สิ่งที่ลูกน้อยจะทำให้หัวใจพ่อ และแม่พองโตได้ไม่น้อยก็คือการที่ลูกเริ่ม เรียกชื่อพ่อและแม่ นั่นเองจริงไหมคะ? การเปล่งเสียง และการออกเสียงภายในลำคอ จนกระทั่งเสียงเหล่านั้นเริ่มแปรเปลี่ยนเป็นการสื่อสารด้วยคำที่มีความหมาย มันเหมือนมนต์สะกดที่ทำให้พ่อ และแม่หลงไหลใจละลายกันเลยทีเดียว
เมื่อไหร่ที่เด็กจะเริ่ม เรียกชื่อพ่อและแม่
หลายครอบครัวมักจะรอลุ้นอยู่เสมอว่า ลูกน้อยของฉัน จะเริ่มพูด หรือเปล่งเสียงออกมาว่าคำไหน และแน่นอนว่า ต่างคนก็รอลุ้นว่า ลูกน้อยจะเริ่มเรียกชื่อใครได้ก่อน ระหว่างพ่อ หรือแม่ จนหลายครั้ง ถึงขั้นงอนกันเองระหว่างคุณพ่อคุณแม่กันเลยก็มี
ทุกครั้งที่ลูกเริ่มฝึกปล่อยเสียงออกมา ไม่ว่าจะเป็นการคำรามเสียงออกจากลำคอ เป็นที่ลุ้นของคนเป็นพ่อเป็นแม่อยู่ตลอดเวลาว่า เมื่อไหร่ที่เสียงคำรามเหล่านั้น จะออกมาเป็นคำ และสามารถสื่อความหมายได้ โดยเฉพาะคำว่า “ป๊า” และคำว่า “ม๊า” ซึ่งบางครอบครัว อาจจะพยายามฝึกให้ลูกเรียกว่า “พ่อ” หรือ “แม่” แล้วแต่สไตล์ของแต่ละครอบครัว
จากสถิติโดยมากแล้ว คุณจะเริ่มได้ยินเสียงที่เปล่งออกมาอย่างมีความหมายในช่วงที่ลูกน้อยมีอายุได้ประมาณ 8 เดือน ทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่พัฒนาการของเด็กเป็นหลัก และยังรวมถึงสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่มีการบังคับให้เกิดการฝึกเรียก ฝึกเปล่งเสียง เพราะสิ่งเหล่านี้ จะเป็นตัวกระตุ้น ให้เด็กมีพัฒนาการที่ไวยิ่งขึ้น
เด็กจะออกเสียงเรียกพ่อได้ก่อนจริงหรือ?
หลายครั้งคุณแม่ก็เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ เพราะตัวเองต้องคอยดูแลลูกน้อยอยู่ตลอดเวลา ทั้งประคบประหงม คอยดูแลเอาใจใส่ ศึกษาหาวิธีสร้างเสริมพัฒนาการให้กับลูกน้อยอยู่ตลอดเวลา แต่ลูกกลับเรียกหาคุณพ่อได้ก่อนคุณแม่ล่ะ
และแน่นอนว่าเมื่อลูกน้อยของคุณ เริ่มเรียกคุณพ่อได้ คุณพ่อจะยิ้มน่าชื่นตาบาน แล้วรีบเข้ามาหาลูกน้อย พร้อมพยายามให้ลูกน้อยเรียกคุณซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนคุณแม่ชักจะเริ่มเคืองคุณพ่อ กับคุณลูกอยู่ไม่ใช่น้อย
แต่การที่ลูกของคุณ จะเรียกคุณพ่อได้ก่อนนั้น มันมีปัจจัยของมันอยู่ค่ะ เพราะส่วนมากการฝึกให้ลูกเริ่มเรียกคุณพ่อคุณแม่นั้น เรามักจะใช้คำสั้น ๆ ง่าย ๆ ก่อน เช่น “พ่อ,แม่” “ป๊า,ม๊า” “แด๊ด,มั๊ม” เป็นต้น และคำเรียกแทนตัวพ่อนั้น มักจะออกเสียง หรือกระแทกเสียงออกมาจากลำคอได้ง่ายกว่า นั่นจึงเป็นสาเหตุให้ตัวเด็ก มักจะเรียกหาคุณพ่อ ได้ก่อนคุณแม่ นั่นเอง
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : พัฒนาการทางภาษา เด็กวัย 7 เดือน ลูกพูดได้เยอะหรือยังนะ
และเมื่อทารกน้อยอายุได้ประมาน 8 – 9 เดือนเขาก็จะเข้าใจว่าอะไรเป็นสิ่งที่ถาวร เช่น ถ้ามีคนจากไปพวกทารกก็จะเข้าใจว่า พวกเขาจะสามารถปรากฏตัวให้เห็นอีกครั้งได้ อีกทั้งทารกในช่วงนี้ ยังเริ่มมี การรับรู้ และเข้าใจถึงผลของการกระทำอีกด้วย เช่น เรียนรู้ว่าถ้าร้องไห้เมื่อไหร่ พ่อ – แม่ ต้องวิ่งแจ้นเข้ามาหาเขาแน่นอน
