โรค ไข้สมองอักเสบเจอี คืออะไร?
โรคไข้สมองอักเสบเจอีเป็นโรคสมองอักเสบ ชนิดที่พบบ่อยที่สุดในประเทศไทย เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเจอีที่สมอง โดยมีพาหะสำคัญคือ ยุงรำคาญ ซึ่งมักแพร่พันธุ์ในนาข้าว พบครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่น สำหรับประเทศไทยสมัยก่อนพบมากในภาคเหนือ แต่ตอนนี้พบได้ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในบริเวณที่มีการทำนาร่วมกับการเลี้ยงหมู เนื่องจากเป็นโรคที่มียุงเป็นพาหะ จึงมักพบผู้ป่วยมากในช่วงฤดูฝน แต่ก็สามารถพบได้ตลอดทั้งปี ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กโดยเฉพาะเด็กวัยเรียน
โรคไข้สมองอักเสบเจอีติดต่อได้อย่างไร?
โรคนี้มีหมูเป็นเหมือนรังของโรค เชื้อไวรัสจะเพิ่มจำนวนในหมูอย่างรวดเร็วโดยไม่มีอาการป่วย เมื่อยุงรำคาญชนิดที่เป็นพาหะ มากัดและดูดเลือดหมู ไวรัสจะเข้าไปฟักตัวเพิ่มจำนวนในตัวยุง โรคนี้ติดต่อมายังคนโดยยุงกัดแล้วแพร่เชื้อไวรัส ซึ่งอยู่ในน้ำลายยุงมาสู่ตัวเรา ดังนั้น โรคไข้สมองอักเสบเจอีนี้ถึงแม้จะเป็นโรคติดต่อก็จะไม่ติดต่อจากคนสู่คนโดยตรง เป็นโรคที่ต้องมีพาหะโดยเชื้อมาจากสัตว์
อาการของโรคไข้สมองอักเสบเจอีเป็นอย่างไร?
ผู้ที่ได้รับเชื้อโรคนี้อาจมี หรือไม่มีอาการป่วยก็ได้ ถ้ามีอาการป่วยผู้ป่วยมักแสดงอาการหลังได้รับเชื้อประมาณ 1-2 สัปดาห์ ในระยะแรกจะมีไข้สูง อาเจียน ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย หลังจากนั้น จะมีอาการทางสมอง เช่น คอแข็ง สติสัมปชัญญะเลวลง ซึม เพ้อคลั่ง ชักหมดสติ ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจะเสียชีวิตได้ในระยะนี้ หลังจากนั้นไข้จะค่อยๆลดลงสู่ปกติ และอาการทางสมองจะค่อยๆดีขึ้น แต่ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่รอดชีวิตจะยังมีความผิดปกติทางสมองเหลืออยู่ เช่น เกร็ง อัมพาต ชัก ระดับสติปัญญาลดลงได้ค่ะ
จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นโรคไข้สมองอักเสบเจอี?
หากผู้ป่วยมีอาการ ไข้สูง อาเจียน ปวดศีรษะมาก หรือมีไข้ร่วมกับมีอาการทางสมองเช่น ซึม ชัก หรือการรู้สติผิดปกติไป ควรรีบไปพบคุณหมอเพื่อตรวจร่างกายทางระบบประสาทอย่างละเอียด และตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมโดยการเจาะเลือด และน้ำไขสันหลังมาตรวจ เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสและภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสเจอี
การรักษาโรคไข้สมองอักเสบเจอีทำได้อย่างไร?
ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคนี้โดยเฉพาะค่ะ การรักษาจะเป็นรักษาตามอาการ ร่วมกับการประคับประคองเพื่อลดอาการที่จะทำให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมานและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงการให้ยากันชัก
เราจะวิธีการป้องกันโรค ไข้สมองอักเสบเจอี ได้อย่างไร?
