คุณแม่ตั้งครรภ์ควร เตรียมพร้อมรับมือกับความเครียด ซึ่งจะอาจจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ เพื่อไม่ให้เกิดการแท้ง เรามาดูการ เตรียมพร้อมรับมือกับความเครียด กันค่ะ
คนท้องชอบเครียดเป็นเพราะอะไร
สาเหตุของความเครียด
- อาการของการตั้งครรภ์ เช่น คลื่นไส้อาเจียน ปัสสาวะบ่อย ปวดหลัง เป็นต้น คุณแม่ไม่ต้องกังวล เนื่องจากอาการดังกล่าวจะเป็นช่วงสั้นๆเท่านั้น พอย่างเข้าสู่การตั้งครรภ์เดือนที่สี่อาการดังกล่าวก็จะหายไป
- การเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมน ทำให้อารมณ์ผันผวน คุณแม่ต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลง และพยายามอย่าใส่ใจให้มาก
- ความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพเด็ก การเลี้ยงดู การเป็นพ่อแม่ที่ดี
- ความกังวลเกี่ยวกับการเงิน การงาน คุณแม่ต้องอย่ากังวลเกินกว่าเหตุ ควรปรึกษาผู้ที่มีประสบการณ์จะได้ข้อมูลที่ดี
ความเครียดส่งผลอะไรกับเด็กในครรภ์
ลูกน้อยสามารถรับรู้ถึงอารมณ์ต่างๆ ของคุณแม่ได้จากสารเคมีที่แม่หลั่งออกมาในกระแสเลือด หากแม่ตั้งครรภ์อารมณ์ดี ร่างกายก็จะหลั่งสารแห่งความสุขหรือสารเอ็นโดรฟินออกมา ทำให้ลูกเติบโตมีพัฒนาการที่ดี แต่หากคุณแม่ตั้งครรภ์รู้สึกเครียด โกรธ หงุดหงิด กระทั่งหวาดกลัว ร่างกายแม่จะหลั่งสารแห่งความเครียดหรือสารอะดรีนาลิน ส่งผ่านความรู้สึกไปยังลูก และแน่นอนว่าลูกรู้สึกเครียดตามไปด้วย ส่งผลต่อพัฒนาการให้ล่าช้าได้ยิ่งเครียดมากและรู้สึกแบบนี้บ่อยๆ อาจทำให้เกิดผลเสียหลายอย่างกับลูก
- น้ำหนักตัวน้อยเมื่อแรกคลอด
- เด็กคลอดก่อนกำหนด
- มีการเรียนรู้และปรับตัวได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น มีพื้นฐานทางอารมณ์ที่ไม่ค่อนดี
- อาจทำให้เป็นเด็กเลี้ยงยาก
- งอแง ขี้งอน โมโหง่าย ร้องไห้เก่ง และมีปัญหาอื่นๆ
ความเครียดส่งผลให้คุณแม่เป็นซึมเศร้าได้
ภาวะเครียดหรือซึมเศร้าทำให้ความสนใจต่อครรภ์ลดลง อาจทำให้คุณแม่เบื่ออาหาร หรือทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์หรืออาจทำให้คลอดก่อนกำหนดได้เพราะทำให้ลูกตัวเล็กกว่าปกติ พักผ่อนน้อยหรือมากจนเกินไปขาดการออกกำลังกาย ทำให้คุณแม่ร่างกายอ่อนแอ ลูกน้อยอาจกระทบหรือมีผลกับการพัฒนาสมองของทารกในครรภ์
อาการของโรคซึมเศร้า
- มีความกังวลมากกว่าปกติ
- ไม่มีสมาธิในกิจวัตรประจำวันที่ทำเป็นประจำ
- พฤติกรรมการนอนผิดปกติ เช่น นอนไม่หลับ หรือนอนมากจนเกินไป
- มีพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ กินมากหรือน้อยจนเกินไป หรือถึงขั้นเบื่ออาหาร
