10 วิธีเล่นเพื่อพัฒนาสมองลูก เล่นอะไรกับลูกแล้วลูกฉลาดบ้าง

มาดูกันว่า คุณพ่อคุณแม่จะช่วยให้ลูกมีพัฒนาการทางสมองที่ดีได้อย่างไร

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ก่อนที่จะพาคุณพ่อคุณแม่ไปดูวิธีการเล่นเพื่อพัฒนาการสมองของลูก เราอยากให้พ่อแม่เข้าใจก่อนว่าพัฒนาการสมองของเด็กแต่ละช่วงวัยเป็นอย่างไร เพื่อเป็นแนวทางในการสังเกตว่า ตอนนี้ลูกรักนั้นมีพัฒนาการสมองที่สมวัยหรือไม่ โดยจะเน้นไปที่เด็กขวบปีแรก ไปดูพร้อมกันเลยค่ะ

 

พัฒนาการสมองและการเรียนรู้ของทารกแรกเกิด – 1 เดือน 

พัฒนาการด้านสติปัญญาของลูกน้อย คือการสร้างกระบวนทางความคิด ความจำ การแก้ปัญหา และการตัดสินใจ โดยเริ่มจากการที่เขาฟังสิ่งที่คุณพูด และสังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัว อย่างไรก็ดี คุณแม่อาจยังไม่สามารถประเมินพัฒนาการด้านสติปัญญาได้อย่างชัดเจน แต่สามารถโฟกัสที่พัฒนาการด้านการมองเห็นและการได้ยินของลูกในช่วงนี้ไปก่อน ในวัยนี้ ถ้าลูกน้อยไม่เคยมองตามคุณ หรือตอบสนองต่อเสียงดัง คุณแม่ควรรีบปรึกษากุมารแพทย์เพื่อขอคำแนะนำนะคะ

 

พัฒนาการสมองและการเรียนรู้ของทารกอายุ 2 เดือน 

เด็กในวัยนี้จะเริ่มมีความจำที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเสียงหรือใบหน้า โดยเริ่มจดจำใบหน้าและเสียงของพ่อแม่หรือคนใกล้ชิดได้ โดยคุณแม่จะสังเกตได้ว่า ลูกน้อยเริ่มจะให้ความสนใจใบหน้าของคุณแม่ และจดจำใบหน้าที่คุ้นเคยในระยะไกลได้แล้ว นอกจากนี้ ยังมีการมองเห็นที่ดีขึ้น และเริ่มเรียนรู้ที่จะใช้ปากสำรวจสิ่งต่าง ๆ เช่น ดูดนิ้ว หรือแม้แต่การหยิบจับสิ่งของต่าง ๆ เป็นไปตามการสั่งการของสมอง มากกว่าปฏิกิริยาอัตโนมัติ ลูกสามารถรับประสาทสัมผัสได้มากกว่า 1 อย่าง เช่น ลืมตาไปพร้อม ๆ กับดูดนมแม่ และเด็กวัยนี้ยังสามารถเชื่อมโยงการกระทำต่าง ๆ ได้ เช่น หากได้ยินเสียงแม่ก็จะหยุดร้องไห้ หรือขณะที่กำลังดูดนิ้วเพลิน ๆ แล้วแม่อุ้มขึ้นเพื่อจะให้นม ลูกก็จะเอานิ้วออกจากปากได้ทันที

 

พัฒนาการสมองและการเรียนรู้ของทารกอายุ 3 เดือน

เด็กวัยนี้สมองจะเริ่มมีเหตุและผล เมื่อลูกน้อยจับของเล่นที่ห้อยอยู่ให้เคลื่อนไหว เขาจะเริ่มเข้าใจเหตุและผลของสิ่งต่าง ๆ จากนั้นสมองของลูกน้อยจะเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ ด้วยกันเมื่อเขาได้เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น ทั้งยังสามารถมองตามวัตถุที่เคลื่อนที่ โดยตาทั้งสองทำงานประสานกันได้ดีในการเคลื่อนไหวและปรับโฟกัส  โดยเฉพาะเมื่อมีวัตถุกำลังเคลื่อนที่ผ่านหน้าไป เช่น ของเล่น หรือมือของคุณแม่

