แม่แชร์ประสบการณ์ เมื่อลูกน้อยหัวใจพิการแต่กำเนิด
จากกรณีของคุณแม่ท่านหนึ่งได้แชร์เรื่องราวของ “น้องเลอาร์” ในเว็บไซต์ pantip.com โดยคุณแม่ได้บรรยายเรื่องราวตั้งแต่วันที่ลูกน้อยลืมตาดูโลกพร้อมกับความผิดปกติของหัวใจตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งในคืนที่ 2 หลังจากวันคลอด คุณแม่กับคุณพ่อได้รับการชี้แจงจากแพทย์ว่าน้องเลอาร์มีระดับออกซิเจนในเลือดผิดปกติ และเรื่องราวหลังจากนั้นก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการแชร์เรื่องราวในครั้งนี้
“ ฉันชื่อบี ปีนี้อายุ 31 ปี แต่งงานกับสามีมา 2 ปี เมื่อต้นปีที่ผ่านมา วันที่ 28 มีนาคม 2561 ได้ให้กำเนิดลูกสาวคนแรกของครอบครัวเรา เราตั้งชื่อเล่นน้องว่า “เลอาห์” ตั้งชื่อตามตัวละครในหนัง Star Wars ที่เราสองคนชื่นชอบ วันแรกที่ฉันรู้ข่าวดีว่าฉันท้อง คือวันที่ 12 สิงหาคม 2560 ซึ่งเป็นวันแม่ และเป็นวันที่ทำบุญบ้านใหม่ของฉันพอดี ฉันบอกแม่ว่า แม่กำลังจะได้เป็นอาม่าแล้วนะ แม่ของฉันและทุกคนในครอบครัวดีใจกันมาก ฉันเป็นคนแรกที่แต่งงานออกไป และเลอาห์คือหลานคนแรกของบ้านเรา วันรุ่งขึ้นฉันและสามีรีบไปฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งนึงทันที ฉันทำตามคำแนะนำของคุณหมอทุกอย่าง ไปตรวจครรภ์ตามหมอนัดทุกเดือน อัลตร้าซาวด์ทุกครั้งที่ไป หมอบอกว่าลูกแข็งแรงดี ปกติทุกอย่าง ฉันถามหมอว่าเราต้องเจาะถุงน้ำคร่ำไหม หมอบอกว่าไม่จำเป็น เพราะแม่ไม่ได้เป็นอะไร แม่ฉัน พี่และน้องฉันตื่นเต้นกันมาก ซื้อข้าวของใช้ เสื้อผ้าไว้เยอะ ฉันแทบไม่ต้องซื้ออะไรเอง
เที่ยงคืนกว่าๆ ของเช้าวันที่ 28 มีนาคม 2561 น้ำคร่ำแตก ฉันปลุกสามี และเอากระเป๋าเตรียมคลอดขึ้นรถ นั่งรถไปชิลๆ เพราะตอนนั้นยังไม่เจ็บมากเท่าไร แต่พอถึงโรงพยาบาล อาการเจ็บเริ่มมา เจ็บมากกกก มากจริงๆ มากแบบที่ทุกคนบอกไว้ เจ็บแบบสุดๆ พยาบาลบอกว่าจะผ่าคลอดไหม จะได้ไม่ต้องทนเจ็บ ด้วยความที่ตั้งใจอยากคลอดเอง เลยปฏิเสธ นอนอดทนดิ้นไปมาอยู่นาน จนความอดทนหมดลง เพราะเจ็บไม่ไหว เลยเรียกพยาบาลบอกว่าไม่ไหวแล้วคะ ผ่าเลยคะ เลอาห์ ลืมตาดูโลกครั้งแรก ร้องเสียงดังมาก ในวันที่ 28 มีนาคม 2561 เวลา 03.18 น. ด้วยน้ำหนัก 2.7 กก.
คืนแรกผ่านไป ก็ยังไม่เจอลูก วันที่สองคิดว่าจะได้เจอก็ไม่เจอ คุณหมอเรียกพ่อลงไปคุย เรารู้สึกแปลกๆ แต่ยังไม่คิดอะไร พ่อขึ้นมาบอกว่า ลูกออกซิเจนไม่ดี เลยต้องให้ออกซิเจนช่วย หมอบอกว่าลูกยังปรับตัวไม่ได้ ต้องอยู่ในตู้ ครอบออกซิเจนไว้ก่อน ฉันยังไม่ตกใจมากเท่าไร ใจยังสู้อยู่ เพราะคิดว่ามันแค่การปรับตัว อาจต้องให้เวลาเขา ระหว่างนั้นฉันก็เริ่มปั้มนม โชคดีมากที่น้ำนมมาเยอะมาก ฉันขยันปั้มนมตลอด ให้ลูกได้กินนมแม่ จะได้แข็งแรง และออกมาไวๆ จนกระทั่งครบ 3 วัน ต้องกลับบ้านแล้ว แต่ลูกก็ยังออกไม่ได้ ระหว่างที่อยู่โรงพยาบาล มีแค่ฉันและสามี สามารถเข้าไปดูลูกในห้อง NICU ได้ ลูกนอนอยู่ในตู้ พร้อมมีอุโมงค์ออกซิเจนครอบอยู่ ฉันกับสามีได้แต่นั่งเกาะตู้ และคุยกับลูก ลูกดูดนมจากขวด พยาบาลบอกว่าให้คุณแม่ปั้มมาเยอะๆนะคะ เพราะน้องกินเก่งมาก ฉันและสามีกลับบ้าน ปั้มนม และขับรถเอานมมาให้ลูกทุกวัน วันละ 2 รอบ
“ครบ 7 วันที่ลูกเกิด วันนั้นฉันเพิ่งปั้มนมเสร็จ กำลังเตรียมตัวออกไปหาลูกที่โรงพยาบาล ทางโรงพยาบาลโทรเข้ามาบอกให้รีบมา แจ้งว่า “ลูกอยู่ในภาวะหัวใจวาย” ฉันนิ่งอึ่งทำอะไรไม่ถูก มือเย็นไปหมด รีบไปบอกสามี และรีบขับรถพากันไปโรงพยาบาล ”
ถึงโรงพยาบาลฉันถามหมอว่าเกิดอะไรขึ้น ไหนว่าแค่น้องปรับตัวยังไม่ได้ ไม่เห็นบอกเรื่องหัวใจเลย ให้น้องนอนอยู่ได้ตั้งหลายวัน จนน้องหัวใจวาย หมอบอกว่าที่โรงพยาบาลเราไม่มีหมอเฉพาะทางเรื่องโรคหัวใจเด็ก การตรวจหาอาการเลยช้า หมอแจ้งว่า เส้น PDA ของน้องมันไม่ปิด ซึ่งมันสามารถเกิดขึ้นกับเด็กอื่นๆ ได้เช่นกัน เพียงต้องผ่าตัดให้น้อง และไปผูกเส้นนั้นก็เรียบร้อย พูดเหมือนง่าย แต่ลูกฉันเพิ่งเกิดมาแค่ 7 วันนะ ฉันได้แต่ร้องไห้ ทำอะไรไม่ถูก พี่สาวของสามีแนะนำว่าให้ย้ายโรงพยาบาลเถอะ ไปโรงพยาบาลที่มีหมอเฉพาะทาง พี่สาวแนะนำโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง เป็นโรงพยาบาลที่ค่าใช้จ่ายสูงมากฉันทำอะไรไม่ถูก ไม่รู้จะทำยังไง แม่ของฉันโทรเข้ามาแล้วบอกว่า ไม่ต้องห่วงนะ เดี๋ยวแม่ออกเงินเอง ให้รีบย้ายหลานไป ฉันจึงรีบโทรหาโรงพยาบาลทางนู้น เพื่อให้เขานำรถพยาบาลมารับโดยด่วน
