โรต้าไวรัส สาเหตุโรคอุจจาระร่วง
อันตรายกว่าที่แม่คิด โรต้าไวรัส สาเหตุโรคอุจจาระร่วง นอกจากจะทำให้ลูกน้อยท้องเสีย ท้องร่วงแล้ว ยังกระทบพัฒนาการทารก เสี่ยงไอคิวต่ำ ซ้ำร้ายอาการของโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า อาจรุนแรงได้ถึงขั้นทำให้เด็กเสียชีวิต เช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่น่าสะเทือนใจของคุณแม่ท่านนี้
ใครจะคิดว่า อาการท้องเสียของลูกวัย 5 เดือน จะรุนแรงจนพรากชีวิตน้อย ๆ ไปจากอ้อมอกของแม่ได้ ซึ่งคุณแม่ได้เล่าว่า น้องป่วยเพียง 2 วันก็จากไป เพราะไวรัสโรต้า ทำให้น้องท้องเสีย อ้วก มีอาการตัวร้อนแต่มือเย็น คุณหมอบอกแม่ว่า น้องติดเชื้อในกระแสเลือด และร่างกายขาดน้ำรุนแรง
คุณแม่ยังบอกด้วยว่า อาการที่รุนแรงเช่นนี้ ไม่ใช่ว่าจะเกิดกับทารกทุกคน เพราะเด็กหรือทารกแต่ละคนนั้น มีภูมิคุ้มกันที่ต่างกัน สำหรับอาการของน้องมีดังนี้
- น้องอ้วก พร้อมกับถ่ายท้อง กินนมเข้าไป เพียงแป๊ปเดียว ก็อ้วกออกหมดเลย
- น้องมีอาการไข้ขึ้นสูง ตัวร้อนแต่มือเท้าเย็น
ทางทีมงานดิเอเชี่ยนพาเร้นท์ ขอแสดงความเสียใจต่อการจากไปของน้องด้วยนะคะ
สำหรับแม่ ๆ ท่านอื่น ต้องสังเกตอาการลูกให้ดี ถ้ามีอาการคล้ายกัน ให้รีบไปโรงพยาบาลด่วน เพราะถ้าทิ้งไว้นาน อาจจะต้องเสียใจไปตลอดชีวิต
เตือนแม่ ๆ ฤดูหนาวมาพร้อมโรคอุจจาระร่วง
อากาศหนาว ๆ เย็น ๆ อาจทำให้เรารู้สึกดี แต่อากาศดี ๆ อย่างนี้ เอื้อต่อการอยู่รอดและแพร่กระจายของไวรัสมากที่สุด นอกจากโรคไข้หวัด โรคปอดบวม และโรคหัด ที่มาพร้อมกับลมหนาวแล้ว โรคอุจจาระร่วง ก็น่ากังวลใจ ถึงขนาดที่องค์การอนามัยโลกยืนยันถึงภัยอันตราย เนื่องจากกลุ่มเสี่ยง เป็นกลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งโรคอุจจาระร่วง ได้คร่าชีวิตเด็กทั่วโลก ปีละสามหมื่นถึงห้าหมื่นคน และเจ้าไวรัสตัวดีที่เป็นสาเหตุคือ ไวรัสโรต้า
นายแพทย์ศุภเลิศ เนตรสุวรรณ รองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ แนะนำว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นการป้องกันลูกน้อยจากเชื้อโรต้าไวรัสที่สำคัญอย่างมาก ทำให้ลูกมีภูมิต้านทานโรคได้ เมื่อแม่อุ้มลูกเข้าเต้า ยังเป็นการลดโอกาสสัมผัสกับขวดนม หรือจุกนมที่ไม่สะอาดด้วย
ทำความสะอาดให้ดี ป้องกันลูกท้องร่วง
สิ่งที่แม่ ๆ ต้องใส่ใจคือ การทำความสะอาดสถานที่เลี้ยงลูก เครื่องใช้ ของเล่นต่าง ๆ ให้ปลอดภัย หมั่นล้างมือลูกบ่อย ๆ เพราะเด็กมักหยิบจับสิ่งของ หรือเอามือเข้าปาก
กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโรต้าไวรัส
ทารกในวัย 6 เดือนถึง 2 ขวบ วิจัยพบว่า เด็กแรกเกิดถึง 5 ขวบแทบทุกคนเคยติดเชื้อนี้กันมาแล้ว และมีถึง 1 ใน 10 รายที่อาจเป็นซ้ำ ๆ ได้ถึง 5 ครั้ง ไวรัสโรต้าเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงรุนแรงในเด็กเล็กที่อาจคร่าชีวิตลูกน้อยได้
สังเกตอย่างไรว่าลูกติดเชื้อไวรัสโรต้า
- มีอาการซึม อ่อนแรง มือเท้าเย็น
- มีอาการถ่ายเหลว ปัสสาวะสีเข้ม ปัสสาวะน้อย หรือ ไม่ได้ปัสสาวะเกิน 6 ชั่วโมง