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ทารกอายุ 3 เดือน สามารถยิ้มเพื่อตอบสนองสังคม ซึ่งยิ้มหวาน ๆ ของลูกไม่ได้มีไว้เฉพาะคุณพ่อคุณแม่อีกต่อไป เพราะตอนนี้ลูกน้อยเริ่มเผื่อแผ่รอยยิ้มไปยังคนอื่น ๆ ที่ยิ้มให้เขาก่อนด้วย นอกจากนี้ยังมีความเป็นมิตร ให้ความสนใจทารกคนอื่น ๆ รอบตัว รวมถึงภาพสะท้อนตัวเองในกระจกด้วย ทั้งยังพยายามเข้าใจอารมณ์และการสื่อสาร ด้วยการเริ่มเชื่อมโยงสิ่งที่คุณพูดกับสีหน้าที่คุณแสดงออก ดังนั้น หากคุณแม่มีปฏิกิริยาอย่างไรกับลูก ลูกจะสัมผัสได้นะคะ พ่อแม่ต้องแสดงออกถึงความรักกับลูกเยอะ ๆ นะคะ 

 

พัฒนาการสมองและการเรียนรู้ของทารกอายุ 4 เดือน

 ไม่ใช่แค่ร่างกายที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่ด้านความรู้ความเข้าใจลูกน้อยก็ยังมีพัฒนาการที่รวดเร็วด้วยเช่นกันจนบางทีคุณต้องประหลาดใจ เพราะเขาสามารถแสดงความรู้สึกออกมาได้ว่า มีความสุข ชอบหรือไม่ชอบ หรือเสียใจ นั่นแสดงว่าลูกน้อยจะสามารถแสดงความรักต่อพ่อแม่ได้บ่อยขึ้น เวลาที่คุยกับลูกคุณก็จะได้เห็นรอยยิ้มที่น่ารักไปด้วย

นอกจากนี้ เด็กยังสามารถมองเห็นวัตถุต่าง ๆ ได้ดีขึ้น การประสานงานระหว่างสายตากับมือก็มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสามารถทำความรู้จักกับคนรอบข้างได้ และรู้ว่าตอนนี้ทุกคนกำลังเรียกชื่อเขาอยู่และรู้ว่าใครกำลังพูดด้วย

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

 

พัฒนาการสมองและการเรียนรู้ของทารกอายุ 5 เดือน

เด็ก ๆ จะเริ่มแสดงอารมณ์ออกมามากขึ้น ตอบสนองได้ดีมากขึ้น และเริ่มที่จะทำความเข้าใจในสิ่งที่คุณพูด โดยที่จะเริ่มจากการจ้องและพยายามอ่านริมฝีปากของคุณ ถ้าคุณพูดอยู่แล้วเห็นลูกจ้องนาน ๆ แสดงหนู ๆ กำลังเรียนรู้อยู่นะ และในวัยนี้ เด็ก ๆ จะพยายามทำความเข้าใจกับเสียงรอบข้าง เช่น เสียงนกร้อง เสียงหมาเห่า เสียงเพลง เป็นต้น

อีกทักษะที่เด็ก ๆ ทำได้ดี คือ การหยิบจับของเล่น หากพ่อแม่สังเกตดู จะเห็นว่าพวกเขาสามารถใช้มือจับได้อย่างถูกต้อง สามารถสับเปลี่ยนจากมือหนึ่งไปอีกมือหนึ่งได้

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

 

พัฒนาการสมองและการเรียนรู้ของทารกอายุ 6 เดือน

เด็ก 6 เดือนจะเริ่มเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างมือและของที่อยู่ในมือผ่านการทำซ้ำ ๆ เช่น บางคนชอบที่จะคว้าของ โยน หรือปล่อยของลงพื้นซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อสังเกตดูปฏิกิริยาของสิ่งของที่ตกลงบนพื้น รวมไปถึงท่าทีของคนอื่น ๆ ต่อการกระทำของเขา และจะส่งเสียงให้รู้ว่าช่วยเก็บของมาคืนหนูหน่อย