กว่าจะทำเรื่องย้าย ทำเรื่องจ่ายเงินที่เดิม กว่าจะรอรถพยาบาลทางนู้นมารับ ก็ปาไปเกือบๆตี 2 ได้ พอรถพยาบาลมาถึง เจ้าหน้าที่เข็นเลอาห์ออกมาจาก NICU เป็นครั้งแรกที่แม่ของฉันและพี่น้องได้เห็นเลอาห์ครั้งแรก เลอาห์ยังคงนอนอยู่ในตู้อบ พร้อมที่ครอบออกซิเจนเหมือนที่ฉันเห็นทุกวัน นี่เป็นครั้งแรกที่ฉันได้นั่งรถฉุกเฉิน ไม่เคยคิดว่าจะต้องมานั่งข้างๆลูกตัวน้อยที่เพิ่งคลอดไม่กี่วัน ส่วนคนอื่นๆขับรถตามกันมา
ถึงโรงพยาบาล คุณหมอและพยาบาลรีบเข็นเลอาห์เข้าไปใน NICU กันฉันและญาติๆให้รอด้านนอก สักพักจึงมีหมอประจำเวร คืนนั้นมาคุย คุณหมอแจ้งว่าพรุ่งนี้จะมีหมอเฉพาะทางโรคหัวใจเด็กมาคุยด้วยอีกที เบื้องต้น หมอได้ทำการใส่เครื่องช่วยหายใจลงไปในคอน้อง เพื่อให้หายใจได้สะดวก น้ำตาฉันไหลออกมาโดยไม่รู้ตัว มันคงต้องเจ็บและทรมานมากๆ ปากลูกฉันเล็กนิดเดียว ยัดเครื่องลงไปลูกฉันต้องเจ็บมากแน่ๆ หมอพูดอาการอะไรเยอะแยะไปหมด แต่ฟังดูน่าเชื่อถือ และสร้างความมั่นใจให้ฉันมากกว่าที่เก่ามาก แม้จะเป็นเพียงหมอเวร แต่ก็มีการวินิจฉัย และบอกอาการ และแนวทางการรักษาได้ชัดเจน ผิดกับที่เดิม ที่เพียงแค่บอกว่า น้องยังปรับตัวไม่ได้ ให้รอเวลาน้องปรับตัวเอง คืนนั้นเราทุกคนกลับบ้านด้วยความอ่อนหล้า ฉันไม่ลืมที่จะปั้มนมก่อนนอน แม้จะเหนื่อยมากก็ตาม เพราะนอนก็คงนอนไม่หลับ รอฟังเสียงโทรศัพท์ตลอด เพราะ NICU แจ้งไว้ว่าอย่าปิดเครื่อง เพราะถ้ามีเรื่องด่วนจะโทรเข้ามา คืนนั้นผ่านไปด้วยหัวใจที่ว้าวุ่น
ตอนเช้าตื่นมา อยู่ๆ ฉันก็นั่งร้องไห้ปล่อยโฮออกมา สามีเดินเข้ามากอดปลอบใจ ร้องไห้ยังไม่เสร็จ ก็มีโทรศัพท์จากโรงพยาบาลบอกให้เราไปที่โรงพยาบาลด่วน ฉันโทรหาแม่ถามว่าจะไปด้วยไหม ถ้าไปรีบเลยจะไปรับ (บ้านฉันกับแม่อยู่ใกล้ๆกัน) ) ไปถึงโรงพยาบาล สรุปไม่มีอะไร เพียงแต่พยาบาลต้องการเลือดของฉันไว้สำหรับการเบิกเลือดให้เลอาห์ เพื่อใช้ในการผ่าตัด หมอหัวใจเข้ามาคุยกับฉันและสามี ท่านถามว่าหมอทางนู้นบอกว่าน้องเป็นอะไรครับ ฉันก็บอกเท่าที่รู้ว่า เส้น PDA ของน้องไม่ปิดคะ จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อไปผูกเส้น หมอบอกว่าครับ PDA ก็ส่วนนึง แต่มันเป็นส่วนเล็ก ปัญหาใหญ่คือ เส้นเลือดหัวใจของน้อง เดินผิดที่ผิดทาง คือมันไม่อยู่ในที่ที่มันควรจะอยู่ ทำให้เลือดแดงเลือดดำปนกันไปหมด และทำให้เกิดปัญหาลามไปที่ปอด คือน้ำจะท่วมปอดได้ง่าย
น้ำตาฉันไหลออกมาเป็นทาง สามีนั่งข้างๆ จับมือกันแน่น หมอพูดบอกว่า “สถานการณ์แบบนี้ ก่อนอื่นเราต้องยอมรับก่อนว่าลูกเราป่วย และต้องช่วยกันดูแล อย่าโทษกัน อย่าโทษใคร ช่วยกันประคองกันไป”
ฉันได้แต่ตอบรับคะๆ หมอแจ้งว่า วันนี้จะทำการผ่าตัดเล็ก ที่ชายโครงด้านหลัง เพื่อผูกเส้น PDA ที่มันไม่ยอมปิดก่อน การผ่าตัดเป็นการผ่าตัดเล็กๆ ใช้เวลาไม่นาน เดี๋ยวจะมีหมอผ่าตัดหัวใจเด็กมาคุยด้วยตอนก่อนผ่า ส่วนเรื่องปัญหาใหญ่เส้นเลือดที่เดินผิด เข้าผิดห้องหัวใจ เป็นการผ่าตัดที่ใหญ่มาก คือผ่าตัดแบบ Open Heart ผ่าทางหน้าอก น้องตัวเล็กเกินไป มีความเสี่ยงสูงมาก และค่าใช้จ่ายสูง ตอนนี้น้องยังไหว หมอแนะนำว่าผ่าตัว PDA ก่อน แล้วไปเลี้ยงให้น้องโต สัก 4-6 กก. ค่อยมาผ่าอันใหญ่ ฉันถามคุณหมอว่า สาเหตุของโรคคืออะไรคะ ฉันเผลอไปทำอะไรตอนท้องรึป่าว หมอใช้คำว่า “อุบัติการณ์” ครับ มันเกิดขึ้นมาเอง ไม่มีสาเหตุอะไรจากคุณแม่ตอนซาวน์เป็นไปได้ที่มองไม่เห็น เพราะเส้นเลือดเล็กมากๆ ยิ่งเป็นเส้นเลือดหัวใจ ยิ่งเล็กครับ ฉันเข้าใจเรื่องนั้นดี และไม่โทษใคร ตอนนี้ใจเป็นห่วงแต่ลูก คุยกับหมอเสร็จเดินออกมากอดแม่แน่น พร้อมปล่อยโฮ ทั้งฉันทั้งแม่ต่างร้องไห้
ห้อง NICU ไม่สามารถอยู่เฝ้าได้ แต่โรงพยาบาลมีห้องสำหรับให้ญาตินั่งรอ เราอยู่ห้องนั้นกันทั้งวัน การผ่าตัดผ่านไปด้วยดี เลอาห์ตอบสนองการผ่าตัดได้ดี ค่อยๆฟื้นตัว เราพอยิ้มได้บ้าง ช่วงนี้คงต้องอยู่โรงพยาบาลจนกว่าจะแข็งแรง โรงพยาบาลไกลบ้านมากๆ บ้านอยู่รังสิต โรงพยาบาลอยู่ศรีนครินทร์ แต่ฉัน สามี และแม่ของฉันก็มากันทุกวัน โรงพยาบาลดูแลเลอาห์ดีมาก เครื่องไม้เครื่องมือทันสมัย แต่ทุกอย่างต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงลิ่ว แม่ของฉันบอกว่าไม่ต้องกังวลเรื่องนั้น แม่เต็มใจ
เนื่องจากเป็นโรคหัวใจ เลอาห์จะเหนื่อยง่ายมาก เหนื่อยแม้กระทั่งดูดนม คุณหมอบอกว่าการดูดนมของเลอาห์เทียบเท่ากับเราวิ่งรอบสนามบอลได้เลย คือมันเหนื่อยมากจริงๆ และเพราะว่ามีน้ำท่วมปอด คุณหมอจำเป็นต้องจำกัดน้ำเข้า และให้กินยาขับปัสสาวะตลอด เพื่อให้น้ำออก น้ำจะได้ไม่เกินในปอด จนทำให้เกิดปัญหา
วันที่ 13 เมษายน 2561 เป็นวันแรกที่ฉันได้อุ้มลูกของฉันตั้งแต่เขาเกิดมา ตัวเขาเบามาก แต่มันทำให้ฉันอบอุ่นหัวใจอย่างบอกไม่ถูก