เช่นเดียวกับการตั้งชื่อ การที่ทารกน้อยจะตั้งชื่อ ให้กับอะไรสักอย่างพวกเขาต้องเห็นสิ่งนั้นมาเป็นประจำ ทั้งนี้การที่ทารกน้อยเรียกพ่อก่อน แทนที่จะเรียกแม่นั้นเป็นเพราะว่าในช่วงปีแรกที่เขาเกิดมา เขาตัวติดอยู่กับแม่ตลอดเวลา จนนับรวมตัวเขากับแม่เป็นหนึ่งเดียวกันก็ว่าได้ เมื่อมีพ่อเข้ามาดูแลเขาก็จะเห็นว่าพ่อเป็นบุคคลแรก ที่เข้ามาในชีวิต นอกจากแม่นั่นเอง
12 วิธีง่าย ๆ ที่พ่อแม่สามารถกระตุ้นพัฒนาการการพูดของลูก
1. คุยกับลูกตั้งแต่อยู่ในท้อง
นับตั้งแต่วินาทีที่คุณทราบว่า คุณกำลังจะเป็นพ่อและแม่นั้น นอกเหนือจากการดูแลเอาใจใส่ร่างกาย และจิตใจของแม่แล้ว ทั้งสองคนควรจะใช้เวลาให้คุ้มค่าที่สุด โดยการพูดคุยกับลูก แม้เขาจะยังอยู่ในท้องก็ตาม
ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีพ่อแม่ส่วนใหญ่เข้าใจผิดมาโดยตลอดว่า ช่วงที่ลูกยังเป็นทารกนั้นเขาคงไม่สามารถรับรู้ในสิ่งที่เราพูดหรือคุยกับเขาได้ แต่แท้ที่จริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเพลงที่ฟัง เสียงที่พ่อแม่คุยกับเขานั้น ลูกที่อยู่ในครรภ์สามารถรับรู้และรู้สึกอยู่เสมอ ซึ่งสิ่งเหล่านี้นี่เองที่จะเป็นแรงกระตุ้นพัฒนาการของลูกน้อย โดยเราสามารถรับรู้ได้จากการดิ้นของลูกนั่นเอง
2. สนุกกับการสอน
ลูกจะสนุกกับการเรียนรู้ และสนใจสิ่งรอบข้าง ถ้าพ่อแม่สอนลูกด้วยความสนุกในการฝึกพูด ซึ่งพ่อแม่ต้องทราบก่อนว่า เด็กเล็กนั้นมักชอบเสียงและจังหวะดนตรี ของเล่นที่มีการเล่นเสียงสูงต่ำจะเป็นที่สนใจของพวกเขามาก รวมไปถึงเสียงของสัตว์ต่างๆไม่ว่าจะเป็นสุนัข แมว นก ฯลฯ ดังนั้นพ่อแม่สามารถให้สิ่งเหล่านี้เป็นอุปกรณ์เสริมในการกระตุ้นพัฒนาการของลูกได้เป็นอย่างดี
3. เรียนรู้ไปด้วยกัน
ในแต่ละวัน พ่อแม่ควรให้ลูกเรียนรู้ภาษาในชีวิตประจำวันไปด้วยกัน โดยการสอนคำง่ายเช่น อาบน้ำ ทานข้าว น้ำ กินนม และชื่อของสิ่งของไม่ว่าจะเป็น โต๊ะ เก้าอี้ รองเท้า เป็นต้น
4. ส่งสายตา
ภาษาที่ดี และได้ผลนั้น พ่อแม่ควรใช้ภาษาทางสายตา เวลาพูดกับลูกด้วย เพราะจะช่วยให้ลูกเข้าใจในสิ่งที่เราต้องการสื่อสารมากขึ้น
5. ย้ำพูดย้ำทำ
การที่พ่อแม่พูดคำใดคำหนึ่งซ้ำบ่อยครั้ง แน่นอนว่า ลูกจะสามารถซึมซับ และเรียนคำเหล่านั้นได้แน่นอน แต่น้ำเสียงนั้น อย่าดุดัน หรือซีเรียสเพื่อบังคับให้ลูกได้ในทันที มิเช่นนั้น นอกจากจะไม่มีประโยชน์แล้ว อาจกระทบจิตใจของลูกด้วย
6. ให้โอกาสลูก
หลังจากที่พ่อแม่สอนให้ลูกหัดพูดด้วยเทคนิคต่าง ๆ แล้ว ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ พ่อแม่ต้องให้โอกาสลูก และให้เวลาเขาในการเรียนรู้ด้วย ไม่ใช่สอนเขาเดี๋ยวนั้น แล้วลูกต้องทำได้ พูดได้ทันที แต่กลับต้องค่อยเป็นค่อยไป เพราะเด็กต้องการเวลาในการปรับตัว และเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ดังนั้นเมื่อพ่อแม่พูดแล้ว ต้องให้เวลาเขาสักพักในการพูดตาม หรือตอบกลับ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : ความผิดปกติของการพูด วิธีสังเกตพฤติกรรมการพูดของลูกว่าแบบไหนผิดปกติ?
