โรคนิ่ว เป็นโรคที่เกิดจากการสะสมของแร่ธาตุ และเกลือแร่ต่าง ๆ แล้วเกิดการตกตะกอน จนเกิดเป็นก้อน ซึ่งโรคนิ่วสามารถเกิดได้ในหลายอวัยวะ โดยหนึ่งในอวัยวะที่พบได้บ่อย คือ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ บทความนี้จะพาไปดูสาเหตุ อาการ การรักษา และวิธีการป้องกันโรคนิ่วในกระเพาะอาหารกัน
นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ คืออะไร?
นิ่วในปัสสาวะ คือ ก้อนของสารหรือแร่ธาตุต่าง ๆ ที่เกิดตกตะกอนจากปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งเกิดจากการมีปัสสาวะตกค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งอาการและความรุนแรงของโรค จะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล เช่น อาการปวดท้อง ปัสสาวะมีเลือดปน
อย่างไรก็ตาม นิ่วที่มีขนาดเล็กจะถูกขับออกมาทางปัสสาวะ ไม่มีอาการใด ๆ และไม่ก่อให้เกิดผลเสีย แต่หากมีความผิดปกติ ผู้ป่วยบางรายจำเป็นต้องรับการรักษา ด้วยการรับประทานยาหรือการผ่าตัด เพราะหากปล่อยไว้ อาจทำให้เกิดอาการติดเชื้อและเกิดภาวะแทรกซ้อนได้
นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ เกิดจากอะไร?
นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ อาจมีสาเหตุความเสี่ยงมาจากหลายปัจจัย ดังนี้
-
ปริมาณของสารตกตะกอนในปัสสาวะสูง
อาจเกิดจากการดื่มน้ำน้อยเกินไป ทำให้ปัสสาวะมีความเข้มข้นของเกลือแร่มาก อาจเกิดจากการรับประทานอาหารบางประเภท ที่มีสารต่าง ๆ สูง เช่น เครื่องในสัตว์ อาหารเสริมแคลเซียม เป็นต้น หรือ เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีสารออกซาเลตสูงอย่างต่อเนื่อง
2. การตกค้างของปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะ
การตกค้างของปัสสาวะที่พบได้บ่อย คือ มีการอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ เช่น ท่อปัสสาวะตีบแคบ ต่อมลูกหมากโตในผู้ชาย หรือ เกิดจากโรคทางสมอง โรคทางประสาทที่ทำให้ปัสสาวะได้ไม่คล่อง เช่น โรคอัมพฤษ์อัมพาต
3. กระเพาะปัสสาวะมีการระคายเคือง
อาจเกิดจากอาการระคายเคืองต่าง ๆ เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรัง การใส่สายสวนปัสสาวะในผู้ป่วยอัมพาต หรือ มีโรคถุงในกระเพาะปัสสาวะ
4. มีนิ่วหลุดมาจากไตและสะสมในกระเพาะปัสสาวะ
อาจเกิดจากการมีนิ่วหลุดมาจากไต แล้วเกิดการสะสมจนมีขนาดใหญ่ขึ้นในกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งสาเหตุนี้จะพบนิ่วในไตร่วมด้วยเสมอ
อ่านเพิ่มเติม โรคนิ่ว คืออะไร? เป็นนิ่วเกิดจากอะไร สาเหตุและวิธีการป้องกัน
อาการของนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ป่วยมักไม่มีอาการแสดงออก แต่ในบางรายอาจพบอาการอื่น ๆ ดังนี้
- มีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง
- มีอาการปวดหลังเรื้อรัง
- ปัสสาวะผิดปกติ หรือ มีอาการขัดเบา เช่น ปัสสาวะกะปริดกะปรอย ปัสสาวะลำบาก ปวดแสบปวดร้อน ปัสสาวะบ่อยปัสสาวะออก กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปวดเบ่งคล้ายว่ายังถ่ายปัสสาะไม่สุด ปัสสาวะสะดุดและเป็นหยด
- ปัสสาวะเป็นเลือด หรือ มีสีน้ำตาล
- ปัสสาวะเป็นก้อนนิ่ว หรือ เม็ดกรวดทรายเล็ก ๆ