วันที่ 17 เมษายน 2561 วันนี้เลอาห์พร้อมจะเดินทางกลับบ้านแล้ว เราทุกคนดีใจและตื่นเต้นมาก จริงๆฉันกับสามีคุยกันไว้ว่าจะเลี้ยงลูกกันเองที่บ้านของเรา แต่เพราะลูกป่วยแบบนี้ แม่ของฉันเลยอยากให้ไปอยู่ด้วยกันที่บ้านแม่ จะได้ช่วยกันดูแล และที่บ้านแม่มีพื้นที่กว้างขวางกว่า มีสนามหญ้า อากาศบริสุทธิ์กว่าบ้านของฉันที่อยู่ติดถนนมาก กลับถึงบ้าน คืนแรกกลับถึงบ้าน เลอาห์หลับดี ส่วนฉันหลับๆตื่นๆ มานั่งดูลูก เอามาอังจมูกลูกตลอดเวลาว่าลูกหายใจไหม ลูกเป็นอะไรรึป่าว เลอาห์ใช้เวลากินนมแต่ละมื้อนานมาก เกือบๆชั่วโมง เพราะว่าเหนื่อย มื้อนึงกินได้เพียง 1 ออนซ์เท่านั้น
ช่วงอยู่บ้าน ทุกคนในบ้านมีความสุขมากๆ เลอาห์มาเติมเต็มครอบครัวเราจริงๆ ทุกคนอยู่ติดบ้าน ไม่ค่อยยอมออกไปไหน โดยเฉพาะอาม่า (แม่ของฉัน) เห่อหลาน และรักหลานมาก แม้กระทั่งพี่สาวของฉัน ที่มีนัดสังสรรค์บ่อยๆ ก็แทบไม่ได้ออกไปไหน การดูแลเลอาห์ค่อนข้างยาก และเหนื่อยมาก เราต้องไม่ให้เลอาห์ร้องไห้เยอะ เพราะจะเหนื่อย และการกินนมแต่ละมื้อ กว่าจะกินเสร็จแทบจะชนอีกมื้อ ทำให้ตอนกลางคืนแทบจะไม่ได้นอน และยังต้องตื่นมาปั้มนมอีก ยังดีที่กลางวันแม่และพี่สาวฉันช่วยเลี้ยง ฉันก็พอที่จะแอบงีบกลางวันได้นิดหน่อย แม่ฉันเห็นว่าฉันเหนื่อยมาก แม่และพี่สาวเลยอาสา เอาเลอาห์ไปดูแลให้บางคืน สลับกัน น้ำหนักเลอาห์ไม่ขึ้นเลย เหมือนจะลดลงด้วยซ้ำ เพราะกินจำกัด แถมต้องขับออกตลอด เราทุกคนได้แต่ปลอบใจตัวเองว่า เดี๋ยวหายแล้วก็อ้วน เดี๋ยวช่วยกันขุน
ฉันมาปรึกษากับแม่ว่าจะพาเลอาห์ไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลรัฐ เพื่อช่วยแม่ประหยัดค่าใช้จ่าย แม่ตกลง ฉันทำการนัดแพทย์โรคหัวใจ เราโชคดีได้อาจารย์หมออนันต์ เป็นอาจารย์หมอที่เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจเด็กๆ มากๆ เราตกลงกันว่า ถ้าเรื่องโรคหัวใจ จะมาหาหมอที่รามา ส่วนโรคอื่นๆ ไม่สบายทั่วไป หรือพัฒนาการ จะไปที่โรงพยาบาลเอกชน ที่เลอาห์ไปผ่าตัดทีแรก เพราะสะดวก ไม่ต้องรอคิวนาน (อันนี้คือพลาดมากๆ การไปหาหมอคนละที ทำเคสไม่ follow กัน ประวัติไม่เหมือนกัน หมอติดตามอาการไม่ได้) วันแรกที่รามานัด เราทุกคนไปกันทั้งบ้าน ฉัน สามี แม่ และพี่สาว พาเลอาห์ไปด้วยกันหมด อาจารย์อนันต์บอกว่า โรงพยาบาลเอกชนที่ผ่าตัดมาวินิจฉัยโรคได้ถูกต้อง ทางเดียวที่จะรักษาได้คือผ่าตัดใหญ่แบบ Open Heart ต้องรอให้น้ำหนักมากกว่านี้ก่อน ฉันถามย้ำคุณหมอว่า ถ้าผ่าตัดแล้ว จะหายขาดเลยไหม คุณหมอบอกว่า ถ้าการผ่าตัดไม่มีอะไรผิดพลาด ไม่มีอะไรแทรกซ้อนจะการผ่าตัด เลอาห์จะหายขาด เราทุกคนเริ่มมีความหวัง อาจารย์อนันต์นัดให้เรามาพบทุกๆ 2 สัปดาห์
ก่อนจะถึง 2 อาทิตย์ที่หมอนัด เลอาห์เริ่มไอแรงๆ ไอจนตัวโก่ง ไอเหมือนมีอะไรติดอยู่ในคอ ตอนกลางคืนนอนหายใจแรง มีเสียงกรนเหมือนผู้ใหญ่ การไอแรงๆ ทำให้เลอาห์เหนื่อยมาก ดื่มนมเริ่มไม่ได้ เพราะเหนื่อยจากการไอ นมที่ได้กินน้อยอยู่แล้ว เริ่มกินไม่หมด ฉันไม่อยากให้ลูกหิว เลยต้องช่วยลูกโดยการใช้สริงค์ ในการป้อนนม เลอาห์กินจากสริงค์ได้บ้าง แต่ก็สังเกตว่าเหนื่อยมาก แม้ไม่ต้องดูดนม แค่เพียงกลืน ก็หอบแล้ว การป้อนสริงค์ทำให้ใช้เวลาในการกินนมมากขึ้นกว่าเดิม เราทุกคนได้นอนน้อยกว่าเดิม แต่ก็ไม่มีใครบ่น ทุกคนเต็มใจ ด้วยอาการไอหนักๆ ฉันเลยตัดสินใจพาเลอาห์ไปหาหมอทีโรงพยาบาลเอกชน ที่เลอาห์ผ่าตัด คุณหมอกังวลว่าจะแพ้นมรึป่าว เลยให้ลองนมที่เด็กแพ้ยากมากๆ คือ Neocate ราคาสูงลิ่วซื้อที่โรงพยาบาล กระป๋องละ 2,500 บาท กระป๋องนึงเล็กมาก กินได้ 5-6 วันก็หมด เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ฉันเลยต้องหาซื้อตามร้านข้างนอก ตกกระป๋องละ 1,500 บาท แพงแต่ก็ต้องสู้เพื่อลูก แม่ฉันบอกให้ฉันหยุดปั้มนม ยังไงลูกก็กินไม่ทัน และเสี่ยงจะแพ้ เดี๋ยวยิ่งแย่ และฉันจะได้เอาเวลาปั้มนมมาพักผ่อน เพราะเราต้องเหนื่อยกันอีกเยอะ ฉันตัดสินใจเลิกปั้มนม อาการเลอาห์ไม่ดีขึ้น ดูซึมและเพลียกว่าเดิม เราพากลับไปหาคุณหมอที่โรงพยาบาลเอกชนที่เดิม คุณหมอบอกว่า เลอาห์กินน้อยมาก ใกล้จะขาดสารอาหารแล้ว เด็กเริ่มไม่มีแรงแล้วนะ เราต้องทำอะไรก็ได้ให้เด็กกิน หมอจึงขอใส่สาย NG คือการใส่สายยางทางจมูก ลงไปถึงกระเพาะอาหาร เพื่อให้อาหารทางนั้น
น้ำตาไหลรินกันอีกครั้ง สงสารลูกจับใจ ใส่ได้ประมาน 5 วัน เลอาห์เริ่มมีเนื้อมีหนังขึ้น เริ่มแข็งแรง ร่าเริง วันที่ 6 เด็กซ่าเอามือดึงสายที่จมูกออกมาเอง เราตกใจกันยกใหญ่ รีบบึ่งรถไปศรีนครินทร์ เพื่อไปพบคุณหมอ คุณหมอตรวจสอบดูแล้วว่าไม่เป็นอะไร มีแรงแล้ว เลยไม่ต้องใส่อีก กลับบ้านได้ ช่วงแรกฉันก็พาลูกไปหาคุณหมอที่รามาตามนัดตลอด อาการเลอาห์เหมือนๆเดิม ยังมีอาการไอบ้าง และหายใจแรงเป็นระยะ ไม่แย่ไปกว่าเดิม เราทุกคนเริ่มชิน และเริ่มเรียนรู้วิธีสังเกตอาการ เมื่อเลอาห์เริ่มรู้จักทำหน้าทะเล้น เริ่มรู้จักเล่น มันยิ่งทำให้ทุกคนหายเหนื่อย
