ลูกของฉันจะครบ 32 หรือเปล่านะ? เป็นคำถามที่แม่ท้องทุกคนล้วนอยากรู้ และสงสัยมาตลอดเวลา ช่วง 9 เดือนที่รอคอย พ่อแม่ทุกคนต่างมีความหวังว่า ลูกจะคลอดมาไม่พิการ ครบ 32 ประการทุกอย่าง แต่ ถ้าไม่อยากให้ลูกพิการ ตั้งแต่ยังไม่คลอด สิ่งที่คุณแม่ควรจะต้องคำนึงถึง และควรจะต้องหลีกเลี่ยง 5 สิ่งแม่ท้องห้ามพลาด ได้แก่อะไรบ้างไปตามดูกันเลยค่ะ
5 สิ่งแม่ท้องห้ามพลาด ถ้าไม่อยากให้ลูกพิการ
1. การขาดโฟเลต
ศ.เกียรติคุณ พญ.พรสวรรค์ วสันต์ นายกสมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิด (ประเทศไทย) กล่าวถึง ประโยชน์ของการทานโฟเลตของแม่ท้องว่า การรับประทาน “โฟเลต” สามารถป้องกันความพิการแต่กำเนิดได้เกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น หลอดประสาทไม่ปิด โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคปากแหว่งเพดานโหว่ แขนขาพิการแต่กำเนิด
2. ทานยาโดยไม่ระวังระหว่างที่ตั้งครรภ์
ยาบางชนิดอาจเป็นพิษต่ออวัยวะของทารกในครรภ์ เช่นคาควินิน ยาแอสไพริน ยาสเตร็ปโตมัยซิน และยาเพนนิซิลิน เป็นต้น คุณแม่ที่ตั้งครรภ์อยู่ จึงควรระมัดระวังในการใช้ยาเป็นพิเศษ เพราะการทานยาในระยะนี้ จะส่งผลถึงทารกที่อยู่ในครรภ์โดยตรง ซึ่งยาบางชนิด ก็มีผลสทำให้ทารกในครรภ์ถึงขั้นพิการได้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ในระยะ 3 เดือนแรก และช่วงที่ใกล้คลอด จำเป็นจะต้องระมัดระวังมากยิ่งขึ้นเป็นเท่าตัว
นอกจากนี้ยังมียาอื่น ๆ ที่มีความเสี่ยงต่อทารก ได้แก่ ยาแก้อาเจียน แพ้ท้อง พวกธาลิโดไมด์ จะมีผลทำให้ทารกคลอดออดมาพิการ แขนขากุด มีโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ยากันชักพวกไฮแดนโทอิน มีผลทำให้ทารกที่คลอดออกมาหน้าแปลก ตัวเล็ก สติปัญญาอ่อน
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : 5 นิสัยอันตรายที่ทำให้ ลูกพิการแต่กำเนิด ระวังเด็กพิการแต่กำเนิด
3. ดื่มแอลกอฮอลล์ขณะตั้งครรภ์
แม่ท้องที่ติดเหล้าหรือดื่มเหล้ามากขณะตั้งครรภ์ จะทำให้เสี่ยงเกิดการแท้งได้มาก และเด็กตายระหว่างคลอด เด็กในครรภ์เกิดจะมีความพิการของส่วนศีรษะ, หน้า, แขน, ขา และหัวใจการเจริญเติบโตในครรภ์ช้าผิดปกติ อาจเป็นเด็กปัญญาอ่อน
4. สูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์
สารเคมีในบุหรี่ จะทำลายโครโมโซมของทารกทำให้ทารกแรกคลอดอ่อนแอ จนถึงขั้นเสียชีวิตได้ หรือทำให้ทารกเจริญเติบโตช้ากว่าปกติ มีน้ำหนัก ส่วนสูง รอบอก และรอบศีรษะต่ำกว่าเกณฑ์ ระบบประสาท ระบบการหายใจ และหลอดเลือด พบว่า มีปัญหาในระบบทางเดินหายใจ ภายหลังคลอดทันที และมีแนวโน้มจะเป็นโรคหอบหืดเมื่อโตขึ้น มีอาการปวดท้อง โคลิก (colic) อาเจียน ท้องเสีย ลำไส้อักเสบ ภายหลังคลอดทารกยังได้รับสารเคมีผ่านทางน้ำนมแม่อีกถ้าหากแม่ยังไม่เลิกสูบบุหรี่
5. ท้องแล้วได้รับสารเคมีอันตราย
การได้รับสารเคมีบางชนิดขณะตั้งครรภ์ สามารถทำให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ ดังนั้น แม่ท้องควรหลีกเลี่ยงการสูดดม หรือกินสารใด ๆ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะสารที่ได้รับเข้าไปในร่างกายอาจมีผลทำให้ทารกเกิดมามีอาการผิดปกติได้
