เทคนิคนวดเต้าก่อนคลอด เตรียมพร้อมก่อนให้นมแม่

ในช่วงไตรมาสสุดท้าย ว่าที่คุณแม่ที่กำลังนับถอยหลังรอพบหน้าลูกน้อย นอกจากจะเตรียมข้าวของเครื่องใช้เด็กอ่อนแล้วยังสามารถเตรียมเต้านมก่อนคลอดให้พร้อมผลิตน้ำนมที่มีคุณภาพและปริมาณเพียงพอด้วยการนวดเต้านม

ศ. (คลินิก) นพ.สุวชัย อินทรประเสริฐ แนะนำการนวดเต้านมก่อนคลอดซึ่งจะช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น คุณแม่สามารถทำเองได้ ไม่เจ็บ และไม่เป็นอันตราย ตามวิธีต่อไปนี้ค่ะ

  1. ใช้ลาโนลินครีม (lanolin cream) ทาลงมือฝ่ามือ
  2. ใช้มือทั้งสองข้างประสานกันวางบนส่วนบนของหน้าอกด้านซ้ายก่อน
  3. ค่อยๆ นวดเต้านมโดยเลื่อนลงมาจนถึงส่วนล่างของเต้านม
  4. ทำซ้ำ 5 ครั้ง จากนั้นเปลี่ยนมาทำข้างขวาแบบเดียวกัน
  5. ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้จับคลึงหัวนมเบาๆ 4-5 ครั้ง
  6. ดึงหัวนมให้ยืดออกมาเล็กน้อย จะทำให้หัวนมแข็งแรง
  7. เสร็จแล้วใช้ครีมบำรุงผิวที่เราทาผิวอยู่ประจำ ทาบริเวณหัวนมและรอบๆ ด้วย
  8. ควรทำทุกวันเป็นประจำ

การนวดเต้านมก่อนคลอดและคลึงหัวนมตามที่คุณหมอได้แนะนำนี้ ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด และไม่ทำให้มดลูกหดตัว จนเกิดอาการเจ็บท้องคลอดก่อนกำหนดอย่างที่อาจเคยได้ยินมา ดังนั้นคุณแม่ไม่ต้องเป็นกังวลนะคะ

เมื่อทำเป็นประจำ เลือดจะมาหล่อเลี้ยงบริเวณเต้านมมาก ต่อมสร้างน้ำนมก็จะเริ่มทำงาน คุณแม่อาจเริ่มมีน้ำนมซึมในช่วงเดือนสุดท้ายก่อนคลอด ทั้งนี้คุณแม่ควรบีบน้ำนมออกวันละ 2-3 หยดทุกวัน เพื่อเป็นการเปิดท่อน้ำนม ไม่ให้เกิดการอุดตัน ซึ่งจะช่วยลดการคั่งของน้ำนมหรือการคัดเต้านมในสัปดาห์แรกหลังคลอดได้

น้ำนมที่ออกมาในช่วงก่อนคลอดนี้ ไม่ใช่น้ำนมเหลือง (colostrum) ที่ออกมาในช่วง 2-3 วันแรกหลังคลอดแต่อย่างใด คุณแม่ไม่ต้องเป็นกังวลว่าจะบีบน้ำนมส่วนที่ดีที่สุดออกไป เพราะน้ำนมนี้จะมีลักษณะใสกว่า ถึงแม้จะบีบทิ้งไปบ้าง แต่เมื่อคลอดลูกแล้ว น้ำนมเหลืองก็ยังคงมีเต็มที่ตามปกติ

วิธีการบีบน้ำนม เพื่อเปิดท่อน้ำนม

คุณหมอได้แนะนำวิธีการบีบน้ำนมไว้ดังนี้

  1. ใช้มือข้างที่ไม่ถนัดจับเต้านมไว้ในอุ้งมือ ใช้มือข้างที่ถนัดจับบริเวณลานนม ที่เป็นสีน้ำตาลรอบหัวนม โดยนิ้วหัวแม่มืออยู่ด้านบน นิ้วชี้อยู่ด้านล่างตรงขอบสีน้ำตาล
  2. บีบนิ้วทั้งสองเข้าหากัน อย่าให้ถึงหัวนม
  3. ค่อยๆ หมุนนิ้วมือและบีบไปรอบๆ ให้ทั่ว เพราะท่อน้ำนมกระจายเป็นรัศมีรอบๆ หัวนม

หวังว่าเทคนิคที่นำมาฝากนี้จะช่วยให้คุณแม่ในการเตรียมเต้านมก่อนคลอด เพื่อให้มีน้ำนมพร้อมสำหรับลูกน้อย และสามารถให้นมแม่ได้สำเร็จดังที่ตั้งใจนะคะ

ที่มา หนังสือคู่มือตั้งครรภ์และเตรียมคลอด โดย ศ. (คลินิก) นพ.สุวชัย อินทรประเสริฐ

บทความที่น่าสนใจอื่นๆ

ทำไมเด็กแรกเกิดต้องการนมแม่เร็วที่สุด?

6 เรื่องที่คุณต้องรู้ เมื่อตั้งใจจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่