ICU ครั้งแรก
วันนี้เราไปหาหมอรามานัดตามปกติ ฉันแจ้งหมอว่า ลูกยังมีอาการไอแรงๆ บ้างนะคะ มีแหวะนมบ้าง เราเข้าใจว่ามันเป็นปกติของเด็กวัยนี้ คุณหมออนันต์ทำการฟังเสียงหัวใจ และปอดของเลอาห์ แล้วบอกให้ฉันพาลูกไปที่ห้อง x-ray เลอาห์ต้อง x-ray ปอดดูหน่อย กลับมาหมออนันต์ให้พาเลอาห์ไปพ้นยา และดูดเสมหะ พอฟิล์ม x-ray ออกมา หมอบอกว่าเลอาห์ต้องนอนโรงพยาบาลหน่อยนะ ปอดติดเชื้อแล้วละ ด้วยความที่ปอดชื้น ปอดเปียกตลอดเวลา มันเลยเป็นง่าย เป็นทีก็หนักกว่าคนอื่น เลอาห์จำเป็นต้องแอดมิน PICU ห้อง icu ของเด็ก ฉันนอนกับลูกไม่ได้ ลูกต้องนอนคนเดียว สายตาที่ลูกมองฉัน มันเศร้ามากเหลือเกิน วันนั้นฉันกลับบ้านอย่างเศร้าๆสงสารลูกจับใจ วันถัดมาฉันรีบมาหาลูก ลูกโดนดูดเสมหะทุกๆ 4 ชั่วโมง ฉันเห็นลูกโดนแค่ทีเดียว ลูกร้องไห้ และดิ้นไปมา น้ำตาก็ไหลแล้ว นี่ต้องมาโดนทุก 4 ชั่วโมง และเด็กเล็กเวลาเจาะเลือด หรือเจาะหาเข็มน้ำเกลือ จะยากเพราะเส้นเล็กมาก เจาะแต่ละทีกว่าจะได้ไม่ต่ำกว่า 4 ครั้ง น้ำตาแม่หยดตลอดเวลา ส่วนเลอาห์คนเก่งของแม่ เข้มแข็งและอดทนที่สุด
อยุ่ใน PICU ได้ 5 วัน ก็ได้ย้ายลงห้องปกติ เป็นห้องรวม ฉันพยายามขอห้องพิเศษ แต่ห้องพิเศษที่รามาหายากมาก ห้องนอนรวมรามา แรกๆก็ไม่ชอบ เพราะไม่เคยนอน อยู่สัก 2-3 วันก็ชิน แยกเป็นวอร์ด ฉันกับลูกอยู่วอร์ดเด็กรวม 5 ภายในวอร์ดมีห้องสอยแยกประมาน 4-5 ห้อง ห้องนึงมี 6 เตียง เป็นห้องแอร์ นอนเฝ้าได้ 1 คน เป็นวอร์ดที่รวมเด็กป่วย มองไปทางไหนก็เจอเด็กป่วย น่าสงสารมาก ทำให้รู้ว่าโรคร้ายแรงในเด็ก ไม่ใช่เรื่องไกลตัว เด็กคนไหนก็เป็นได้ หลายคนเป็นมะเร็ง หลายคนเป็นโรคไต และโรคแปลกๆ มากมาย ยิ่งอยู่ยิ่งหดหู่ ดูลูกไป น้ำตาก็ไหลไป แม่ฉันนั่งรถมาหาฉันแต่เช้าทุกวัน เอาข้าวเช้ามาให้ เพราะฉันกินยาก ไม่ชอบกินของโรงพยาบาล แม่จะอยู่ยาวถึง 2 ทุ่ม ตอนบ่ายๆ สามีปิดร้านก็รีบมาหา พร้อมรับแม่กลับตอนเย็น รอบนี้เลอาห์นอนโรงพยาบาลถึง 10-11 วัน โดนลดปริมานนมที่ดื่ม เพื่อไม่ให้น้ำท่วมปอด โดนเจาะเลือดทุกเช้า และดูดเสมหะวันละหลายรอบทุกวัน แน่นอนว่าผอมลงอีกแล้ว
หลังจากการนอนโรงพยาบาลครั้งนั้น ก็มีเหตุให้เลอาห์ต้องนอนโรงพยาบาลอีกเรื่อยๆ ส่วนมากจะไปแบบฉุกเฉิน เลอาห์เป็นไข้ไม่ได้เลยการมีไข้จะทำให้หัวใจเต้นแรงกว่าเดิม ทำให้เหนื่อย และยังมีอาการไอรุนแรง เพราะมีเสมหะลงปอดเยอะ ที่ยังไงก็แก้ไม่ได้ เพราะตัวเลอาห์มีน้ำที่ท่วมปอด เรียกได้ว่ากลับบ้านไม่ถึงเดือนก็ต้องกลับไปนอนโรงพยาบาลประมาน 7-10 วันอีกแล้ว และจะต้องนอนห้อง PICU ทุกครั้ง น้ำท่วมปอดทีก็ต้องรีดเอาน้ำออก กินยาขับเยอะขึ้น กินนมน้อยลง เคยถึงขั้นช๊อกเพราะขาดน้ำมาแล้ว
สัญญาณชีพหายไป
วันที่ 27 มิถุนายน 2561 เช้ามืดวันนั้น พี่สาวโทรมาบอกว่าเลอาห์ไข้ขึ้นและท้องเสียทั้งคืน พาไปหาหมอเถอะ เรารีบพากันไปหาหมอที่ห้องฉุกเฉินรามา หมอตรวจดูอาการ ให้แอดมินที่ห้องเด็กรวม 5 เหมือนเคย ฉันนอนเฝ้าลูก แต่นอนไม่หลับทั้งคู่ เพราะไข้ลูกสูง ต้องเช็ดตัวกันจนถึงเช้า วันนั้นอาจารย์อนันต์มาดู ผลเลือดที่เจาะออกพอดี อาจารย์อนันต์ทำหน้าไม่สู้ดี บอกว่าต้องรีบย้ายไป PICU เถอะ หัวใจโตขึ้นมา ผลเลือดออกมาแจ้งว่าค่าไตสูงมาก ตอนนี้จะเกิดภาวะไตวายแล้ว พยาบาลรีบย้ายเลอาห์ขึ้นไป คุณหมอเวรประจำห้อง PICU เข้ามาดูเลอาห์และบอกว่า น้องกำลังจะช๊อก หมอมีความจำเป็นต้องเจาะเพื่อให้ยาที่คอ การให้ยาทางนี้จะเหมือนให้น้ำเกลือที่ข้อมือ แต่ที่คอตัวยาจะไปได้ไวกว่า ฉันตอบตกลง หมอให้ฉันออกไปรอข้างนอก ฉัน แม่ของฉัน สามี และแม่ของสามี นั่งรอด้านหน้าห้อง PICU ด้วยความกังวลใจ
“ ผ่านไปเกือบๆ ชั่วโมง คุณหมอวิ่งออกมา ตาแดงๆ แจ้งว่า แม่คะ เลอาห์ตัวเล็กมาก แต่เขาสู้มาก สู้มากจริงๆ คะ แต่อาจจะเป็นการสู้เฮือกสุดท้ายของเขาแล้วก็ได้นะคะ อยากให้คุณแม่ทำใจ ตอนนี้เราหาสัญญาณชีพใดๆ ไม่เจอคะ ทุกคนช๊อก หูดับ งงไปหมด ฉันบอกให้คุณหมอกลับเข้าไป งานคุณหมอยังไม่เสร็จนิ งั้นกลับเข้าไปช่วยเลอาห์ด้วย คุณรีบวิ่งกลับเข้าไป เราทุกคนเริ่มปล่อยโฮ มือและขาของฉันหมดแรง”
ไม่ถึง 5 นาที อาจารย์อนันต์เดินขึ้นลิฟต์มา แล้วรีบเข้าไปในห้อง ประมานชั่วโมงกว่าๆ พยาบาลมาตามฉันเข้าไปคุย ทุกคนเดินเข้าไปคุย อาจารย์อนันต์แจ้งว่า ตอนนี้เลอาห์กลับมาแล้ว แต่ไม่มีอะไรการันตีว่าจะไปอีกไหม อาการเริ่มหนักขึ้นเรื่อยๆ ควรได้รับการผ่าตัดโดยไว แต่คิวหมอผ่าตัดค่อนข้างแน่น เราจึงจะแก้ปัญหาโดยการทำบอลลูนหัวใจ เพื่อยื้อรอเวลาผ่าตัดซึ่งจะต้องทำในวันพรุ่งนี้ ปัญหาคือตอนนี้ยังไม่ควรเคลื่อนย้ายเลอาห์ไปไหน ถ้ามันจำเป็นหมอจะต้องทำข้างเตียงในห้อง PICU นี้ ซึ่งหมอไม่อยากให้เป็นแบบนั้น เพราะมันควรจะได้รับทำให้ฆ่าเชื้อ