7. สั้น กระชับ ได้ใจความ
โดยธรรมชาติของเด็กที่มีอายุไม่เกิน 3 ขวบ นั้น ไม่สามารถพูดได้เป็นประโยคเหมือนผู้ใหญ่ พวกเขาพูดได้เพียงเป็นคำ ๆ ซึ่งบางทีอาจจะฟังไม่ค่อยรู้เรื่องเสียด้วยซ้ำไป
ดังนั้นสิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือ เมื่อเขาพูดอะไรออกมา ลองถามเขาดูแล้ว เมื่อเราเข้าใจภาษาของเขามากขึ้นก็ชวนคุยต่อ วิธีนี้จะยิ่งทำให้ลูกกล้าพูดแล้วพูดเก่งขึ้นแน่นอน
8. สอนโดยการลงมือทำ
ศัพท์บางคำ เด็กอาจจะไม่เข้าใจความหมาย หรือสิ่งที่พ่อแม่พยายามจะอธิบาย ดังนั้นการสอนพร้อมกับสิ่งที่เขาสามารถสัมผัสได้ เช่น เรื่องกลิ่น เรื่องความรู้สึกร้อน หนาว เย็น รวมไปถึงกิริยาท่าทางต่าง ๆ พ่อแม่ก็สามารถทำให้เขาดูได้เพื่อง่ายต่อความเข้าใจมากขึ้น
9. นิทานแสนสนุก
นิทานที่อ่านง่าย และสนุกก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับครอบครัวที่กำลังมีลูกวัยซน แต่นิทานแต่ละเล่มนั้น ก่อนที่จะซื้อ พ่อแม่ควรคำนึงก่อนว่า ลูกอายุเท่าไหร่ วัยของเขาสนใจภาพมากน้อยแค่ไหน เพราะถ้ายังเล็กมาก พ่อแม่ก็ควรซื้อนิทานที่เน้นภาพ เน้นสี ไม่ใช่เนื้อหา ซึ่งนิทานนี้เองที่จะกระตุ้นพัฒนาการของเขาได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังสร้างนิสัยรักการอ่านให้ลูกอีกด้วย
10. เล่นเกมเชิงบวก
หากลูกอยู่ในวัย 2 ขวบ ขึ้นไป พ่อแม่อาจหากิจกรรมหรือว่าเกม เล่นกับลูก ซึ่งระยะเวลาที่เล่นด้วยกันพ่อ แม่ ลูกนั้น เขาจะเรียนรู้ภาษาจากพ่อแม่ และเข้าใจภาษานั้นง่ายขึ้นตามลำดับ
11. เลี่ยงทีวีเป็นเพื่อน
ข้อห้ามเด็ดขาดสำหรับครอบครัวที่มีเด็กเล็กทั้งหลาย นั้นคือ ห้ามให้ทีวีอยู่เป็นเพื่อนลูก เพราะที่ผ่านมา หลายครอบครัวต้องเจอปัญหาลูกไม่ยอมพูดเพราะดูแต่ทีวี
ในเรื่องนี้ ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า สาเหตุเป็นเพราะการที่เด็กดูโทรทัศน์นั้น เป็นการสื่อสารเพียงช่องทางเดียว เด็กได้แต่ดูและฟัง ไม่ได้พูดตอบโต้ ดังนั้นพ่อแม่ควรให้ลูกออกห่างจากทีวี และอยู่เป็นเพื่อนลูก ชวนเขาคุยจะดีกว่า
12. หยุด..เพื่อสอนลูก
ท้ายสุดนี้ พ่อแม่หลายคน อาจมองข้ามสิ่งสำคัญไปอีกหนึ่งประการนั่นคือ ทุกครั้งที่พาลูกไปเที่ยวเปิดหูเปิดตานอกบ้าน ลูก ๆ จะตื่นตาตื่นใจ กับสิ่งแปลกใหม่รอบตัว แต่พ่อแม่กลับไม่ใช้โอกาสนั้นสอนเขาว่า มันคืออะไร เรียกว่าอะไร
ดังนั้น หากพาลูกไปไหนก็ตาม หยุดเดิน หรือชะลอความเร็วรถสักนิด เพื่อบอกเขาว่า สิ่งที่เขาสงสัยนั้นคืออะไร เรียกว่าอะไร แต่ที่สุดแล้ว ก่อนที่จะหยุดเดิน หรือหยุดรถก็ควรมองซ้าย มองขวาให้ดีเสียก่อนเพื่อความปลอดภัย
ที่มา : (A) , (islammore)