ภาวะครรภ์เป็นพิษ อันตรายมากไหม อาการครรภ์เป็นพิษ ดูแลตัวเองอย่างไร

undefined

ลักษณะครรภ์เป็นพิษ ภาวะครรภ์เป็นพิษ มีลักษณะเป็นอย่างไร ครรภ์เป็นพิษอันตรายมากไหม อาการครรภ์เป็นพิษ เป็นอย่างไรบ้าง คนท้องที่มีอาการครรภ์เป็นพิษ ควรดูแลตัวเองอย่างไร เพื่อที่เราจะสามารถรับมือได้อย่างทันท่วงที

 

ครรภ์เป็นพิษ ครรภ์มีพิษ ภาวะครรภ์เป็นพิษ คืออะไร ?

ครรภ์เป็นพิษ (preeclampsia) คุณแม่หลาย ๆ คนมักจะเคยได้ยินถึงภาวะอันตรายนี้ แต่ในความเป็นจริง แม้ว่าภาวะครรภ์เป็นพิษจะอันตรายร้ายแรงแค่ไหนก็ตาม แต่กลับไม่ค่อยแสดงอาการออกมาให้เห็น หรือสังเกตได้ จนกว่าจะรู้ตัวก็อาจสายเกินแก้ไปเสียแล้ว

  • ครรภ์เป็นพิษเกิดจากความผิดปกติของการฝังตัวของรก บริเวณผนังมดลูก ทำให้ออกซิเจน และเลือด ไม่สามารถไหลไปหล่อเลี้ยงตัวอ่อนในครรภ์ได้อย่างเพียงพอ ส่งผลให้รกจะทำการหลั่งสารพิษบางอย่างเข้าสู่กระแสเลือดทีละน้อย จนเกิดผลกระทบต่อคุณแม่ และลูกน้อยในครรภ์ จนเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมาได้
  • เกิดจากภาวะโปรตีน หรือไข่ขาวรั่วออกมาปะปนอยู่ในปัสสาวะ
  • เกิดจากการทำงานของรกมีความผิดปกติ ทำให้เกิดสารบางชนิดที่มีผลอันตรายต่อร่างกาย จนกระตุ้นให้หลอดเลือดหดตัวอย่างรุนแรง จนเกิดภาวะความดันโลหิตสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท

 

ภาวะครรภ์เป็นพิษ อันตรายมากไหม อาการครรภ์เป็นพิษ ดูแลตัวเองอย่างไร

 

รกครรภ์ คืออะไรกันนะ?

รก หรือ รกครรภ์ เป็นอวัยวะชนิดหนึ่งที่จะพบได้ในเฉพาะหญิงที่กำลังตั้งครรภ์เท่านั้น โดยอวัยวะส่วนนี้จะทำหน้าที่คอยลำเลียงออกซิเจน และอาหารส่งไปยังทารกในท้อง เพราะฉะนั้น รกครรภ์ จึงถือได้ว่าเป็นอวัยวะที่พิเศษสำหรับคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์

 

ภาวะครรภ์เป็นพิษ อันตรายมากไหม อาการครรภ์เป็นพิษ ดูแลตัวเองอย่างไร

 

ลักษณะของ อาการครรภ์เป็นพิษ เป็นอย่างไร?

ส่วนใหญ่จะพบเมื่อมีการตั้งครรภ์ได้ 5 – 6 เดือนขึ้นไป จนกระทั่งหลังคลอด 1 สัปดาห์ แม้ว่าอาการครรภ์เป็นพิษจะสังเกตได้ยาก เนื่องจากความผิดปกติที่เกิดขึ้นนั้น ดูจะเป็นเรื่องปกติของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ทั่วไป แต่หากจะสังเกตแบบลงลึกเจาะจงดี ๆ จะเห็นได้ว่า หากตัวคุณแม่มีอาการต่าง ๆ เหล่านี้เกิดขึ้น ก็สามารถสันนิษฐานว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นภาวะครรภ์เป็นพิษได้ เช่น

