ภาวะรกเกาะต่ำ ทำให้แม่ถูกตัดข้อเท้าหลังผ่าคลอด

จู่ ๆ เมื่อเธอฟื้นขึ้นมาหลังผ่าคลอดลูก เธอถึงกับตกใจเมื่อรู้ว่าถูกตัดข้อเท้าทั้งสองข้างไป เนื่องจากภาวะรกเกาะต่ำ

เอลล่า คลาก คุณแม่วัย 31 ปี ต้องอยู่ในอาการขั้นโคม่านานถึงห้าวัน หลังจากผ่าตัดคลอดลูก แต่เนื่องจากเธอมีภาวะรกเกาะต่ำ ทำให้เธอต้องถูกตัดข้อเท้าทั้งสองข้างในที่สุด

เอลล่า คือคุณแม่ลูกเจ็ด ที่ไม่เคยกลัวการผ่าตัด เพราะเธอเคยผ่านประสบการณ์การคลอดลูกด้วยวิธีทางธรรมชาติมาแล้วหนึ่งครั้ง และผ่าคลอดลูกอีกจำนวนหกครั้ง และนี่คือครั้งที่เจ็ด ที่เธอไม่รู้สึกกลัวเลย เพราะเธอผ่านมาหมดแล้ว แต่สิ่งที่เธอกังวลนั่นก็คือ “ภาวะรกเกาะต่ำ” นั่นเอง

ซึ่งในขณะที่เธอกำลังผ่าตัดคลอด วินเทอร์ โรส ลูกสาวคนเล็กอยู่นั้น ก็เกิดสิ่งไม่คาดคิดเกิดขึ้น เมื่อการผ่าตัดไม่ราบรื่นอย่างที่คิด เพราะภาวะรกเกาะต่ำ ทำให้รกของเธอเกาะติดกับผนังโพรงมดลูก และนั่นเป็นสาเหตุทำให้เธอต้องสูญเสียเลือดเป็นจำนวนมากถึงหกลิตร!!

หมอต้องทำการผ่าตัดมดลูกของ เอลล่า เพื่อเป็นการช่วยชีวิตเธอไว้ อาการของ เอลล่า กำลังอยู่ในขั้นโคม่า เพราะเลือดของเธอกลับไปอุดตันอยู่ที่ข้อเท้าทั้งสองข้าง ทำให้หมอต้องตัดสินใจตัดข้อเท้าทั้งสองข้างของเธอในที่สุด

เอลล่า สลบไปนานถึงห้าวัน และเมื่อเธอฟื้นขึ้นมาก็ต้องพบว่า เธอไม่มีเท้าอีกต่อไปแล้ว “มันเป็นอะไรที่เลวร้ายสำหรับฉันมาก สิ่งที่ฉันกลัวและกังวลที่สุดไม่ใช่การสูญเสียข้อเท้าของฉันไป แต่ฉันกลัวว่าลูก ๆ ของฉันจะกลัวและรับไม่ได้มากกว่า”

ที่มา : huffpost.com

แต่โชคดีที่ลูก ๆ ทุกคนรวมถึงสามีและสมาชิกในครอบครัวเข้าใจ และเป็นขาให้กับเธอ ทำให้ เอลล่า สามารถผ่านพ้นวิกฤตในวันนั้นมาได้

 

ภาวะรกเกาะต่ำคืออะไร?

ในสตรีตั้งครรภ์ปกติทั่วไป รกจะเกาะอยู่บริเวณส่วนบนของมดลูก หากรกมาเกาะบริเวณส่วนล่างของมดลูก และ/หรือ คลุมมาถึงด้านในของปากมดลูก เรียกว่า “ภาวะรกเกาะต่า” ซึ่งเป็นภาวะที่ไม่ปกติ ทั้งนี้กลไกการเกิดภาวะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่า อาจเกิดจากบริเวณส่วนบนของมดลูกที่เป็นที่เกาะปกติ เกิดมีความไม่เหมาะสม รกเลยหาที่เกาะที่สมบูรณ์กว่า หรือในบางกรณีเกิดจากรกมีการแผ่ขยายมากกว่าปกติ ทำให้คลุมมาถึงด้าน ล่างของมดลูก