- อาเจียนอย่างหนัก จนเกิดภาวะขาดน้ำ
- ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ ปากแห้ง ตาโหล
- เด็กบางคนอาจมีกระหม่อมบุ๋ม
- ถ้าเป็นซ้ำ ๆ อาจทำให้ขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต
ส่วนผลร้ายของโรคอุจจาระร่วง ไม่ใช่แค่อาการท้องเสียที่ส่งผลต่อร่างกายลูกน้อย แต่ยังหมายรวมถึง การส่งผลร้ายต่อพัฒนาการของเด็ก ทำให้พัฒนาการของเด็กหยุดชะงัก โดยเฉพาะวัย 5 ปีแรก ซึ่งเป็นวัยแห่งพัฒนาการ ทั้งศักยภาพทางสมองและสมรรถภาพร่างกายกำลังเจริญเติบโตเต็มที่ ซึ่งถ้าหากมีอาการข้างตน ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์ทันที ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง
วิจัยพบผลกระทบต่อพัฒนาการทารก
เด็กที่ได้รับเชื้อไวรัสโรต้าและมีอาการของโรคท้องเสียซ้ำ ๆ ในช่วงวัย 1 – 2 ปี จะได้รับผลกระทบต่อร่างกายด้านต่าง ๆ เช่น
- ความสูงที่อาจจะต่ำกว่าเด็กทั่วไปถึง 8.2 เซนติเมตร ในวัยก่อน 7 ปี
- ความพร้อมต่อการเรียนรู้ช้ากว่าเด็กทั่วไปในช่วงวัยเรียน
- เด็กที่ท้องร่วงซ้ำ ๆ ก่อนอายุ 2 ปี จะทำให้เด็กมีพัฒนาการทางสมองหรือไอคิวต่ำกว่าเด็กวัยเดียวกันถึง 10 จุด
การศึกษาวิจัยยังพบอีกว่า ท้องร่วงยังมีผลต่อภาวะขาดสารอาหารตั้งแต่เด็ก ซึ่งส่งผลกระทบทำให้น้ำหนักของเด็กบางคนเพิ่มขึ้นน้อยกว่าปกติ
วิธีป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า
พ่อแม่ต้องพาลูกน้อยมารับการหยอดวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า เพื่อป้องกันและลดความรุนแรงของโรคอุจจาระร่วงได้ โดยสามารถแบ่งชนิดวันคซีนได้ออกเป็น 2 ชนิด ดังนี้
1) วัคซีนโรต้า ชนิดที่ทำมาจากสายพันธุ์มนุษย์
หยอด 2 ครั้ง เริ่มหยอดได้ตั้งแต่เด็กอายุ 2 เดือน และฉีดเข็มต่อไปตอน 4 เดือน
2) วัคซีนโรต้า ชนิดที่ทำมาจากวัว
ชนิดนี้ จะต้องทำการหยอดวัคซีน ทั้งหมด 3 ครั้ง เริ่มตั้งอต่ 2 เดือน, 4 เดือน และ 6 เดือน
นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรสอนลูกให้มีสุขอนามัยที่ดี สอนให้ลูกรู้จักล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำ เปลี่ยนผ้าอ้อม ทำธุระเสร็จ หรือก่อนรับประทานอาหาร ที่สำคัญแม่ ๆ ควรหมั่นทำความสะอาดของเล่นทุก ๆ ครั้ง หลีกเลี่ยงการใช้ช้อนร่วมกันขณะรับประทานอาหาร หลีกเลี่ยงการพาลูกไปสถานที่แออัด
และยังมีวิธีง่าย ๆ ที่คุณแม่สามารถป้องกันได้ด้วยตนเอง คือ การให้นมลูกอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อให้ลูกน้อยมีภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้นอีกด้วย
ที่มา : Thai Health, Samitivej, Bangkok Hospital Pattaya
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
แพทย์เตือน จับลูกเล็กเขย่าไปมา อันตรายจากการเขย่าทารก อาจทำให้พ่อแม่ปวดร้าวใจไปตลอดชีวิต!
ทารกเป็นหวัด ลูกยังเล็กมากจะเป็นอะไรไหม ทำอย่างไรไม่ให้ทารกเป็นหวัด
ปฐมพยาบาลเบื้องต้น กับ 5 อาการที่เกิดบ่อยของลูกวัยซน