ทารกถ่ายวันละกี่ครั้ง เด็กทารกไม่ถ่ายได้กี่วัน สีอุจจาระของทารกบ่งบอกอะไร

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ทารกถ่ายวันละกี่ครั้ง ถ่ายแบบไหนผิดปกติ สีอุจจาระบ่งบอกอะไร เรามาดูกันค่ะ ว่า เด็กทารกควรถ่ายวันละกี่ครั้ง เด็กทารกไม่ถ่ายได้กี่วัน และสีอุจจาระแบบไหนบ่งบอกว่าลูกสุขภาพดี

ระบบขับถ่ายของทารกแรกเกิด

ทารกแรกเกิดมีระบบขับถ่ายที่ยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ เช่นเดียวกับอวัยวะอื่นๆ ของร่างกาย ดังนั้น การขับถ่ายของทารกจะแตกต่างจากผู้ใหญ่ มาทำความเข้าใจระบบขับถ่ายของทารกกัน

ลักษณะอุจจาระของทารก

  • สี: อุจจาระของทารกแรกเกิดจะมีสีดำหรือสีเขียวเข้ม หลังจากนั้น อุจจาระจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลืองปกติ
  • เนื้อ: อุจจาระของทารกจะมีลักษณะเป็นยางเหนียวหรือเหลว คล้ายกับครีม เนื่องจากทารกได้รับสารอาหารจากน้ำนมแม่หรือนมผง ซึ่งมีน้ำเป็นส่วนประกอบหลัก
  • กลิ่น: อุจจาระของทารกจะมีกลิ่นอ่อนๆ ไม่ค่อยเหม็น

 

ทารกถ่ายวันละกี่ครั้ง การขับถ่ายทารกตั้งแต่แรกเกิด-12เดือน

สิ่งทำให้คุณแม่เป็นกังวล มักจะเป็นเรื่องของการขับถ่ายของทารกแต่ละช่วงวัย เช่น ทารก 2 เดือน ถ่ายวันละกี่ครั้ง ทารก4เดือนถ่ายวันละกี่ครั้ง ทารก 6 เดือน ถ่ายกี่ครั้ง มาดูคำตอบกันว่า ทารกอุจจาระวันละกี่ครั้ง ถือว่า ปกติ

อายุ อุจจาระ/วัน
1-30 วัน 10 ครั้ง
1-4 เดือน 8-10ครั้ง
5-6 เดือน 2-5 ครั้ง
6-8 เดือน 2-5 ครั้ง
9-11 เดือน 2-5 ครั้ง
12 เดือน

ขึ้นไป

1-3 ครั้ง

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ทารกแรกเกิดถ่ายบ่อยแค่ไหน?

  • ทารกที่กินนมแม่ ทารกที่กินนมแม่จะถ่ายอุจจาระบ่อยมาก โดยทั่วไปแล้ว จะถ่าย 10-12 ครั้งต่อวัน ในช่วงสัปดาห์แรกของชีวิต สาเหตุที่ทารกถ่ายบ่อย เพราะน้ำนมแม่ย่อยง่าย ทารกดูดซึมสารอาหารได้เกือบทั้งหมด อุจจาระจึงมีกากน้อย มีน้ำมาก ทารกจึงถ่ายบ่อย
  • ทารกที่กินนมผง ทารกที่กินนมผงจะถ่ายอุจจาระ 1-4 ครั้งต่อวัน สาเหตุที่ทารกถ่ายน้อยกว่า เพราะนมผงย่อยยากกว่านมแม่ ทารกที่กินนมผงจึงถ่ายยากกว่าทารกที่กินนมแม่

ลูกน้อยถ่ายบ่อย ลูกน้อยไม่ถ่าย ปริมาณความถี่แบบไหน ถือว่าไม่ปกติ?

ในความเป็นจริงแล้ว ความถี่ในการขับถ่ายของเด็กทารก ไม่สามารถเป็นตัวชี้วัดของความผิดปกติได้เสมอไปค่ะ สิ่งที่จะบ่งชี้ได้ว่าการขับถ่ายของลูกน้อยผิดปกติไป จะต้องมีปัจจัยเหล่านี้ร่วมด้วยค่ะ อาทิ

  • อุจจาระของลูกน้อยที่กินนมแม่ไม่ใช่สีเหลือง แต่เป็นสีน้ำตาล สีเหลืองซีด สีเขียว หรือสีดำ
  • อุจจาระมีมูกเลือดปน
  • ลูกน้อยมีอาการถ่ายเหลวเป็นน้ำมากกว่า 1 วัน
  • ลูกน้อยถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์
  • ลูกน้อยถ่ายอุจจาระเป็นก้อนแข็ง
  • ลูกน้อยถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ

กรณีเหล่านี้ ถือว่าเป็นความผิดปกติของการขับถ่าย แม่ ๆ จำเป็นจะต้องสังเกตให้ดี หากลูกมีอาการเหล่านี้ควรพาลูกไปพบคุณหมอเพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาค่ะ

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

สีอุจจาระของทารกบ่งบอกอะไร

ทารกถ่ายวันละกี่ครั้ง

  • สีอุจจาระทารก สีเทา หรือขี้เทา

จะเกิดกับทารกที่เพิ่งเกิดได้เพียงไม่กี่วัน เกิดจากเมือก น้ำคร่ำ เซลล์ผิวหนังและสิ่งอื่น ๆ ที่ทารกบริโภคขณะอยู่ในครรภ์ ลักษณะหนืดและเหนียวคล้ายน้ำมันเครื่องรถยนต์และไม่ค่อยมีกลิ่น ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นปกติ และเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าลำไส้ของทารกทำงานได้ดี

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา
  • สีอุจจาระทารก สีดำ

หากทารกอุจจาระสีดำติดต่อกันหลังจาก 3 วันแรก ควรไปปรึกษากุมารแพทย์

  • สีอุจจาระทารก สีเหลืองทอง

เป็นสีอุจจาระของทารกที่ดื่มนมแม่ เมื่อทารกดื่มนมแม่อุจจาระของทารกจะมีสีเหลืองทอง ลักษณะจะเหมือนครีมเหลว ๆ เละ ๆ แต่กลิ่นจะไม่รุนแรง

  • สีอุจจาระทารก สีเขียว

อุจจาระเป็นน้ำที่มีสีเขียวกว่าปกติและถ่ายหลายครั้งต่อวัน อาจบ่งบอกได้ว่าลูกน้อยกำลังท้องเสีย มักเกิดขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอาหารหรือนมของลูกน้อย หรือบ่งบอกถึงอาการแพ้อาหารที่ทานเข้าไป และอาการท้องเสียอย่างรุนแรงอาจเป็นสัญญาณของปัญหาที่ร้ายแรงได้ เช่น ไวรัสหรือการติดเชื้อ หากทารกอุจจาระแล้วมีสีเขียวลักษณะเป็นฟอง อาจหมายความว่าแม่ให้นมแต่ละข้างกับทารกไม่นานพอ ทำให้ทารกกินน้ำนมส่วนหน้า (Foremilk) เยอะเกินไป

  • สีอุจจาระทารก สีเหลืองน้ำตาล

เป็นสีอุจจาระของทารกที่ดื่มนมผงสำหรับทารก เมื่อทารกกินนมผงจะทำให้อุจจาระออกมามีสีเหลืองปนน้ำตาล ลักษณะคล้ายเนยถั่วหรือแป้งเปียก และมีกลิ่นรุนแรงกว่าอุจจาระของทารกที่ดื่มนมแม่

  • สีอุจจาระทารก สีน้ำตาลหรือน้ำตาลเข้ม

เป็นสีอุจจาระของทารกที่กินอาหารแข็ง เมื่อผู้ปกครองเปลี่ยนอาหารของทารกเป็นอาหารแข็ง เช่น ข้าวหรือกล้วยบด จะทำให้อุจจาระเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาล หรือสีน้ำตาลเข้ม ลักษณะเหนียว ๆ เละ ๆ และกลิ่นแรงขึ้น

 

เด็กทารกไม่ถ่ายได้กี่วัน รู้ได้อย่างไรว่าทารกท้องผูก

ทารกแรกเกิด ไม่จำเป็นต้องถ่ายอุจจาระทุกวัน โดยเฉพาะทารกที่กินนมแม่ ทารกบางคนอาจใช้เวลา หลายวัน กว่าจะถ่ายอุจจาระ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ

  • ทารกที่กินนมแม่: ทารกที่กินนมแม่สามารถไม่ถ่ายอุจจาระได้ นานถึง 7 วัน โดยที่อุจจาระไม่แข็ง และยังถือว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้เป็นอาการท้องผูก สาเหตุที่ทารกถ่ายน้อย เพราะน้ำนมแม่ย่อยง่าย ทารกดูดซึมสารอาหารได้เกือบทั้งหมด จึงเหลือของเสียออกมาเป็นอุจจาระน้อย
  • ทารกที่กินนมผง: แม้ว่าทารกที่กินนมผงจะค่อนข้างถ่ายยากกว่าทารกที่กินนมแม่ ซึ่งทารกอาจไม่ถ่ายอุจจาระได้ นานถึง 3-4 วัน โดยที่อุจจาระไม่แข็งเป็นเม็ดคล้ายลูกกระสุน ก็ยังถือว่าเป็นเรื่องปกติ
  • ไม่ค่อยถ่าย ความถี่ในการขับถ่ายแต่ละวันของทารกนั้นไม่แน่นอน โดยเฉพาะในช่วงที่เพิ่งเริ่มหัดกินอาหารใหม่ ๆ อย่างไรก็ตาม หากสังเกตว่าทารกไม่ได้ขับถ่ายติดต่อกันนานกว่า 2-3 วัน อาจเป็นสัญญาณของอาการท้องผูกได้
  • ต้องออกแรงเบ่งอุจจาระ พ่อแม่ควรสังเกตว่าเด็กต้องออกแรงเบ่งอุจจาระมากกว่าปกติ หรือรู้สึกหงุดหงิดและร้องไห้เวลาขับถ่ายหรือไม่ หากมีอาการเหล่านี้ เด็กอาจประสบภาวะท้องผูกอยู่
  • มีเลือดปนอุจจาระ ทารกที่ท้องผูกอาจมีเลือดปนมากับอุจจาระได้ เนื่องจากผนังทวารหนักฉีกขาดจากการออกแรงเบ่งอุจจาระ
  • ไม่กินอาหาร ทารกจะไม่กินอาหารและมักรู้สึกอิ่มเร็ว เนื่องจากอึดอัดและไม่สบายท้องจากการไม่ได้ขับถ่ายของเสีย
  • ท้องแข็ง ลักษณะท้องของทารกจะตึง แน่น หรือแข็ง ซึ่งเป็นอาการท้องอืดที่เกิดขึ้นร่วมกับการมีท้องผูก

 

