วิธีสอนลูกว่ายน้ำให้เพลิดเพลิน พร้อมกลยุทธ์ง่ายๆ กันเลย
การสอนลูกว่ายน้ำเป็นเรื่องสนุกที่เพลิดเพลินกันได้ทั้งตัวเด็กและผู้สอนเอง เด็กแต่ละคนมีท่าทางแตกต่างกันไป ดังนั้นกลยุทธ์ที่ใช้ในการสอนลูกว่ายน้ำจึงมีประโยชน์ดังนั้นเรามาดู วิธีสอนลูกว่ายน้ำให้เพลิดเพลิน พร้อมกลยุทธ์ง่ายๆ กันเลย ค่ะ
การว่ายน้ำเป็นทักษะสำคัญอย่างหนึ่งที่เด็ก ๆ ควรมีติดตัวไว้ เพราะการจมน้ำถือเป็นอุบัติเหตุที่ทำให้เด็กเสียชีวิตเป็นอันดับต้น ๆ ของเมืองไทย นอกจากนั้น การว่ายน้ำยังเป็นการออกกำลังกายที่ส่งผลดีต่อสุขภาพหลายด้าน ผู้ปกครองจึงควรสอนให้ลูกว่ายน้ำเป็นอย่างถูกวิธี เพื่อเสริมสร้างสุขภาพและเป็นประโยชน์ต่อตัวเด็กเองในวันข้างหน้า
การวอร์มร่างกายในน้ำ
เมื่อลูกของคุณได้วอร์มร่างกายในน้ำเป็นครั้งแรก เขาอาจรู้สึกเหนื่อยง่ายจากการที่ต้องขยับตัวเองตลอดเวลา ลองสอนให้เขาขยับขาและแขนให้ช้าลง ให้ลูกได้ลองเพิ่มและลดความเร็วในการขยับด้วยตัวของเขาเอง เมื่อเขาเริ่มขยับขาและแขนได้สบายขึ้น ลองให้เขาตีขาเร็ว ๆ ใต้น้ำ ให้ขยับสะโพกและขาตั้งแต่ช่วงเข่าลงไปเป็นรูปวงกลมไปด้วย ลองบอกให้ลูกใช้นิ้วโป้งเท้าวาดรูปวงกลมใต้น้ำดูสิ ให้ลองทำกับขาทีละข้างสลับกัน จากนั้นก็ให้ทำพร้อมกันทั้งสองขา วิธีนี้จะทำให้เขาได้วอร์มร่างกายในน้ำโดยไม่ต้องใช้มือเลย หรืออาจจะลองให้ลูกของคุณทำมือเป็นรูปเลข 8 ในน้ำด้วยก็ได้นะคะ
สอนท่าหมาว่ายน้ำ
ท่าหมาว่ายน้ำเป็นท่าที่เด็ก ๆ จะว่ายได้เองโดยอัตโนมัติ ลองให้เขาเหยียดขา ตีขาใต้น้ำ ยืดแขนแล้ววักแขนใต้น้ำเพื่อพยุงตัวให้ลอยบนน้ำ ลูกของคุณจะทำท่านี้ได้ง่าย ๆ คุณอาจจะช่วยพยุงเอวเขา หรือให้เขาใส่ปลอกแขนลอยน้ำไปด้วยก็ได้
สอนให้หงายหลังลอยในน้ำ
เด็ก ๆ มักจะพยายามยกหัวให้ลอยเหนือน้ำ แล้วเอวจมลงใต้น้ำ ซึ่งจะทำให้เขาจมน้ำ ลองให้เขาฝึกหงายหัว เชิดคางขึ้น แล้วปล่อยขาและแขนให้เป็นอิสระบนพื้นก่อนนำเขาลงสระน้ำดูนะคะ
ลงใต้น้ำ
การทำให้เขารู้สึกสบายเมื่ออยู่ในน้ำเป็นพื้นฐานแรกในการสอนให้ลูกวัยเตาะแตะว่ายน้ำ พวกเขาจะสามารถจุ่มหน้าลงในน้ำได้โดยไม่รู้สึกกลัว และเมื่อเขารู้สึกสบายมากขึ้น พวกเขาจะสามารถจุ่มทั้งศีรษะลงในน้ำได้เลย ลองให้ลูกคุณจุ่มศีรษะลงในน้ำโดยนับหนึ่งถึงสามดู ตะโกนดัง ๆ บอกให้เขากลั้นหายใจให้ได้ถึงสามวินาที พยายามกระตุ้นให้เขาลองทำให้สำเร็จ และเอ่ยปากชมเมื่อเขาทำได้ คุณสามารถฝึกให้เขากลั้นหายใจใต้น้ำได้โดยให้เขาเกาะขอบสระเอาไว้ เพื่อให้เขารู้สึกปลอดภัยมากยิ่งขึ้นด้วย
การว่ายน้ำส่งผลดีต่อเด็กในหลาย ๆ ด้าน ดังนี้
- เสริมสร้างศักยภาพทางการเรียนรู้ การเคลื่อนไหวแขนและขาสลับซ้ายขวาระหว่างว่ายน้ำช่วยสร้างเซลล์ประสาทในสมอง โดยเฉพาะในส่วนคอร์ปัสแคลโลซัม (Corpus Callosum) หรือมัดเส้นใยประสาทที่เชื่อมต่อสมองซีกซ้ายกับซีกขวา ซึ่งมีส่วนช่วยเสริมสร้างทักษะทางวิชาการ การอ่าน การสื่อสาร และการปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมรอบตัว นอกจากนั้น การว่ายน้ำยังช่วยเสริมสร้างประสบการณ์ทางสังคม ซึ่งช่วยเพิ่มพลังสมองได้ด้วย โดยมีงานวิจัยหนึ่งพบว่าเด็กอายุ 3-5 ปีที่ว่ายน้ำเป็นประจำนั้น มีพัฒนาการทางร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะทักษะการออกเสียง การคำนวณ การอ่านและการเขียน ได้ดีกว่าเด็กที่ไม่ว่ายน้ำ
- เสริมสร้างความมั่นใจ การเล่นน้ำ การร้องเพลง และการปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับพ่อแม่ ครูสอนว่ายน้ำ หรือเพื่อนในชั้นเรียนว่ายน้ำ อาจช่วยเสริมทักษะด้านต่าง ๆ รวมถึงเสริมสร้างความมั่นใจแก่เด็กได้ โดยมีการศึกษาพบว่าเด็กที่เรียนว่ายน้ำตั้งแต่อายุยังน้อย อาจมีทักษะในการเข้าสังคม มีความทะเยอทะยาน และเห็นคุณค่าในตนเองมากกว่าเด็กที่ไม่ได้เรียนว่ายน้ำ
- ลดความเสี่ยงในการจมน้ำ การจมน้ำจัดเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ที่ทำให้เด็กและทารกเสียชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในสระน้ำหรืออ่างน้ำบริเวณบ้าน ดังนั้น เด็กหรือทารกจึงควรมีทักษะพื้นฐานในการว่ายน้ำหรือลอยตัวบนผิวน้ำติดตัวไว้ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยมีงานค้นคว้าพบว่าการเรียนว่ายน้ำช่วยให้เด็กอายุตั้งแต่ 4 ปีขึ้นไปมีโอกาสจมน้ำลดลง แต่ยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนเพียงพอว่าการเรียนว่ายน้ำนั้นช่วยลดโอกาสการจมน้ำในเด็กอายุ 1-4 ปีได้ ส่วนเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปีที่เรียนว่ายน้ำนั้น พบว่ามีความเสี่ยงจมน้ำไม่ต่างจากเด็กที่ไม่ได้เรียนว่ายน้ำ พ่อแม่จึงไม่ควรปล่อยให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 4 ปีอยู่ในแหล่งน้ำตามลำพัง แม้เด็กจะเคยเรียนว่ายน้ำมาแล้วก็ตาม
เคล็ดลับในการสอนเด็กว่ายน้ำ
เตรียมตัวให้พร้อมก่อนเรียน พ่อแม่ควรพาเด็กมาถึงสระก่อนชั่วโมงเรียนว่ายน้ำเริ่ม 15 นาที เพื่อให้เด็กคุ้นชินกับสถานที่ รวมถึงมีเวลาปรับตัวและทำสมาธิก่อนลงน้ำ
หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารก่อนว่ายน้ำ พ่อแม่ไม่ควรให้เด็กรับประทานอาหารก่อนว่ายน้ำ หากเพิ่งรับประทานอาหารเสร็จ ควรให้เด็กนั่งพักและรอประมาณ 1 ชั่วโมงจึงค่อยลงว่ายน้ำ
ไม่บังคับให้เด็กลงน้ำ เด็กบางรายอาจลังเลหรือยังไม่พร้อมว่ายน้ำ ซึ่งพ่อแม่ไม่ควรบังคับให้ลูกน้อยทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ เพราะการบังคับฝืนใจอาจส่งผลให้เด็กเกิดทัศนคติด้านลบต่อการว่ายน้ำ หากเด็กเริ่มร้องไห้โยเยหรือแสดงอาการไม่พอใจเมื่ออยู่ในน้ำ ให้นำเด็กขึ้นจากสระทันที
เริ่มต้นด้วยการแช่น้ำในอ่าง ในช่วงแรกเริ่ม พ่อแม่ควรลงไปแช่น้ำในอ่างกับลูกน้อยด้วย เพื่อทำให้เด็กคุ้นเคยกับน้ำ รู้สึกปลอดภัย และสนุกสนาน โดยอาจเทน้ำจากขันรดบนศีรษะและใบหน้าของเด็กทีละน้อย
เลือกสระน้ำอุ่น เด็กและทารกยังไม่สามารถปรับอุณหภูมิร่างกายได้ดีเท่าผู้ใหญ่ การว่ายน้ำในสระที่มีอุณหภูมิน้ำเย็นเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ พ่อแม่จึงควรนำลูกลงว่ายน้ำในสระน้ำอุ่นที่มีอุณหภูมิประมาณ 32-33 องศาเซลเซียส แต่หากจำเป็นต้องลงว่ายน้ำในสระปกติ ให้นำเด็กขึ้นจากสระทุก ๆ 10 นาทีเพื่อทำให้ร่างกายอบอุ่น ทั้งนี้ พ่อแม่จำเป็นต้องสังเกตการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของเด็กในระหว่างที่แช่น้ำอยู่เสมอ หากริมฝีปาก นิ้วมือ หรือนิ้วเท้าเริ่มเปลี่ยนเป็นสีม่วง ให้นำเด็กขึ้นจากสระน้ำทันที
สร้างบรรยากาศให้สนุกสนาน พ่อแม่ควรลงไปว่ายน้ำกับเด็กและสร้างบรรยากาศที่สนุกสนานไปด้วย อย่างการร้องเพลงหรือเล่นเกม และมีใบหน้าที่ยิ้มแย้มอยู่เสมอ เพื่อทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัยและคิดว่าการว่ายน้ำเป็นเรื่องสนุก
หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ช่วยลอยตัว การใช้อุปกรณ์ช่วยลอยตัวอย่างห่วงยางหรือปลอกแขนว่ายน้ำ อาจทำให้เด็กรู้สึกว่าการว่ายน้ำนั้นไม่ปลอดภัย นอกจากนั้น การใช้อุปกรณ์ดังกล่าวยังบังคับให้เด็กว่ายน้ำโดยจัดร่างกายให้ตั้งฉากกับน้ำ แต่จริง ๆ แล้วท่าว่ายน้ำที่เหมาะสม คือ จัดร่างกายให้ขนานกับน้ำ
อุ้มเด็กด้วยท่าที่เหมาะสม วิธีอุ้มเด็กในน้ำนั้นมีหลายวิธี ซึ่งควรเลือกท่าที่ผู้อุ้มและเด็กรู้สึกสบายที่สุด อย่างการอุ้มโดยใช้มือประคองด้านหลังศีรษะและก้นของเด็ก หรือการอุ้มโดยใช้มือทั้ง 2 ข้างประคองใต้รักแร้จากทางด้านหน้าหรือด้านหลัง รวมทั้งผู้อุ้มควรพาเด็กเดินวนรอบสระ เพื่อให้เด็กรับรู้ถึงการเคลื่อนไหวของน้ำ หากเป็นสระเด็กหรือสระที่มีน้ำไม่ลึกมากนัก ให้ผู้อุ้มย่อตัวลงและใช้มือทั้ง 2 ข้างประคองใต้รักแร้ของเด็ก เพื่อให้ตนเองอยู่ในระดับเดียวกันกับเด็ก
คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก พ่อแม่หรือผู้ดูแลที่ลงไปในสระน้ำกับเด็กต้องอุ้มเด็กด้วยวิธีที่ถูกต้องอยู่เสมอ สำหรับเด็กที่ว่ายน้ำเป็นแล้วอาจปล่อยให้เด็กว่ายน้ำเองได้ แต่จำเป็นต้องเฝ้าดูอยู่ตลอดเวลา และพร้อมเข้าช่วยเหลือทันทีหากเกิดอุบัติเหตุใด ๆ
ที่มา : 1
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
พาลูกออกกำลังกาย เด็กแต่ละช่วงวัย ออกกำลังกายยังไงดี
7 อุปกรณ์ออกกำลังกายแม่ อยู่บ้านก็ออกกำลังได้ สุขภาพดี ไม่ต้องออกนอกบ้าน