หลังคลอดบุตรแม่ควรพักฟื้นประมาณกี่วัน ร่างกายถึงจะกลับมาเป็นปกติ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ในปัจจุบันนี้คุณแม่หลังคลอดไม่ถือว่าเป็นผู้ป่วยหรือคนไข้แต่อย่างใดนะคะ เพียงแต่หลังคลอดคุณแม่จะมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย จิตใจ ที่ต้องปรับตัวเองกันนิดหน่อยและต้องดูแลร่างกายหลังคลอดกันบ้าง เรามาดูกันว่าในระยะ หลังคลอดบุตรแม่ควรพักฟื้นประมาณกี่วัน ร่างกายถึงจะฟื้นคืนสภาพปกติกันนะ

 

หลังคลอดบุตรแม่ควรพักฟื้นประมาณกี่วัน

คุณแม่มือใหม่อาจสงสัยว่า หลังคลอดบุตรแม่ควรพักฟื้นประมาณกี่วัน โดยปกติแล้วจะขึ้นอยู่กับวิธีที่คุณแม่คลอดบุตร และการดูแลตัวเองของคุณแม่หลังคลอดเพื่อช่วยฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาเป็นปกติ

  • คุณแม่ที่คลอดด้วยวิธีธรรมชาติหรือคลอดเอง

หากในช่วงคลอดเบ่งคลอดง่าย ไม่มีภาวะแทรกซ้อน คุณแม่เสียเลือดน้อยกว่าการผ่าตัดคลอด ก็จะฟื้นตัวได้เร็วกว่าคุณแม่ที่ทำการผ่าคลอด มีระยะเวลาในการพักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ 2 วันก็สามารถกลับบ้านได้

 

  • คุณแม่ผ่าคลอด

ที่ต้องเจอกับฤทธิ์ยาชา หลังผ่าคลอดอาจจะรู้สึกเจ็บปวดจากแผลผ่าตัด แม้จะอยากหน้าลูกน้อยเป็นสิ่งแรก แต่ก็ไม่ควรที่จะรีบลุกขึ้นในทันทีนะคะ เพราะการผ่าตัดทำให้คุณแม่เสียเลือดมากซึ่งอาจจะทำให้หน้ามืดวิงเวียนศีรษะได้ เมื่อคุณแม่แข็งแรงพอที่จะลุกหรือยืนได้แล้ว ค่อย ๆ พยายามเคลื่อนไหวหรือพลิกตัวบ่อย ๆ เปลี่ยนอิริยาบถเพื่อลดความตึงจากแผลผ่าตัดบนหน้าท้อง ซึ่งอาการปวดแผลจะค่อย ๆ ทุเลาลงหลัง 48 ชั่วโมง คุณแม่ที่ผ่าคลอดจึงมีระยะพักฟื้นในโรงพยาบาลอย่างน้อย 3-4 วันนานกว่าคุณแม่ที่คลอดเองด้วยวิธีธรรมชาติ

หลังจากออกจากโรงพยาบาล โดยทั่วไปประมาณ 5-6 สัปดาห์ ร่างกายคุณแม่ก็เริ่มเข้าที่กลับคืนเข้าสู่สภาพปกติ สามารถประคับประคองและช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง สิ่งที่ควรทำคือ ดูแลตัวเองหลังคลอด ด้วยการพักผ่อน กินอาหารย่อยง่าย รสไม่จัด ออกกำลังกายเคลื่อนไหวให้เพิ่มขึ้น ในส่วนของอวัยวะสืบพันธุ์ก็จะค่อย ๆ กลับคืนสภาพปกติสามารถมีเพศสัมพันธ์ 1 เดือนหลังคลอดได้ และเรื่องสำคัญที่คุณแม่ต้องเตรียมรับมือหลังจากนี้อีก คือการปรับตัวในบทบาทของคุณแม่ที่จะต้องเลี้ยงดูลูกน้อยในเวลาต่อจากนี้นะคะ

บทความที่เกี่ยวข้อง : หลังผ่าคลอดมีอะไรกับแฟนแล้วเจ็บ อันตรายหรือไม่? มีเพศสัมพันธ์ได้เมื่อไหร่?

