ยกเลิกสอบเข้า ป.1
ยกเลิกสอบเข้า ป.1 ยกเลิกสอบอนุบาล พ่อแม่เชื่อมั่นระบบการศึกษาไทย มากแค่ไหน? การศึกษาไทยพร้อมแล้วแน่หรือ?
ทำได้จริงไหมการยกเลิกสอบเข้า ป.1
การสอบเข้าในสังคมไทย ดูจะเป็นเรื่องปกติธรรมดา จนหลายคนคุ้นเคยกับการเคี่ยวเข็ญลูกหลานลงสู่สนามสอบ แต่ที่น่าตกใจคือ คนเป็นพ่อเป็นแม่ ยอมให้ลูกน้อยวัยเพียงไม่กี่ขวบ เริ่มติวเข้มเพื่อแข่งขันใน “สมรภูมิสอบเด็กเล็ก”
เด็กเล็กบางคนต้องติวสอบเข้าอนุบาล ก่อนจะต่อด้วยการติวสอบเข้า ป.1 การแข่งขันในสมรภูมิสอบเด็กเล็กนั้นเข้มข้น ไม่แพ้สนามสอบของเด็กโต จนอดสงสัยไม่ได้ว่า การสอบเข้าอนุบาล การสอบเข้า ป.1 นั้น จำเป็นกับเด็กเล็กจริง ๆ หรือ
เร่งติวอย่างเคร่งเครียดเพื่อเตรียมตัวสอบเข้า ป.1
จากแค่การตั้งคำถามสู่แคมเปญรณรงค์และร้องเรียน “หยุดยัดเยียดความเครียดให้เด็ก ออกกฎหมายควบคุมไม่ให้มีสอบเด็กเพื่อเลือกเข้าเรียน ชั้น ป.1” ซึ่ง ณ วันนี้ (12 พ.ย. 2018) มีผู้ลงชื่อสนับสนุน 22,171 คน โดยมีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า เรายังไม่มีกฎหมายมาคุ้มครองเด็กในเรื่องนี้ การสอบเข้าป.1 ซึ่งเป็นต้นเหตุทำให้เด็กถูกเร่งเรียน เร่งติวอย่างเคร่งเครียดเพื่อเตรียมตัวสอบล่วงหน้ากันมาเป็นปี จึงยังคงเกิดขึ้น และทำให้เด็กถูกริดรอนสิทธิที่จะได้รับโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาอย่างรอบด้านและเหมาะสมกับวัย
การสอบเข้าป. 1 ด้วยข้อสอบวิชาการหรือเชาว์นอกจากไม่เหมาะกับวัยแล้ว ยังเป็นการวัดผลที่จะไม่สามารถคัดหาเด็กที่’เก่ง ดี มีความสุข’ได้
ยกเลิกสอบอนุบาล – ป.1
สำหรับเรื่องนี้ ภาครัฐเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ในฐานะกรรมการคณะอนุกรรมการเด็กเล็ก กล่าวว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2561 มีมติผ่านร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย เรียบร้อยแล้ว ซึ่งกำหนดไว้ว่า
“คณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยเป็นผู้กำหนดแนวทางการรับเด็กเข้าเรียนทั้งในระดับอนุบาลและประถมศึกษาปีที่ 1 จะไม่มีการสอบ หากสถานศึกษาใดฝ่าฝืนจะถูกปรับไม่เกิน 5 แสนบาท เข้ากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา”
อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายมีข้อห่วงใยในประเด็นค่าปรับในกรณีที่มีการละเมิดไม่ปฏิบัติตามกฏหมายนั้น คาดว่าอาจจะสามารถไปปรับแก้ในขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฎีกา หรือการพิจารณาขั้นกรรมาธิการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ หากเห็นว่าอาจจะมีวิธีการอื่นที่เหมาะสมที่จะนำมาใช้แทนการปรับในกรณีที่มีการละเมิดไม่ปฏิบัติตามกฏหมาย
เด็กไทยกับระบบการศึกษาแบบไทย ๆ