  • น้ำหนักเพิ่มขึ้นเร็วผิดปกติ ซึ่งโดยปกติน้ำหนักของคุณแม่ตั้งครรภ์จะเพิ่มขึ้นเดือนละ 1.5 – 2 กิโลกรัม โดยเฉลี่ย
  • มีอาการบวม โดยเฉพาะบริเวณมือ เท้า หน้า และบริเวณรอบดวงตา
  • มีอาการปวดศีรษะมาก แม้ว่าทานยาแล้วก็ยังไม่ดีขึ้น โดยมีระดับความรุนแรงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะบริเวณท้ายทอย หน้าผาก
  • ตัวอ่อนในครรภ์มีอัตราการดิ้นน้อยลง ตัวเล็ก โตช้า ไม่เป็นไปตามเกณฑ์
  • ตรวจพบปริมาณโปรตีนในปัสสาวะมากกว่าปกติ
  • ความดันโลหิตสูง 140/90 มิลลิเมตรปรอท
  • ปวดหรือจุกเสียดแน่นบริเวณใต้ลิ้นปี่, บริเวณชายโครงด้านขวา, อาการปวดหลังส่วนล่าง, อาการปวดไหล่ ซึ่งมักจะปวดแบบเฉียบพลัน
  • เกิดการระคายเคืองระบบประสาทส่วนกลาง เช่น อาการบวมของสมอง, มีอาการตาพร่ามัว มองเห็นแสงเป็นจุด ๆ หรือเห็นแสงวูบวาบ หรือเห็นไฟกะพริบ
  • มีอาการคลื่นไส้อาเจียน หากเกิดอาการดังกล่าวเฉียบพลันหลังจากพ้นช่วงแพ้ท้องไปแล้ว ให้สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากภาวะครรภ์เป็นพิษ
  • ปัสสาวะลดลง หรือปัสสาวะไม่ออก
  • อาจมีการชัก หรือหมดสติ (อันตรายมาก)
  • บางรายมีอาการมีภาวะเม็ดเลือดแดงแตก เอนไซม์ตับขึ้นสูง และภาวะเกล็ดเลือดต่ำ

บทความที่เกี่ยวข้อง : รู้ทันครรภ์เป็นพิษ เรื่องที่คุณแม่ไม่ควรมองข้าม

 

 

ใครที่มีความเสี่ยงเป็น ภาวะครรภ์เป็นพิษ?

สำหรับสาเหตุของครรภ์เป็นพิษยังไม่แน่ชัดเท่าไหร่นัก ระยะเวลาและความรุนแรงของการเกิดโรคก็ไม่มีความแน่นอน ต้องรอให้อาการแสดงก่อนคุณหมอจึงจะวินิจฉัยได้

แต่มีการสันนิษฐานจากหลักฐานที่มีว่า อาการครรภ์เป็นพิษ เกิดจากที่รกสร้างโปรตีนชนิดหนึ่งซึ่งเมื่อเข้าสู่กระแสเลือดของคุณแม่จะทำให้เกิดความดันโลหิตสูง และเกิดเป็นภาวะครรภ์เป็นพิษได้ โดยผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง ที่ทำให้เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ ได้แก่

  • ผู้ที่มีกรรมพันธุ์ หรือคนในครอบครัวเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษมาก่อน
  • คุณแม่ตั้งครรภ์ในขณะอายุที่น้อยกว่า 20 ปี หรือมากกว่า 35 ปี
  • ผู้ที่มีโรคอ้วน เส้นเลือดไม่ค่อยดี ซึ่งโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นหลอดเลือดตีบได้ง่าย
  • ผู้ที่มีบุตรยาก
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์แฝด หรือตั้งครรภ์เด็กมากกว่า 1 คน
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์ครั้งแรก
  • ตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก คือ อาการที่เนื้อเยื่อรกมีมากผิดปกติ ทำให้มีอาการท้องโตเหมือนคนท้องแต่ไม่มีเด็ก เมื่อมีการลอกตัวออกมา จะมีเลือดออกทางช่องคลอดมีก้อนเล็ก ๆ คล้ายไข่ปลา
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไทรอยด์ แพ้ภูมิตนเอง(SLE) ฯลฯ

 

 

