เตรียมรับมือ 11 เรื่องจริงของร่างกาย หลังคลอดลูก ที่แม่ต้องเผชิญ

แม่มือใหม่ต้องเตรียมใจและรับมือเอาไว้ หลังคลอดลูก คุณแม่จะได้เจอกับเรื่องเหล่านี้ หากเกิดขึ้นแล้วอย่าเพิ่งตกใจนะคะ เป็นเรื่องปกติที่อาจเกิดขึ้นได้กับแม่หลังคลอด

แม้ว่า หลังคลอดลูก คุณแม่จะหายกังวลไปเปราะหนึ่งเหมือนยกภูเขาก่อนใหญ่ออกจากท้อง แต่อย่างไรเราก็อยากให้คุณเตรียมรับมือกับอาการหลังคลอดไว้

เตรียมรับมือ 11 เรื่องจริง หลังคลอดลูก ที่แม่ต้องเผชิญ

#1 ต้องเจอกับอาการปวดมดลูกที่จะเกิดขึ้นภาย1-2 วันแรกหลังคลอดได้

#2 น้ำคาวปลาจะมีและค่อย ๆ ลดลงจดหมดภายใน 2 สัปดาห์ หลังมดลูกเล็กลงมาขนาดเท่าเดิม หากสังเกตว่าน้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็น มีสีแดงตลอดภายใน 15 วันหลังคลอด อาจมีการอักเสบในโพรงมดลูก เนื่องจากน้ำคาวปลาที่ออกมาเป็นแหล่งอาหารของแบคทีเรียซึ่งอาจจะมีแบคทีเรียเล็ดลอดเข้าไป ทำให้เกิดการอักเสบได้ ถือเป็นอาการที่ผิดปกติ ควรมาพบแพทย์ทันที

#3 คุณแม่หลังคลอดบางคนอาจจะมีก้อนหรือเต้านมบวมขึ้น เนื่องจากช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอด น้ำนมจะยังออกไม่ดีทำให้มีการคัดบริเวณเต้านม แต่เมื่อน้ำนมออกดีก็จะคัดตึงตอนเวลาให้นมลูก หลังให้ลูกดูดนมอาการคัดเต้าก็จะหายไป

#4 สำหรับคุณแม่ที่ให้ลูกกินนมแม่อย่างสม่ำเสมอ โดยไม่มีนมผสมร่วมด้วย จะมีฮอร์โมนที่เรียกว่า “โปรแล็กติน” (Prolactin) ออกมาจากต่อมใต้สมอง ซึ่งทำให้ไข่ไม่ตก จึงทำให้ยังไม่มีประจำเดือนมาหลังคลอด แต่เมื่อลูกกินนมแม่น้อยลงหรือคุณแม่ทิ้งระยะห่างในการให้นมมากขึ้น ฮอร์โมนชนิดนี้ก็จะลดน้อยลง จึงทำให้มีการตกไข่และประจำเดือนก็กลับมาปกติหลังคลอดได้ โดยส่วนใหญ่แล้วประจำเดือนจะมาประมาณ 6-8 เดือนหลังคลอด แต่ถ้าให้นมแม่ไม่สม่ำเสมอฮอร์โมนตัวนี้ก็จะหลั่งออกมาไม่สม่ำเสมอ ก็จะไม่สามารถกดการตกไข่ได้ และทำให้ประจำเดือนกลับมาได้เร็วขึ้น

#5 ประจำเดือนที่มาครั้งแรกหลังคลอดอาจมีปริมาณมากหรือนานกว่าปกติ เนื่องจากรังไข่จะยังปรับตัวได้ไม่ดีหรือบางครั้งอาจเกิดจากไข่โตขึ้นและมีเยื่อบุที่หนาขึ้น เป็นวงจรรอบเดือนที่ผิดปกติ ซึ่งจะหายเองได้ในประมาณ 1-2 รอบเดือน

#6 เสี่ยงต่อการติดเชื้อหากนอนแช่อ่างหลังคลอดลูกใหม่ ๆ เพราะเชื้อแบคทีเรียจะเล็ดลอดเข้าช่องคลอดแล้วเกิดการอักเสบที่มดลูกได้

#7 แม่ที่คลอดลูกเอง การได้ออกกำลังกายเบา ๆ ทำให้มดลูกเข้าอู่เร็วและให้น้ำคาวปลาออกได้ดี แต่สำหรับแม่ผ่าคลอด ไม่ควรออกกำลังกายที่เน้นบริเวณกล้ามเนื้อหน้าท้อง เพราะอาจจะมีอันตรายต่อแผลที่ผ่าคลอดได้

#8 เพื่อป้องกันการหย่อนยานของเต้านมและช่วยบรรเทาอาการคัดเต้า คุณแม่สามารถเริ่มใส่ยกทรงให้นมลูกได้ตั้งแต่ไตรมาสสองเป็นต้นไปเลยนะคะ แต่ไม่ควรเป็นเลือกใส่ยกทรงที่คับจนเกินไป เพราะการการบีบรัดเต้าจะส่งผลต่อปริมาณน้ำนมที่น้อยลงด้วย

#9 การใช้ผ้ารัดหน้าท้องเป็นประจำทุกวันหลังคลอด จะช่วยทำให้หน้าท้องกระชับได้ง่ายขึ้น มดลูกเข้าอู่เร็ว และสำหรับแม่ผ่าคลอดผ้ารัดหน้าท้องจะช่วยบรรเทาอาการเจ็บแผลหลัง กระชับบริเวณแผล เพื่อให้แผลสมานติดกันได้ดี

#10 ให้นมแม่ล้วนช่วยลดน้ำหนักลงได้ ถ้าลูกได้ดูดนมแม่ทั้งวันหรือมีการปั๊มน้ำนมออกเพื่อเก็บสะสม น้ำหนักส่วนเกินของคุณแม่จะลดลง เพราะการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น ร่างกายจะเผาผลาญแคลอรี่ประมาณ 500 แคลอรี่ต่อวัน จึงคล้ายกับการออกกำลังกายที่เป็นการลดน้ำหนักไปในตัว ดังนั้นหลังคลอดสำหรับคุณแม่ที่ให้นมลูกจะมีน้ำหนักลดมาเป็นปกติได้ภายใน 6 เดือน โดยไม่จำเป็นต้องหาวิธีลดน้ำหนักแบบอื่นมาช่วยเลย

#11 ในภาวะปกติของแม่ที่ผ่าคลอดลูก แผลที่เย็บไว้จะสมานเข้าด้วยกันกันเองภายใน 7 วันหลังคลอดได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับร่างกายของแม่แต่ละคนและลักษณะของการเย็บ ซึ่งโดยเฉลี่ยจะค่อย ๆ ใช้เวลาประมาณ 2 – 12 สัปดาห์


ข้อมูลจาก นพ.ปภากร มิ่งมิตรพัฒนะกุล สูติ-นรีแพทย์ จากศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก ศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพ

ที่มา : pregnancy.haijai.com

บทความอื่นที่น่าสนใจ :

หลังคลอดลูกต้อง แจ้งเกิดลูกภายในกี่วัน ทำสูติบัตรให้ลูกต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง?

ทำไมผู้หญิงบางคนมีอารมณ์ด้านลบหลังคลอดลูก

 

บทความโดย

Napatsakorn .R