เราต้องหวังให้คืนนี้เลอาห์ดีขึ้นและผ่านไปได้ พรุ่งนี้จะได้ไปทำบอลลูน พูดจบอาจารย์อนันต์รีบเดินออกไปดูเลอาห์ในห้อง พยาบาลอนุญาตให้เราทุกคนไปดูลูกได้หน้าห้อง ภาพที่เห็น ลูกนอนแก้ผ้า นอนนิ่งไม่ขยับ สายระโยงรยางค์ไปหมด แต่มือกำหมัดแน่น ต่อมน้ำตาฉันเริ่มทำงานอีกครั้ง พยาบาลที่เจอกันบ่อยๆเดินมาบอกว่า แม่คะ น้องสู้มากนะคะ อดทนจริงๆ สามีเดินมาโอบไหล่ แล้วบอกว่า ลูกยังสู้ขนาดนี้ เราต้องสู้ไปกับลูกนะเธอ คืนนั้นกลับบ้านไม่มีใครนอนหลับ ต่างคนต่างนอนร้องไห้ เรากับสามีกอดกันร้องไห้โฮ ตอนเช้ารีบตื่นโทรไปถามอาการลูก พยาบาลแจ้งว่าเลอาห์ดีขึ้นกว่าเดิม กำลังทำเรื่องเพื่อจะไปทำบอลลูนหัวใจ ให้แม่รีบมาเพื่อเซ็นเอกสาร การทำบอลลูนผ่านไปด้วยดี เราก็มาลุ้นว่าจะได้คิวผ่าตัดเมื่อไหร่ อยากให้ได้ไวที่สุด แต่ก็ยังไม่มีวี่แวว หลังจากทำบอลลูนเลอาห์อยู่โรงพยาบาลต่ออีกประมาน 5 วัน ก่อนกลับบ้านคุณหมอก็มาแจ้งข่าวดี ว่าได้คิวผ่าตัดแล้วนะคะ ให้วันที่ 9 ก.ค. 61 พาน้องมาแอดมิท เพื่อเช็กร่างกายและอดอาหารก่อนผ่า คิวผ่าจะได้ไม่ 11 ก็ 12 ทุกคนดีใจกันมาก
7 กรกฎาคม 2561 2 วันก่อนหมอนัด เลอาห์ตัวซีดขาว ไม่ขยับตัว กระพริบตาช้าๆ เหมือนคนไม่มีแรง คืนนั้นเรารีบพาเลอาห์ขึ้นรถไปโรงพยาบาล ระหว่างทางต้องคอยเรียกลูกตลอด “อย่าหลับนะลูก อย่าหลับนะเลอาห์ อยู่กับแม่นะลูก” ถึงห้องฉุกเฉิน พยาบาลให้เลอาห์ลัดคิวเข้าไปตรวจเลย สรุปเลอาห์อยู่ในภาวะขาดน้ำรุนแรง อาจเพราะใกล้ผ่าตัด เพื่อไม่ให้น้ำท่วมปอด คราวที่มานอนโรงพยาบาลคราวก่อน หมอเลยเพิ่มโดสยาให้ ทำให้น้ำถูกขับออกมาเกิน จนขาดน้ำ หมอรีบให้น้ำเกลือ จากนั้นก็เหมือนๆเดิมคือ ขึ้นไป PICU อีกครั้ง หลังจากทำเรื่องเสร็จ รอบนี้ฉันรู้สึกหมดแรง และสงสารลูกเหลือเกิน ฉันนั่งกับพื้นปล่อยโฮ มีสามีคอยปลอบอยู่ข้างๆ สามีบอกว่าอีกนิดเดียว ทนหน่อยนะ จะได้ผ่าตัดแล้ว ประมาน 2-3 วันในห้อง PICU เลอาห์ก็ได้ย้ายลงมาวอร์ดเด็ก 5 เหมือนทุกครั้ง
ฉันนอนเฝ้าลูก นอนกอดลูกร้องไห้ทุกคืน เลอาห์หิวตลอด กินนมได้น้อย กินไม่พอก็ร้อง ร้องก็เหนื่อย ฉันสงสารลูกมาก อยากเร่งวันเร่งคืนให้ได้ผ่าตัดไวๆ วันที่ 10 คุณหมอประจำวอร์ดเดินมาบอกว่า ได้ยินว่าจะได้ผ่าตัดแล้วนะคะแม่ น่าจะเป็นพรุ่งนี้คะ ฉันดีใจมาก ดีใจสุดๆ ตื่นเต้นเป็นที่สุด แต่ก็สังเกตว่าทำไมไม่เห็นมีพยาบาลมาเจาะเลือดเลย แต่ก็ปลอบใจตัวเองว่า ได้ซิ หมอมาบอกแล้วนิ จนกระทั่งตอนเย็น คุณหมอประจำเวรก็มาบอกว่า การผ่าตัดยกเลิกนะคะแม่ คุณหมอผ่าตัดไม่ได้คอนเฟิร์มมา ฉันได้แต่หูอื้อ แม่ฉันน้ำตาไหล ฉันเดินเข้าห้อง เป็นที่เดียวที่มีความเป็นส่วนตัวที่สุด นั่งคดตัวร้องไห้ในห้องน้ำ เหมือนจะขาดใจ เอามือปิดปากเพื่อไม่ให้เสียงดัง คืนนั้นฉันนอนกอดลูกทั้งคืน น้ำตาไหลทั้งคืน เช้าวันถัดมา วันที่ 11 วันนี้ทีมหมอหัวใจเดินมาดูตามปกติ คุณหมอบอกว่า แม่พร้อมไหม ฉันทำหน้างง พร้อมอะไรคะ หมอบอก อ้าวพรุ่งนี้ผ่าตัดแล้วนะ คิวแรก 8 โมงเช้า วันนี้ต้องเตรียมตัวน้องนะแม่ เจาะเลือดเยอะหน่อย แล้วก็อดนมนะคะ ฉันดีใจมาก ดีใจสุดๆ รีบโทรบอกที่บ้าน
12 กรกฎาคม 2561 วันผ่าตัด วันนั้นฉันตื่นแต่เช้า อาบน้ำแต่งตัวเสร็จยังไม่ 6 โมงเช้าดี แม่และสามีมาถึงแล้ว รออยู่หน้าห้อง ฉันเลยขอพยาบาลให้แม่กับสามีเข้ามาก่อนเวลา เพราะวันนี้จะไปผ่าตัด สักพักคุณหมอผ่าตัดมาถึง คุณหมอ ปิยะ คุณหมอผ่าตัดหัวใจเด็กชื่อดัง มีแต่คนพูดถึงคุณหมอทันนี้ว่าเก่งขนาดไหน คุณหมอเข้ามาคุยกับเราค่อนข้างซีเรียส หมอบอกว่าเคสนี้ยากนะครับ ยากมาก จริงๆ น้องควรผ่าตัดตอน 4-6 กก. แต่ด้วยอาการที่กำเริบจึงจำเป็นต้องเร่งผ่าตัด ด้วยน้ำหนักเพียง 2.8 กก. เท่านั้น ตัวเล็กมาก เส้นเลือดก็เล็กมาก มีความเสี่ยงถึง 10 กว่าข้อ และหมอให้เปอร์เซ็นเพียง 50 เปอร์เซ็นเท่านั้น แต่หมอบอกว่าหมอจะทำให้ดีที่สุด การผ่าตัดยาวนานมาก เข้าไปตั้งแต่ 8 โมงเช้า จนถึงเกือบ 18.00 น. เลอาห์ถูกย้ายเข้าไปห้อง ICU สำหรับคนเพิ่งผ่าตัด โดยรวมดูดีมากๆ ตอบสนองการผ่าตัดได้ดี หลังจากนอนห้อง ICU อยู่ 2-3 วัน เลอาห์ดูดีขึ้นมาก คุณหมอเลยอนุญาตให้ไปอยู่วอร์ดเด็กรวม 5 เหมือนเดิม เพื่อดูอาการ เลอาห์อยู่โรงพยาบาล 12 วัน ก็ได้กลับบ้าน ก่อนกลับบ้านคุณหมอบอกว่าโดยรวมดูดีมาก ไม่น่ามีปัญหาอะไรแล้ว ภูเขาที่หนักอึ้งมาตลอด 3 เดือนกว่าๆมันหายไปหมด น้ำตาแห่งความดีใจไหลเป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือน คุณหมอยังคงนัดมาดูอาการหลังผ่าอย่างต่อเนื่อง
