สมาธิสำหรับแม่ท้องไม่จำกัดรูปแบบ/วิธีการ
การทำสมาธิสำหรับแม่ท้อง ไม่จำกัดเฉพาะการนั่งขาขวาทับขาซ้ายเท่านั้น มาดูกันว่าการทำสมาธิสำหรับคนท้อง มีอะไรบ้าง
1. ทำสมาธิด้วยการเดิน
การเดินถือเป็นการออกกำลังกายที่ดีมากสำหรับคนท้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินวันละ 30 นาทีดีต่อสุขภาพแม่ท้องและทารกในครรภ์ การเดินเป็นการทำสมาธิอย่างหนึ่ง เราอาจจะเคยได้ยินการเดินจงกรม หากเคยทำไปสมาธิที่วัด พระท่านมักจะแนะนำให้เดินจงกรมเพื่อดูจิตของตนเอง แต่คุณแม่ไม่ถึงกับต้องเดินจงกรมหรอกค่ะ เพียงแค่คุณแม่มีสมาธิจดจ่อกับการเดิน เดินช้า ๆ ด้วยความระมัดระวัง พยายามไม่คิดเรื่องอื่นใด เพื่อไม่ให้เกิดความเครียดหรือเหม่อลอยจนอาจเกิดการสะดุดหกล้มได้
2. ทำสมาธิด้วยการอ่านหนังสือ
คุณแม่เคยรู้สึกว่า แม้ตาจะจดจ่ออยู่กับหน้าหนังสือ แต่สมองกลับคิดอะไรมากมาย กลับมาค่ะ!!กลับมา พยายามทำใจให้สงบ บอกตัวเองว่าตอนนี้กำลังทำอะไร ทำสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่ทำ “อ่านหนังสือ อ่านหนังสือ อ่านหนังสือ” ท่องไว้ในใจหากรู้สึกว่า จิตของคุณแม่เริ่มคิดไปเรื่องอื่น การทำจิตให้จดจ่อกับสิ่งที่ทำจะทำให้คุณแม่เกิดสมาธิ สำหรับหนังสือที่อ่าน คุณแม่สามารถเลือกอ่านหนังสือประเภทต่าง ๆ ได้ตามใจชอบ และที่สำคัญ ควรเลือกหนังสือที่อ่านแล้วรู้สึกผ่อนคลาย เนื้อหาไม่ควรหนักมากจนทำให้รู้สึกเครียด
3. ทำสมาธิด้วยการฟังเพลง
คุณแม่เลือกฟังได้ทั้งเพลงที่ให้ความเบาสบาย เป็นบทเพลงที่มีเสียงดนตรีประกอบกับเสียงน้ำไหล เสียงนกร้อง เสียงธรรมชาติ ควรเลือกเพลงที่มีจังหวะช้า เสียงไม่สูงจนเกินไป และฟังในระดับเสียงที่ไม่ดังมากเกินไป เมื่อเลือกเพลงได้แล้ว หามุมสงบ นั่งเอนหลังให้สบายหลับตา แล้วปล่อยใจไปกับเสียงเพลง หากทำได้เช่นนี้คุณแม่จะเกิดความสบายใจและเกิดสมาธิได้อย่างดี
4. ทำสมาธิด้วยการฝึกโยคะ
โยคะทั่วไปจุดประสงค์ ฝึกความแข็งแรง ทำให้หัวใจเต้นแรงเหนื่อยง่าย แต่โยคะคนท้องเราต้องพยายามให้เหนื่อยน้อยที่สุดการฝึกโยคะต้องยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เพราะถ้าเราไม่ยืด กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานที่เตรียมจะรองรับน้ำหนักตัวของลูกในท้อง จะหนักขึ้นเรื่อยๆ มันจะไปลงอุ้งเชิงกราน นั่นก็คือ ช่วงสะโพก ก้น ต้นขา หากไม่เตรียมพร้อม จะรู้สึกเจ็บ ปวดตามส่วนต่าง ๆ ได้ง่าย ควรเริ่มฝึกตอนไตรมาสที่ 2 ค่ะ เพราะร่างกายเริ่มปรับตัวได้แล้ว
5. ทำสมาธิด้วยการเล่นเกม
การเล่นเกมก็สามารถฝึกสมาธิได้ ไม่จำกัดเฉพาะ ปริศนาอักษรไขว้ ต่อจิ๊กซอว์ เป็นต้น นอกจากความเพลิดเพลิน และมีสมาธิแล้ว ยังเป็นการบริหารสมองอีกด้วย และการที่บริหารสมองอยู่เสมอจะช่วยให้ประสิทธิภาพในการเรียนรู้ดีขึ้น ลดความเครียด ทำให้ใจสงบและรู้สึกสดชื่น ซึ่งส่งผลให้ลูกน้อยอารมณ์ดีไปด้วย
