การฉีดวัคซีนในหญิงตั้งครรภ์เป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก เพราะนอกจากจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกายแม่แล้ว ยังช่วยป้องกันโรคให้แก่ทารกหลังเกิดอีกด้วย โดยเฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโรคที่แม่ท้องมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะปอดอักเสบและอาจเสียชีวิตได้ ดังนั้น แม่ท้องฉีดวัคซีน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่คุณแม่ต้องรู้ วันนี้เราจะพามาดูวัคซีนที่คนท้องควรได้รับระหว่างตั้งครรภ์ค่ะ
คนท้องต้องฉีดวัคซีนตอนตั้งครรภ์
เพจเมื่อหมอเป็นแม่ ได้โพสต์ถึงวัคซีนที่ควรได้รับในระหว่างตั้งครรภ์ไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้ สัปดาห์ก่อน แม่หมอมีโอกาสได้ฟังบรรยายเรื่องการให้วัคซีนป้องกันโรคจากท่านประธานสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยค่ะ คิดว่ามีประโยชน์มาก ๆ โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝนแบบนี้ วันนี้เลยมาแนะนำลูกเพจค่ะ
วัคซีนที่ควรได้รับในระหว่างตั้งครรภ์
กลุ่มของวัคซีนที่ควรได้ในระหว่างตั้งครรภ์ กลุ่มนี้นอกจากจะไม่เป็นอันตรายกับทารกในครรภ์ ยังมีประโยชน์ กล่าวคือ การฉีดวัคซีนจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันในแม่ และสามารถส่งผ่านภูมิคุ้มกันผ่านรกไปให้ลูกน้อยในครรภ์ได้อีกด้วย ที่แนะนำ ได้แก่
- กลุ่ม บาดทะยัก, คอตีบ, ไอกรน ซึ่งมีทั้ง บาดทะยักรวมกับคอตีบ (Td) และรวมทั้งสามชนิด (Tdap) โดยแนะนำให้ได้ตัว Td 1-2 dose ระหว่างตั้งครรภ์ เริ่มฉีดในช่วงไตรมาสที่ 3 และ Tdap 1 dose ในช่วงไตรมาสที่ 3 เช่นกัน ส่วนมาก แม่หมอจะฉีด Td 1 dose ในเดือนที่ 6 แล้วสลับเป็น Tdap ในเดือนที่ 7 ของการตั้งครรภ์ เข็มสุดท้าย เป็น Td หลังคลอดค่ะ
- กลุ่มวัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Inactivated influenza Vaccine) แนะนำให้ฉีดในขณะตั้งครรภ์ 1 dose ช่วงไตรมาสที่ 3 เช่นกันค่ะ เนื่องจากถ้าขณะตั้งครรภ์เกิดติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ อาการจะรุนแรงถึงขนาดระบบหายใจล้มเหลวได้มากกว่าคนทั่วไป อันตรายจริง ๆ นอกจากนี้ ยังเพิ่มภูมิให้ทารกในครรภ์อีกด้วยค่ะ
- กลุ่มวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี หากคุณแม่ได้รับภูมิคุ้มกัน ก็จะสามารถช่วยป้องกันการแพร่เชื้อสู่ลูกน้อยได้ เพราะถ้าหากว่าลูกได้รับเชื้อตั้งแต่อยู่ในท้อง เด็กก็จะมีโอกาสสูงที่จะเป็น มะเร็งตับ มากกว่าคนอื่น ๆ ถึง 200 เท่าเลยทีเดียวค่ะ
- วัคซีนโควิด 19 ปัจจุบันแพทย์จะแนะนำให้คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป เนื่องจากการติดเชื้อไวรัสโควิด สามารถทำให้เกิดอาการทางระบบทางเดินหายใจ และเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงมากกว่าคนทั่วไป รวมถึงอาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ และเพิ่มความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนดอีกด้วย
วัคซีนที่ไม่ควรฉีดในระหว่างการตั้งครรภ์
ในระหว่างการตั้งครรภ์ แม่ท้องไม่ควรฉีดวัคซีนเชื้อเป็นเหล่านี้ เพราะเป็นวัคซีนที่มีเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งอาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้
- วัคซีนป้องกันโรคสุกใส (Varicella)
- วัคซีนงูสวัด (Zoster)
- วัคซีนเอชพีวี (HPV)
- วัคซีน คางทูม หัด หัดเยอรมัน (Measles, mumps, rubella)
อย่างไรก็ตาม ในช่วงหน้าฝนนี้ มีโรคติดเชื้อต่าง ๆ มากมายเต็มไปหมด สิ่งที่สำคัญคือการที่ แม่ ๆ ดูแลรักษาสุขภาพ ใครที่ยังไม่ได้วัคซีน สอบถามคุณหมอที่ฝากครรภ์ได้เลยค่ะ รักแม่ ๆ ที่ตั้งครรภ์ทุกคนค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : คนท้องต้องฉีดอะไรบ้าง 100 สิ่งแม่ท้องต้องรู้ ตอนที่ 5 สมุดวัคซีนแม่ท้อง
ทำไมหญิงตั้งครรภ์ต้องรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่
โดยทั่วไปของการให้วัคซีนในหญิงตั้งครรภ์มักให้เพื่อกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันในมารดา หากหญิงตั้งครรภ์มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อนั้น ๆ และช่วยเพิ่มโอกาสในการป้องกันโรคแก่ทารกในช่วง 6-12 เดือนแรกหลังเกิดด้วย
-
ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อน
โรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคหนึ่งที่พบว่า หญิงตั้งครรภ์มีความเสี่ยงเกิดภาวะปอดอักเสบและอาจเสียชีวิตได้ เพราะหญิงตั้งครรภ์มีการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาในระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบทางเดินหายใจ และมีความต้องการออกซิเจนเพิ่มขึ้น พบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นไข้หวัดใหญ่มีโอกาสต้องรับการรักษาตัวในโรงพยาบาลมากกว่าหญิงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์และไม่เป็นไข้หวัดใหญ่ถึง 4 เท่า
โรคไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยจะพบมากตอนช่วงฤดูฝน และพบต่อเนื่องในช่วงฤดูหนาว เชื้อไข้หวัดใหญ่มักมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ที่ระบาดเกือบทุกปี คนที่เคยเป็นไข้หวัดใหญ่แล้วก็มีโอกาสเป็นซ้ำได้ เนื่องจากอาจป่วยจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่เปลี่ยนสายพันธุ์ไป และภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจะอยู่ได้ไม่นาน
-
วัคซีนไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงทุกปี
วัคซีนไข้หวัดใหญ่จะมีส่วนประกอบของเชื้อไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์ โดยเป็น Type A จำนวน 2 สายพันธุ์ คือ H1N1 และ H3N2 และ Type B 1 สายพันธุ์ วัคซีนไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงส่วนประกอบของสายพันธุ์ไวรัสที่จะบรรจุในวัคซีนทุกปี ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก
ในปัจจุบัน แนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ทุกคนควรรับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งควรเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย (ส่วนวัคซีนชนิดเชื้อเป็นซึ่งยังไม่มีในประเทศไทย และถือเป็นข้อห้ามจะใช้ในหญิงตั้งครรภ์) โดยสามารถฉีดได้ในทุกช่วงระหว่างการตั้งครรภ์ ซึ่งนอกจากจะป้องกันไข้หวัดใหญ่ในหญิงตั้งครรภ์แล้ว ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจะผ่านรกจากมารดาสู่ลูกในครรภ์ด้วย ทำให้เมื่อคลอด ลูกจะมีภูมิคุ้มกันไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่แรกเกิดโดยไม่ต้องฉีดวัคซีน ไม่ต้องรอให้ครบตามเกณฑ์ปกติคือ 6 เดือนถึงจะให้วัคซีน การได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ในหญิงตั้งครรภ์จึงเป็นการได้ประโยชน์สองต่อ คือหญิงตั้งครรภ์ได้รับประโยชน์โดยตรง ส่วนลูกได้รับประโยชน์โดยอ้อม
-
ภูมิคุ้มกันจะลดต่ำหลังการฉีด
ภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะลดต่ำตามธรรมชาติหลังการฉีด 6-12 เดือน ดังนั้น ควรฉีดวัคซีนทุกปี เนื่องจากระยะฟักตัวของโรคไข้หวัดใหญ่สั้นมาก จำเป็นต้องมีภูมิคุ้มกันสูงพอขณะได้รับเชื้อเข้ามาในร่างกาย ซึ่งการฉีดวัคซีนปีละครั้งจะทำให้ระดับภูมิคุ้มกันสูงพอที่จะป้องกันโรคได้ ทั้งนี้ วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่มีความปลอดภัยสูง ผลข้างเคียงจากการได้รับวัคซีนมีน้อยมาก ส่วนใหญ่ที่เกิดมักเป็นอาการเฉพาะที่บริเวณตำแหน่งฉีด หรืออาจมีไข้ต่ำ ๆ และปวดเมื่อยได้ในช่วง 1-2 วันหลังฉีด
บทความที่เกี่ยวข้อง : วัคซีนไข้หวัดใหญ่กับแม่ตั้งครรภ์ วัคซีนสำคัญกับเหตุผลที่ว่าทำไมจึงควรฉีด
อายุครรภ์กี่สัปดาห์ คนท้องถึงจะฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้
สำหรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ แม่ท้องควรฉีดในไตรมาสที่ 3 หลัง 28 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากโรคนี้ ซึ่งวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในปัจจุบันมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง ส่วนผลข้างเคียงหรืออาการหลังฉีดวัคซีน ก็มีเพียงเล็กน้อย เช่น ปวดบวมในบริเวณที่ฉีดวัคซีน และเกิดไข้ต่ำ ๆ สำหรับข้อดีของคนท้องที่ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ จะมีภูมิคุ้มกันจากแม่ถ่ายทอดไปสู่ทารกในครรภ์ ช่วยป้องกันโรคในทารกได้นาน 6 เดือนหลังคลอด
โดยทั่วไปแล้ว กรมควบคุมโรคจะกำหนดให้หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์มากกว่า 4 เดือนขึ้นไป ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 1 ครั้ง และสามารถให้วัคซีนเร็วที่สุดตั้งแต่อายุครรภ์ 14 สัปดาห์เป็นต้นไป ดังนั้นแม่ท้องจึงควรไปฉีดวัคซีนป้องกัน เพราะนอกจากจะช่วยป้องกันไข้หวัดใหญ่แล้ว ยังช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันต่อร่างกายและลูกในครรภ์อีกด้วย
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ดีอย่างไร ใครบ้างที่ควรฉีด และต้องฉีดบ่อยแค่ไหน
วัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ในหญิงตั้งครรภ์ สำคัญแค่ไหน?
คนท้องฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม ฉีดแล้วอันตรายหรือเปล่า ฉีดได้ตอนไหน
ที่มา : facebook, thaihealth, sikarin, synphaet, nakornthon