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : โฟลิคยี่ห้อไหนดี รวมแหล่งโฟลิคสำหรับคนท้อง ป้องกันลูกพิการแต่กำเนิด
ปัจจัยเสี่ยงอื่นที่อาจจะเกิดขึ้นได้
นอกจาก 5 ข้อข้างต้น ที่เราควรจะหลีกเลี่ยง เพื่อไม่ให้ลูกในครรภ์นั้นเสี่ยงพิการ หรือมีความปกติ แต่ความพิการ หรือความผิดปกติ ก็สามารถมาจากปัจจัยเสี่ยงอื่นได้ด้วยเช่นกัน เช่น
1. สาเหตุจากโรคทางพันธุกรรม
ปัจจัยเสี่ยงข้อนี้ เป็นสิ่งที่เกินการควบคุมก็จริง แต่ด้วยเทคโนโลยีสมัยปัจจุบัน ทำให้เราสามารถตรวจสอบได้ หรือป้องกันความเสี่ยงจากโรคทางพันธุกรรมได้ด้วยการตรวจสุขภาพอย่างต่อเนื่อง วางแผนการให้กำเนิดลูกโดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษา การฝากครรภ์ทันทีเมื่อทราบว่าตนเองตั้งครรภ์ ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่สามารถช่วยป้องกันสาเหตุในส่วนนี้
ทั้งนี้ความผิดปกติทางสายเลือดที่ถูกถ่ายทอดไปยังเด็ก จนทำให้เกิดความผิดปกติทางด้านร่างกาย ก็ยังคงมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น ภาวะโรคไขสันหลังฝ่อ (Spinal muscular atrophy), โรคข้อติดยึด (Atrogryposis), โรคกล้ามเนื้อพิการ (Muscular Dystrophy) เป็นต้น ดังนั้น การตรวจครรภ์อย่างต่อเนื่อง การฝากครรภ์ การรู้จักนับลูกดิ้น จึงมีประโยชน์ในการสังเกตความผิดปกติของลูกในครรภ์ได้เป็นอย่างดี
2. สาเหตุระหว่างมารดาตั้งครรภ์
ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ จะสามารถเห็นความผิดปกติของการตั้งครรภ์ได้ชัดเจนมาก ซึ่งจะส่งผลให้ทารกที่คลอดออกมา เสี่ยงมีความพิการได้ ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุจาก มารดาที่มีเชื้อหัดเยอรมัน มีประวัติการเสี่ยงจากพฤติกรรม 5 ข้อข้างต้น หรือมีโรคเบาหวาน รวมถึงอุบัติเหตุการกระเทก หรือแม้แต่การได้รับสารกัมมันตรังสี ต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว ก็ส่งผลต่อเด็กได้ด้วยเช่นกัน
3. ความผิดปกติระหว่างคลอด หรือหลังคลอด
แม้ว่าคุณจะดูแลครรภ์ของคุณเองได้ดีมาโดยตลอด แต่เมื่อถึงเวลาคลอดนั้น กลับมีปัญหาเกิดขึ้น เช่น การคลอดยาก การคลอดที่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือแพทย์เข้าช่วย การผ่าคลอด การคลอดก่อนกำหนด การคลอดหลังกำหนด หรือปัจจัยอื่น ๆ ที่เกิดจากตัวเด็กเอง ไม่ว่าจะเป็น มีเลือดในสมอง หายใจอ่อนแรง ตัวอ่อนปวกเปียก มีอาการชัก ไม่ร้อง มีน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ก็อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กเกิดความพิการได้ในระยะยาว
ที่มา : doctor
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
5 เรื่องสุดอันตราย กันลูกให้ห่างจากการท้าทายในโลกโซเชียล
4 สารเคมีที่เป็นอันตราย หากใช้ตอนท้อง
ลูกกลับหัวตอนกี่เดือน ลูกกลับหัว รู้สึกยังไง แล้วถ้าลูกไม่กลับหัวล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น