- ปัสสาวะขุ่นขาวเหมือนมีผงแป้งปนอยู่
หากก้อนนิ่วลงไปอุดกั้น อาจทำให้มีอาการปวดท้องน้อยมาก ปัสสาวะไม่ออก และมีปัสสาวะคั่งในกระเพาะปัสสาวะ และหากกระเพาะปัสสาวะอักเสบบ่อย จะทำให้มีอาการปวดท้องน้อย ปวดหลัง ปัสสาวะแสบ ปวดร้อนขณะปัสสาวะ มีไข้ ปวดเนื้อปวดตัว และอาจมีอาการปวดบริเวณข้อ
การรักษานิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
การรักษานิ่วในกระเพาะปัสสาวะ แพทย์จะเป็นผู้ให้คำแนะนำ ซึ่งเบื้องต้นสามารถทำได้ด้วยการดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อให้นิ่วถูกขับออกมาตามธรรมชาติ แต่อย่างไรก็ตาม นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ มักเกิดจากการที่กระเพาะปัสสาวะ ไม่สามารถขับปัสสาวะออกไปจนหมดได้ ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องเข้ารับการรัษา เพื่อนำนิ่วออกจากกระเพาะปัสสาวะให้หมด
วิธีที่แพทย์จะช่วยนำนิ่วออกจากกระเพาะปัสสาวะ เรียกว่า การขบนิ่ว (Cystolitholapaxy) ซึ่งเป็นการนำท่อขนาดเล็ก ที่มีกล้องอยู่บริเวณปลายท่อ สอดเข้าไปในท่อปัสสาวะเพื่อส่องดูนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ จากนั้นแพทย์จะทำการเลเซอร์ ทำการอัลตราซาวด์ หรือ ใช้เครื่องมือเพื่อเข้าไปสลายนิ่วให้แตก และเล็กลง จากนั้นจึงสามารถขับออกจากกระเพาะปัสสาวะได้ ซึ่งวิธีนี้จะทำให้เกิดภาวะแทรำซ้อนได้ยาก แต่อาจเกิดการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้ อาจมีอาการไข้ หรือ อาจเกิดการฉีกขาด และมีเลือดออกในกระเพาะปัสสาวะได้ ซึ่งแพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะเพื่อลดโอกาสของการติดเชื้อ
การป้องกันนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
การป้องกันนิ่วในกระเพาะปัสสาวะอาจทำได้ยาก เพราะมักเกิดจากสาเหตุอื่นมาก่อน แต่โดยปกติแล้ว สามารถลดโอกาสเสี่ยงของโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้ ดังนี้
- สังเกตความผิดปกติ ของอาการที่เกิดขึ้น เช่น ต่อมลูกหมากโตผิดปกติ การมีปัสสาวะติดค้างในกระเพาะปัสสาวะ อันมีสาเหตุมาจากโรคทางระบบประสาท หรือภาวะอื่น ๆ
- ดื่มน้ำให้มาก ๆ เนื่องจากน้ำ จะช่วยเจือจางแร่ธาตุ หรือ สารเข้มข้นอื่น ๆ ในกระเพาะปัสสาวะได้ โดยปริมาณน้ำที่ดื่ม จะต้องขึ้นอยู่กับอายุ น้ำหนัก สุขภาพ หรือ กิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน โดยผู้ป่วยสามารถปรึกษาแพทย์ เพื่อขอคำแนะนำในการดื่มน้ำได้
นิ่วในกระเพาะอาหาร อาจสังเกตได้ยาก และไม่ได้มีอาการที่ชัดเจนมากมาย แต่หากผู้ป่วยสงสัยว่าตนเองกำลังเป็นโรคนี้ ควรหมั่นสังเกตตัวเองให้ดี และไปปรึกษาแพทย์หากมีข้อสงสัย เพื่อการรักษาที่ทันท่วงที ลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้
ที่มา : pobpad.com , medthai.com
บทความที่น่าสนใจ
โรคนิ่วในไต สังเกตอย่างไร ป้องกันไว้ก่อนไตจะพัง อาการ และวิธีการป้องกัน
อาการนิ่วในถุงน้ำดี ทุกสิ่งที่คุณจำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับนิ่วในถุงน้ำดี
โรคนิ่ว ในเด็กเกิดได้อย่างไร และพ่อแม่ควรระวังลูกเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดี