ท้องเสีย โรต้าไวรัส เป็นเหตุ!
ท้องเสีย โรต้าไวรัส เป็นเหตุ! คุณแม่โพสต์เล่า ลูกวัย 1 เดือนกว่า ติดเชื้อไวรัส โรต้า ซึ่งน้องอายุน้อยเกินกว่าจะหยอดวัคซีนโรต้า
ความผิดปกติที่แม่สังเกตได้คือ น้องฉี่น้อยลง อึมีกลิ่นเหม็นมาก เริ่มกินนมได้น้อยลง มีแหวะนมและร้องงอแง ตกบ่ายตัวร้อนไข้ขึ้นสูง ถ่ายเป็นมูก ถ่ายตลอด ถ่ายเหลวจนเป็นน้ำ แม่จึงตัดสินใจพาน้องไปส่งโรงพยาบาล ต้องแอดมิทนาน 3 วัน 2 คืน
จนกระทั่งน้องดีขึ้น คุณหมอเลยให้กลับบ้าน มาติดตามอาการต่อที่บ้านอีก 1 อาทิตย์ โดยคุณหมอบอกว่า น่าจะติดมาจากการสัมผัส เพราะก่อนหน้านี้ ประมาณ 3-4 วัน มีญาติมาเยี่ยมที่บ้าน นอกจากนี้ คุณหมอยังแนะนำให้ เวลาออกจากบ้าน ต้องหลีกเลี่ยงที่แออัด ผู้คนพลุกพล่าน
“หมอบอกยิ่งน้องยังไม่ได้รับวัคซีน ยิ่งต้องระวังค่ะ โรคนี้ไม่มียารักษาค่ะ ต้องรอให้เชื้อมันหมดไปเอง น้องก็ต้อง ให้น้ำเกลือกับกินเกลือแร่”
ทางทีมงานดิเอเชี่ยนพาเร้นท์ ขอให้น้องแข็งแรงเร็ว ๆ นะคะ
โรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า
ไวรัสโรต้า (Rotavirus) เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคท้องร่วง ส่วนใหญ่มักหายเองได้ เด็กเล็กและผู้สูงอายุ อาจมีความรุนแรงของโรคมากกว่ากลุ่มอื่น
อาการท้องเสียจากโรต้าไวรัส
- อาเจียน
- มีไข้
- ท้องเสีย ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ
- หลังจากนั้นจะมีอาการท้องเดิน หรือท้องร่วงอย่างรุนแรง
4 สัญญาณเตือน ที่ควรรีบไปพบแพทย์
- มีอาการซึม ไม่มีแรง มือเท้าเย็น
- มีอาการอาเจียนมาก หรือถ่ายมากผิดปกติ
- มีปัสสาวะสีเข้ม ปัสสาวะน้อย หรือไม่ปัสสาวะเลยเกิน 6 ชั่วโมง
- มีอาการปากแห้ง ตาโหล ร้องไห้ไม่มีน้ำตา หรือเด็ก ๆ จะมีกระหม่อมบุ๋ม
วิธีป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า
- ล้างมือบ่อย ๆ
- หมั่นทำความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้ของเด็ก
- หลีกเลี่ยงการพาเด็กไปในสถานที่แออัด
อ่านวิธีทำความสะอาดห้องน้ำ และการกำจัดผ้าอ้อมเด็กสำเร็จรูป หน้าถัดไป
ทิ้ง “ผ้าอ้อมเด็กสำเร็จรูป”
ผู้ป่วยอุจจาระร่วงเฉียบพลัน (จากเชื้อไวรัสโรต้า) ให้ปลอดภัย
ผ้าอ้อมเด็กสำเร็จรูปที่ใช้กับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโรต้า สามารถเป็นแหล่งแพร่เชื้อได้ เนื่องจากเชื้ออยู่ในอุจจาระได้นานถึง 1 สัปดาห์
เพื่อเป็นการฆ่าเชื้อ ใช้น้ำยาซักผ้าขาว โซเดียมไฮโปคลอไรต์ (Sodium Hypochlorite) ครึ่งฝาผสมในน้ำ 600 ซีซี แช่ทิ้งไว้ 30 นาที
-
ผ้าอ้อมเปื้อนอึ ให้แยกใส่ถุงขยะ
หลังจากนั้น แยกใส่ถุงขยะ รัดปากถุงให้แน่น (ซ้อนถุง 2 ชั้นเพื่อกันถุงรั่ว/แตก) *น้ำจากการแช่ผ้าอ้อมเด็กสำเร็จรูปควรทิ้งลงในโถส้วม เพื่อเข้าสู่ระบบบำบัดสิ่งปฏิกูลต่อไป*
ทุกคนในบ้านต้องล้างมือด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้ง ก่อนสัมผัสอาหาร หลังถ่ายอุจจาระ และหลังกำจัดขยะ
หมายเหตุ
- กรณีไม่มีรถเก็บขยะ ให้ใช้วิธีฝังกลบใต้ดินลึกไม่น้อยกว่า 50 ซม. และห่างจากแหล่งน้ำไม่น้อยกว่า 700 ม.
- ไม่ทิ้งลงแหล่งน้ำ และที่สาธารณะทั่วไป เพราะจะทำให้เชื้อแพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อม
- ควรใส่ถุงมือทุกครั้ง (ถ้ามี) เมื่อต้องสัมผัสผ้าอ้อมเด็กที่ผู้ป่วยใช้แล้วและต้องล้างมือด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้ง
การทำความสะอาดห้องน้ำที่บ้านผู้ป่วยติดเชื้อ (จากเชื้อไวรัสโรต้า)
เชื้อไวรัสโรต้า อยู่ในอุจจาระผู้ที่ติดเชื้อได้นานถึง 1 สัปดาห์
- ใช้น้ำยาล้างห้องน้ำ (มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย) ทำความสะอาดและเช็ดให้แห้ง
- จุดที่ต้องทำความสะอาดเป็นพิเศษ คือ ที่จับสายฉีดน้ำ พื้นห้องส้วม ที่รองนั่งส้วม ที่กดน้ำของโถส้วม ก๊อกน้ำ และกลอนประตู/ลูกบิดประตู
- ทำความสะอาดโดยใช้น้ำยาล้างห้องน้ำ (มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย) อย่างน้อย 3 วัน หลังผู้ป่วยหยุดถ่าย
- บุคคลในครอบครัวควรล้างมือด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้ง เมื่อต้องประกอบกิจกรรมเหล่านี้ ได้แก่ ก่อนรับประทานอาหารหลังเข้าห้องน้ำ (โดยเฉพาะหลังถ่ายอุจจาระ) รวมถึงหลังทำความสะอาดห้องน้ำ
ที่มา : เพจ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ต่อมอดีนอยด์โต-ทอนซิลโต ปิดระบบทางเดินหายใจ จนลูกต้องผ่าตัดด่วน
วัคซีนโรต้า วิธีป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า อย่าคิดว่าไม่สำคัญ
แม่เล่าทั้งน้ำตา ลูกตายเพราะอยู่ใกล้คนสูบบุหรี่ ต้องให้ตายอีกกี่คนถึงจะคิดได้
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!