เคล็ดลับสร้างสมองลูก ใน 1000 วันแรก ช่วยลูกฉลาด พัฒนาการสมวัย
เคล็ดลับสร้างสมองลูก ในช่วงเวลาทอง ช่วยลูกฉลาด สุขภาพดี พัฒนาการสมวัย ซึ่งกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้คำแนะนำว่า ในช่วง 2 ปีแรก หรือ 1,000 วันแรกของชีวิตนั้น เป็นช่วงเวลาทองที่สำคัญในการสร้างสมอง โดยเน้นที่การกิน กอด เล่น เล่า นอน เฝ้าดูฟัน ซึ่งจะช่วยให้เด็กไทยมีพัฒนาการที่ดี พร้อมเติบโตสมวัย แข็งแรง
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย ได้ให้คำแนะนำว่า ช่วงเวลาทองที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาสมองของเด็ก ก็คือช่วงตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิจนถึงอายุ 2 ปี เพราะโครงสร้างสมองจะมีการพัฒนาสูงสุด ทั้งการสร้างเซลล์สมองและการเชื่อมโยงระหว่างเซลล์สมองเกิดเป็นโครงข่ายใยประสาทนับล้านโครงข่าย และการที่เซลล์สมองมีการเชื่อมต่อกันนั้น จะทำให้เกิดการสื่อสารระหว่างเซลล์อย่างมีประสิทธิภาพ มีผลต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก ส่งผลต่อการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้
นอกจากนี้ การเตรียมความพร้อมของคุณแม่ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ระหว่างตั้งครรภ์ และหลังคลอด ก็เป็นเรื่องที่สำคัญซึ่งสามารถเป็นตัวกำหนดสุขภาพและโรคในอนาคตได้อีกด้วย
เคล็ดลับสร้างสมองลูก
- ก่อนตั้งครรภ์อย่างน้อย 12 สัปดาห์ ควรกินวิตามินธาตุเหล็กและกรดโฟลิก สัปดาห์ละ 1 เม็ด
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็กและโฟเลท เช่น ตับ เนื้อสัตว์ ผัก และผลไม้ เพื่อลดความเสี่ยงต่อความพิการแต่กำเนิด อีกทั้งยังมีส่วนสำคัญในการพัฒนาสมองและระบบประสาทของลูกด้วย
- ในระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอดไปจนกระทั่งเด็กอายุ 2 ปี ต้องให้ความสำคัญกับโภชนาการที่ดีตั้งแต่ช่วงแรกของชีวิต คือ ช่วงที่อยู่ในท้องแม่ ช่วงเด็กอายุ 0-6 เดือน ช่วงเด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี แม่ควรกินอาหารที่ดีมีประโยชน์ให้หลากหลายครบ 5 หมู่ เช่น ปลา ตับ ไข่ ผัก ผลไม้ และนมสดรสจืด และกินวิตามินบำรุงที่มีไอโอดีน เหล็ก และโฟลิกทุกวัน เพราะหากขาดไอโอดีนลูกน้อยสมองพัฒนาไม่สมบูรณ์ไอคิวต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
- ดูแลสุขภาพฟันและช่องปากในระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอด
- ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม
- นอนหลับวันละ 7-9 ชั่วโมงทุกวัน
หลังจากนั้นจะต้องเลี้ยงดูและพัฒนาทักษะของเด็กโดยกระบวนการกระตุ้นผ่านกิจวัตรประจำวัน ในรูปแบบกิน กอด เล่น เล่านอน เฝ้าดูฟัน
เคล็ดลับสร้างสมองลูก เรื่องของการกิน
- คุณแม่ควรให้ลูกได้กินนมแม่อย่างเดียวไปจนถึงถึง 6 เดือน และกินนมแม่ต่อเนื่องควบคู่กับอาหารตามวัย เน้นข้าว เนื้อสัตว์สลับตับ ไข่ ผัก ผลไม้ในปริมาณเพียงพอสัดส่วนเหมาะสมอาหารตามวัยบดละเอียดไปหยาบจนถึงอายุ 2 ปีขึ้นไป เพราะนมแม่มีสารอาหารที่สำคัญสำหรับการพัฒนาสมองซึ่งไม่มีอาหารใดเทียบได้
- เมื่อลูกอายุได้ 1-3 ปี ควรให้ลูกกินอาหารที่หลากหลายครบ 5 หมู่ ในปริมาณเพียงพอ ตามสัดส่วนที่เหมาะสม โดยเน้นกินปลา ตับ ไข่ นม
ทั้งนี้ เมื่อลูกเข้าสู่วัยเรียน พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องดูแลให้เด็กกินอาหารถูกหลักโภชนาการ จัดอาหารหลักให้เด็กกินให้ครบทั้ง 3 มื้อ ไม่เว้นมื้อใดมื้อหนึ่ง โดยเฉพาะมื้อเช้า เพราะจะทำให้เด็กความจำดี พัฒนาสมอง และควรจัดอาหารให้ เพียงพอกับความต้องการของร่างกายเด็ก โดยใน 1 วัน เด็กควรกินอาหารดังนี้