ระบบประสาทต่าง ๆ ของเด็ก 6 เดือนทำงานสัมพันธ์กันมากขึ้น คว้าสิ่งของด้วยความแม่นยำมากขึ้น มองตามวัตถุได้ทั้งซ้ายและขวา อย่างไรก็ตาม เด็กๆ ควรได้รับการพัฒนาระบบการรับรู้อย่างรอบด้าน ทั้งการมอง การได้ยิน การสัมผัสและการรับรส เพราะเด็กที่มีโอกาสมองเห็น ได้ยินและเคลื่อนไหวไปพร้อม ๆ กัน จะเรียนรู้และพัฒนาทักษะการคิดได้หลากหลายและสมองทำงานเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบมากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ เด็ก 6 เดือนสามารถเรียนรู้และเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้มากขึ้น โดยเฉพาะกิจวัตรประจำวัน รู้ว่าตื่นนอนแล้ว แม่จะพาไปอาบน้ำ กินนม เล่น เป็นต้น เด็ก 6 เดือนจะเข้าใจหน้าที่ของของเล่นและของใช้ต่าง ๆ ได้ดี โดยเชื่อมโยงกับกิจกรรมประจำวัน  เช่น ช้อนเอาไว้ตักอาหารเข้าปาก

 

พัฒนาการสมองและการเรียนรู้ของทารกอายุ 7 เดือน

สมองของลูกพัฒนาได้ตลอดเวลา นอกจากจำลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้แล้ว เดือนนี้ลูกยังสามารถเชื่อมโยงความคิดได้มากขึ้นด้วย เห็นได้จากการที่ลูกสามารถคาดเดาได้ว่าคุณพ่อกลับบ้าน จากเสียงประตู หรือรู้ว่าถึงเวลาอาหารแล้วจากเสียงการเตรียมอาหารของแม่

ลูกวัยนี้เรียนรู้จักอวัยวะต่าง ๆ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตอนนี้ลูกนั่งได้แล้วและก้มตัวมองเห็นอวัยวะเพศของตัวเองได้แล้วด้วย ดังนั้น หากเขาจะจับเพื่อสำรวจอวัยวะส่วนนี้บ้าง คุณแม่ไม่ต้องตกใจ แค่เบี่ยงเบนความสนใจเขาไปที่ของเล่นแทนก็พอ ทั้งยังสามารถเชื่อมโยงภาพสัตว์กับเสียงร้องได้ เช่น แมว ร้องเมี้ยว หมาเห่าโฮ่งๆ ซึ่งความสามารถนี้เป็นผลจากการที่คุณแม่ป้อนข้อมูลให้กับลูกบ่อย ๆ จึงทำให้ลูกเกิดการเรียนรู้ จดจำ และเชื่อมโยงได้ในที่สุด และเริ่มให้ความสนใจเกี่ยวกับขนาดของวัตถุ สังเกตได้จากการถือของเล่นสองชิ้น ที่มีขนาดแตกต่างกัน แล้วมองสลับไปสลับมา ถ้าคุณแม่ป้อนข้อมูลให้ลูกโดยบอกว่าอันนี้ใหญ่อันนี้เล็ก ทำบ่อย ๆ ลูกก็พร้อมจะเรียนรู้และเข้าใจได้

 

