โรค ไฟลามทุ่ง ลุกลามจากแผลธรรมดา
น้องนก อายุ 1 ปี 2 เดือน เป็นแผลที่แขนจากการหกล้มมา 2 วัน คันมาก ชอบเเกะและเกาทั้งวัน ต่อมา แผลสีเข้ม แดงมากขึ้น กว้างขึ้น อย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่ชั่วโมง พร้อม ๆ กับเริ่มมีไข้ขึ้นสูง คุณแม่จึงพามาพบคุณหมอเพราะสงสัยว่าจะน้องจะแพ้อะไรหรือไม่ หลังจากที่ได้รับการตรวจแล้ว คุณหมอให้ความเห็นว่า น้องนกมีการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง ซึ่งเรียกว่า ไฟลามทุ่ง
โรคไฟลามทุ่ง คืออะไร ?
ไฟลามทุ่ง หรือ Erysipelas เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในชั้นหนังแท้ มักพบในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งอาจมีอาการเพียงติดเชื้อที่ผิวหนัง บวม แดง ร้อน จนถึงติดเชื้อในกระแสโลหิตอย่างรุนแรงจากเชื้อแบคทีเรียได้
โรคไฟลามทุ่ง เกิดจากอะไร ?
โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus โดยเชื้อโรคจะเข้าสู่ผิวหนังเนื่องจากมีแผล ผิวหนังถลอกเช่น แผลถลอกหกล้ม โดนแมลงกัด ซึ่งเมื่อเชื้อโรคเข้าสู่ผิวหนังชั้นหนังแท้ ก็จะทำให้เกิดการติดเชื้อลุกลามขึ้น
โรคไฟลามทุ่งมีอาการอย่างไร ?
ผู้ป่วยโรคนี้จะมีผิวหนังที่ผิดปกติอย่างเห็นได้ชัดคือ มีผื่นขนาดใหญ่ สีแดงสด บวม นูน ตึง ดูคล้ายเปลือกส้ม กดเจ็บ คลำดูจะร้อน ขอบของผื่นยกนูนจากผิวหนังปกติอย่างชัดเจน และอาจพบเป็นตุ่มน้ำพองร่วมด้วย โดยผื่นมักลุกลามอย่างรวดเร็ว บริเวณที่เกิดผื่นพบบ่อยที่ขา เท้า รองลงมาคือใบหน้าและผิวหนังส่วนอื่น
อาการที่มักพบเกิดร่วมด้วย คือ อาการไข้ที่มักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรง คือ ไข้สูง อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน หรือมีต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วย
คุณหมอจะวินิจฉัยโรคไฟลามทุ่งได้อย่างไร ?
หากผู้ป่วยมีประวัติอาการร่วมกับลักษณะผื่นดังกล่าว คุณหมอก็สามารถให้การวินิจฉัยโรคนี้ได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม หากมีอาการรุนแรง คุณหมออาจทำการตรวจเพาะเชื้อแบคทีเรียจากแผลและเพาะเชื้อในกระแสเลือด เพื่อให้ทราบเชื้อแบคทีเรียต้นเหตุ ที่ชัดเจนร่วมด้วย
การรักษาโรคไฟลามทุ่งทำได้อย่างไร?
คุณหมอจะให้การรักษาโรคไฟลามทุ่ง โดยการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรียต้นเหตุ ร่วมกับการรักษาประคับ ประคองตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้แก้ปวด
ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง มีไข้ร่วมด้วย อาจต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และให้ยาปฏิชีวนะฉีดเข้าทางเส้นเลือดนานประมาณ 10 วัน โดยอาการผื่นมักจะหายในเวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์หลังจากได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ
การป้องกันโรคไฟลามทุ่งทำอย่างไร?
เนื่องจากโรคนี้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ผิวหนังผ่านทางแผลซึ่งทำให้เกิดรอยแยกของผิวหนังอันเป็นทางเข้าของเชื้อโรค การป้องกันจึงทำได้โดย เฝ้าระวังการเกิดแผล หากมีแผลต้องรีบทำความสะอาด หรือทายาปฏิชีวนะเฉพาะที่หากเริ่มมีการติดเชื้อ และรีบไปพบคุณหมอหากแผลดูบวม แดง ร้อน มีการติดเชื้ออย่างชัดเจน ไม่แกะเกาบริเวณแผลที่ผิวหนัง โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่อาจเป็นโรคนี้ได้ง่าย เช่นเด็ก, ผู้สูงอายุ, ผู้มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
จะเห็นได้ว่าการที่เด็กมีแผล แล้วมีการแคะแกะเกาอยู่บ่อยๆ อาจนำมาซึ่งการติดเชื้ออย่างรุนแรงจนต้องนอนโรงพยาบาลได้ คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตและรีบทำการรักษาแผลที่ผิวหนังของลูกอย่างถูกต้อง หากไม่มั่นใจก็ควรรีบปรึกษาคุณหมอโดยเร็วนะคะ
ที่มา : en.wikipedia.org
บทความอื่น ๆ น่าสนใจ :
ลูกมีไข้สูง ผื่นแดงขึ้นตามตัว สัญญาณบอกลูกอาจเป็นโรคส่าไข้!
ลูกเป็นผื่นผ้าอ้อม ทำไงดี มีวิธีแก้ไหม
กากบาทตัวโต!! ยาอันตราย ห้ามใช้กับลูก ทารกและเด็กเล็กไม่ควรกินเด็ดขาด!