ภาวะครรภ์เป็นพิษ น่ากลัวแค่ไหน

ระดับความรุนแรงของครรภ์เป็นพิษ มีความรุนแรงหลายระดับโดยเริ่มตั้งแต่

  1. ครรภ์เป็นพิษระดับที่ไม่รุนแรง (Non  Severe Pre – Eclampsia) แม่ตั้งครรภ์จะมีความดันโลหิตสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท แต่ไม่เกิน 160/110 มิลลิเมตรปรอท ยังไม่พบภาวะแทรกซ้อน
  2. ครรภ์เป็นพิษระดับรุนแรง (Severe Pre – Eclampsia) แม่ตั้งครรภ์จะมีความดันโลหิตสูงกว่า 160/110 หรือตรวจพบความผิดปกติของอวัยวะต่าง ๆ เช่น ตับอักเสบ ไตทำงานลดลง เกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดแดงแตก ฯลฯ
  3. ครรภ์เป็นพิษระดับรุนแรงและมีภาวะชัก (Eclampsia) แม่ตั้งครรภ์จะมีอาการชัก เกร็ง หมดสติ อาจมีเลือดออกในสมอง ซึ่งหากอยู่ในระยะนี้ต้องรักษาโดยเร็วที่สุด เพราะอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

 

ครรภ์เป็นพิษ อันตรายต่อคนท้องอย่างไร อาการครรภ์เป็นพิษเริ่มแรกเป็นแบบไหน

 

อาการครรภ์เป็นพิษ กระทบต่อลูกในท้องอย่างไร

  • โรคหลอดเลือดสมอง
  • โรคลมชัก
  • เกิดน้ำในปอด
  • เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
  • มีเลือดออกจากตับ
  • สูญเสียการมองเห็น
  • ทารกในครรภ์เติบโตช้า
  • น้ำคร่ำน้อย ทำให้ทารกเติบโตผิดปกติ
  • ทารกคลอดก่อนกำหนด
  • มีภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด
  • ทารกเสียชีวิตในครรภ์

 

คนที่มีอาการครรภ์เป็นพิษควรทำอย่างไร

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  • อย่าปล่อยให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นจนมากเกินไป (ตามเกณฑ์ขึ้นเดือนละไม่เกิน 2 กิโลกรัม)
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่เค็มจัด
  • พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ
  • ไม่ควรทำอะไรที่เหนื่อยจนเกินไป
  • หลีกเลี่ยงการดื่มชา หรือกาแฟ
  • พยายามยกขาสูงเมื่อมีโอกาสเช่น ขณะนั่ง นอน
  • งดมีเพศสัมพันธ์ เพราะในระหว่างที่มีเพศสัมพันธ์อาจทำให้หัวใจเต้นสูง เกิดเป็นความดันสูงได้

 

อาการแบบไหนที่ควรมาพบแพทย์ด่วน

ในกรณีที่คุณแม่ได้รับการวินิจฉัยจากคุณหมอแล้วว่ามีอาการครรภ์เป็นพิษ คุณแม่ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด และคอยสังเกตอาการตัวเองอย่างต่อเนื่อง หากพบว่าตัวเองมีอาการเหล่านี้ให้รีบพบแพทย์โดยด่วน

  • มีความดันโลหิตที่สูงกว่าหรือเท่ากับ 160/110
  • ลูกดิ้นน้อยกว่าวันละ 10 ครั้ง
  • มีอาการน้ำเดิน หรือมีน้ำไหลออกจากช่องคลอด
  • มีอาการปวดหัวรุนแรง ตาพร่ามัว พร้อมกับจุกแน่นที่ลิ้นปี่

บทความที่เกี่ยวข้อง : ฟีเจอร์นับลูกดิ้น ที่คุณแม่ท้องไม่ควรพลาด จาก แอปพลิเคชัน theAsianparent

 

ภาวะครรภ์เป็นพิษ อันตรายมากไหม อาการครรภ์เป็นพิษ ดูแลตัวเองอย่างไร

 

การวินิจฉัยของโรคครรภ์เป็นพิษ

การวินิจฉัยของภาวะครรภ์เป็นพิษ แพทย์จะต้องตรวจความดันโลหิตก่อน เพราะภาวะความดันโลหิตสูงควบคู่กับอาการผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งหลังจากที่อายุครรภ์ 20 สัปดาห์เป็นต้นไป ด้วยวิธีการตรวจต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

 

  • การตรวจสุขภาพทั่วไป

เป็นการที่ซักประวัติทางการแพทย์ทั่วไปของผู้ป่วยเอง และครอบครัว ตรวจดูอาการผิดปกติเบื้องต้นก่อน เช่น มีปัญหาทางด้านสายตาหรือไม่ ปวดศีรษะอย่างต่อเนื่อง มีอาการที่ที่บ่งบอกว่าไตทำงานผิดปกติ โดยที่ภาวะของครรภ์เป็นพิษมักจะมีการตรวจพบได้ในขณะที่แพทย์นัดตรวจครรภ์ปกติ