ผ่านมาได้เกือบเดือน ฝันร้ายก็มาหาฉันอีกครั้ง เลอาห์เริ่มมีอาการไอหนัก เหมือนตอนก่อนผ่า ทุกคนงุนงงว่าทำไม คิดในแง่ดีอาจจะแค่เป็นหวัด ฉันล้างจมูกให้ลูกด้วยที่ดูดน้ำมูกของเด็กทารกแบบอัตโนมัติ เป็นวันละ 2 ครั้ง เช้าเย็น ทาวิค ห่มผ้า ทำทุกอย่างให้ลูกดีขึ้น ก่อนถึงวันนัดหมอ เลอาห์เริ่มเหนื่อย ไม่อยากดูดนม เราต้องกลับมาใช้สริงค์ให้นมอีกครั้ง ถึงวันหมอนัด ฉันเล่าอาการของลูกให้หมอฟัง หมออนันต์ให้ไป x-ray ปอดอีกครั้ง และพาเลอาห์ไปพ่นยา และดูดเสมหะ หมออนันต์บอกว่า ปอดอักเสบกลับมาอีกแล้ว น่าจะเพราะเป็นหวัด ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงด้วย ต้องนอนโรงพยาบาลอีกแล้ว
คืนแรกต้องนอนในห้อง PICU เฝ้าไม่ได้ ฉันยืนมองลูกหน้าห้อง ขณะที่หมอและพยาบาลกำลังช่วยกันจับเลอาห์เพื่อเจาะเลือด และเจาะสายน้ำเกลือ เลอาห์หันมามองฉัน สายตาของเลอาห์ครั้งนี้ทำให้ฉันปวดใจ สายตาบ่งบอกว่า ไม่เอาแล้ว ไม่อยากโดนเจาะ ไม่อยากนอนที่นี่แล้ว ทุกวันนี้ฉันก็ยังจำสายตาแบบนั้นของลูกได้ ฉันได้แต่ยืนมอง เข้าไปช่วยไม่ได้ เพราะพยาบาลไม่อนุญาต ได้แต่ภาวนาในใจ “เข้มแข็งนะลูก เข้มแข็งไว้นะคะ” วันเดียวเลอาห์ก็ได้ย้ายมานอนห้องปกติ ฉันนอนเฝ้าลูกได้เหมือนเดิม หมอเข้ามาคุยว่า อยากให้เลอาห์ทำ MRI ดู เพราะสงสัยว่ามันต้องมีอะไรผิดปกติ ทำไมน้ำกลับมาท่วมปอดไว คือถ้าเป็นหวัดก็มีน้ำในปอดบ้าง แต่ไม่น่าจะเยอะขนาดนี้ อีกประมาน 2 วัน คิวทำ MRI ก็มาถึง บอกตรงๆ คือฉันรู้สึกหายใจไม่ทั่วท้อง ลูกต้องโดนวางยา และใส่เครื่องช่วยหายใจทางปาก เรื่องนั้นฉันพอเข้าใจ เพราะมันเป็นวิธีทางการแพทย์ แต่สิ่งที่ฉันกังวล ทำให้นั่งไม่ติดคือ ผล MRI ที่จะได้ฟัง หลังจากทำ MRI เสร็จ ช่วงเย็นเกือบๆหัวค่ำ คุณหมอให้พาเลอาห์ไปทำเอคโค่หัวใจอีกรอบ ทำเสร็จก็มารายงานผลในห้อง ฉันเห็นหน้าอาจารย์อนันต์ และทีมหมอหัวใจทุกคน สีหน้าไม่สู้ดีนัก ฉันก็พอจะเดาได้ว่าผลมันคงไม่ดีเท่าไร อาจารย์อนันต์แจ้งว่า เจอเส้นเลือดตีบตรงแผลที่ผ่าตัด คือเส้นเลือดมันเล็กมาก ระหว่างที่ผ่าตัดย้ายเส้น อาจเป็นผลจากการย้ายที่ หรือการดึง หรืออะไรก็ตาม มีความเป็นไปได้หมด มันทำให้เส้นเลือดตีบ ฉันรู้สึกเหมือนจะเป็นลม แต่ก็พยุงตัวเอง เพื่อฟังคุณหมอให้จบ คุณหมอบอกว่าตอนนี้ต้องประคองและดูแลไปก่อน จะผ่าตัดอีกรอบก็ไม่ได้ เพราะตัวเล็กมาก และเพิ่งจะผ่า และจุดที่ตีบ เป็นจุดที่ทำการผ่าตัดได้ยากมากๆ จะทำบอลลูนก็ไม่ได้ จุดนี้เป็นจุดที่ทำบอลลูนไม่ได้เลย ตอนนี้ให้ประคองอาการไปก่อน รอให้โตกว่านี้ ดูว่าเส้นเลือดมันจะขยายเองได้ไหม ถ้าไม่ก็จะต้องพิจารณาเป็นการผ่าตัด ฉันร้องไห้แทบขาดใจ ไม่เป็นอันกินอันนอน ครอบครัวของฉันก็เช่นกัน ได้แต่มองลูก เฝ้าถามตัวเองว่าทำไมลูกฉันต้องโชคร้ายขนาดนี้ ฉันไม่เคยทำอะไรไม่ดี ทำไมเรื่องนี้ต้องเกิดกับลูกฉัน รอบนี้เลอาห์ต้องนอนโรงพยาบาล 10 กว่าวันก็ได้กลับบ้าน
กลับบ้านได้ 2 อาทิตย์ ฉันรู้สึกได้ว่าลูกกำลังจะเป็นหวัดอีกแล้ว เริ่มมีเสมหะในปอด เลยพากันไปโรงพยาบาล กะว่าจะขอให้หมอดูดเสมหะให้หน่อย ไปถึงโรงพยาบาล เลอาห์หายใจไว พยาบาลมาวัดค่าแซค (การวัดค่าปริมานออกซิเจนในเลือด) ก็ตกลงกว่าค่าปกติ คุณหมอที่เจอวันนั้นเห็นท่าไม่ดี เลยจับเจาะเลือด และโทรตามคุณหมอ PICU ให้มารับ คุณหมอมารับเลอาห์ไปนอน PICU พร้อมทั้งทีมหมอหัวใจเข้าไปดู ฉันรออยู่ด้านนอกด้วยความกังวลใจ ทีมหมอหัวใจออกมา หน้าตายิ้มแย้ม แล้วบอกว่า “รอบที่แล้วหนักกว่านี้อีกนะคะแม่ รอบนี้ไม่เป็นอะไรคะ อาจจะหายใจเร็ว หมอที่ตรวจเพิ่งเคยเจอกันครั้งแรก ก็เลยตกใจ แต่ก็ดีแล้วคะ นอนโรงพยาบาลหน่อย จะได้ดูดเสมหะให้นะคะ” ฉันก็โล่งใจ พี่หัวหน้าพยาบาลเห็นว่าเลอาห์มาบ่อยๆเพราะเรื่องเสมหะในปอด เลยแนะนำว่า ถ้ามีเครื่องดูดเองที่บ้านก็ดีนะแม่ ฉันได้แต่บอกว่าไม่กล้าทำ เห็นลูกโดนทำก็สงสารจะแย่ พี่พยาบาลพูดออกปลุกใจว่า “ต้องได้คะแม่ เป็นแม่ต้องทำได้ เรากำลังช่วยลูก” แม่ทำให้ลูก ลูกรู้สึกสบายใจกว่าให้คนอืนทำกว่ามาก การที่ต้องมานอนโรงพยาบาลบ่อยๆ แล้วโดนพยาบาลทำบ่อยๆ มันบั่นทอนทั้งตัวแม่และตัวลูก ฉันเห็นด้วย จึงโทรบอกให้สามีแวะร้านอุปกรณ์การแพทย์แล้วซื้อเครื่อง Suction มา ระหว่างที่เลอาห์อยู่โรงพยาบาล จะมีทีมพยาบาลมาสอนวิธีดูดเสมหะให้ลูก เพื่อความปลอดภัย เมื่อลูกดีขึ้น ฉันดูดเสมหะเป็น เราก็พากันกลับบ้าน
กลับบ้านมา ฉันและสามีช่วยกันดูดเสมหะให้ลูก วันละ 2-3 ครั้ง (ตามอาการ) เลอาห์เหมือนจะชิน และไว้ใจที่แม่ดูดให้มากกว่า จึงไม่ร้องและดิ้นเหมือนตอนอยู่โรงพยาบาล 1-2 วันถัดมา เลอาห์น้ำลายไหล อมมือ จะกัดทุกอย่างตลอดเวลา ฉันเดาได้ว่าฟันกำลังจะขึ้น ฉันเปิดหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต อาการตรงกันทุกอย่าง และจะมีไข้อ่อนด้วย ซึ่งเลอาห์ก็มีบ้าง มีแปปเดียว เช็ดตัวก็หาย แต่เพราะปวดเหงือก ทำให้งอแงหนัก ไม่ยอมนอน หลับๆ ตื่นๆ ทั้งคืนประมาน 2-3 วัน เราคุยกันว่าถ้าไม่ดีขึ้น พาไปโรงพยาบาลดีกว่า ไม่อยากให้เลอาห์เหนื่อยมาก และพักผ่อนน้อย คือเลอาห์ไม่สบาย มันไม่เหมือนเด็กคนอื่นทั่วไป แต่พอหลังจาก 2-3 วัน เลอาห์ก็ดีขึ้น นอนหลับดีปกติ งอแงน้อยลง แต่ยังกัดและอมนิ้วอยู่ ฉันเห็นว่าลูกดีขึ้นจึงไม่ได้พาไปหาหมอ เช้าวันที่ลูกเริ่มดีขึ้น ตรงกับวันที่สามีของฉันจะไปถือศีล ห่มขาวที่วัดอัมพวัน สิงห์บุรี พอดี สามีของฉันตั้งใจยกบุญนี้ให้ลูก ก่อนไปก็เล่นกันปกติ ระหว่างที่สามีไม่อยู่ 2-3 วัน เลอาห์ก็ปกติดี อาจจะมีกินนมน้อยลงเพราะปวดเหงือก แต่เพราะเริ่มกินข้าวได้แล้ว และชอบกิน แม่ของฉันเลยให้กินข้าว จะได้มีแรง
เช้าวันศุกร์ที่ 21 กันยายน สามีฉันกลับบ้านมา มาถึงก็อนุโมทนาบุญให้ลูก ฉันจับลูกพนมมือรับบุญ คืนนั้นเป็นเวรฉันและสามีเฝ้าเลอาห์ แม่ของฉันจะได้พักผ่อนบ้าง อาการงอแงของเลอาห์กลับมา ประมาน 19.00 น. ลูกไม่ยอมนอน สามีฉันจึงอุ้มลูกมานอนเล่นกันข้างๆ ฉันเอายางกัดมาให้ลูกกัด และนอนเล่นกัน 3 คน พ่อแม่ลูก สักพักก็หลับ หลับจนถึงประมาน 2 ทุ่มกว่าๆ ก็ตื่นร้องไห้ ฉันจับตัวลูกเหมือนจะมีไข้ ฉันและสามีเลยพากันเช็ดตัว เช็ดตัวเสร็จ สามีก็พูดขึ้นมาว่า “เธอ พาลูกไปโรงพยาบาลกัน ฉันรู้สึกว่าลูกแปลกๆ ตาลอยๆ” ฉันไม่ได้คิดอะไรเพราะลูกดูปกติทุกอย่าง แต่ไปตรวจหน่อยก็ดี ฉันจึงขึ้นไปเปลี่ยนเสื้อผ้า ฉันไม่ได้บอกแม่ฉันว่าจะไปโรงพยาบาล เพราะอยากให้แม่ได้พักผ่อน
“ฉันกับสามีจึงพาลูกไปกัน 2 คน สามีขับรถและฉันอุ้มลูกนั่งด้านหลัง ออกจากบ้านได้นิดเดียว อยู่ๆ ลูกดูอ่อนแรง ตาลอย ฉันตะโกนเรียกลูกอยู่ตลอด ยังไม่ถึง 1 กิโล ลูกมองหน้าฉันก่อนจะค่อยๆหลับตาลง ความรู้สึกตอนนั้นฉันรู้แล้วว่าลูกกำลังจะไป ฉันกรี๊ดและร้องไห้ออกมาดังลั่น”
สามีฉันขับรถอย่างเร็ว ฝ่าไฟแดงด้วยความจำเป็นไปหลายแยก ฉันร้องไห้เสียงดังแข่งกับเสียงฟ้าที่กำลังร้อง น้ำตาฉันไหลออกมาตลอดทาง แข่งกับน้ำฝนที่กำลังตกหนัก ถึงโรงพยาบาล ฉันวิ่งและอุ้มเลอาห์วางบนเตียง หมอเวรประมาน 5-6 คน รุมที่เตียงแล้วบอกให้ฉันออกมารอข้างนอก ฉันได้ยินหมอตะโกนบอกกัน “เด็กหัวใจหยุดเต้น เอาที่ปั้มมา” ฉันได้แต่ยืนร้องไห้หน้าห้องฉุกเฉิน วันนั้นห้องฉุกเฉินคนเยอะมาก ทุกคนมองฉันเป็นตาเดียว คงจะคิดสงสารฉัน และส่งกำลังใจ พยาบาลคนนึงน่ารักมากๆ เดินมาหาฉัน แล้วพาฉันไปนั่งพักในห้องตรวจที่ว่างอยู่ เพราะกลัวฉันเป็นลม พูดปลอบใจและให้กำลังใจ สักพักสามีฉันที่เอารถไปจอดรีบวิ่งตามมา ฉันจึงบอกพี่พยาบาลให้พี่ไปทำงานเถอะคะ ฉันเข้าใจดีว่าห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลรัฐ วุ่นวายและงานเยอะแค่ไหน และวันนี้คนก็เยอะด้วย ไม่อยากให้พี่เขาต้องมาติดอยู่กับฉัน ฉันบอกสามีว่าลูกหัวใจหยุดเต้น หมอกำลังช่วยอยู่ ฉันและสามีนั่งไม่ติด ลุกออกไปหน้าห้องฉุกเฉิน เพื่อจะเห็นในห้อง แต่ไม่เห็น สักพักทีมหมอหัวใจก็เดินมา หมอบอกว่าไว้คุยกันนะคะ ขอช่วยน้องก่อน
ประมาน 30-40 นาทีผ่านไป คุณหมอทีมหัวใจเด็กเดินออกมา เพื่อถามว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมอยู่ๆอาการกำเริบ มีเหตุอะไรไหม ฉันบอกว่าไม่มีอะไรเลยคะ ปกติทุกอย่าง คุณหมอพยักหน้าเบาๆ “แม่รู้ใช่ไหมว่าอาการของน้อง มันสามารถอยู่ดีๆ เป็นได้ และสามารถอยู่ดีๆ อาการหนักอย่างรวดเร็ว” ฉันพยักหน้ารับรู้ หมอยังบอกต่ออีกว่า “หัวใจคนเรามีกระแสไฟฟ้า ตอนนี้ไฟฟ้าของเลอาห์มันกำลังช๊อตคะ หัวใจน้องหยุดเต้นเกินครึ่งชั่วโมงแล้ว หมอทุกคนยังไม่หยุดช่วยนะคะ ทุกคนกำลังช่วย แต่ความเป็นไปได้มันน้อยมาก” ฉันช๊อก สามีเอื้อมมือมาบีบมือฉันไว้ หมอมาเพื่อถามว่า แม่จะให้หยุดไหมคะ หรือจะยื้อต่อ ฉันกับสามีมองหน้า สบตากัน น้ำตาไหล แล้วตอบว่า “พอแล้วคะ” หมอเอื้อมมือมาจับมือฉัน “แม่คะ เข้มแข็งไว้นะคะ” และลุกเดินกลับเข้าไปในห้องฉุกเฉิน
ฉันกับสามีได้แต่กอดกัน ปล่อยโฮออกมา จนเมื่อทีมหมอและพยาบาล หยุดปั้มหัวใจ และห่มผ้าให้เลอาห์ พยาบาลมาตามให้ฉันและสามีเข้าไปดูได้ ลูกนอนนิ่งอยู่บนเตียง หน้าตาสดใจ เหมือนกำลังหลับเฉยๆ ฉันลูบหัวลูก หอมลูก น้ำตาไหลเป็นทาง สามีบอกให้หยุดร้อง เคยบอกแล้วไง อย่าร้องไห้ต่อหน้าลูก