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

 

การดูแลร่างกายหลังคลอดบุตร

หลังการคลอด คุณแม่คงรู้สึกโล่งใจที่การคลอดผ่านไปได้ด้วยดี แต่อาจมีความกังวลใจต่อการเปลี่ยนแปลงของร่างกายจากการตั้งครรภ์ โดยปกติแล้วสภาพร่างกายของคุณแม่จะกลับเข้าสู่สภาพเดิมภายใน 6-8 สัปดาห์หลังคลอด รวมทั้งแผลที่เกิดจากการคลอด ก็จะหายไปในระยะนี้ด้วย ดังนั้นคุณแม่ควรทำความเข้าใจเพื่อดูแลสุขภาพได้อย่างถูกต้อง

 

ด้านจิตใจ

หลังคลอดปริมาณฮอร์โมนในร่างกายคุณแม่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว คุณแม่ยังต้องปรับตัวกับบทบาทใหม่ อ่อนเพลียจากการคลอด กังวลใจกับสรีระของตนเองและการเลี้ยงลูก จึงทำให้รู้สึกเครียด หงุดหงิด หรือซึมเศร้าโดยไม่มีเหตุผล เรียกว่า “ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด” ดังนั้น คุณพ่อจึงเป็นบุคคลสำคัญที่ช่วยแบ่งเบาภาระในการเลี้ยงดูและดูแลงานบ้านแทนคุณแม่ จะช่วยให้คุณแม่มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ด้านร่างกาย

1. การดูแลแผล

  • แผลฝีเย็บ คุณหมอจะเย็บด้วยไหมละลาย แผลจะหายประมาณ 7 วัน แต่อาจจะรู้สึกเจ็บประมาณ 2 สัปดาห์ คุณแม่ทำความสะอาดโดยใช้น้ำและสบู่ล้างจากด้านหน้าไปด้านหลัง และซับให้แห้งเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อย ๆ ไม่ควรสวนล้างช่องคลอดหรืออาบน้ำในอ่าง คุณแม่เป็นริดสีดวงทวาร หากมีอาการปวดอาจจะประคบด้วยถุงน้ำแข็ง ใช้ครีมหรือยาเหน็บตามแพทย์สั่ง ดื่มน้ำและรับประทานผัก ผลไม้ที่มีกากใยอาหารมาก เพื่อลดอาการท้องผูก
  • แผลผ่าตัด คุณหมอจะเย็บด้วยไหมละลาย ไม่ต้องตัดไหม ปิดไว้ด้วยปลาสเตอร์กันน้ำ คุณแม่สามารถอาบน้ำได้ แต่ถ้าสังเกตว่ามีน้ำซึมเข้าแผล ให้กลับมาเปลี่ยนปลาสเตอร์ปิดแผล แผลจะหายประมาณ 7 วัน หากเจ็บแผลขณะเคลื่อนไหว คุณแม่อาจจะใช้ผ้ารัดหน้าท้องช่วยพยุงไว้จะช่วยให้หลับสบายขึ้น

 

2. น้ำคาวปลา

คือน้ำคร่ำปนกับเลือดที่ออกจากแผลในมดลูกไหลออกมาทางช่องคลอด ในช่วง 3 วันแรกจะมีสีแดงเข้ม จากนั้นจะจางลงเรื่อย ๆ คล้ายกับสีน้ำล้างเนื้อแล้วค่อยเปลี่ยนเป็นมูกสีเหลือง ๆ ตามปกติจะมีอยู่ประมาณ 2-3 สัปดาห์ ทำความสะอาดด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งหลังการขับถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระ เปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อย ๆ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

บทความที่เกี่ยวข้อง : น้ำคาวปลา หลังคลอดกี่วันถึงจะหมด ทำไมน้ำคาวปลามีหลายสี สีไหนผิดปกติ

 

 

3. การฟื้นตัวของมดลูก

ระหว่างตั้งครรภ์มดลูกจะขยายตัวใหญ่ขึ้นกว่าปกติ แต่หลังคลอดมดลูกก็จะหดตัวลงจนมีขนาดปกติและกลับเข้าสู่ตำแหน่งในอุ้งเชิงกราน (มดลูกเข้าอู่) ประมาณ 4-6 สัปดาห์ หากมีอาการปวดมดลูกรับประทานยาแก้ปวดได้

 

4. การดูแลเต้านม

ขนาดของเต้านมใหญ่ขึ้นและมีอาการคัดตึงในวันที่ 2-3 หลังคลอด เป็นภาวะที่ต่อมน้ำนมเริ่มผลิตน้ำนมสำหรับลูก เวลาอาบน้ำงดฟอกสบู่บริเวณลานนม เพื่อให้น้ำมันธรรมชาติที่ผิวหนังสร้างขึ้นยังคงอยู่ ช่วยลดความเจ็บขณะลูกดูดนม หากมีอาการนมคัดแต่ยังไม่มีน้ำนมให้ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นประคบเต้านม และทานยาแก้ปวดได้ พยายามให้ลูกดูดนมบ่อย ๆ เพื่อกระตุ้นให้มีการสร้างน้ำนมเร็วขึ้น หากมีน้ำนมไหลแล้วให้ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบเต้านมก่อนให้นมลูก ก็จะช่วยให้การไหลเวียนเลือดบริเวณเต้านมดีขึ้น ใช้สำลีชุบน้ำต้มสุกเช็ดทำความสะอาดหัวนมและลานนมทุกครั้งทั้งก่อนและหลังให้นมลูก

 

5. การรับประทานอาหาร

คุณแม่หลังคลอดยังคงต้องรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่เหมือนในระยะตั้งครรภ์เพราะต้องใช้พลังงานในการฟื้นฟูร่างกายของคุณแม่เองและผลิตน้ำนมสำหรับเลี้ยงลูก คุณแม่ควรรับประทานประเภท ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ไข่ นม และควรลดอาหารประเภทแป้ง ไขมัน และของหมักดอง รวมถึงงดเครื่องดื่มประเภทชา กาแฟ น้ำอัดลม และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ การรับประทานยาควรได้รับคำแนะนำจากคุณหมอ เพราะยาบางชนิดหลั่งออกทางน้ำนมได้ (ช่วง 1สัปดาห์แรกหลังคลอดให้งดนมก่อน)

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

บทความที่เกี่ยวข้อง : อาหารหลังคลอด อาหารอยู่เดือน แม่ให้นมต้องกินอะไรให้น้ำนมพุ่ง

 

 

6. การพักผ่อน

ช่วงที่พักฟื้นในโรงพยาบาลคุณแม่จะได้พักผ่อนเต็มที่ เมื่อกลับบ้านช่วงที่คุณพ่อคุณแม่ต้องปรับตัวกับวิถีชีวิตใหม่ ต้องดูแลตัวเอง ดูแลลูก และคุณพ่อ จึงควรจัดสรรเวลาในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้เหมาะสม เช่น ทำความสะอาดเสื้อผ้าของใช้ลูก วันละ 1 ครั้ง ควรได้หลับพักผ่อนบ้าง ขณะลูกหลับเพื่อไม่ให้คุณแม่เหนื่อยอ่อนเพลียมากเกินไป

 

7. กิจกรรมที่คุณแม่ไม่ควรทำในช่วง 6 สัปดาห์หลังคลอด

  • ไม่ควรยกของที่มีน้ำหนักมากกว่าน้ำหนักของทารก
  • ไม่ควรออกแรงแบ่งมาก ๆ หรือนาน ๆ
  • ไม่ควรขึ้นลงบันไดบ่อย ๆ
  • ไม่ควรขับรถโดยไม่จำเป็น
  • ไม่ควรออกกำลังกายหักโหม ทำได้เฉพาะท่ากายบริหารเบา ๆ

 

8. การมีเพศสัมพันธ์

คุณแม่อาจมีความรู้สึกทางเพศลดลง เนื่องจากความอ่อนเพลีย กังวล และความไม่สุขสบาย และเจ็บแผล จึงควรงดในช่วง 4-6 สัปดาห์แรก หรือจนกว่าจะได้รับการตรวจหลังคลอดและวางแผนคุมกำเนิดแล้ว

 

9. การตรวจหลังคลอด

คุณหมอจะนัดคุณแม่มาตรวจ 4-6 สัปดาห์หลังคลอด เพื่อความสมบูรณ์ของร่างกาย ตรวจดูสภาพของปากมดลูกและอวัยวะภายในอุ้งเชิงกราน (หรือแผลผ่าตัดหน้าท้อง หากคุณแม่ผ่าตัดท้อง) ตรวจดูมะเร็งปากมดลูก และให้คำแนะนำเรื่องการวางแผนครอบครัวและคุมกำเนิด

บทความที่เกี่ยวข้อง : ตรวจหลังคลอด ตรวจภายในหลังคลอด สำคัญอย่างไร ต้องตรวจอะไรบ้าง?

 

 

อาการผิดปกติหลังคลอด ที่ควรรีบมาพบแพทย์

  • มีไข้สูงโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • น้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็น หรือมีสีแดงสดตลอด 15 วันหลังคลอด
  • ปวดท้องน้อย เจ็บปวดหรือแสบขัดเวลาปัสสาวะ
  • ปวดศีรษะรุนแรง
  • เต้านมบวมแดง อักเสบ หัวนมแตกเป็นแผล
  • แผลฝีเย็บ หรือแผลผ่าตัด อักเสบ บวมแดงหรือมีหนอง

 

โดยทั่วไปแล้ว คุณแม่อาจต้องใช้เวลาพักฟื้นหลังคลอดประมาณ 6 สัปดาห์หรือมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับการดูแลสุขภาพร่างกายของตัวเอง ซึ่งในช่วงเวลาหลังคลอด ร่างกายของคุณแม่จะมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย แต่หากคุณแม่มีอาการผิดปกติ ต้องรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัย

 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

7 สิ่งที่ควรทําหลังคลอด พาลูกกลับบ้านแล้วต้องทำอะไรอีกนะ

ออกกำลังกายหลังคลอด แบบไหน? ช่วยลดหน้าท้อง ฟื้นฟูร่างกาย

4 วิธีเลือกเสื้อผ้าหลังคลอด ชุดทำงาน ชุดเที่ยว เลือกแบบไหนให้รอด

ที่มา : paolohospital

บทความโดย

Napatsakorn .R