เล่นจ๊ะเอ๋กับลูก 2 ขวบปีแรก ฝึกการจดจำข้อมูล กระตุ้นการสื่อสาร ฉลาดแต่เล็ก

อยากให้ลูกรัก ฉลาด มีพัฒนาการทางสมอง ต้องเล่นจ๊ะเอ๋กับลูกตั้งแต่เล็ก โดยเฉพาะช่วง 2 ขวบปีแรก

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

เล่นจ๊ะเอ๋กับลูก พัฒนาสมองตั้งแต่เล็ก

จ๊ะเอ๋ เพียง 2 คำ ช่วยพัฒนาสมองลูกได้! เล่นจ๊ะเอ๋กับลูก ไม่ต้องเสียเงินสักบาท แต่ได้ประโยชน์กับลูกอย่างเหลือเชื่อ

 

ผลสำรวจชี้ ปู่ย่า ตายาย มีบทบาทต่อการส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เปิดผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยปี 2558-2559 โดยองค์การยูนิเซฟประเทศไทย สำนักงานสถิติแห่งชาติ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่า

  • บทบาทของปู่ย่า ตายาย หรือผู้ใหญ่ในครัวเรือน ต่อการส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กในช่วงอายุ 3-5 ขวบ มีมากถึง 92.7%
  • บทบาทของแม่ในการส่งเสริมการเรียนรู้อยู่ที่ 62.8%
  • บทบาทของพ่อ 34%

พบอีกว่า เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ที่เล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต เครื่องเล่นเกม สูงถึง 50% และเกือบ 7 ใน 10 ของเด็กอายุ 2 ขวบขึ้นไป เล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่อายุยังน้อย โดยเฉพาะเด็กใน กทม.และภาคใต้ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะสมาธิสั้นได้ นอกจากนี้้ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ที่มีหนังสือสำหรับเด็กอย่างน้อย 3 เล่ม มีเพียง 41.2% เท่ากับว่าอีก 59% มีหนังสือเด็กในบ้านไม่ถึง 3 เล่ม

 

เล่นกับลูก เสริมความฉลาดได้ ไม่ต้องลงเงินสักบาท

ด้านพญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล แนะนำให้ทำกิจกรรมธรรมดาที่เติมความรัก ความเข้าใจ ความเอาใจใส่และความสม่ำเสมอในทุก ๆ วัน เช่น

  1. เล่นกับลูก
  2. อ่านหนังสือกับลูก
  3. ชวนลูกคุยเพราะยิ่งชวนลูกคุยมากขึ้นเท่าไรก็จะช่วยสะสมคลังศัพท์มากขึ้น
  4. ชวนให้ลงมือทำงานบ้านร่วมกัน
  5. พาลูกออกไปเที่ยวเพื่อเรียนรู้สิ่งแวดล้อมนอกบ้าน เช่น การเล่นจ๊ะเอ๋กับลูก ซึ่งแฝงความมหัศจรรย์ที่ช่วยให้สมองและพัฒนาการของเด็กในหลายด้านถูกกระตุ้นอย่างที่ผู้ใหญ่คาดไม่ถึง

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

เล่นจ๊ะเอ๋กับลูกช่วง 2 ขวบปีแรก

ลูกจะได้เรียนรู้เรื่องการคงอยู่ของสิ่งต่างๆ จากการที่ผู้ใหญ่ ปิดตาหรือซ่อนแอบ ช่วยกระตุ้นพัฒนาการด้านการสื่อสารระหว่างกัน ฝึกการจดจำข้อมูล โดยเด็กจะจำว่าผู้ปกครองชอบโผล่ทางไหน และคาดเดาว่าครั้งต่อไปจะเป็นทิศทางใด ฝึกให้รู้จักรอคอย ช่วงเวลาที่ปิดหน้าหรือซ่อนหลังสิ่งของ เด็กจะรู้จักรอคอยว่าเมื่อไหร่จะเปิดตาหรือโผล่ขึ้นมา และเกิดสายสัมพันธ์ความผูกพันในหัวใจของลูกเพราะเป็นช่วงเวลาที่เด็กเป็นศูนย์กลาง การสบตา การใช้เสียงสูงต่ำ รอยยิ้มและเสียงหัวเราะ

ที่มา : https://www.thaihealth.or.th

 

วิธีเล่นจ๊ะเอ๋ Peek-a-boo!

เพจนายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ได้โพสต์เล่นจ๊ะเอ๋ มีประโยชน์อย่างไรและทำได้อย่างไร Peek-a-boo! อธิบายอย่างละเอียดไว้ถึง 9 ข้อว่า

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา
  1. การเล่นจ๊ะเอ๋ ควรจะเริ่มเล่นได้เมื่อเด็กรู้ว่าวัตถุมีจริงแล้วคือ object permanence ของชิ้นหนึ่งหายไปแล้ว โผล่มาใหม่ได้ เอาผ้าไปคลุมของเล่นที่เขากำลังเล่น เขารู้จักพลิกผ้าหาของออกมาเล่นต่อ ความสามารถนี้อยู่ที่อายุ 8 เดือน
  2. อย่างไรก็ตาม แม่จะเป็นวัตถุแรกที่มีอยู่จริงตั้งแต่ประมาณ 6 เดือน แม้จะเป็นเพียงอรุณรุ่งของความเป็นแม่แต่ก็ถือว่าพอใช้ได้ (ก่อน 6 เดือนเป็นนางทาส) แม่หายไปจากสายตา เดี๋ยวก็จะกลับมา แม่เข้าห้องน้ำ เดี๋ยวก็จะออกมา แม่ไปทำผม เดี๋ยวก็จะกลับมา ดังนั้นจะเริ่มเล่นตอนทารก 6 เดือนก็น่าจะจ๊ะเอ๋ได้ แต่หากพบว่าเขาทำมึนก็อย่าตกใจไป ของธรรมดา หากเขาร้องไห้จ้าก็อย่าเสียใจ เขายังไม่พร้อมจะเล่นจ๊ะเอ๋เฉยๆ
  3. นักวิทยาศาสตร์ไม่แน่ใจนักว่าทารกมี face recognition ตั้งแต่เมื่อไร กล่าวคือทารกรู้เมื่อไรว่าใบหน้าแบบนี้คือมนุษย์ หู ตา จมูก ปาก หากมีรูปร่างแบบนี้และวางตรงตำแหน่งที่ถูกต้อง (คือหูอยู่ข้างหัว) ต้องเป็นมนุษย์แน่ๆ ก่อนหน้าที่จะรู้จักใบหน้าแม่ต่อไป บ้างว่ารู้ทันทีหลังเกิด บ้างว่าประมาณ 1-3 เดือน จะอย่างไรก็ตามนี่คือรากฐานของการเล่นจ๊ะเอ๋?? ประเด็นคือผู้ใหญ่แปลกหน้าที่มาเล่นจ๊ะเอ๋กับลูกเราแล้วทำลูกเราร้องไห้จ้าควรเชิญออกจากบ้าน จ๊ะเอ๋เขาเอาไว้เล่นกับคนรัก เป็นแฟนเล่นจ๊ะเอ๋ถึงจะสนุก น่ารัก ปิดไฟมองไม่เห็นยังน่ารักเลย ไม่เป็นแฟนมาเล่นจ๊ะเอ๋ได้อย่างไร
  4. จ๊ะเอ๋จึงเป็นการเล่นที่ตอกย้ำความมีแม่ ความเป็นแม่ ความมีอยู่จริงของแม่ และนั่นเท่ากับสร้างเสริมสายสัมพันธ์กับแม่ด้วย เดี๋ยวหายเดี๋ยวมี คราวนี้เลื่อนมาทางพ่อ กลับบ้านเดือนละครั้งก็ควรเล่นจ๊ะเอ๋แต่มิใช่ผลีผลามเข้าไปไม่รู้ตัว หากนานๆมาครั้งหนึ่งก็ควรมีเวลาอุ่นเครื่องกันก่อน ยิ้ม อุ้ม กอด เล่นอย่างอื่นบนพื้นดินสักพัก แล้วค่อยเล่นจ๊ะเอ๋อีกที
  5. จ๊า ยาวๆ-เอ๋ ยาวๆ ย่อมไม่สนุกเท่า จ๊ะเอ๋! มีเครื่องหมายอัศเจรีย์ตกใจ องค์ประกอบสำคัญของจ๊ะเอ๋มิได้มีแค่เรื่องใบหน้าแต่มีเรื่องเสียงด้วย เสียงสูงที่เกิดขึ้นฉับพลันทันทีที่จ๊ะเอ๋เป็นปัจจัยที่ทำให้เรื่องนี้สนุก อีกทั้งเรื่องความถี่ จ๊ะเอ๋ จ๊ะเอ๋ จ๊ะเอ๋ 3 ครั้งซ้อนเด็กจะหัวเราะตากเหงือกตากหงายไป 3 ท่อนมิได้หายใจ นับเป็นการบริหารทั้งหูชั้นในและปอดไปพร้อมๆกัน แต่ที่สำคัญมากคือเป็นช่วงขณะหนึ่งที่ทารกจะมองหน้าแม่ ลูกจะมองเห็นริมฝีปากของคุณแม่ แม่ทำปากแบบไหนจึงได้เสียงออกมาว่า จ๊ะ-เอ๋ นี่มิใช่การฝึกพูด แต่เป็นเรื่องแรกๆที่ทารกจับสังเกตอย่างจริงจังว่าปากมนุษย์ขยับแล้วมีเสียงออกมา นักฝึกพูดบางท่านก็เริ่มบทเรียนแรกด้วยอะไรที่คล้ายๆ จ๊ะ-เอ๋