สามีจูบที่หน้าผากลูก แล้วบอกลูกว่า “ไม่เหนื่อยแล้วนะเลอาห์ ไม่มีใครเอาเข็มมาเจาะหนูแล้วนะ ไม่เป็นอะไรแล้วลูก กลับสวรรค์นะลูกนะ” ฉันเช็ดน้ำตา แล้วไปกอดลูกแล้วบอกลูกว่า “อยู่บนฟ้านะเลอาห์ ไม่ต้องห่วงอะไร หนูไปอยู่บนนั้นให้สบายนะคะ” จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็มาเข็นเปลเลอาห์ออกไปเพื่อไปที่ห้องสุดท้าย ฉันและสามีเดินอยู่ข้างๆเตียงลูกไม่ห่าง ก่อนเลอาห์จะเข้าไป ฉันบอกลูกว่า “คืนนี้นอนโรงพยาบาลคืนสุดท้ายนะลูก อีกคืนเดียว จากนี้หนูไม่ต้องนอนแล้ว พรุ่งนี้แม่จะมารับนะคะ” ……
เหตุการณ์นี้เพิ่งผ่านไปได้ไม่ถึงเดือน ทุกคนในครอบครัวเหมือนจะทำใจได้ เวลาเจอใครเราจะดูเข้มแข็ง แต่พออยู่กับตัวเอง ฉันนั่งร้องไห้อยู่บ่อยๆ บางทีก็น้ำตาไหล บางทีก็ปล่อยโฮเสียงดัง เหมือนเป็นการปลดปล่อยความทุกข์ในหัวใจ สามีต้องคอยปลอบอยู่ตลอด ฉัน สามีของฉัน แม่ของฉัน และพี่สาวฉัน ต่างต้องหาอะไรทำ ไม่ให้อยู่เฉยๆ ตัวฉันยังคงอยู่ที่บ้านแม่ ยังไม่ย้ายกลับบ้านตัวเอง เพราะคิดว่าช่วงเวลาแบบนี้ การอยู่เป็นครอบครัว จะพยุงกันและกันให้ผ่านพ้นไปได้
พระอาจารย์ที่มาร่วมงานศพของเลอาห์ ท่านเทศน์กับฉันว่า “ไปสบายแล้ว ไปสบายจริงๆ หนูน้อยเป็นนางฟ้าตัวน้อยๆ ที่หนีลงมาเกิด ตอนนี้ต้องกลับสวรรค์แล้ว เกิดมามีแต่คนทำบุญให้มากมาย ยังไม่เคยทำบาป มดสักตัวยังไม่เคยฆ่า หนูน้อยไปอย่างบริสุทธิ์สะอาดที่สุด” ฉันยิ้มให้พระอาจารย์เศร้าๆ แต่คำเทศน์ของท่านทำให้ฉันมีสบายใจและหมดห่วงขึ้นมากอย่างบอกไม่ถูก ฉันบอกแม่ฉันที่กำลังร้องไห้ “อย่าร้องเลยแม่ เราต้องดีใจที่นางฟ้าเลือกที่จะมาอยู่กับครอบครัวเรา แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆก็ตาม เลอาห์มาเพื่อให้เรารู้จักทำบุญไหว้พระ และสวดมนต์มากขึ้น ปกติเราก็ทำอยู่แล้ว แต่อาจจะไม่มากเท่านี้ และมาเพื่อให้ครอบครัวเรารักใคร่ สามัคคี และแสดงความรัก ความห่วงใย ให้กันมากขึ้น ฉะนั้นอย่าร้องไห้เลยนะแม่”
แม้เลอาห์จะไม่หายป่วย แต่ฉันก็ยังรู้สึกขอบคุณคุณหมอและพยาบาลทุกท่านที่ดูแลเลอาห์เป็นอย่างดี ฉันรู้สึกประทับใจทุกครั้ง แม้วันสุดท้ายของเลอาห์ ฉันได้เห็นคุณหมอทุกคนมารุมช่วยลูกฉันอย่างสุดความสามารถ ฉันเคยอคติกับโรงพยาบาลรัฐบาลด้านการให้บริการมากๆ แต่เมื่อได้มาอยู่และคลุกคลีในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ฉันรู้สึกขอบคุณที่มีโรงพยาบาลดีๆแบบนี้ บุคลากรทุกคน ทุกแผนกทำงานกันหนัก เพราะคนไข้เยอะมากจริงๆ และมีหลายๆครอบครัว ที่ไม่มีเงินทองมากมาย จึงมีมูลนิธิในการช่วยเหลือ ฉันพอมีกำลังทรัพย์อยู่บ้าง จึงเต็มใจที่จะบริจาคให้มูลนิธิ โดยไม่มีข้อสงสัยเลยว่า เงินจะถึงคนป่วยไหม ฉันเชื่อมั่นในโรงพยาบาลนี้มาก และมั่นใจว่าเงินจะต้องได้ส่งไปถึงคนป่วยแน่ๆ
แม่ขอฝากไว้เพื่อเป็นกรณีศึกษา
ฉันตัดสินใจเขียนเรื่องของเลอาห์ลง Pantip เพื่อให้คนทั่วไปรู้จักโรคหัวใจในเด็กมากขึ้น เด็กๆสามารถเป็นได้ตั้งแต่เกิด หรือบางคนมาเป็นตอนโต โดยที่ไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด อาการที่เห็นชัดๆ คือหายใจเร็ว เวลาดูดนมจะเหนื่อย จนจมูกบานเข้าออก อกบุ่ม ถ้ามีอาการเช่นนี้ ควรพาลูกไปรับการตรวจให้ละเอียด ในเรื่องของการขาดน้ำในเด็ก สังเกตง่ายๆคือ กดที่ปลายนิ้วของลูกแล้วปล่อย ดูว่าเลือดไปเลี้ยงได้ดีหรือไม่ ถ้ากดแล้วปล่อยภายใน 2-3 วินาที เล็บแดงเหมือนเดิม ก็ไม่เป็นไร แต่หากปล่อยแล้ว เลือดไม่วิ่งกลับมา หรือใช้เวลานาน ลูกอาจจะอยู่ในภาวะขาดน้ำ อาการท้องเสีย สามารถทำให้ลูกขาดน้ำได้ ต้องระวัง หากลูกเป็นหวัด คุณพ่อคุณแม่คงไม่อยากให้ลูกต้องโดนดูดเสมหะแน่ๆ (ถ้าไม่จำเป็น) การหัดล้างจมูกให้ลูกด้วยน้ำเกลือค่อนข้างจำเป็น ควรเรียนรู้เบื้องต้นไว้ก็ดี
สุดท้ายขอเป็นกำลังใจให้ครอบครัวที่มีน้องป่วยนะคะ จะป่วยเบาหรือป่วยหนักก็ตาม สถาบันครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญมาก ไม่ว่าคุณจะอยู่กันแค่ 2 คน สามีภรรยา หรือจะเป็นครอบครัวใหญ่ การให้กำลังใจซึ่งกันและกัน การยอมรับ และไม่โทษกัน เป็นสิ่งที่จะพาครอบครัวเข้มแข็ง และมีแรงที่จะดูแลน้องต่อไปได้ การรู้จักขอความช่วยเหลือ หรือเสนอความช่วยเหลืออย่างเต็มใจ มีแค่กับคนในครอบครัวเท่านั้นที่เราสามารถทำได้โดยไม่ตะขวิดตะขวงใจ อย่าวางน้ำหนักไปที่คนใดคนนึงในครอบครัว แต่ให้กระจายน้ำหนักออกไป เพื่อทุกคนจะได้ช่วยกันพยุง ”
โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดคืออะไร : อ่านเพิ่มเติม คลิ๊ก
ขอบคุณ : Bee Jindanom
ที่มา : Pantip.com
บทความอื่นที่น่าสนใจ
โรคหัวใจพิการแต่กําเนิด ลูกผนังกั้นหัวใจรั่ว แม่ใจสลายต้องยุติการตั้งครรภ์ทันที
ทารกคลอดก่อนกำหนด เสี่ยงเสียชีวิตตั้งแต่เด็ก ต้องป้องกันตอนตั้งครรภ์ ก่อนลูกเข้าตู้อบ!