ด้านนายแพทย์ สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว เคยกล่าวถึงค่านิยมให้เด็กอนุบาลเรียนติวเตอร์เพื่อสอบแข่งขันเข้าเรียนชั้น ป.1 ว่า เด็กวัยนี้ ควรได้ใช้ชีวิตตามธรรมชาติ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในอนาคต และควรหันไปแก้ที่โรงเรียนให้มีมาตรฐานเท่าเทียมกัน โดยกระทรวงศึกษาธิการ จำเป็นต้องปรับปรุงโรงเรียนของรัฐโดยรวมให้มีมาตรฐาน เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ปกครอง เพราะปัจจุบัน โรงเรียนที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับ กระจุกตัวอยู่เพียงไม่กี่แห่ง
นอกจากนี้ รศ.นพ.สุริยเดว ยังเคยเล่าสาระสำคัญ เกี่ยวกับ พ.ร.บ.ปฐมวัยฉบับใหม่ โดยเพจสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ได้นำมาแบ่งปัน ว่า
1.จะปรับอายุเด็กปฐมวัย โดยเริ่มตั้งแต่ในครรภ์มารดาจนถึงเด็กอายุ 8 ปี ซึ่งจะมีดูแลเอาใจใส่เด็กในช่วงวัยนี้ทั้งด้านพัฒนาการและการศึกษา จากหลาย ๆ หน่วยงาน
2.หัวใจสำคัญอีกอย่างก็คือ ในมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.นี้ จะกำหนดไว้ว่า “ห้ามไม่ให้มีการสอบเข้าอนุบาลหรือสอบเข้าชั้นประถม” เพื่อไม่ให้เด็กเล็กเกิดความเครียดโดยไม่จำเป็น ซึ่งความเครียดจะมีผลเสียต่อพัฒนาการด้านอื่น ๆ ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าวิชาการ
สรุปที่สำคัญมาก ๆ นั่นก็คือ ถ้าพรบ.นี้ผ่าน จะไม่มีการสอบเข้าป.1 แล้ว
พ.ร.บ.นี้กำลังอยู่ในขั้นตอนพิจารณา ถ้าไม่มีปัญหาก็น่าจะออกมาเป็นกฎหมายชัดเจนราวต้นปี 2562
อาจารย์บอกว่า ปัจจุบันนี้ตัวเลขการแข่งขันของเด็กเล็กจำนวนหนึ่งที่พ่อแม่อยากให้เข้าโรงเรียนสาธิตฯแห่งหนึ่ง มีการแข่งขันที่สูงมาก พ่อแม่พาลูกมาสมัครสอบราว 3,000 คน แต่ความเป็นจริงรับได้แค่ 100 คน
ไทยพร้อมไหมยกเลิกสอบเข้า ป.1 เชื่อมั่นระบบการศึกษาไทยแค่ไหน?
ความเห็นแม่ ๆ หากยกเลิกสอบเข้า ป.1
พ่อแม่ทุกคนย่อมไม่อยากกดดันลูกมากเกินไป ต่างก็กังวล เป็นห่วง และรักลูกกันทั้งนั้น แต่ระบบการศึกษาไทยที่สนามสอบเด็กโตแข่งขันกันอย่างดุเดือด ก็สร้างความคลางแคลงใจถึงระบบการคัดเลือกเด็กเข้าสู่สถาบันการศึกษา และมาตรฐานของแต่ละโรงเรียน
จะมั่นใจได้อย่างไรว่าโรงเรียนนั้นดีที่สุดสำหรับลูก เป็นโรงเรียนที่จะช่วยเพิ่มพูนความสามารถ รวมทั้งดึงศักยภาพลูก ให้พร้อมสำหรับสู้ศึกสนามสอบเด็กโต
ความเห็นจากคุณแม่ที่ลูกชายกำลังจะเข้า ป.1 ปีหน้า ระบุว่า
ข้อดีของการสอบเข้า ป.1 คือเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กที่ไม่ได้อยู่บ้านใกล้ในเขตเข้าเรียนได้ ถ้ามีคุณลักษณะตรงกับทางโรงเรียนต้องการ ซึ่งเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ปกครองและเด็ก ส่วนข้อเสียคือ การสอบเป็นการกดดันเด็กอนุบาลเกินวัยไปมาก แต่คุณแม่มองว่าถ้าทางโรงเรียนออกข้อสอบที่เหมาะสมกับวัยของเด็กจริง ๆ และพ่อแม่ไม่มีทัศนคติผิด ๆ ที่ว่า ลูกต้องติวเพื่อสอบให้ได้ การสอบเข้า ป.1 ก็คงไม่ได้มีข้อเสียที่รุนแรงอย่างที่เป็นกระแสสังคมในตอนนี้