วิธีรับมือกับความเครียด
- ฟังเพลง
เสียงเพลงและเสียงดนตรี เป็นตัวช่วยอย่างดีที่จะทำให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลายและสบายใจมากขึ้น โดยให้เลือกเพลงที่มีจังหวะสนุกสนาน ฟังแล้วเพลิดเพลินมาเปิดฟังกันดู ส่วนเพลงไหนที่รู้สึกว่ายิ่งฟังยิ่งเครียดก็ตัดออกไปได้เลย
- อ่านหนังสือ
หากคุณแม่ชอบอ่านหนังสือจนเป็นชีวิตจิตใจอยู่แล้ว การอ่านหนังสือก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะลดความเครียดลงได้ เพราะขณะที่คุณแม่กำลังอินไปกับเรื่องที่อ่าน ก็จะลืมเรื่องราวที่ทำให้เครียดไปชั่วขณะหนึ่งนั่นเอง ไม่แน่นะหลังอ่านหนังสือเสร็จ เรื่องที่เคยเครียดอาจกลายเป็นเรื่องเล็กไปเลย
- เล่นโยคะ
เครียดมากแค่ไหน การเล่นโยคะก็จะช่วยผ่อนคลายความเครียดให้ลดน้อยลงไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ แต่จะต้องเลือกท่าโยคะที่เหมาะกับคนท้องด้วย เพื่อความปลอดภัยและให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดนั่นเอง และนอกจากโยคะแล้วการออกกำลังกายอย่างการเต้นแอโรบิค หรือเคลื่อนไหวร่างกายเบาๆ ก็ช่วยได้เช่นกัน
- เล่าให้ใครสักคนฟัง
บางครั้งการเล่าให้ใครสักคนฟัง ก็จะลดความเครียดได้ดีและทำให้รู้สึกสบายใจขึ้นเยอะ ดังนั้นหากคุณกำลังรู้สึกเครียดหนักมาก ลองเล่าให้สามี เพื่อนสนิท หรือคนที่ไว้ใจฟังดูสิ แล้วจะจัดการกับความเครียดได้ดีทีเดียว
- นั่งสมาธิ ฝึกจิต ลดเครียด
หากลองสังเกตตัวเองเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณรู้สึกเครียด จะเหมือนมีก้อนความคิดบางอย่างวิ่งอยู่ในหัวตลอดเวลา ซึ่งเมื่อมีความเครียดวิ่งวนอยู่ในหัวตลอดทำให้เราต้องคิดซ้ำไปซ้ำมาในเรื่องเครียดนั้นๆ เราจะจัดการแก้ปัญหากับมันอย่างไรดี การจมอยู่กับความเครียดอาจทำให้เราไม่อยากทำอย่างอื่นเลย ดังนั้น การแก้ปัญหาง่ายๆ เมื่อรู้สึกวิตกกังวลมากเกินไป ลองหาเวลาทำสมาธิ หรือสวดมนต์ไหว้พระ ฝึกลมหายใจ ลองกำหนดลมหายใจเข้า-ออกง่ายๆ ทำให้ชีพจรเต้นช้าลง
- ปรับเปลี่ยนความคิด
การจมอยู่กับความคิดใดความคิดหนึ่งมากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการเครียดโดยไม่รู้ตัวได้ หรือถ้าหากเราจมอยู่กับความวิตกกังวลมากๆ ก็กลายเป็นความเครียดสะสม ความเครียดที่เกิดขึ้นนั้นก็จะกลายเป็นสาเหตุของความทุกข์ใจ ในทางวิทยาศาสตร์พบว่าความคิดสัมพันธ์กับสมอง เมื่อคิดอย่างหนึ่งสมองก็จะตอบสนองไปตามนั้น หากเราตกอยู่ในภาวะเครียดเรื่องงาน สุขภาพ หรือเพื่อนร่วมงาน วิธีการคือให้เอาตัวเองออกจากความเครียดนี้ด้วยการลองปรับมุมมองปัญหาต่างๆ เอาตัวเองออกมายืนเป็นคนนอกดูบ้าง อาจทำให้เราเห็นสาเหตุของปัญหาและวิธีแก้ไขได้ง่ายกว่าการเอาตัวเองไปจมอยู่กับตรงนั้น หรือหากเรามองข้ามเรื่องเล็กน้อย และยอมรับข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นของงานหรือเพื่อนร่วมงาน อาจทำให้เราเข้าใจสถานการณ์ และหายเครียดได้เร็วขึ้น อีกทั้งยังน่าจะป้องกันตัวจากความทุกข์ต่างๆ ได้ดีอีกด้วย
