คุณพ่อคุณแม่บางท่านอาจจะทราบและเคยมีโอกาสได้ใช้ “บัตรทอง” สำหรับเด็กกันบ้างแล้ว แต่สำหรับคุณพ่อคุณแม่ท่านไหนที่ยังไม่เคย ไม่เป็นไรค่ะ วันนี้เรามีข้อมูลดี ๆ เป็นประโยชน์มาฝากกันค่ะ
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกับสิทธิการรักษาพยาบาลจากรัฐบาลสำหรับประชาชนคนไทยกันก่อนค่ะ สิทธิการรักษาพยาบาลนั้นสามารถแบ่งเป็น 3 ระบบใหญ่ ๆ คือ
- สิทธิสวัสดการการรักษาพยาบาลของข้าราชการ
- สิทธิประกันสังคม
- สิทธิหลักประกันสุขภาพ หรือที่รู้จักกันในนามของ “สิทธิ 30 บาท” หรือ “สิทธิบัตรทอง”
ล่าสุดสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาต (สปสช.) ได้จัดชุดสิทธิประโยชน์ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยครอบคลุมการดูแลทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของมารดา ทารกแรกเกิด จนถึงเด็กปฐมวัย ทั้งด้านการรักษาโรคทั่วไป โรคเฉพาะทางค่าใช้จ่ายสูง และการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยแบ่งเด็กออกเป็น 2 กลุ่มวัยด้วยกัน ดังนี้
กลุ่มเด็กเล็กที่มีอายุตั้งแต่ 0 – 5 ปี
สิทธิประโยชน์ที่ว่านี้จะรวมถึงทารกที่อยู่ในครรภ์ โดยจะได้รับการดูแลตั้งแต่มารดาเข้ารับการฝากครรภ์ในครั้งแรก และต่อเนื่องตามระบบฝากครรภ์คุณภาพจนถึงคลอด มีการประเมินความเสี่ยงของครรภ์ การให้วัคซีนและยาต่าง ๆ และเมื่อคลอดทารกจะได้รับวิตามินและวัคซีนต่าง ๆ การคัดกรองภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ และการส่งเสริมให้กินนมแม่ จากนั้นจึงเน้นที่การตรวจพัฒนาต่าง ๆ ของเด็ก เพื่อให้เหมาะสมและเป็นไปตามวัย อาทิ การตรวจสุขภาพ การเฝ้าระวังและการป้องกันโรค การให้วัคซีน
กลุ่มเด็กโตและวัยรุ่นที่มีอายุตั้งแต่ 6-24 ปี
จะมุ่งเน้นไปในเรื่องของการดูแลสุขภาพอนามัยโรงเรียน เริ่มตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ 1 หากเด็กไม่เคยรับวัคซีนมาก่อนจะได้รับในช่วงนี้ ส่วนเด็กที่ได้รับวัคซีนมาแล้วตามช่วงอายุจะได้รับการกระตุ้นเพิ่มเติม อาทิ วัคซีนป้องกันวัณโรค คอตีบ บาดทะยัก โรคโปลิโอ หัด หัดเยอรมัน และคางทูม วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ได้รับการตรวจคัดกรองโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กจะได้รับยาเสริมธาตุเหล็ก แต่ในกรณีพบว่าเด็กมีโลหิตจางจากโรคอื่น ๆ เช่น โรคธาลัสซีเมีย หากเป็นชนิดรุนแรงจะได้รับการส่งต่อเพื่อรักษา นอกจากนี้ เด็กนักเรียนชั้นประถมปีที่ 1-6 ทุกคนยังได้รับการคัดกรองและตรวจสุขภาพที่จำเป็นเพื่อนำไปสู่แก้ไขให้เด็กเติบโตอย่างสมวัย ได้แก่ การประเมินภาวะโภชนาการ การคัดกรองเด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกติ การตรวจสุขภาพช่องฟัน การเคลือบหลุมร่องฟัน
คลิกอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หน้าถัดไปค่ะ
สำหรับเอกสารหลักฐานที่ใช้ในการสมัคร มีดังนี้
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรที่มีรูปถ่ายที่ทางราชการออกให้ ที่มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก และมีรูปถ่ายติดอยู่
- สำเนาสูติบัตร ในกรณีที่เด็กมีอายุต่ำกว่า 15 ปี
- สำเนาทะเบียนบ้านที่ผู้ขอมีชื่ออยู่
- กรณีที่พักอาศัยไม่ตรงกับทะเบียนบ้าน ให้แสดงหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่งที่มีถิ่นที่อยู่หรือที่เป็นการยืนยันว่าได้พักอาศัยอยู่ในพื้นที่นั้น
- สำเนาทะเบียนบ้านของบุคคลที่ผู้ขอลงทะเบียนไปพักอาศัยอยู่ พร้อมหนังสือรับรองของเจ้าบ้าน
- หนังสือรับรองของผู้นำชุมชน ซึ่งรับรองว่าผู้ขอลงทะเบียน พักอาศัยอยู่ในพื้นที่นั้น ๆ พร้อมสำเนาบัตรผู้นำชุมชนของผู้รับรอง
- ใบเสร็จรับเงินค่าสาธารณูปโภค (ค่าน้ำหรือค่าไฟหรือค่าโทรศัพท์) หรือใบเสร็จรับเงินค่าเช่าที่พัก หรือสัญญาค่าเช่าที่พัก ที่ระบุชื่อของผู้ขอลงทะเบียนบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าเดิม(กรณีที่ขอเปลี่ยนหน่วยบริการประจำ)
- หนังสือมอบอำนาจกรณีไม่สามารถยื่นคำร้องขอลงทะเบียนด้วยตนเองพร้อมสำเนาบัตรประชาชนผู้รับมอบอำนาจ
ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ใช่ว่าทุกคนจะสามารถใช้สิทธิบัตรทองกันได้นะคะ เพราะทาง สปสช. ก็ได้มีข้อยกเว้นการใช้สิทธิ์บัตรทองดังนี้
- ผู้มีสิทธิตามพระราชบัญญัติประกันสังคม
- ผู้มีสิทธิตามพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล เช่น ข้าราชการ ลูกจ้างประจำของส่วนราชการ และครอบครัว
- ผู้อยู่ในความคุ้มครองของหลักประกันสุขภาพอื่นที่รัฐจัดให้ เช่น พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานหรือเจ้าหน้าที่ในองค์กรอิสระ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. เบอร์ 1330 (ได้ตลอด 24 ชั่วโมง)
ที่มา: สปสช. และ Health & Trend
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
ก่อนใช้ควรเช็ก 14 โรคที่ประกันสังคมไม่คุ้มครอง
11 กรณี ที่พ่อแม่ใช้สิทธิประกันสังคมควรรู้
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!