“แต่ตอนนี้ทัศนคติของพ่อแม่ส่วนใหญ่คิดว่าการเรียน โรงเรียนดัง โรงเรียนมีชื่อ จะสามารถปูทางสู่อนาคตที่สดใสของลูกได้ ก็เลยเร่งเรียน เร่งติวลูกเพื่อที่จะสอบเข้า โรงเรียนที่พ่อแม่หมายตาให้ได้ ซึ่งพอพ่อแม่กดดันลูกมาก ๆ เด็กก็จะเกิดความเครียดและส่งผลทางด้านลบตามมาอีกมากมาย ซึ่งถ้าแก้คงต้องแก้ที่ทัศนคติของพ่อแม่ ผู้ปกครองเป็นอันดับแรก แต่…การแก้ทัศนคติที่ฝังรากลึกมานานเป็นเรื่องยากและใช้เวลาพอ ๆ กับการแก้ไขระบบการศึกษาจริง ๆ ค่ะ การยกเลิกการสอบก็เลยน่าจะเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาได้ไวที่สุด”
คุณแม่ยังเสริมอีกด้วยว่า ระบบการศึกษาของไทยตอนนี้มีปัญหามากจริง ๆ อย่างที่เราเห็นข่าวกัน ไม่ว่าจะเป็นทั้งหลักสูตรหรือบุคลากร เราจะได้ยินคำว่า ปฏิรูปการศึกษาบ่อยมาก แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เป็นอยู่ได้ และระบบการศึกษายังเป็นแบบนี้พ่อแม่ก็คงยิ่งเลือกโรงเรียนให้ลูกมากขึ้น การแข่งขันเพื่อเข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในด้านดีก็ยิ่งมากขึ้น จริง ๆ แล้วถ้าทุกโรงเรียนมีมาตรฐานเดียวกัน ปัญหาการพยายามให้ลูกเรียนโรงเรียนดังคงลดลงไปมาก และเป็นอะไรที่ดีกับเด็ก ๆ มากจริง ๆ ค่ะ
นอกจากนี้ สังคมไทยเองก็ยังถือคะแนนสอบ ใบปริญญาจากมหาวิทยาลัยดังเป็นสิ่งสำคัญ บริษัทเลือกรับพนักงานที่จบมหาวิทยาลัยดังมากกว่าความสามารถความตั้งใจ ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ ยังไงก็ไม่สามารถแก้ไขความเชื่อที่ว่าลูกต้องเรียนโรงเรียนดัง มหาวิทยาลัยมีชื่อได้ค่ะ เพราะพ่อแม่ทุกคนก็คงอยากให้ลูกเรียนจบ มีงานทำที่ดีและดูแลตัวเองได้
ส่วนเกณฑ์ในการรับเด็กเข้าโรงเรียน คุณแม่ท่านนี้มองว่า แต่ละวิธีการรับเด็กเข้าเรียน ก็มีข้อดีและข้อเสียในตัวเอง เช่น
- ถ้ารับเด็กในเขต ก็ไม่ใช่ว่าทุกเขตจะมีโรงเรียนที่มีมาตรฐานเพียงพอกับจำนวนเด็ก ๆ เพราะเราจะเห็นข่าวไม่ดีเกี่ยวกับครูและโรงเรียนอยู่บ่อยมากค่ะ ซึ่งอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ปกครองยิ่งต้องเลือก โรงเรียนที่คิดว่าดีที่สุดให้ลูก
- การใช้ระบบการสอบผู้ปกครอง แน่นอนว่าโรงเรียนก็คงไม่ได้เด็กที่มีคุณลักษณะที่ตรงกับความต้องการที่แท้จริง เพราะผู้ใหญ่สามารถปรับแต่งคำพูดให้สวยหรูได้มากมาย
- หากยกเลิกการสอบ การใช้เส้นสายหรือการใช้วิธีการอื่น ๆ เพื่อเข้าสู่โรงเรียน คงมีบทบาทมากขึ้นค่ะ ซึ่งอันนี้น่ากลัวมาก ๆ
ความเห็นจากคุณแม่ที่มีลูกสาวอายุ 2 ปี ระบุว่า
ส่วนตัวคิดว่า การยกเลิกการสอบเข้า ป.1 ก็ดีเหมือนกัน เพราะเด็ก ๆ จะได้ไม่ถูกกดดันจากระบบการศึกษาที่ต้องแข่งขันตั้งแต่วัยเริ่มต้น เพื่อคุณภาพชีวิตโดยรวมของเด็กในอนาคตจะได้ไม่ต้องดิ้นรนไปเรียนให้ไกลบ้าน หรือต้องกวดวิชาอย่างเข้มงวด แทนที่จะเอาเวลาไปทำกิจกรรมที่สมวัยมากกกว่ามาท่องจำและถูกจองจำในห้องเรียน สำหรับเกณฑ์ที่จะใช้ในการตัดสินรับเด็กปฐมวัย ต้องจริงจังในเรื่องพื้นที่ใกล้บ้านและใกล้ที่ทำงานของพ่อแม่เป็นหลัก