พัฒนาการสมองและการเรียนรู้ของทารกอายุ 8 – 9 เดือน

ในเด็กทารกอายุ 8 เดือน เริ่มเรียนรู้ได้แล้วว่ารูปร่างและขนาดของวัตถุจะไม่เปลี่ยนแปลงไป แม้ว่าเขาจะส่ายหัวหรือขยับตัว แต่สิ่งของก็ยังคงสภาพเหมือนเดิม ถ้าคุณแม่สังเกตดี ๆ จะเห็นว่าลูกน้อยจะชอบมองในรูปแบบก้มหัวหรือกลับหัว เพราะในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ลูกจะนอนอยู่บนเตียง และบางทีคุณแม่อาจจะจับลูกน้อยเล่นกลับหัวอยู่บ่อย ๆ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ด้านความจำ และความสามารถของสมองลูกก็พัฒนาขึ้นมาก จนบางครั้งเขาก็อาจเบื่อกับสภาพแวดล้อมเดิม ๆ การกระตุ้นซ้ำ ๆ ก็ได้ คุณแม่จึงต้องพยายามหาเกม หรือสิ่งใหม่ ๆ มาเล่นกับลูก เมื่อเริ่มสังเกตว่าลูกเริ่มเบื่อที่จะเล่นจ๊ะเอ๋ หรือซ่อนของแล้ว อาจชวนลูกเล่นต่อบล็อก โยนบอลใส่กล่อง อ่านนิทานเล่มใหม่ หรือพาไปเที่ยวเล่นนอกบ้านบ้างก็ได้เช่นกัน

ที่สำคัญเด็กจะเริ่มเรียนรู้ว่าตนเองเป็นคนหนึ่งคน เช่นเดียวกับคนอื่น ๆ ได้เรียนรู้ที่จะเปรียบเทียบร่างกายตัวเองกับคนอื่น รู้ว่ามีอวัยวะต่าง ๆ เหมือนกัน และเคลื่อนไหวได้เหมือนกัน เห็นได้จากการที่เขามักจะชอบเล่นกับกระจกเพื่อหัวเราะ ยิ้มให้กับตัวเองในกระจก เรียนรู้ที่จะสังเกตลักษณะ ขนาดของภาพจริง และภาพเงาโดยพยายามลูบคลำ หรือหอมภาพในกระจก ชอบเลียนแบบท่าทางของคุณแม่ที่เห็นบ่อย ๆ อีกด้วย และยังสามารถแก้ปัญหาง่าย ๆ ได้ เช่น ถ้าคุณแม่แอบเอาของเล่นไปซ่อนไว้ใต้หมอน (ซ่อนแบบให้ลูกเห็น) เขาจะสามารถนำของที่ซ่อนไว้ออกมาได้ 

 

พัฒนาการสมองและการเรียนรู้ของทารกอายุ 10 – 11 เดือน

วัยนี้เรียนรู้จากการเลียนแบบ  เช่น เวลาที่แม่ตักอาหารป้อน ลูกก็จะใช้ช้อนในมือตักอาหารป้อนคุณแม่เหมือนกัน ซึ่งถ้าคุณแม่ค่อย ๆ เคี้ยวและกลืน ลูกก็จะจ้องมองปากของคุณแม่เพื่อดูว่าเคี้ยวยังไง นี่จึงเป็นโอกาสดีที่จะสอนให้เขาเลียนแบบสิ่งที่อยากให้เขาทำ เช่น สอนทำท่าบ๊ายบาย  ธุจ้า ฯลฯ ทั้งยังมีความสนใจทดลองทำอะไรหลาย ๆ อย่าง เช่น ยกแก้วน้ำขึ้นมาเท แล้วคอยดูเวลาแม่เช็ดทำความสะอาดอย่างสนใจ พอเอาแก้วมาวางใหม่ ลูกก็จะเทแบบเดิมอีก เป็นการเรียนรู้ซ้ำ ๆ เพื่อดูผลของการกระทำ

ลูกเริ่มแยกลักษณะของมือทั้งสองข้าง เช่น มือซ้ายถือของ ส่วนมือขวาใช้จับสัมผัส ซึ่งการที่ลูกใช้มือซ้ายน้อยลงจะไปเพิ่มทักษะและความชำนาญมือขวามากขึ้น ทำให้คุณแม่สามารถสังเกตได้ว่าลูกถนัดใช้มือข้างไหน และลูกยังสามารถกะระยะความสูง-ต่ำ ได้ดีกว่าเดือนก่อน จึงทำให้กล้าที่จะปีนลงจากเก้าอี้หรือเตียงเอง

นอกจากนี้ยังเป็นวัยที่เริ่มตระหนักในความเป็นตัวเองมากขึ้น เราก็สามารถที่จะสอนให้ลูกรู้จักอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายของลูกเรียกว่าอะไร เช่น นี่ปาก นี่จมูก นี่หู นี่ตา ฯลฯ โดยชี้ที่ปากของลูกและบอกว่า นี่ปากของหนู อันนี้ปากของแม่ ค่อย ๆ สอน อีกหน่อยลูกจะจำได้เอง

