ลูกน้ำหนักมาก พัฒนาการช้า
ลูกน้ำหนักมาก พัฒนาการช้า จริงไหม? เมื่อทารกน้อยก้าวเข้าสู่วัยเตาะแตะ หัดเดิน ประเด็นเรื่อง “ลูกเดินช้า” เป็นหนึ่งในปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่หลายๆท่านกังวลใจ
สารพันปัญหาการเดินของทารก
เนื่องจาก บางคนเห็นเด็กวัยใกล้เคียงกันสามารถเดินได้คล่องแคล่ว ขณะที่ลูกยังไม่สามารถเดินได้ ก็เกิดความวิตกกังวลว่าลูกมีพัฒนาการช้าหรือมีความผิดปกติที่ร้ายแรงหรือไม่ เรามาทำความเข้าใจเรื่องพัฒนาการด้านการเดินของทารกเพื่อตอบข้อสงสัยกันนะคะ
ทารกควรจะเริ่มเดินเมื่ออายุเท่าใด?
- โดยปกติทารกจากเริ่มหัดเดินในช่วงอายุ 9-12 เดือน
- ทารกจะเดินได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ เมื่ออายุประมาณ 14 ถึง 15 เดือน
- ทารกบางคนอาจจะไม่เดินเลยจนถึงอายุ 17 ถึง 18 เดือน จึงจะเริ่มเดินก้าวแรกได้
ก่อนที่ทารกจะสามารถเดินได้ ทารกน้อยก็จะต้องมีพัฒนาการในการนั่ง พลิกคว่ำ คลาน จนสามารถเกาะยืน เกาะเดิน และสามารถเดินได้ด้วยตัวเองในลำดับต่อมา โดยการเดินเกิดจากกลไกการทำงานของระบบประสาทและสมองไขสันหลัง เส้นประสาทและกล้ามเนื้อที่แข็งแรง เป็นปกติ
เราจะช่วยให้ลูกน้อยเรียนรู้การเดินได้อย่างไร?
- เมื่อลูกสามารถมีพัฒนาการในการเกาะยืนได้ คุณพ่อคุณแม่ควรช่วยกระตุ้นให้ลูกเรียนรู้การหัดเดินได้โดยยืนด้านหน้าหรือด้านหลังลูก ยื่นมือทั้ง 2 ข้างออกมาช่วยจับให้ลูกเดิน
- ให้ลูกเข็นของเล่นที่มีฐานกว้างแข็งแรงและมั่นคงออกไปข้างหน้าในขณะที่ลูกหัดเดิน
- ปล่อยให้ลูกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยต่อการหัดเดินด้วยตนเองและอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่โดยตลอด
- ลักษณะพื้นที่ลูกหัดเดินควรเป็นพื้นที่กว้างขวาง ไม่มีสิ่งของมาเกะกะขวางทางให้ลูกล้ม
- ขณะหัดเดิน คุณพ่อคุณแม่ควรจะปรบมือ ส่งเสียงเชียร์เป็นกำลังใจลูกเมื่อลูกได้พยายามในการหัดเดิน
ควรให้ลูกใช้ “รถหัดเดิน”หรือไม่?
มีความเข้าใจผิดที่ว่าการให้ลูกใช้รถหัดเดินแล้วจะทำให้ลูกมีพัฒนาการด้านการเดินที่เร็วขึ้น ตามหลักการที่ถูกต้องแล้ว รถหัดเดินกลับยิ่งทำให้ลูกเดินได้ช้ากว่าปกติ เพราะการใช้รถหัดเดินนั้นเด็กจะต้องใช้ปลายเท้าจิกแล้วไถรถให้ไปข้างหน้า ซึ่งจะทำให้พัฒนาการของกล้ามเนื้อขาที่ใช้ในการเดินของลูกผิดปกติไป
นอกจากนั้น รถหัดเดินอาจจะทำให้เกิดอันตรายจากอุบัติเหตุพลิกคว่ำ หรือจะทำให้เด็กสามารถเคลื่อนที่เข้าใกล้วัตถุที่เป็นอันตรายหรือของที่ร้อนจนเกิดอุบัติเหตุได้ จึงไม่แนะนำให้ใช้รถหัดเดินในทารก
หากสงสัยว่าลูกเดินช้าควรทำอย่างไร?
โดยปกติเมื่อลูกมารับวัคซีนตามวัยกับกุมารแพทย์ คุณหมอก็จะทำการตรวจร่างกายและประเมินพัฒนาการของทารกอยู่เป็นระยะ คุณพ่อคุณแม่จึงสามารถสอบถามคุณหมอได้ว่าลูกน้อยมีพัฒนาการที่ปกติหรือไม่ ในทุก ๆ ด้าน รวมท้ังด้านการเดิน
ทั้งนี้ หากลูกมีอายุครบ 12 ถึง 18 เดือนแล้วยังไม่มีแนวโน้มว่าสามารถที่จะก้าวเดินได้จริง ๆ คุณพ่อคุณแม่ควรมาปรึกษาคุณหมอเพื่อรับการตรวจร่างกายและตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมว่าลูกเดินช้าจากความผิดปกติของระบบประสาท สมอง กล้ามเนื้อ หรือไม่เพื่อที่จะได้รีบทำการรักษาอย่างถูกต้องค่ะ
ทารกที่อ้วนจะมีผลทำให้เดินช้าจริงหรือไม่?
มีความเชื่อที่ว่า ทารกอ้วนจะมีพัฒนาการด้านการเดินช้ากว่าปกติ แต่ในความเป็นจริงแล้วความอ้วนไม่ได้เป็นสาเหตุโดยตรงที่จะทำให้ทารกมีพัฒนาการด้านการเดินช้า แต่การที่ทารกมีน้ำหนักตัวมากทำให้สามารถยกตัวขึ้นได้ลำบาก จึงอาจมีผลทำให้เดินช้าได้นิดหน่อย แต่ทั้งนี้ไม่ควรเกินเกณฑ์มาตรฐานคือ
ทารกอ้วนที่ไม่มีความผิดปกติอื่น ๆ ก็ควรจะสามารถเดินได้ภายในช่วงอายุ 12 ถึง 18 เดือน
อย่างไรก็ดี ทารกที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานมักเกิดจากการรับประทานที่ไม่เหมาะสม จึงขอแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ดูแลและควบคุมการให้อาหารตามวัยแก่ทารก และให้ทารกทานนมในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และหากทารกเดินได้ช้ากว่าเกณฑ์มาตรฐานจริง ๆ ก็ควรรีบไปปรึกษาคุณหมอนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ลูกเล่นน้ำลาย ส่งผลต่อพัฒนาการของทารกอย่างไร
พัฒนาการเด็ก 9 เดือน เกิดอะไรขึ้นบ้าง เมื่อลููกอายุ 9 เดือน
แม่จ๋าอย่าเพิ่งเครียด! อาการของทารก แบบนี้อาจเกิดขึ้นได้กับหนูเป็นปกติ
4 พฤติกรรมเเย่ๆ ที่พ่อแม่มักทำโดยไม่รู้ตัว เเต่ถึงเวลาต้องหยุดเสียที