 

  • การตรวจวัดระดับของความดันโลหิต

การที่ตรวจวัดความดันโลหิตจะทำให้ทราบว่าผู้ป่วยเข้าข่ายภาวะครรภ์เป็นพิษอยู่หรือไม่ โดยที่แพทย์อาจจะตรวจวัดอยู่หลายรอบ ซึ่งในแต่ละครั้งจะต้องทิ้งระยะห่างกันอย่างน้อย 3-4 ชั่วโมง หากวัดความดันโลหิตได้ตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป ก็อาจจะมีความเป็นไปได้สูงมาก ว่าผู้ป่วยจะมีภาวะครรภ์เป็นพิษ

 

  • การตรวจเลือด

จะช่วยให้แพทย์ทราบถึงการทำงานของตับ และไต

 

  • การตรวจปัสสาวะ

เป็นการตรวจปัสสาวะเพื่อตรวจหาโปรตีนและไข่ขาวในปัสสาวะ โดยที่ใช้แถบการตรวจปัสสาวะแบบจุ่มลงไปในปัสสาวะเพื่อทำการเทียบสี หากตรวจพบว่ามีโปรตีนในปัสสาวะ แพทย์จะทำการส่งตัวอย่างของปัสสาวะไปตรวจในห้องปฏิบัติการเพื่อที่จะทำการยืนยันผลอีกครั้ง

 

  • การตรวจสุขภาพของทารก

ตรวจสุขภาพของทารกที่อยู่ในครรภ์ โดยที่ดูอัตราการเต้นของหัวใจเมื่อทารกมีการเคลื่อนไหวหรือว่าดิ้นนั้นเอง ในบางกรณีอาจจะประเมินความสมบูรณ์ของทารกด้วยการอัลตราซาวนด์ดูปริมาณของน้ำคร่ำร่วมกับการหายใจ การขยับของกล้ามเนื้อ หรือการเคลื่อนไหวของทารกที่อยู่ภายในท้องของแม่ ๆ

บทความที่เกี่ยวข้อง : เสริมแคลเซียมของแม่ท้อง แหล่งแคลเซียมสำหรับคนท้อง เสริมแม่ท้อง!

 

ลักษณะครรภ์เป็นพิษ ครรภ์เป็นผิดอาการ

การรักษาของภาวะครรภ์เป็นพิษ

ภาวะของครรภ์เป็นพิษจะรักษาหายได้ก็ต่อเมื่อคลอดลูกออกมาเท่านั้น โดยที่อาการป่วยต่าง ๆ ก็จะค่อย ๆ ลดหายไปเองหลังจากที่คลอดลูกออกมาแล้ว แต่อย่างไรก็ตามแพทย์จะต้องพิจารณาในหลาย ๆ ปัจจัยก่อนที่จะทำคลอดด้วย เช่น ระยะเวลาของการตั้งครรภ์ สุขภาพของตัวคุณแม่ หรือความรุนแรงของอาการ

หากว่าคุณแม่มีอายุครรภ์น้อยแพทย์ก็อาจจะยังทำคลอดไม่ได้ในทันที จึงต้องดูแลกันอย่างใกล้ชิด และประคับประคองอาการจนกว่าใกล้ถึงระยะเวลาที่พร้อมจะคลอดได้อย่างที่ปลอดภัย แต่ว่าถ้าหากมีอายุครรภ์ที่ 37 สัปดาห์ขึ้นไป แพทย์จะแนะนำให้เร่งคลอดหรือผ่าคลอด เพื่อที่จะไม่ใช้ผู้ป่วยมีอาการที่แย่ลง และลดความเสี่ยงกับภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ อีกด้วย

หากแม่ท้องที่เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ เป้าหมายที่จะรักษาต้องคำนึงถึง 3 สิ่งต่อไปนี้คือ

 

  • การคลอด

ซึ่งอาจต้องพิจารณาถึงอายุครรภ์ร่วมด้วย ในกรณีที่ครรภ์เป็นพิษนั้นอยู่ในขั้นรุนแรง จำเป็นต้องพิจารณาให้คลอด ไม่ว่าอายุครรภ์จะมากน้อยเพียงใด ครบกำหนดหรือไม่ เพื่อรักษาชีวิตของมารดาเป็นสำคัญ สำหรับทารกที่อายุครรภ์ไม่ครบกำหนด อาจต้องมีการใช้ยาช่วยในการพัฒนาของปอดเพื่อให้ทารกสามารถหายใจได้เอง โดยพิจารณาเป็นราย ๆ