สาเหตุอาการท้องผูกของทารก

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

เด็กทารกควรถ่ายวันละกี่ครั้ง

ทารกอายุน้อยกว่า 6 เดือน

  • ปัญหาสุขภาพ
    หากทารกอายุน้อยกว่า 1 เดือนที่มีอาการท้องผูกควรได้รับการดูแลจากกุมารแพทย์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจเป็นอาการของภาวะลำไส้ใหญ่โป่งพองแต่กำเนิด (Hirschsprung’s Disease: HD) มีโอกาสเกิดขึ้นประมาณ 1 ใน 5,000 คน และจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
  • น้ำนม
    ส่วนใหญ่ทารกที่ดื่มนมแม่มักไม่เกิดปัญหาท้องผูก เนื่องจากน้ำนมแม่มีไขมันและโปรตีนที่ช่วยให้อุจจาระไม่แข็งตัว ส่งผลให้ขับถ่ายง่าย อย่างไรก็ตาม เด็กอาจถ่ายไม่ออก เนื่องจากแพ้โปรตีนในน้ำนมหรืออาหารบางอย่างที่คุณแม่รับประทานเข้าไปและไหลผ่านน้ำนมไปสู่ลูก
  • ลอดก่อนกำหนด
    ทารกคลอดก่อนกำหนดที่ท้องผูกจะมีอาการแย่กว่าเด็กทั่วไป เนื่องจากระบบย่อยอาหารยังเจริญไม่เต็มที่ ส่งผลให้อาหารที่รับประทานเข้าไปเคลื่อนผ่านทางเดินอาหารช้าและย่อยได้ไม่สมบูรณ์ อุจจาระจึงมีลักษณะแห้งและแข็ง

 

ทารกอายุ 6 เดือนขึ้นไป

  • นมชง
    เด็กที่ดื่มนมชงเพียงอย่างเดียวเสี่ยงเกิดท้องผูกได้มาก เนื่องจากนมชงมีส่วนผสมที่อาจทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานมากขึ้น ส่งผลให้อุจจาระเป็นก้อน นอกจากนี้ หากทารกแพ้โปรตีนในน้ำนมก็อาจเกิดอาการท้องผูกได้
  • อาหารต่าง ๆ
    ทารกอาจท้องผูกหลังเปลี่ยนจากการดื่มนมแม่มาเป็นการรับประทานอาหารอื่น ๆ เนื่องจากร่างกายไม่ได้รับของเหลวในปริมาณเท่าเดิม อีกทั้งอาหารบางอย่างมีเส้นใยต่ำ ทำให้เกิดอาการท้องผูกได้ง่าย
  • ภาวะขาดน้ำ
    หากทารกประสบภาวะขาดน้ำหรือได้รับน้ำไม่เพียงพอ ร่างกายจะดูดซึมน้ำจากอาหารที่กินเข้าไป รวมถึงน้ำจากกากของเสียในร่างกาย ส่งผลให้อุจจาระแห้งและแข็งจนขับถ่ายลำบาก
  • อาการป่วยและยา
    อาการท้องผูกในทารกอาจเกิดจากปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น ไฮโปไทรอยด์ โบทูลิซึม (Botulism) อาการแพ้อาหารบางชนิด โรคเกี่ยวกับระบบการเผาผลาญอาหาร เป็นต้น รวมถึงอาการป่วยอื่น ๆ ที่อาจส่งผลให้เด็กกินอาหารหรือดื่มน้ำน้อยลง ทำให้ระบบการทำงานของร่างกายผิดปกติและนำไปสู่ปัญหาท้องผูก นอกจากนี้ การใช้ยาระงับปวดชนิดเสพติดหรือธาตุเหล็กในปริมาณสูงก็ทำให้เกิดท้องผูกได้

 

สังเกตอาการท้องผูกลูกน้อยอย่างไร?

สิ่งที่สามารถสังเกตได้ง่ายๆ เลยคือ เมื่อลูกน้อยขับถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 2 ครั้ง ต่อ สัปดาห์ ซึ่งเป็นเวลามากกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป ที่สำคัญในขณะถ่าย เด็กจะเบ่งนาน และอาจมีอาการท้องอืด แน่นท้อง ในบางครั้ง ซึ่งถ้าหากปล่อยไว้นาน ลูกจะเริ่มมีอาการปวดบริเวณรูทวารหนัก ส่งผลให้อาจมีแผลปริแตกหรือบวม อุจจาระมีเลือด ในบางกรณีถ้าหากลูกต้องเบ่งอุจจาระที่มีขนาดใหญ่และแข็ง อาจทำให้ติ่งเนื้อที่ก้นฉีกขาดได้ ส่งผลให้เกิดอาการเรื้อรังตามมาค่ะ