การป้องกันโรคนี้มีวิธีการที่สำคัญ 2 อย่างคือ การป้องกันยุงกัด และ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี
การป้องกันยุงกัด ทำได้โดย พยายามทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง นอนในมุ้ง หรือมุ้งลวด ส่วนวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอีเป็นวัคซีนพื้นฐานตามแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข สำหรับประเทศไทยรัฐบาลสนับสนุนให้ฉีดวัคซีนชนิดนี้ฟรีกับเด็กทุกคนเป็นวัคซีนชนิดเชื้อไม่มีชีวิตทั้งหมด 3 ครั้ง ตั้งแต่อายุ 9-18 เดือน เข็มต่อมาอีก 4 สัปดาห์ และ 1 ปี ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอีชนิดเชื้อมีชีวิตซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจเลือกฉีดแทนได้ โดยฉีดทั้งหมดเพียง 2 ครั้ง ตั้งแต่อายุ 9-12 เดือน เข็มต่อมาอีก 3-12 เดือน หรือ 12-24 เดือน แล้วแต่ชนิดของวัคซีนค่ะ
โรคไข้สมองอักเสบ เจอี
“โรคไข้สมองอักเสบ เจอี” เป็นโรคไข้สมองอักเสบที่พบมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียรวมทั้งประเทศไทย โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัส แจแปนีส เอ็นเซฟฟาโลติส หรือเชื้อไวรัสเจอี(Japanese encephalitis: JEV) พบผู้ป่วยไข้สมองอักเสบเจอีรายแรกในประเทศญี่ปุ่น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๔
โรคนี้ทำให้เกิดการอักเสบของสมองส่วนกลาง ไม่มียารักษาโดยเฉพาะเป็นผลให้มีอัตราตายสูงและก่อให้เกิดความพิการทางสมองในรายที่รอดชีวิต
การติดต่อ
คนติดเชื้อไวรัสเจอีโดยถูกยุงกัด ยุงที่เป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ คือ ยุงรำคาญ (culex) ซึ่งเพาะพันธุ์ในน้ำขังที่อยู่ตามทุ่งนา โรคนี้จึงพบในเขตชนบทและชานเมืองมากกว่าเขตเมือง สัดส่วนของผู้ติดเชื้อที่มีอาการและไม่มีอาการโดยเฉลี่ย 1 ต่อ 300 รายการติดต่อเริ่มจากติดเชื้อในสัตว์ เช่น หมู นก ม้า วัว ควาย แพะ แกะ สุนัข โดยสามารถตรวจพบเชื้อไวรัสเจอีในกระแสเลือดของสัตว์อยู่ระยะเวลาหนึ่ง เมื่อยุงกัดกินเลือดสัตว์ ขณะที่มีเชื้อไวรัสเจอีอยู่ เชื้อจะเข้าไปเพิ่มจำนวนในยุงโดยบางส่วนอาจไปที่รังไข่ของยุง ทำให้ยุงเกิดใหม่มีไวรัสเจอีตั้งแต่เกิด เมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสมากัดสัตว์ที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อนก็จะสามารถแพร่เชื้อนี้มาสู่คน เมื่อร่างกายได้รับเชื้อไวรัสเจอีจากการถูกยุงกัด เชื้อจะเข้าไปในกระแสเลือด และเข้าไปในระบบประสาทโดยเฉพาะในสมองทำให้สมองเกิดการอักเสบ โดยเชื้อจะใช้ระยะเวลาในการฟักตัว ๕ – ๑๕ วัน ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการป่วย
อาการ
ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเจอีส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ แต่ถ้ามีอาการมักรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิต โรคนี้อัตราป่วยตายประมาณหนึ่งในสาม อาการและอาการแสดงของโรคแบ่งเป็น ๓ ระยะ คือ ๑)ระยะอาการนำเริ่มจากผู้ป่วยมีไข้สูง อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว ปวดศีรษะ มักพบอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย ตัวแข็งเกร็ง ๒)ระยะสมองอักเสบเฉียบพลัน คือ มีไข้สูงลอย มีอาการชักเกร็ง คอแข็ง มีการเปลี่ยนแปลงระดับความรู้สึกตัว ซึม หมดสติ หรือบางรายอาจเป็นอัมพาตและ ๓) ระยะพื้นโรคผู้ป่วยที่รอดชีวิตประมาณร้อยละ 40 – 60 มักพบความผิดปกติทางจิตประสาท และ เชาวน์ปัญญา ความผันแปรทางอารมณ์ มีบุคลิกภาพที่เปลี่ยนไป
การรักษา
โดยทั่วไปเป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ และดูแลบริบาลผู้ป่วยทั่วไป
การป้องกัน
การป้องกันละควบคุมโรค สามารถทำได้โดย
๑) การให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับวงจรการเกิดโรค อาการของโรค และวิธีป้องกันการเกิดโรค
๒) การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี ปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอีมี ๒ ชนิด ได้แก่ วัคซีนที่ทำจากเชื้อที่ตายแล้ว และวัคซีนที่ทำจากเชื้อมีชีวิตที่ทำให้อ่อนฤทธิ์ (วัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์) วัคซีนทั้งสองชนิดมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูง เด็กทุกคนควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี วัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ฉีด ๒ เข็ม ในเด็กอายุ ๑ ปีและอายุ ๒ปีครึ่ง โดยฉีดเข้าใต้ผิวหนัง
วัคซีนชนิดเชื้อตายให้ฉีดรวม ๓ เข็ม มีระยะห่างระหว่างเข็มคือ ๔ สัปดาห์ และ ๑ ปี ตามลำดับ ผู้ที่เคยได้รับวัคซีนเชื้อตายมาก่อนแต่ยังไม่ครบ สามารถฉีดต่อด้วยวัคซีนชนิดเชื้อเป็นได้
๓) ควบคุมและกำจัดยุงที่เป็นพาหะนำโรค เช่น การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เป็นต้น
๔) ควบคุมสัตว์เลี้ยงที่สามารถแพร่พันธุ์เชื้อไวรัสเจอี เช่น เลี้ยงหมูในคอกที่ห่างจากที่อยู่อาศัยของคน อาจทำคอกที่มีมุ้ง หรือ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้สัตว์เลี้ยงดังกล่าว
ที่มาจาก: healthydee.moph.go.th
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ตารางวัคซีนสำหรับลูกตั้งแต่แรกเกิดถึงวัยรุ่น
มารู้จักวัคซีนเสริมสำหรับเด็กกันดีกว่า ตอนที่ 1
มารู้จักวัคซีนเสริมสำหรับเด็กกันดีกว่า ตอนที่ 2