“เรื่องสถาบันการศึกษาที่ดัง ๆ แน่นอนว่า เป็นความใฝ่ฝันของผู้ปกครองทุกคน เพราะด้วยสังคมและการดูแลเอาใจใส่ของพ่อแม่ผู้ปกครองที่ทุ่มเทกับลูก มันเป็นผลชัดเจนถึงอนาคตที่สดใส แบบที่ปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ หากเทียบวัดกันเป็นเปอร์เซ็นต์ ยังไงก็มีจำนวนน้อยกว่าที่จะมีดาวเด่นพุ่งมาจากโรงเรียนที่ไม่มีชื่อ”
สุดท้ายแล้วระบบการศึกษาไทยก็คงหนีไม่พ้นการสอบแข่งขัน ตราบเท่าที่จะมีสถาบันการศึกษาทางเลือกที่เกิดขึ้นใหม่ สร้างคนจากสิ่งที่ชอบที่ถนัดไม่ใช่ยัดเยียดวิชาการแแบบฟอร์มเดียวกันทั้งประเทศ เพราะสุดท้ายก็คงหาความแตกต่างไม่ได้ และไม่รู้ว่าอะไรคือการพัฒนาอย่างแท้จริง เพราะทุกคนต่างก็แค่ท่องจำไปสอบ
หลักการที่ถูกต้องสำหรับการเรียนของเด็กในช่วงปฐมวัยหรือวัยอนุบาล
รศ. พญ. รวีรัตน์ สิชฌรังษี กุมารแพทย์คุณแม่ลูกสอง แนะนำว่า
- ไม่ควรสร้างความกดดันในเรื่องการเรียนมากจนเกินไป
- ไม่ควรเน้นการเร่งอ่าน เขียน หรือท่องจำ แต่ควรให้เด็กเรียนรู้ผ่านการเล่น เป็นหลัก
- เด็กวัยอนุบาล อายุ 3-5 ขวบ เป็นวัยที่เต็มไปด้วยจินตนาการและควรมีอิสระในการเรียนรู้ โดยไม่เหมาะสมที่จะเร่งเรียนวิชาการ อ่านเขียน หรือยัดเยียดให้ท่องจำความรู้ต่าง ๆ เพราะอาจไปขัดขวางจินตนาการและศักยภาพทางความคิดของเด็ก ทั้งยังทำให้เกิดความเครียดกับทุกคนในครอบครัวอีกด้วย
วิธีสอนลูกที่พ่อแม่ควรทำ
- ควรให้กำลังใจ ส่งเสริมการเรียนรู้ของลูกโดยไม่เร่งรีบและเคร่งเครียด
- ฝึกฝนการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับพัฒนาการตามวัย เช่น หากจะฝึกฝนกล้ามเนื้อมือและการทำงานที่สัมพันธ์ของมือและตาของลูกวัยอนุบาลก็ควรให้ได้ทำกิจกรรมที่เหมาะสมกับวัย เช่น การปั้นดินน้ำมัน มากกว่านั่งทำแบบฝึกหัดในกระดาษ
- ไม่ควรใช้อารมณ์ในการอบรมสั่งสอนลูก ไม่ว่ากรณีใด ๆ เพราะจะทำให้เด็กยิ่งเครียดและไม่อยากเรียนรู้ ส่งผลเสียต่อการเรียนรู้ในระยะยาวได้
- แบ่งเวลาให้ลูกได้พักผ่อน โดยใช้เวลาที่มีคุณภาพร่วมกับคุณพ่อคุณแม่อย่างมีความสุขที่สุด
จะเห็นได้ว่า การยกเลิกสอบเข้า ป.1 และการยกเลิกสอบอนุบาล ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทย ที่ต้องสร้างมาตรฐานการศึกษาที่เท่ากันทุกโรงเรียน ควบคู่กับการปลูกฝังค่านิยมใหม่ ๆ ที่ให้โอกาสเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่ใช่ “ระบบแพ้คัดออก” อย่างที่ผ่านมา
ที่มา : komchadluek.net, dailynews.co.th และ facebook.com/ThaiPsychiatricAssociation/
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
แม่แฉข้อสอบโหด! แค่สอบเข้า ป.1 จำเป็นต้องยากขนาดนี้ไหม
ติวอนุบาล จำเป็นไหม ปัญหาที่อาจเกิดหากเร่งเรียน เร่งติว ลูกวัยอนุบาลมากเกินไป
ค่าเทอมลูก ส่งลูกเรียนหนังสือ เก็บเงินเท่าไหร่ วางแผนยังไง
ค่าเทอมโรงเรียนอนุบาล ชื่อดัง ปี 2561 พ่อแม่ต้องเตรียมเงินเท่าไหร่ถึงจะพอ!!
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!