 

  • การให้ยาป้องกันการชัก

ภาวะชักเนื่องจากครรภ์เป็นพิษ เป็นภาวะที่รุนแรง สามารถทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ดังนั้นจึงต้องมีการให้ยากันชักในผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะครรภ์เป็นพิษขั้นรุนแรง (แต่ผลที่ได้จากการรับยา แมกนีเซียมซัลเฟต อาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกร้อนวูบวาบ, คลื่นไส้อาเจียน, ความดันโลหิตลดต่ำลง จึงจำเป็นต้องมีการวัดสัญญาณชีพผู้ป่วยเป็นระยะ ๆ หลังจากที่ให้ยาตัวนี้กับผู้ป่วย สำหรับผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตที่สูงมากก็อาจจำเป็นต้องพิจารณาให้ยาลดความดันโลหิตแก่ผู้ป่วย ซึ่งมีทั้งที่ให้ทางหลอดเลือดหรือการรับประทาน)

  • การให้ยาลดความดันโลหิต

สตรีมีครรภ์ที่พบว่ามีความเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษจะต้องได้รับการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยการตรวจความดันโลหิต ตรวจปัสสาวะ และตรวจอัลตราซาวนด์อย่างสม่ำเสมอ และในบางกรณีอาจต้องมีการใช้ยาช่วยลดความดันโลหิต เพื่อให้การตั้งครรภ์มีความปลอดภัยนานที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

แม่ตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงและได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด ได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้องร่วมกับขั้นตอนปฏิบัติที่ถูกวิธีสามารถป้องกันไม่ให้โรคนี้มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มารดาและทารกมีความปลอดภัยและสุขภาพที่ดีขึ้น นอกจากนี้การสามารถยืนยันได้ว่าสตรีมีครรภ์รายใดไม่มีความเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ จะช่วยให้แม่ท้องลดความกังวลใจ และตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลงได้

 

ป้องกันครรภ์เป็นพิษ

การฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่น ๆ ตรวจครรภ์อย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้แพทย์ตรวจคัดกรอง ค้นหาความเสี่ยงของการตั้งครรภ์ได้จากการตรวจและซักถามอาการผิดปกติต่าง ๆ เช่น

  • มีการซักประวัติของผู้ป่วยว่าตั้งครรภ์มาแล้วกี่ครั้ง
  • เคยมีภาวะครรภ์เป็นพิษในท้องก่อนหรือไม่
  • มีโรคประจำตัวใดบ้าง
  • มีการชั่งน้ำหนัก
  • วัดความดันโลหิต
  • ตรวจปัสสาวะเพื่อหาน้ำตาล และโปรตีนว่ามีรั่วออกมาหรือไม่
  • รวมถึงมีการตรวจวินิจฉัยทารกโดยวิธีอัลตราซาวนด์ เพื่อติดตามการเจริญเติบโตของทารก และทำการตรวจสุขภาพทารกในครรภ์ได้โดยการตรวจติดตามอัตราการเต้นของหัวใจทารก พร้อมกับตรวจการหดรัดตัวของมดลูก

เมื่อพบความผิดปกติที่มีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ แพทย์ก็จะได้ดำเนินการรักษา ซึ่งจะช่วยลดโอกาสการสูญเสียหรือทุพพลภาพของมารดาและทารกได้

บทความที่เกี่ยวข้อง : ฝากครรภ์ราคา เท่าไหร่ ต้องจ่ายอะไร ยังไงบ้าง 100 สิ่งแม่ท้องต้องรู้ ตอนที่ 37

 

ภาวะครรภ์เป็นพิษ อันตรายมากไหม อาการครรภ์เป็นพิษ ดูแลตัวเองอย่างไร

 

ครรภ์แฝดน้ำ คืออะไร อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่คุณแม่ต้องระวัง

ปัจจัยเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญที่คุณแม่ควรใส่ใจ และเฝ้าระวังมาก ๆ ส่วนใครที่ยังไม่รู้ว่าสาเหตุเหล่านี้เกิดจากอะไร หรือมีปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลทำให้เราต้องเกิดอาการเหล่านี้ มาดูกัน

