เพราะรัฐบาลเล็งเห็นถึงความสำคัญ ในการพัฒนาคนแบบบูรณาการตลอดช่วงชีวิต จึงมุ่งเน้นให้เด็กแรกเกิด ได้รับการเลี้ยงดูอย่างมีคุณภาพ มีพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย เพื่อเติบโตมาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป โครงการ เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระการเลี้ยงดูลูกของครอบครัวผู้มีรายได้น้อยจึงเกิดขึ้น และจะยัง ขยายเวลา ต่อไปอีก
โครงการ เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด นี้ได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี เมื่อปีงบประมาณ 2559 เบิกจ่ายเงินอุดหนุนไปแล้วถึง 84.03% มาในปีงบประมาณ 2560 นี้ จึงเปิดให้เด็กที่มีกำหนดคลอด ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 ไปจนถึงเด็กที่มีกำหนดคลอดถึง 30 กันยายน 2560 สามารถลงทะเบียนขอรับสิทธิ์ได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 กันยายน2560 เรียกได้ว่า ขยายเวลา ยาว ๆ กันไปเลย แต่อย่าลืมสำรวจตัวเองก่อนว่า มีสิทธิ์ตามเกณฑ์ที่รัฐบาลกำหนดไว้รึเปล่า
คุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์รับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด
- เด็กที่เกิดตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 ถึง 30 กันยายน 2560 เริ่มเปิดให้ลงทะเบียนไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2559 และยังไปลงทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิ์ได้ จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2560
- เด็กมีสัญชาติไทย (พ่อและแม่มีสัญชาติไทย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย)
- แม่ท้องที่มีกำหนดคลอดระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2559 ถึง 30 กันยายน 2560
- ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากหน่วยงานรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เช่น ได้รับเงินสงเคราะห์บุตรจากกองทุนประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ และไม่ได้อยู่ในความดูแลของรัฐเช่น บ้านพักเด็ก หรือสถานสงเคราะห์ของรัฐ
- ครอบครัวยากจน รายได้ของสมาชิกในครอบครัวเฉลี่ย 3,000 บาทต่อคน หรือ 36,000 บาทต่อคน ต่อปี
- ครอบครัวมีภาระ อย่างมีคนพิการ ผู้สูงอายุ คนว่างงาน หรือเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี หรือเป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว
- สภาพบ้านชำรุดทรุดโทรม
- ไม่มีรถยนต์ส่วนบุคคล
- เป็นเกษตรกรมี ที่ดินทำกินน้อยกว่า 1 ไร่
เอกสารสำคัญที่ต้องใช้ ในการยื่นขอสิทธิ์รับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด
1. แบบลงทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิ์ (แบบ ดร.01)
2. แบบรับรองสถานะของครัวเรือน ที่ผ่านการรับรองแล้ว (แบบ ดร.02)
3. สำเนาบัตรประชาชนของคุณแม่ หรือบัตรอื่นที่ออกให้โดยหน่วยงานของรัฐ พร้อมสำเนา
4. สำเนาเอกสารการฝากครรภ์หรือ สำเนาสมุดบันทึกสุขภาพแม่ และเด็กหน้าที่ 1
5. สำเนาสูติบัตรเด็กแรกเกิด (ยื่นหลังคลอดได้)
6. สำเนาสมุดบัญชีธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน หรือ ธกส. (กรณีต้องการรับเงินผ่านบัญชีธนาคาร)
คุณแม่ที่มั่นใจว่าตัวเองมีคุณสมบัติตรงกับที่รัฐกำหนดไว้ ก็รีบไปลงทะเบียนขอรับสิทธิ์ได้ ที่สำนักงานเขต สำนักงานเทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล อย่าลืมเตรียมเอกสารสำคัญไปให้พร้อม หากผ่านการตรวจสอบ และได้รับสิทธิ์แล้วก็ไปรับเงินด้วยตัวเอง ที่กรมกิจการเด็ก และเยาวชน หรือที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) หากเลือกรับเงินผ่านบัญชีธนาคาร ก็รอรับเงินสวย ๆ ได้เลยค่ะ “ ที่สำคัญลงทะเบียนขอรับสิทธิ์ย้อนหลังได้ แต่จะได้รับเงินืตั้งแต่เดือนที่เริ่มลงทะเบียนเป็นต้นไป ไม่ได้เงินอุดหนุนย้อนหลังนะจ๊ะ ”
ข่าวดีที่ 2 นอกเหนือไปจากการให้เงินอุดหนุนทารกแรกเกิด แล้วกรมกิจการเด็ก และเยาวชน หรือสำนักงานพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด จะประสานงาน ส่งต่อข้อมูลไปยังสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อนำข้อมูลไปใช้ประกอบการให้บริการเชิงรุกด้านอนามัยแม่ และเด็ก โดยส่งทีมหมอ ออกไปเยี่ยมเยียนครอบครัวผู้ได้รับสิทธิ์ถึงบ้าน เพื่อให้ความรู้ในการดูแลตนเองของคุณแม่ระหว่างตั้งท้อง การเลี้ยงดูเด็ก และให้ความช่วยเหลือในด้านอื่น ๆ ที่จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของเด็กต่อไปอีกด้วย
หากมีข้อสงสัยขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ศูนย์ปฏิบัติการโครงการเงินอุดหนุน เพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด โทร: 02-306-8694 และ 02-306-8697
กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) 02-651-6532
สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด
ที่มา : csg.dcy.go.th/
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ผัวเมียไม่ได้จดทะเบียน เลิกกัน! ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ลูกเป็นสิทธิ์ของใคร
เบิกค่าคลอดบุตรประกันสังคม ได้ไหม ถ้าพ่อแม่ ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ??!! ฟังชัดๆ จากประสบการณ์คุณแม่
ประกาศ พ.ร.บ. คุณแม่วัยใส สิทธิเด็กท้องประจำปี 2559