และเมื่อเกิดอาการท้องผูกเรื้อรัง ลูกอาจจะมีพฤติกรรมแปลก ๆ อย่างเช่น พยายามกลั้นอุจจาระ ยืนเบ่ง ไม่กล้านั่งถ่าย เขย่งเท้า ขาเกร็ง หนีบก้นจนหน้าซีดเหงื่อออก หรือถ้าหากคุณแม่พยายามจับลูกให้นั่งถ่าย ลูกก็จะร้องไห้ต่อต้านไม่ยอมทำ ซึ่งหากปล่อยไว้นาน ๆ ปริมาณน้ำจะถูกดูดซึมออกจากอุจจาระมากขึ้น ทำให้อุจจาระมีลักษณะที่แข็งและเป็นก้อนใหญ่ ขับถ่ายลำบากกว่าเดิม ซึ่งอาจส่งผลให้ระบบประสาทรับรู้ความรู้สึกที่ผนังลำไส้ใหญ่ส่วนปลายเกิดการเสียหาย ทำให้ความรู้สึกอุจจาระก็จะลดลง ภาวะนี้จะต้องใช้เวลาค่อนข้างนานในการรักษาเพื่อทำให้กลับมาเป็นปกติค่ะ

 

ป้องกันไม่ให้ทารกท้องผูกได้อย่างไร

  • ปรับการกินอาหารของทารก

ทารกอายุน้อยกว่า 6 เดือน โดยทั่วไปแล้ว ทารกวัยนี้จะดื่มนมแม่เพียงอย่างเดียว ทำให้ไม่ค่อยมีอาการท้องผูก อย่างไรก็ตาม อาการท้องผูกอาจเกิดจากการแพ้อาหารที่แม่รับประทานเข้าไป คุณแม่ที่ให้นมบุตรจึงควรเลี่ยงอาหารที่ส่งผลต่อการขับถ่ายของลูก

ทารกอายุ 6 เดือนขึ้นไป ทารกวัยนี้เริ่มหัดกินอาหารอื่นร่วมกับนมแม่หรือนมชงได้แล้ว พ่อแม่จึงควรปรับการกินอาหารของทารกเพื่อป้องกันปัญหาท้องผูก ดังนี้

  • เปลี่ยนการให้นม ทารกที่ดื่มนมชงอาจแพ้ส่วนผสมบางอย่างของนมผง จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อเปลี่ยนยี่ห้อนมรวมทั้งสังเกตว่าเด็กแพ้ส่วนผสมใดในนมผง
  • เติมน้ำผลไม้ในนม น้ำผลไม้อาจบรรเทาอาการท้องผูกได้หากบริโภคในปริมาณเล็กน้อย โดยควรผสมน้ำแอปเปิ้ล น้ำลูกแพร์ หรือน้ำลูกพรุนลงไปในนมชงหรือน้ำนมแม่วันละประมาณ 30-60 มิลลิลิตร
  • เสริมใยอาหาร ทารกที่เพิ่งเริ่มกินอาหารอื่นควรเลี่ยงอาหารที่เสี่ยงทำให้ท้องผูก โดยควรลดข้าว กล้วย หรือเลี่ยงไม่ให้เด็กกินข้าวกับกล้วย เนื่องจากข้าวและกล้วยจับตัวเหนียวเป็นก้อนได้ง่าย ทำให้ร่างกายย่อยยาก อีกทั้งควรให้เด็กกินอาหารที่มีเส้นใยมากขึ้น เช่น บร็อคโคลี่ ลูกพรุน ลูกแพร์ แอปเปิ้ลแบบปอกเปลือก ธัญพืชที่ผ่านการปรุงสุก ขนมปังธัญพืชไม่ขัดสี เป็นต้น ทั้งนี้ หากทารกยังไม่ได้เปลี่ยนมากินอาหารอื่น อาจนำผักผลไม้มาบดละเอียดและให้เด็กกินแทนได้
  • ให้ดื่มน้ำเยอะขึ้น พ่อแม่ควรให้เด็กดื่มน้ำอย่างเพียงพอ เพราะน้ำเปล่าและนมจะช่วยให้ร่างกายของเด็กชุ่มชื้นและขับถ่ายอย่างสม่ำเสมอ และอาจให้เด็กดื่มน้ำลูกพรุนหรือน้ำลูกแพร์เพื่อกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ โดยควรผสมน้ำเปล่าเพื่อเจือจางความเข้มข้นของน้ำผลไม้ไม่ให้หวานจนเกินไป