  6. จ๊ะเอ๋เป็นการละเล่นที่ตามมาด้วยเสียงหัวเราะเสมอ หากจ๊ะ-เอ๋แล้วไม่หัวเราะย่อมไม่ใช่จ๊ะเอ๋ มนุษย์เราหัวเราะด้วยกลไกที่ซับซ้อน งานชิ้นนี้เป็นข้อสังเกตของชาร์ล ดาร์วินตั้งแต่ปี 1889 มีเขียนไว้ในหนังสือ The Expression of the Emotions in Man and Animals ความว่าเวลามนุษย์หัวเราะ ขั้นแรก กล้ามเนื้อขากรรไกรล่าง Zygoma จะดึงรั้งริมฝีปากและกระพุ้งแก้มออกไปทางด้านข้าง แต่ริมฝีปากบนนั้นกลับจะถูกดึงรั้งขึ้นด้วยกล้ามเนื้อรอบลูกตา คือ Orbicularis oculi เป็นเวลาเดียวกับที่เราหายใจเข้าแล้วทางเดินหายใจถูกสกัดด้วยกล้ามเนื้อกะบังลม มีงานวิจัยทำกับทารก เวลาทารกเห็นแม่ ทารกจะยิ้มตาปิดลงเล็กน้อย เหตุที่ตาปิดเพราะกล้ามเนื้อรอบลูกตาหดรั้ง เราจะสังเกตเห็นว่าขอบตาล่างมีมัดกล้ามเนื้อชิ้นเล็กๆปูดขึ้นมา แต่ถ้าทารกเห็นคนอื่น แม้ว่ายิ้มก็ยิ้มเฉพาะกล้ามเนื้อขากรรไกร แต่ไม่ยิ้มด้วยกล้ามเนื้อรอบดวงตา ข้อสังเกตนี้ใช้สังเกตคนที่หัวเราะด้วยความสุขจริงๆกับคนที่แค่นหัวเราะได้ด้วย
  7. กลไกสำคัญของการเล่นจ๊ะเอ๋ คือ surprise and expectation กล่าวคือจ๊ะเอ๋เป็นการรักษาสมดุลระหว่างความแปลกใจและความคาดหวัง เด็กคาดหวังว่าเดี๋ยวจะต้องมีใบหน้าพ่อหรือแม่โผล่ออกมาแน่ๆ ครั้นโผล่ออกมาจริงๆก็ประหลาดใจที่ตนเองคาดหวังถูกต้อง หัวเราะเอิ๊กๆ ถ้าคาดหวังแต่ไม่โผล่หน้าออกมาย่อมไม่สนุก (ยังไม่ขึ้นเครื่องบินเลย ลูก) ออกมาแต่ไม่เซอร์ไพรซ์ก็ไม่สนุก การเล่นจ๊ะเอ๋จึงเป็นทักษะฝ่ายพ่อแม่ด้วย
  8. จ๊ะเอ๋ทำให้หัวเราะ หัวเราะเป็นทักษะการสื่อสาร คือ communication skills อย่างแรกๆ เด็กหัวเราะเพื่อเปิดช่องทางสื่อสาร หัวเราะแล้วโลกเงียบจะเป็นโลกที่น่าเศร้ามาก หัวเราะแล้วใครๆก็จะมา ร้องไห้แล้วใครๆ ก็จะไป เด็กค่อยๆ เรียนรู้ได้ว่าหัวเราะจะได้อะไร นี่คือการสื่อสาร นักฝึกพูดบางท่านจึงเริ่มต้นที่การทำให้เด็กหัวเราะ บางท่านเก่งมากระดับฝึกกล้ามเนื้อหัวเราะกันทีละมัดเลยทีเดียว
  9. แล้วจะทำได้อย่างไร ถามกลับจะทำได้อย่างไรเล่าถ้าไม่อยู่บ้าน การเล่นจ๊ะเอ๋เป็นการเล่นที่ไม่เพียงพ่อแม่ต้องอยู่บ้าน แต่ต้องการใบหน้าของท่านอยู่บ้านด้วย ไม่มีใบหน้าเล่นจ๊ะเอ๋ไม่ได้ ใบหน้านั้นต้องเป็นที่รักมากพอที่กล้ามเนื้อรอบลูกตาจะหดรั้งได้ด้วย แน่นอนท่านจ้างคนอื่นเล่นแทนได้ แต่กล้ามเนื้อรอบลูกตาคงจะไม่หดรั้งเท่าใดนัก

เศร้าเพียงใดหากลูกไม่มีคนเล่นจ๊ะเอ๋ด้วย Peekaboo!

 

ที่มา : https://www.facebook.com/prasertpp

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

เตือน 5 ของเล่นสุดอันตราย อย่าให้ลูกเล่นเด็ดขาด

6 อันดับ ของเล่นที่ คุ้ม ถูก เเละเล่นได้นานที่สุด

วิธีเล่นกับลูกวัยทารก เสริมความฉลาด กระตุ้นพัฒนาการ ง่าย ๆ ไม่ต้องใช้เงิน!

 

บทความโดย

Tulya