อนึ่ง เมื่อกล้ามเนื้อมดลูกบีบตัว จะทำให้มีการหดและยืดขยายของกล้ามเนื้อมดลูกส่วนล่างด้วย จะทำให้เกิดการลอกตัวของรกจากผนังมดลูก (รกลอกตัวก่อนกำหนด) จึงทำให้หลอดเลือดในบริเวณที่รกลอกตัวนั้นฉีกขาด ทำให้เกิดเลือดออก (เห็นได้จากการมีเลือดออกทางช่องคลอด) ได้ในตำแหน่งที่รกลอกตัว ประกอบกับกล้ามเนื้อส่วนล่างของมดลูกเป็นส่วนที่หดรัดตัวไม่ดี จึงทำให้เลือดออกได้ง่าย

 

รกเกาะติดคืออะไร?

หมายถึง ภาวะผิดปกติที่รกเกาะติดกับผนังโพรงมดลูก เกิดขึ้นได้สามลักษณะ ลักษณะแรก รกเกาะที่ชั้นกล้ามเนื้อของมดลุก เรียกว่า Placenta Accreta พบได้ร้อยละ 75-78 ของทั้งหมด ชนิดที่สอง รกเกาะเลยชั้นกล้ามเนื้อของมดลูกไป เรียกว่า Placenta Increta พบได้ร้อยละ 17 ชนิดที่สาม รกเกาะทะลุผนังมดลูกออก เรียกว่า Placenta Percreta ความผิดปกติของรกที่เกาะติดกับผนังโพรงมดลูกพบได้ระหว่าง 1 ใน 540 ถึง 1 ใน 70,000 การตั้งครรภ์ และพบมากขึ้นในกลุ่มที่เคยได้รับการทำคลอดโดยการผ่าตัดหน้าท้องมาก่อน

รกที่เกาะผิดปกติ จะทำให้การหลุดลอกออกจากผนังโพรงมดลูกเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพเนื่อง จากการบีบรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูกไม่เต็มที่ เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะเลือดออกภายหลังคลอดบุตร และเป็นสาเหตุที่ทำให้มารดาเสียชีวิต ทั้งนี้พบว่าชิ้นส่วนของรกที่ตกค้างทำให้ปัญหาดังกล่าวลุกลามเป็นมากขึ้น จนทำให้ผู้ป่วยเสียเลือดจำนวนมาก เรียกว่าการตกเลือดทันทีภายหลังคลอด และเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตจากการคลอด

ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของภาวะ Placenta Accreta มีหลายอย่าง เช่น ภาวะรกเกาะต่ำ หรือที่เรียกว่า Placenta Previa โดยจากสถิติพบว่า Placenta Accreta พบได้ร้อยละ 10 ของผู้ป่วยที่มีรกเกาะต่ำ ในกรณีที่ไม่มีภาวะรกเกาะต่ำ จะพบภาวะ Placenta Accreta ได้น้อยมาก ส่วนปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ได้แก่ การผ่าท้องคลอดทางหน้าท้อง มารดาที่อายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป รกเกาะที่ตำแหน่งภายในโพรงมดลูกที่เป็นแผลเป็นจากการขูดมดลูก หรือในรายที่เคยผ่าตัดโพรงมดลูกมาก่อน เป็นต้น

 

ที่มา: Huffington Post , หาหมอ และ Bangkokhealth

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:

ภาวะรกเกาะต่ำขณะตั้งครรภ์คืออะไร อันตรายแค่ไหน

5 อาการแทรกซ้อนแบบนี้ไม่ดีแน่แม่ท้องต้องระวัง

โรคตอนท้องมีอะไรบ้าง? ลูกจะเป็นอะไรมั๊ย จะรักษายังไงดี?

บทความโดย

Muninth