 

อาการท้องเสียในเด็กทารก

ทารกถ่ายวันละกี่ครั้ง

 

ลูกน้อยขับถ่ายมากกว่าปกติและอุจจาระมีลักษณะเหลวผิดปกติ อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าทารกมีอาการท้องเสีย นอกจากนั้นอาจพบว่าอุจจาระมีมูกหรือเลือดปนออกมา หรือมีกลิ่นเหม็นผิดปกติด้วย ซึ่งแม้อาการท้องเสียในทารกจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ไม่น่ากังวลเท่าไหร่ แต่หากทารกท้องเสียต่อเนื่องเป็นเวลา 1-2 วัน ก็อาจทำให้ร่างกายเด็กสูญเสียของเหลวและเกลือแร่จำนวนมากจนอาจเกิดภาวะขาดน้ำตามมาได้ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของทารก

 

ทารกท้องเสียควรทำอย่างไร

อาการท้องเสียเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยขับเชื้อโรคออกจากร่างกาย จึงไม่ควรให้ทารกใช้ยาแก้ท้องเสีย อีกทั้งองค์การอาหารและยายังไม่มีการรับรองยาที่ใช้สำหรับทารกที่มีอาการท้องเสีย ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่อาจบรรเทาอาการและช่วยให้ลูกน้อยสบายตัวขึ้นได้โดยปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้

  • ให้ดื่มผงเกลือแร่ เพราะอาการท้องเสียอย่างรุนแรงจะทำให้ทารกสูญเสียของเหลวและเกลือแร่ในร่างกายไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลให้เกิดภาวะขาดน้ำตามมา หากลูกน้อยไม่มีอาการอาเจียนร่วมด้วย คุณแม่จะยังสามารถให้ทารกดื่มนมแม่หรือนมผงได้ตามปกติ แต่หากทารกอาเจียนและไม่สามารถดื่มนมได้ แพทย์อาจให้เด็กดื่มสารละลายอิเล็กโทรไลต์สำหรับทารก
  • งดของหวาน เช่นน้ำอัดลม น้ำผลไม้ รวมถึงเยลลี่หรือขนมหวานต่าง ๆ เป็นต้น เพราะน้ำตาลอาจทำให้อาการท้องเสียของทารกแย่ลงกว่าเดิม
  • เปลี่ยนผ้าอ้อมเป็นประจำ เพื่อลดการอับชื้นที่อาจเป็นเหตุให้ก้นของลูกน้อยเป็นผื่นและเกิดการระคายเคือง ทั้งยังช่วยลดอาการก้นแดงจากการท้องเสียอยู่บ่อยครั้ง
  • โอบกอดเบา ๆ บางครั้งอาการท้องเสียอาจทำให้ทารกไม่สบายตัวและงอแง ดังนั้นการกอดอาจช่วยให้เจ้าตัวน้อยงอแงน้อยลงได้

 

ที่มา : Pobpad,Pobpad,Phyathai, Enfababy

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง :

ลูกมีปัญหาเกี่ยวกับการย่อยอาหารจากการ แพ้นมวัว ทำไงดี?

การขับถ่ายของทารกแรกเกิด – 1 ปีต้องมีฉี่มีอึกี่ครั้งถึงเรียกว่า “ปกติ”

สีอุจจาระของลูก สีไหนปกติ สีไหนอันตรายกันนะ

บทความโดย

nantichaphothatanapongbow