รู้วิธีการฝึกสมาธิในรูปแบบต่าง ๆสำหรับแม่ท้องแล้วนะคะ คราวนี้มาดูประโยชน์ว่า การทำสมาธิดีต่อการพัฒนาการทารกในครรภ์อย่างไร
แม่ท้องฝึกสมาธิดีต่อพัฒนาการทารกในครรภ์
1. ประโยชน์ของการทำสมาธิจากผลการวิจัยในต่างประเทศ พบว่า ผู้ที่ทำสมาธิจนจิตสงบนิ่งคลื่นสมองจะเรียบขึ้นยิ่งจิตสงบมากเท่าไร คลื่นสมองก็จะยิ่งเรียบและเป็นเส้นตรงปกติมากขึ้นเท่านั้น ส่งผลให้ความสามารถในการจัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ ของสมองทำงานได้เป็นอย่างดี และยังเป็นการช่วยเพิ่มศักยภาพของเซลล์สมองที่มีอยู่ให้มากขึ้น
2. สมาธิช่วยลดความดันโลหิต ลดความเจ็บปวด เพราะเมื่อคุณแม่มีสมาธิ จิตใจสงบและเป็นสุข สมองจะหลั่งสารแห่งความสุขหรือเอ็นโดรฟินออกมา ซึ่งเป็นสารที่ช่วยคลายความเจ็บปวดได้ และยังส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันต่าง ๆ ภายในร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. การทำสมาธิช่วยกระตุ้นช่วยให้ระบบประสาทและวงจรในสมอง ขณะที่คุณแม่ทำสมาธิจิตของคุณแม่สงบนิ่ง ส่งผลต่อคลื่นสมองของทารกน้อยให้เรียบและเป็นเส้นตรง ซึ่งเป็นผลดี เพราะจะช่วยพัฒนาในด้านความจำของเจ้าหนูต่อไป
4. ในช่วงที่ตั้งครรภ์คุณแม่ต้องควบคุมอารมณ์ของตนเอง เพราะการทำสมาธิช่วยให้จิตใจสงบและนิ่ง เกิดการผ่อนคลาย เมื่อจิตใจของคุณแม่เบาสบาย สิ่งนี้มีผลต่อลูกในครรภ์ ลูกจะมีพัฒนาการด้านสมองและอารมณ์ที่ดี ทำให้เมื่อเจ้าหนูน้อยคลอดออกมาเขาจะเป็นเด็กที่อารมณ์ดี ไม่โยเย มีพัฒนาการตามวัย เลี้ยงง่าย
บทสรุป
การทำสมาธิในช่วงตั้งครรภ์ ลูกในครรภ์นอกจากจะได้รับอิทธิพลความสงบไปด้วยแล้วนั้น เมื่อลูกเกิดมาจะสังเกตได้ว่าลูกมีพัฒนาการที่ไวกว่าเด็กทั่วไปในวัยเดียวกัน ลูกจะกลายเป็นเด็กเรียบร้อย และเชื่อฟังได้ดีกว่า เปรียบเสมือนกระจกเงานั่นเอง สิ่งที่คุณแม่ตั้งครรภ์ได้ทำให้ลูกเมื่อยังเป็นทารกในครรภ์ จะส่งผลสะท้อนเมื่อเวลาลูกโตขึ้น ทั้งพัฒนาการด้านพฤติกรรมและอารมณ์ไปในทิศทางที่ดีนั่นเอง
นำมาฝาก : ดนตรีบรรเลงสำหรับทำสมาธิ
ได้ทราบข้อดีของการฝึกสมาธิในช่วงตั้งครรภ์กันแล้วนะคะว่า ส่งผลดีต่อทารกน้อยในครรภ์อย่างไร เริ่มปฏิบัติกันเลยค่ะ
ร่วมบอกเล่าและแชร์ประสบการณ์ในช่วงตั้งครรภ์ คลอดบุตร รวมถึงการเลี้ยงดูทารกน้อย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวอื่น ๆ กันนะคะ หากมีคำถามหรือข้อสงสัย ทางทีมงานจะหาคำตอบมาให้คุณ
อ้างอิงข้อมูลจาก
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
กิจกรรมแบบนี้? แม่ท้องควรปฏิบัติVSไม่ควรปฏิบัติ