สำหรับคุณแม่มือใหม่ที่เริ่มต้นให้น้ำนมลูก เอาลูกเข้าเต้า ถ้าเข้าใจและปฏิบัติให้ถูกต้องในการ เอาลูกเข้าเต้า ให้นมที่ถูกท่าแต่แรก ก็จะทำให้หมดปัญหาเรื่องนมแม่ ไม่ว่าจะเป็นการเจ็บหัวนมเวลาลูกดูด หรือการที่ลูกงับหัวนมไม่ถึงลาน ทำให้น้ำนมไหลเข้าปากลูกได้น้อย เมื่อลูกดูดน้อยก็ทำให้เต้านมแม่ถูกกระตุ้นได้น้อยมีผลต่อน้ำนมแม่น้อยอีกด้วยนะคะ
เอาลูก เข้าเต้าท่าไหน ไม่เจ็บหัวนม มีน้ำนมมาเยอะ
คุณแม่อุ้มทารกโดยใช้มือประคองที่ต้นคอและท้ายทอย โดยอย่าให้นิ้วไปกดที่ใบหูลูกนะคะ ให้ลูกเงยหน้าเล็กน้อย และเคลื่อนเข้ามา ให้คางของลูกเข้ามาชิดกับเต้านมส่วนล่าง โดยสังเกตว่าจมูกของลูกจะอยู่ตรงกับหัวนมแม่พอดี เมื่อสัมผัสและได้กลิ่นจากเต้านมแม่ ทารกจะเริ่มอ้าปากโดยอัตโนมัติทันที แต่ถ้าเจ้าตัวน้อยยังไม่อ้าปาก ให้คุณแม่ใช้เขี่ยที่ริมฝีปากล่างของลูกเบา ๆ เพื่อกระตุ้นให้ลูกอ้าปากดูนะคะ
ใช้มืออีกข้างประคองเต้านม โดยให้นิ้วหัวแม่มืออยู่ด้านบน เหนือขอบนอกของลานหัวนม ส่วนนิ้วที่เหลือประคองเต้านมด้านล่าง
*ไม่ควรใช้ท่าแบบนิ้วคีบบุหรี่ เพราะช่องว่างระหว่างนิ้วจะแคบ ทำให้ลูกอมเข้าลานนมได้ไม่ลึกพอ และนิ้วอาจจะกดบริเวณท่อน้ำนม ทำให้น้ำนมไหลไม่ดี
เมื่อทารกอ้าปากให้เคลื่อนศีรษะลูกเข้าหาเต้านมทันที โดยไม่ใช่ให้ตัวแม่เป็นฝ่ายโน้มเต้าเข้าหาลูกนะคะ
ลูกอมงับลานนมได้ดีหรือยังนะ? วิธีนำลูกเข้าเต้าเพื่อให้ลูกอมงับลานนม
ในขณะที่เอาลูกเข้าเต้าแล้ว หากคุณแม่ไม่มั่นใจว่า จัดท่าให้นมลูกได้ถูกต้องหรือไม่ ใช้วิธีสังเกตง่าย ๆ
- ลูกอมลานนมด้านล่างได้มากกว่าด้านบนหรือเปล่า พยายามให้ลานนมด้านล่างถูกปากลูกอมจนมิดหรือเกือบมิด
- ต้องปากลูกอ้ากว้างแนบสนิทกับเต้านมแม่
- ขณะดูดนมริมฝีปากล่างบานออกเหมือนปากปลา
- ต้องให้คางลูกต้องแนบชิดเต้านมแม่
คุณแม่บางคนกลัวว่าลูกจะหายใจไม่ออกจึงใช้นิ้วกดที่เต้านมบริเวณใกล้จมูกของลูก แต่คุณแม่ไม่ต้องกังวลไป เพราะโดยธรรมชาติของเด็ก ปีกจมูกจะบานออก เต้านมของแม่จะไม่ปิดช่องหายใจ ลูกจะหายใจได้สะดวก โดยสังเกตได้จากการที่ลูกยังดูดนมได้ดี เพราะการใช้นิ้วไปคอยกดตอนที่ลูกดูดนมอยู่นั้น จะทำให้ปากลูกอมได้ไม่ลึก เหงือกของลูกจะไปกดที่หัวนม และลิ้นของลูกจะถูไปมาที่บริเวณหัวนม ทำให้หัวนมเจ็บและแตกได้
ดังนั้นเมื่อลูกเข้าเต้าแล้ว พยายามขยับปากลูกเพื่อให้อมงับถึงลานนม โดยให้อมลานนมส่วนล่างมากกว่าลานนมส่วนบน ให้คางลูกแนบชิดกับเต้านมส่วนล่าง ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้ลิ้นของทารกยื่นออกมาดูดรีดน้ำนมจากเต้าแม่ได้ดีขึ้น และจะช่วยให้แม่ไม่เจ็บหัวนมด้วย แถมยังทำให้ลูกน้อยดูดนมแม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยนะคะ
ประโยชน์ของนมแม่
เด็กทารกควรจะมีโอกาสได้รับน้ำนมแม่ได้นานที่สุดถึงอายุ 1 ปีหรือมากกว่านั้นหรืออย่างน้อย 6 เดือน องค์การอนามัยโลกแนะนำว่ายิ่งคุณแม่ให้นมลูกได้นานเท่าใดก็จะเกิดผลดีต่อแม่และลูกมากขึ้นเท่านั้น เพราะในน้ำนมจะมีทั้งน้ำและสารอาหารครบถ้วนที่มีคุณค่าสำหรับลูกน้อย ซึ่งจะได้รับสารอาหารทุกชนิดที่จำเป็นต่อสุขภาพ การเจริญเติบโต และพัฒนาการ รวมทั้งป้องกันคุ้มครองทารกจากการเจ็บป่วย และลดการเสียชีวิตของทารกแรกเกิด รวมถึงประโยชน์ของน้ำนมแม่เหล่านี้
สิ่งที่ลูกได้จากน้ำนมแม่
- ลดการติดเชื้อของหู
- ลดการเกิดโรคภูมิแพ้
- อาเจียนลดลง
- ลดท้องร่วง
- ปอดบวม หลอดลมอักเสบลดลง
- เยื่อหุ้มสมองอักเสบลดลง
- ลดอุบัติการณ์เสียชีวิเฉียบพลันที่เรียกว่า Sudden Infant Death Syndrome (SIDS).
- ได้รับภูมิคุ้มกันเร็วขึ้น
- น้ำนมเหลือง(colostrum)จะขับน้ำดีเพื่อลดอาการตัวเหลือง
- สามารถย่อยได้ง่ายและมีสารอาหารครบถ้วน
- มีสัดส่วนอาหารที่เหมาะสม
- พัฒนาการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อปาก
- ลูกมีพฤติกรรมที่ดีเมื่อโตขึ้น
- ลูกที่มีกินนมแม่นานพบว่ามีความฉลาดและไอคิวดี
สิ่งที่แม่ได้รับจากการให้นมลูก
- ลูกดูดนมแม่จะช่วยให้คุณแม่เผาผลาญพลังงาน ทำให้น้ำหนักกลับสู่ปกติได้เร็ว การให้นมลูกจะเผาผลาญแคลอรี่ได้ถึง 500 กิโลแคลอรี่/ วัน เปรียบเทียบได้กับการออกกำลังกายว่ายน้ำไปกลับ 30 รอบหรือขี่จักรยาน 1 ชั่วโมง
- ลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งรังไข่ ลดอาการวัยทอง ลดการเกิดมะเร็งเต้านม
- ป้องกันโรคกระดูกพรุน
- ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานทั้งชนิดที่1 และ 2 จะมีระดับน้ำตาลที่ต่ำลด และต้องการอินซูลินลดลง
- ช่วยเลื่อนการมีประจำเดือน ทำให้การตั้งครรภ์ไม่ถี่เกินไป
- ทำให้มดลูกกลับสู่ภาวะปกติเร็วขึ้น
- ความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูก
- ไม่มีปัญหาเรื่องคัดเต้านม
- ประหยัดเวลาไม่ต้องเตรียมนม
- ประหยัดค่าใช้จ่าย
“น้ำนมแม่” ที่ให้ประโยชน์ได้ทั้งแม่และลูกแล้ว ยังมีส่วนช่วยในด้านความสัมพันธ์ต่อความผูกพันระหว่างกันของทั้งสองคนด้วย การโอบกอดลูกเข้ากับอกในขณะให้นมยังทำให้เกิดคุณค่าทางจิตใจกับลูก และช่วยกระตุ้นพัฒนาการให้กับลูก และเพิ่มความมั่นคงทางอารมณ์ให้กับลูกได้ด้วยนะคะ.