ครรภ์แฝดน้ำ เรียกได้ว่าเป็นความผิดปกติชนิดหนึ่งที่เกิดในช่วงของการตั้งครรภ์ โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเหล่านี้ได้ อาจเนื่องมาจากที่คุณแม่มีปริมาณน้ำคร่ำในท้องมากจนเกินไป ซึ่งหากเราไม่รีบทำการรักษา หรือปล่อยไว้นานจนเกินไป สิ่งนี้อาจจะทำให้เป็นอันตรายต่อลูกในท้องและคลอดก่อนกำหนดได้เลย ซึ่งอาการเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วจะพบในคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ในช่วงอายุครรภ์ประมาณ 4 – 5 เดือนนั่นเอง โดยอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้

 

1. สาเหตุมาจากทารกในครรภ์

คุณแม่คนไหนที่กำลังตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ นั่นอาจกำลังบ่งบอกเราว่าลูกในท้องของเรามีอาการผิดปกติ เพราะฉะนั้นเราควรรีบทำการรักษาและขอคำแนะนำจากคุณหมอให้เร็วที่สุด ไม่อย่างนั้นลูกในท้องอาจเกิดมาเป็นเด็กพิการ ได้ง่าย ๆ

 

2. สาเหตุมาจากคุณแม่

อีกหนึ่งสาเหตุที่จะทำให้อาการเหล่านี้ได้ อาจเป็นเพราะว่าคุณแม่บางคนมีระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงจนเกินไป เพราะเมื่อไหร่ที่เราระดับน้ำตาลในเลือดสูง สิ่งนี้ก็จะส่งผลทำให้เราปัสสาวะบ่อย ที่สำคัญยังเสี่ยงต่อการเป็นภาวะครรภ์แฝดน้ำได้เช่นกัน

 

3. สาเหตุมาจากรกในครรภ์

ปัจจัยอีกหนึ่งอย่างที่ไม่ควรมองข้ามเป็นอย่างมาก นั่นคือรกในครรภ์ เพราะถ้าเมื่อไหร่ที่ภาวะครรภ์แฝดน้ำ เกิดจากรกในครรภ์ สิ่งนี้ก็จะส่งผลทำให้เกิดน้ำคร่ำในปริมาณที่มาก อีกทั้งยังทำให้เกิดเนื้องอกในรกได้ด้วย เพราะฉะนั้นคุณแม่ต้องระวัง

 

หลังจากที่เราได้พาคุณแม่มาทำความรู้จักกับครรภ์เป็นพิษ และครรภ์แฝดน้ำ กันแล้ว เชื่อว่าหลายคนอาจจะเข้าใจแล้วว่าสาเหตุที่ทำให้เรามีอาการเหล่านี้เกิดจากอะไรบ้าง ดังนั้นถ้าคุณแม่อยากให้ลูกในท้องของเราเติบโตมาเป็นเด็กที่แข็งแรงสมบูรณ์ การฝากครรภ์ ติดตามผลการเจริญเติบโต การนับอัตราการดิ้น รวมถึงการศึกษาหาข้อมูลต่าง ๆ โดยละเอียด จะทำให้คุณแม่ สามารถก้าวผ่านช่วงเวลาเหล่านี้ได้โดยง่าย และยังทำให้สุขภาพของตัวคุณแม่ และลูกน้อยแข็งแรงสมบูรณ์อีกด้วย

 

 

 

อ่านประสบการณ์จริงของคุณแม่เกี่ยวกับอาการครรภ์เป็นพิษ

อาการครรภ์เป็นพิษ ตามใจปากช่วงท้องต้องระวัง ครรภ์เป็นพิษ ครรภ์เป็นพิษเกิดจากสาเหตุใด

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

อาหารต้านหวัดคนท้อง เมนูอาหารต้านหวัด แก้ไอ เสริมสร้างภูมิต้านทานคนท้อง

คนท้องดื่มน้ำกี่ลิตร คนท้องกินน้ำเย็นดีไหม คนท้องกินน้ำมากเป็นไรไหม แม่ท้องต้องกินน้ำกี่แก้วต่อวัน

ท้องแล้วไม่อยากกินข้าว เบื่ออาหาร มีวิธีแก้ไหม คนท้องควรทำอย่างไร

ที่มา : thaihealth, haamor, paolohospital

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!