พ่อแม่ ไม่ควรพูดกับลูก
จำไว้เลย คำพูดคำนั้น ประโยคเหล่านี้ พ่อแม่ ไม่ควรพูดกับลูก คิดให้ดีก่อนพูด อย่าใช้อารมณ์ อย่าโมโหจนขาดสติ!
หยุด! คำร้าย…ทำลายครอบครัว
ในเดือนพฤศจิกายน ของทุกปีเป็น “เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี” ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และสำนักงานสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันแถลงข่าวการจัดงานรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ประจำปี พ.ศ. 2560 ภายใต้แนวคิด “สร้างครอบครัวไร้รุนแรง ด้วยสื่อสารที่สร้างสรรค์” อันมีคำขวัญ “หยุด! คำร้าย…ทำลายครอบครัว” รณรงค์ให้ครอบครัวและสังคมมีการสื่อสารเชิงบวกเพื่อสร้างสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว
พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า เหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเป็นการใช้วาจาที่ไม่เหมาะสมระหว่างบุคคลในครอบครัว ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมของครอบครัว ทั้งยังกระทบต่อสุขภาพกายและจิตของบุคคลในครอบครัวอีกด้วย จึงต้องเริ่มที่ครอบครัวให้มีการสื่อสารเชิงบวกต่อกัน ให้เกียรติกันทั้งทางกายและวาจา ก็จะช่วยลดการเกิดความรุนแรงในครอบครัวได้
พม. โดย กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ได้ทำแบบสำรวจความคิดเห็น
10 คำดีที่อยากได้ยินจากคนในครอบครัว ประกอบด้วย
- เหนื่อยไหม
- รักนะ
- มีอะไรให้ช่วยไหม
- คำชมเชย (ภูมิใจ/ดี/เยี่ยม)
- ไม่เป็นไรน่ะ
- สู้ ๆ นะ
- ทำได้อยู่แล้ว
- คิดถึงนะ
- ขอบคุณนะ
- ขอโทษนะ
พบว่า อันดับ 1 เหนื่อยไหม ร้อยละ 20.2 อันดับ 2 รักนะ ร้อยละ 16.1 อันดับ 3 มีอะไรให้ช่วยไหม ร้อยละ 15.2
10 คำร้ายที่ไม่อยากได้ยินจากคนในครอบครัว ประกอบด้วย
- ไปตายซะ
- คำด่า (เลว/ชั่ว)
- แกไม่น่าเกิดเป็นลูกฉันเลย
- ตัวปัญหา
- ดูลูกบ้านอื่นบ้างสิ
- น่ารำคาญ
- ตัวซวย
- น่าเบื่อ
- ไม่ต้องมายุ่ง
- เชื้อพ่อเชื้อแม่มันแรง
พบว่า อันดับหนึ่ง คือ ไปตายซะ/จะไปตายที่ไหนก็ไป ร้อยละ 20.4 อันดับ 2 คำด่า (เลว/ชั่ว) ร้อยละ 19 และอันดับ 3 แกไม่น่าเกิดเป็นลูกฉันเลย ร้อยละ 16.5
ทั้งนี้ การสื่อสารต่อกันจะเป็นปัจจัยสนับสนุนที่ดีในการทำให้อีกฝ่ายมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น และการสื่อสารในเชิงให้กำลังใจจะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวให้มีความผูกพันรักใคร่ และครอบครัวมีความเข้มแข็งกันมากยิ่งขึ้น
ด้านศ.คลินิก นพ. พรชัย มูลพฤกษ์ กล่าวว่า ปัญหาความรุนแรงต่อเด็กสตรีและความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมและประเทศไทย การแก้ไขการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัวมีความละเอียดอ่อน ซับซ้อน เกี่ยวพันกับบุคคลใกล้ชิด การแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด หรือปกป้องคุ้มครองผู้ที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงจะต้องคำนึงถึงการรักษาความสัมพันธ์อันดีในครอบครัวไว้ด้วย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาเรื่องนี้ จึงติดตามข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้มาโดยตลอด
ในปีที่ผ่านมานี้ คณะฯ โดย ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ได้มีการสำรวจความชุกความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัวโดยเป็นการสำรวจครั้งแรกและเป็นการสำรวจระดับประเทศ (National Survey) ซึ่งข้อมูลจากการสำรวจนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว
ที่มา : https://www.komchadluek.net
คำพูดทำร้ายจิตใจลูก
คำพูดทำร้ายจิตใจลูกยังมีอีกมากมาย ที่สามารถส่งผลต่อชีวิตลูกได้ทั้งชีวิต ทำให้ลูกไม่มั่นใจในตัวเอง สูญเสียความเชื่อมั่น ไม่เคารพตัวเองหรือมองว่าตัวเองไร้คุณค่า ทั้ง ๆ ที่พ่อแม่หวังดีอยากสั่งสอน อบรมเพื่อให้ลูกเติบโตเป็นคนดี แต่ความหวังดีนั้นกลับทำร้ายลูกโดยไม่รู้ตัว
มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ได้นำเสนอบทความคำพูดที่เด็ก ๆ ไม่ต้องการ เพราะหลายครั้งที่คำพูดของพ่อแม่ผู้ปกครอง อาจเป็นคำพูดที่ร้ายจิตใจของเด็ก ๆ อย่างไม่รู้ตัว
คำพูดที่แสดงอารมณ์ โทสะ ดุดัน และแฝงไปด้วยความไม่พอใจ
มีผลกระทบทำให้เด็กเกิดความรู้สึกโกรธและรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อพ่อแม่ ทุกข์ใจ ไม่สบอารมณ์ เพราะแทนที่เด็กจะได้เรียนรู้ รับฟังและได้แก้ไขปรับปรุงได้ เกิดความไม่เชื่อถือ เมื่อพ่อแม่พูดอะไร เด็กก็จะไม่เชื่อฟัง เพราะโกรธไม่พอใจพ่อแม่ ยิ่งพ่อแม่ทำบ่อย ๆ เด็กก็จะเลียนแบบและซึมซับคำพูดของพ่อแม่นั้นเข้าไว้ในตัวเอง นั่นคือ ถ้าเด็กพูดจาก้าวร้าว ดุดัน มาจากพ่อแม่ที่ทำให้เห็น
คำพูดแบบไม่ก้าวร้าว ดุดันแต่ย้ำพูด ย้ำถาม
คำพูดที่แสดงความวิตกกังวล แสดงความห่วงใยมากเกินไป ย้ำถาม ย้ำปฏิบัติ โดยไม่รู้ว่าลูกต้องการหรือไม่ต้องการ ทำให้เด็กรำคาญ กลับเกิดความรู้สึกวิตกกังวลและความรู้สึกไม่มั่นใจตามไปด้วยยิ่งเป็นวัยรุ่นยิ่งไม่ชอบและรำคาญ เด็กอาจพาลโกรธไปเลยก็ได้
คำพูดที่กัดกร่อนใจ
พูดจากินแหนงแคลงใจ พูดกระแหนะกระแหน คือการพูดจาแบบจิกให้เจ็บ ประชดประชัน คำพูดแบบนี้ เป็นคำพูดที่ทำให้เด็กเสียใจและเกิดภาพในใจที่ไม่ดี เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อตัวเอง เมื่อพ่อแม่ว่าประชด เด็กจะเสียใจหงุดหงิด คิดว่าตัวเองไม่มีค่าสำหรับพ่อแม่
คำพูดที่ก่อให้เกิดปัญหาในครอบครัวอีกอย่างคือ คำพูดที่สื่อออกมาลอย ๆ ไม่มีเป้าหมายว่าพูดกับใคร
เช่น เมื่อแม่กลับมาบ้านแล้วเห็นลูกไม่ทำอะไรเลย พ่อก็ไม่ได้รับผิดชอบงานบ้านอะไร แล้วแม่ก็ว่าขึ้นมาว่า “เบื่อจริงๆ เกิดมาต้องใช้ชีวิตอยู่กับคนไม่รับผิดชอบ” คนที่นั่งอยู่ทั้งพ่อทั้งลูกก็ไม่รู้ว่าแม่ว่าใคร เด็กก็ไม่รู้ว่าดุใคร คิดว่าแม่ดุตัวเอง ทั้ง ๆ ที่อาจจะไม่ใช่ ก็เกิดความเข้าใจผิด
อีกหนึ่งที่คำพูดที่เป็นปัญหาคือ การไม่พูดความจริงต่อกัน
พูดแล้วผัดวันประกันพรุ่ง สัญญาแล้วไม่เป็นสัญญา พ่อแม่มักจะสัญญาให้ลูกตั้งใจเรียน แล้วพ่อแม่จะพาไปเที่ยว เมื่อลูกตั้งใจเรียนดีแล้ว แต่อีก 10 เดือนก็ยังไม่พาลูกไปจะทำให้เด็กรออย่างมีความหวัง ไม่เพียงเท่านั้น เด็กอาจจะมีความเข้าใจว่าการพูดไม่จริง พูดโกหก เป็นสิ่งที่ทำได้เป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะเป็นการสัญญาลมๆ แล้งๆ พูดโกหก พูดปด เด็กก็จะทำบ้าง เพราะมีพ่อแม่ทำเป็นตัวอย่าง
การพูดที่พบบ่อยทั้งในบ้านและโรงเรียน คือการพูดล้อเลียน
การพูดล้อเลียนมากจะทำให้เด็กรู้สึกว่าสิ่งนั้นเป็นปมด้อยของเขา หรือทำให้เขามีอารมณ์โกรธโดยไม่จำเป็น กลายเป็นคนโกรธง่าย หรือขี้โมโหเพราะมีคนไปกระเช้าเย้าแหย่เขามากจนเกินไป
ที่มา : https://www.thaichildrights.org
การเลี้ยงลูกมันเหนื่อย ทำให้พ่อแม่เผลอพูดคำทำร้ายจิตใจลูกโดยไม่รู้ตัว ดังนั้น ก่อนจะเอ่ยคำพูดออกไป ต้องคิดถึงจิตใจลูกเสมอ และหมั่นเตือนตัวเองให้ดีว่าประโยคแบบไหนที่พ่อแม่ไม่ควรพูดกับลูก
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ไม่รักแม่แล้ว มีอะไรอยู่ในคำพูดลูก เรื่องที่พ่อแม่ต้องอ่านให้ขาด
ฉีกกฎของการเป็นพ่อแม่แบบเดิมๆ เลิกใช้ 10 คำพูดเก่าๆ กับลูก
10 คำพูดที่เข้าใจหัวอกแม่ลูกอ่อนได้ตรงเป๊ะที่สุด!
แม่จ๋าพ่อจ๋า รักหนูอย่าพูดกับหนูแบบนี้ 9 สิ่งที่ไม่ควรพูดกับลูก
พูดไม่เข้าหู !!! เมียท้องอยู่อย่าพูดแบบนี้ได้มั้ยที่รัก
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!