- ข้าว/แป้ง 8 ทัพพี
- ผัก 4 ทัพพี
- ผลไม้ 3 ส่วน
- เนื้อสัตว์ 6 ช้อนกินข้าว
- นม 2 แก้ว
เคล็ดลับสร้างสมองลูก เรื่องของการเล่น
- ตั้งแต่แรกเกิด คุณพ่อคุณแม่ควรพูดคุย เล่นส่งเสียง ร้องเพลงกับลูก
- ช่วงแรกเกิดไปจนถึงอายุ 6 เดือน ให้เลือกของเล่นที่มีเสียงและเป็นภาพ และเป็นของเล่นที่เด็กสามารถคว้าจับได้
- อายุ 6 เดือนถึง 1 ปี ให้ลูกได้นั่งเล่นของเล่น โดยของเล่นที่แนะนำก็อย่างเช่น บล็อกตัวต่อนิ่ม หรือลูกบอลเล็ก
- อายุ 2-3 ปี ให้ลูกเล่นรูปต่อเป็นภาพ หุ่นมือ ตุ๊กตา หรือกระโดดปีนป่าย
- เมื่อลูกมีอายุได้ 3-5 ปี ควรให้ลูกได้เล่นกับเด็กคนอื่น และได้ใช้จินตนาการเกี่ยวกับการดำรงชีวิต
เคล็ดลับสร้างสมองลูก เรื่องของการเล่า
- คุณพ่อคุณแม่สามารถเล่านิทานให้ลูกฟังได้ตั้งแต่ที่ลูกยังอยู่ในครรภ์ของคุณแม่
- คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มเล่านิทานให้ลูกฟังเป็นประจำทุกวันไปจนกระทั่งเด็กโต
- เลือกนิทานที่มีภาพน่ารัก หรือรูปสัตว์ต่าง ๆ
- ใช้เสียงสูง ต่ำ หรือร้องเพลงประกอบขณะเล่า
- ควรเล่าให้จบเล่ม และเก็บหนังสือไว้ที่เดิมให้ลูกมองเห็นได้
นอกจากนี้ แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย ได้ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า
- ควรฝึกลูกให้กินอาหารตรงเวลา ไม่กินจุบจิบ ไม่กินขนมก่อนอาหารมื้อหลัก
- ส่งเสริมให้เด็กออกกำลังกายชนิดที่มีแรงกระแทกของข้อ เช่น กระโดดเชือก กระโดดยาง กระโดดตบ เล่นบาสเก็ตบอล โดยทำต่อเนื่องไม่น้อยกว่าครั้งละ 10-15 นาที ทุกวัน วันละ 60 นาที หรือทำแบบสะสมเวลา ร่วมกับการนอนหลับสนิทอย่างน้อยวันละ 8-10 ชั่วโมง
- หลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการนอนหลับของลูก เช่น ไม่เล่นเกมก่อนนอน ไม่วางโทรศัพท์ไว้บนที่นอน หรือไม่เปิดทีวีทิ้งไว้ในห้องนอน เพื่อให้นอนหลับสนิท ซึ่งจะส่งผลต่อการหลั่งฮอร์โมนการเจริญเติบโต (Growth hormone) ที่สำคัญต่อการเจริญเติบโต การเพิ่มความสูง และควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ ให้เป็นไปอย่างปกติ
- พ่อแม่ควรกอดลูกทุกวันเพื่อให้เด็กรับรู้ว่าพ่อแม่รักและหวังดีเสมอ
- การอบรมเด็กต้องทำด้วยความรัก ความเข้าใจและใช้เหตุผล ไม่ใช้อารมณ์บังคับ ฝืนใจ ไม่ดุด่าให้ลูกกลัวและเสียกำลังใจ
- คอยให้คำแนะนำ พูดชมเชยและให้รางวัลถ้าลูกทำได้ดี ซึ่งรางวัลสำหรับเด็กเล็กเพียงแค่กอด หอมแก้ม ตบมือให้ เท่านี้เด็กก็ภูมิใจแล้ว
อีกทั้งปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการส่งเสริมให้ลูกฉลาด แข็งแรง เติบโตสมวัย ก็คือการเฝ้าดูแลสุขภาพช่องปากและฟันของลูกตั้งแต่ฟันซี่แรก เพราะหากลูกมีปัญหาฟันผุก็จะทำให้ลูกเกิดความเจ็บปวด การติดเชื้อ และปัญหาการบดเคี้ยวอาหาร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็กได้
การมีฟันผุหลายซี่ในปากยังมีความสัมพันธ์กับภาวะแคระแกร็นของเด็ก และเด็กที่มีฟันน้ำนมผุมากจะมีแนวโน้มว่า ฟันแท้จะผุมากขึ้นเช่นกัน หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที โรคจะลุกลามและสูญเสียฟันในที่สุด และอาการเจ็บปวดอาจทำให้ต้องหยุดเรียน ส่งผลกระทบต่อการเรียนด้วย
ที่มา : anamai.moph.go.th
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ลำดับการขึ้นของฟันลูก ฟันซี่แรกขึ้นตรงไหน ฟันน้ำนม ฟันแท้ขึ้นตอนไหน
ลูกหัวเบี้ยวทําไงดี อยากให้ลูกหัวทุยสวย ไม่เบี้ยว ไม่แบน ต้องทำอย่างไร
ลูกนอนไหลตาย เพราะอากาศร้อนเเละควันบุหรี่