- ออกไปดูธรรมชาติ
ไม่ว่าจะเป็น ต้นไม้ ใบไม้ ดอกไม้ เมื่อใดก็ตามที่เราทำงานหนัก หรือเริ่มรู้สึกเครียดกับปัญหามากจนเกินไป เพียงแค่ออกไปข้างนอกบ้าน ออกไปสัมผัสกับสีเขียวจากธรรมชาติ อย่างเช่นในสวนสาธารณะ เดินเล่นสักพัก นอนพักผ่อนบนสนามหญ้าสักหน่อย ก็จะช่วยทำให้ความตึงเครียดของเราลดน้อยลงได้อย่างแน่นอน หรือจะออกไปท่องเที่ยวชมธรรมชาติ ตามแบบฉบับท่องเที่ยวเชิงนิเวศกับครอบครัว นอกจากจะได้ความสนุกจนลืมความเครียดแล้ว ยังช่วยทำให้จิตใจเราผ่อนคลายและสงบลงได้อีกด้วย
สีห้องนอนช่วยผ่อนคลาย
- สีเขียว
สีเขียวให้ความรู้สึกร่มรื่น สบายตา ผ่อนคลาย ปลอดภัย กระตุ้นให้เกิดความหวังและความสมดุล พลังของสีเขียวสามารถทำให้ประสาทตาผ่อนคลาย และความดันโลหิตของเราลดลงได้ ทั้งยังช่วยผ่อนคลายระบบประสาท
เหมาะสำหรับ : ห้องโถง ห้องนอน ห้องนั่งเล่น
- สีน้ำเงิน
สีน้ำเงินเป็นสีแห่งความสุขุม เยือกเย็น แต่หนักแน่น และละเอียดรอบคอบ พลังของสีน้ำเงินช่วยให้ระบบหายใจของเราเกิดความสมดุลและแข็งแรงขึ้น ใช้ในการรักษาโรคความดันโลหิตสูง และคลายความเหงา อีกทั้งยังช่วยในการสร้างแรงบันดาลใจได้ดีอีกด้วย
เหมาะสำหรับ : ห้องทำงาน ห้องอ่านหนังสือ
- สีฟ้า
สีฟ้าให้ความรู้สึกสงบเยือกเย็น เป็นอิสระ ปลอดโปร่ง โล่งสบาย ช่วยให้ใจเย็นและระงับความกระวนกระวายในใจได้ดี พลังของสีฟ้ายังช่วยในการรักษาอาการของโรคปอด ลดอัตราการเผาผลาญพลังงาน รักษาอาการเจ็บคอ และทำให้ชีพจรของเราเต้นเป็นปกติ
เหมาะสำหรับ : ห้องน้ำ ห้องนอน ห้องนั่งเล่น
แท้งลูกเกิดซ้ำได้หรือไม่
คุณแม่บางคนแม้จะระมัดระวัง และดูแลตัวเองเป็นอย่างดี รวมถึงไปฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอ แถมได้รับการรักษาแล้วก็ยังแท้งอีก แสดงว่ามีสาเหตุมาจากความผิดปกติของทารกอย่างที่กล่าวไว้ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ไม่สามารถป้องกันได้ คุณแม่ก็อย่าเสียใจไปนะคะ ขอให้คิดว่า ก็ยังดีกว่าปล่อยให้ท้องต่อไปแล้วคลอดเด็กพิการออกมา ซึ่งจะทำให้คุณพ่อคุณแม่เสียใจมากขึ้นไปอีก ขอให้คุณแม่ทำใจให้สบาย พักผ่อนร่างกายให้แข็งแรง ระหว่างนี้ก็ให้คุมกำเนิดไปก่อนประมาณ 3 เดือน เพื่อรอให้อวัยวะภายในแข็งแรงดี ถึงตอนนั้นคุณแม่หลายคนคงเกิดความไม่มั่นใจและกลัวว่าจะแท้งอีก ขอตอบเลยว่าส่วนใหญ่จะไม่เกิดซ้ำอีก แต่หลังจากแท้งประมาณ 2-3 สัปดาห์ ก็ควรไปตรวจตามที่แพทย์นัด เพื่อจะได้แน่ใจว่าไม่มีสิ่งผิดปกติหลงเหลืออยู่จนเป็นอุปสรรคในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป
วิธีป้องกันการแท้ง
เนื่องจากการแท้งบุตรส่วนใหญ่มักเป็นการคัดเลือกทางธรรมชาติอย่างหนึ่ง ในกรณีที่ทารกผิดปกติจะมีการแท้งเกิดขึ้น ซึ่งทารกไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้ จะไม่สามารถป้องกันการแท้งได้ แต่สำหรับการแท้งที่หาสาเหตุและสามารถรักษาได้ เช่น เกิดภาวะปากมดลูกเปิด ก็รักษาด้วยการเย็บปากมดลูกเมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์ประมาณ 16-18 สัปดาห์, ขาดฮอร์โมนเพศก็ให้ฮอร์โมนเสริม ฯลฯ ก็สามารถป้องกันการแท้งได้ แต่ถ้าไม่พบสาเหตุก็จะทำให้การป้องกันการแท้งเป็นไปได้ยาก ส่วนวิธีการป้องกันการแท้งโดยทั่วไปแล้วแพทย์จะแนะนำว่า
- ให้รีบไปฝากครรภ์ในทันทีตั้งแต่รู้ว่ากำลังตั้งครรภ์
- รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอนพักผ่อนให้มาก ๆ
- รักษาสุขภาพจิตให้ดี ทำจิตใจให้เบิกบานแจ่มใส หลีกเลี่ยงความเครียด
- รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม แต่ไม่ควรอดอาหาร
- หลักเลี่ยงการทำงานหนัก ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมตามที่แพทย์แนะนำ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ทุกวัน โดยเฉพาะผักและผลไม้ควรจะรับประทานให้มากเป็นพิเศษ
- ไม่สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม
- ไม่รับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เช่น ของหวาน อาหารรสเผ็ด
- รับประทานกรดโฟลิกก่อนตั้งครรภ์ (วิตามินบี 9)
- งดการมีเพศสัมพันธ์ ในช่วงตั้งครรภ์อ่อน ๆ
- หากมีความผิดปกติต่าง ๆ เกิดขึ้นในช่วงการตั้งครรภ์ คุณแม่ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที
คุณแม่ควรหากิจกรรมทำเมื่อเกิดความเครียดเพื่อป้องกันไม่ให้ส่งผลกระทบต่อลูก เนื่องจากการที่คุณแม่เครียดจะส่งผลกับลูกโดยตรง จึงส่งผลทำให้เกิดการแท้งได้ และคุณแม่ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงของคุณแม่เอง และของลูกน้อยในครรภ์
ที่มา :
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง :
ปวดหลังระหว่างตั้งครรภ์ มีสาเหตุมาจากอะไร บรรเทาอาการปวดหลังได้อย่างไร
100 สิ่งแม่ท้องต้องรู้ ตอนที่ 91 เครื่องดื่ม ที่ทำให้คนท้องเสี่ยงแท้ง
4 ท่าโยคะสำหรับคนท้อง ช่วยเสริมทารกกลับหัว ให้อยู่ในท่าเตรียมคลอด