ที่ประมาณ 5,000 – 10,000 บาท และสำหรับการผ่าคลอดราคาก็จะอยู่ที่ประมาณ 15,000 – 25,000 บาท ซึ่งส่วนมากจะรวมค่าห้องแล้ว แต่สำหรับบางโรงพยาบาลที่ไม่รวมค่าห้อง ราคาห้องก็จะอยู่ที่ประมาณ 500 – 3,000 บาท
โรงพยาบาลเอกชน
สำหรับโรงพยาบาลเอกชน ค่าใช้จ่ายแบบแพ็คเกจ กรณีคลอดธรรมชาติ ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 30,000 – 50,000 บาท ส่วนกรณีผ่าคลอด ราคาก็จะอยู่ที่ประมาณ 45,000 ไปจนถึง 100,000 บาท ซึ่งส่วนมากจะรวมค่าห้องอยู่ในแพ็คเกจ และหากผ่าคลอด ก็จะต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล 4 – 5 วัน เช่นเดียวกันทั้งโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน
ค่าใช้จ่ายตลอดการตั้งครรภ์ ก็ไม่ใช้น้อย ๆ เลยนะคะ อย่างไรก็ตาม ต้องขอขอบคุณ ๆ หมอและทีมแพทย์ ที่ไม่ทอดทิ้งชีวิตน้อย ๆ ของทารกแรกเกิดรายนี้ สู้ ๆ นะ หนูน้อย พวกเราทุกคนขอเป็นกำลังใจให้
_________________________________________________________________________________________
ที่มา : ข่าวสด
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ชีวินใจตู้อบของทารกคลอดก่อนกำหนด
9 ปัจจัยเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด
การเตรียมตัวก่อนคลอดธรรมชาติ คลอดเองเตรียมตัวอย่างไร คลอดธรรมชาติอันตรายไหม
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!