เด็กนมแม่น้ำหนักน้อย ลูกเป็นเด็กนมแม่ล้วน แต่น้ำหนักน้อยจนตกเกณ์ แก้ไขยังไงดี
เด็กนมแม่น้ำหนักน้อย ลูกเป็นเด็กนมแม่ล้วน แต่น้ำหนักน้อยจนตกเกณ์ แก้ไขยังไงดี จำเป็นต้องเสริมนมผงไหมแบบนี้ หรือต้องเริ่มอาหารเสริมให้เร็วขึ้นกันนะ
สาเหตุหลัก
นมแม่ไม่พอ คุณแม่นมน้อยและให้ลูกเข้าเต้าตลอด สิ่งที่ทำให้รู้ว่าน้ำนมของคุณแม่มีน้อยไปแล้ว นั่นคือการฉี่ของลูกค่ะ ถ้าลูกฉี่ประมาณวันละ 6 ครั้ง โดยเปียกผ้าอ้อมเปียกเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 เซนติเมตร แสดงว่าลูกได้รับนมแม่มากพอค่ะ
ลูกมีปัญหาสุขภาพ เช่น มีปัญหาในการหายใจ มีโรคทางพันธุกรรม ความตึงของกล้ามเนื้อมากเกินไปหรือน้อยเกินไป ลูกมีภาวะลิ้นติด มีปริมาณแลคโตสเกินทำให้น้ำหนักไม่ขึ้นหรือขึ้นน้อย
ปัญหาอื่นๆ เช่น เมื่อลูกน้ำหนักน้อยลูกอาจง่วงมากและดูดนมได้น้อย การเข้าเต้าเป็นการกล่อมให้หลับแทนที่ลูกจะดูดนมได้อย่างเพียงพอ ก็อาจส่งผลให้น้ำแม่ผลิตน้อยลงเพราะลูกดูดออกไปน้อย
น้ำหนักเด็กๆ ควรขึ้นเท่าไหร่
โดยปกติแล้วเด็กแรกเกิดจะน้ำหนักตัวขึ้นอยู่ที่วันละ 30-40 กรัม ใน 3 เดือนแรก น้ำหนักลูกจะขึ้นเร็ว และแผ่วลงเมื่ออายุได้ 3-6 เดือน โดยน้ำหนักตัวขึ้นอยู่ที่วันละ 20 กรัมค่ะ
สิ่งที่ต้องทำคือ
- น้ำหนักลูก ไม่ใช่สิ่งที่พ่อแม่ต้องกังวลค่ะ สิ่งที่จะบ่งบอกได้ว่าแม้ลูกจะน้ำหนักขึ้นไม่เยอะเท่าไหร่นัก แต่ยังไปต่อได้ นั่นคือลูกยังร่าเริงแจ่มใส ดูดนมได้ดี เด็กที่แข็งแรงไม่ใช่เด็กที่น้ำหนักเยอะเสมอไปนะคะ
- พันธุกรรมก็มีส่วน คุณพ่อคุณแม่เป็นเด็กตัวเล็กหรือไม่ หรือญาติพี่น้องปู่ย่าตายายเป็นยังไง เพราะอาจจะมีพันธุกรรมโตช้า เป็นเด็กที่ตัวเล็ก แต่ตอนโตนั้นโตมาสูงน้ำหนักปกติ ไม่ใช่คนตัวเล็กก็เป็นได้ค่ะ หรือถ้าคุณพ่อคุณแม่เป็นคนตัวเล็กอยู่แล้ว ลูกจะเกิดมาตัวเล็กน้ำหนักน้อย โตช้า ก็คงจะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรนะคะ
- ลูกมีการเติบโตที่สม่ำเสมอหรือไม่ หมายถึงลูกตัวเล็กก็จริง แต่น้ำหนักขึ้นสม่ำเสมอทุกๆเดือน ไม่ใช่ว่าน้ำหนักไม่ขึ้นเลย หรือขึ้นบ้างไม่ขึ้นบ้าง ก็ไม่จำเป็นต้องห่วงค่ะ
- ลูกมีพัฒนาการตามวัยไหม พร้อมเรียนรู้ตลอดเวลาหรือไม่ ถ้าใช่ก็ไม่ต้องห่วงค่ะ
- อายุลูก ถ้าลูกโตจนเริ่มอาหารเสริมได้แล้ว แต่ไม่ยอมกินอาหารเสริมจะกินแต่นม ก็ต้องแก้กันในเรื่องของอาหารเสริมค่ะ
- หากคุณพ่อคุณแม่ไม่สบายใจ ควรปรึกษาคุณหมอผู้เชี่ยวชาญค่ะ และควรหาคำแนะนำที่ 2 ที่ 3 ด้วยนะคะ เพื่อความแม่นยำและแก้ไขได้ทันท่วงที
ขอบคุณภาพประกอบและที่มา : www.thaibreastfeeding.org
บทความอื่นที่น่าสนใจ :
เรื่องน้ำนมน้อยแก้ได้ ใช้เทคนิค 4 ดูดช่วยให้ “นมแม่” มามาก
เชื่อเถอะ! การมีลูกไม่ใช่ภาระ 15 เรื่องที่ไม่มีใครบอกจนกว่าจะมาเป็น “แม่”