 

พัฒนาการสมองและการเรียนรู้ของทารกอายุ 12 เดือน

เด็กวัยนี้จะสามารถจดจำ และเลียนแบบท่าทางของพ่อแม่ หรือคนรอบข้างได้ดี จนคุณแม่อาจจะแปลกใจที่เห็นลูกอ่านหนังสือคนเดียว หรือเอาของเล่นใส่หูแล้วพึมพำ สามารถเรียนรู้เกี่ยวกับการแทนที่ โดยถือของเล่นอีกชิ้น แทนอีกชิ้น เรียนรู้เกี่ยวกับการหมุน และการพลิกกลับของวัตถุด้วยการเล่น การสังเกต และการทำซ้ำ นอกจากนี้ ยังสามารถแยกแยะของเล่นตามสี และรูปร่างได้ สามารถหาของเล่นที่มองไม่เห็นได้ แต่จำได้ว่าเก็บไว้ที่ไหน และสามารถจดจำเหตุการณ์ และรับรู้เรื่องราวได้นานขึ้นเรื่อย ๆ เป็นต้น 

 

เพื่อให้ลูกได้เล่นเสริมพัฒนาการสมองอย่างเต็มที่ อย่าลืมเสริมโภชนาการที่ดีให้ลูกรัก 

  • MFGM (Milk Fat Globule Membrane) เยื่อหุ้มอนุภาคไขมันในนม ซึ่งมีองค์ประกอบหลักคือโปรตีนและไขมันกว่า 150 ชนิด อย่างสฟิงโกไมอิลีน ฟอสโฟไลปิด แกงกลิโอไซต์ เป็นต้น ซึ่งสารอาหารเหล่านี้ มีส่วนช่วยในการเสริมสร้างเส้นใยประสาท (Myelin Sheath) และเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งสัญญาณประสาทเชื่อมต่อระหว่างเซลล์สมอง ช่วยให้สมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเรียนรู้และจดจำได้ดียิ่งขึ้น ทั้งยังช่วยเสริมสร้าง IQ และ EQ ของลูกน้อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
  • สฟิงโกไมอีลิน ส่วนประกอบหนึ่งของสารอาหาร MFGM ที่พบในนมแม่ มีส่วนในการส่งเสริมการทำงานของสมอง และเซลล์ประสาท และเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งสัญญาณกระแสประสาทได้อย่างรวดเร็ว เป็นเหมือนตัวช่วยให้สมองของลูกคิดเร็วคิดไวประมวนผลเร็วนั่นเอง 
  • ฟอสโฟลิปิด (Phospholipid) เป็นส่วนประกอบหนึ่งของสารอาหาร MFGM เช่นเดียวกัน ซึ่งมีความจำเป็นต่อการทำงานของทุกระบบในร่างกาย โดยเฉพาะสมองกับระบบประสาท ที่เป็นศูนย์สั่งการและคอยควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย
  • โคลีน พบใน MFGM ช่วยเสริมการทำงานของระบบประสาท สมอง กล้ามเนื้อ โดยจะช่วยสร้างแอซิติลโคลีน (Acetylcholine) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทประเภทหนึ่งที่มีส่วนช่วยในการทำงานของสมองที่มีบทบาทด้านการเรียนรู้ ความจำ การรับรู้ การเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อ การเต้นของหัวใจ และการนอนหลับ
  • DHA คือ กรดไขมันจำเป็นในตระกูลโอเมก้า 3 โครงสร้างพื้นฐานของเซลล์สมอง และจอประสาทตา โดยองค์ประกอบหลักในสมองมี DHA 40% และมี DHA ในจอประสาทตาถึง 60% DHA จะเสริมสร้างการเจริญเติบโตของปลายประสาทซึ่งทำหน้าที่ถ่ายทอดสัญญาณ ส่งผ่านข้อมูลระหว่างเซลล์สมองด้วยกัน ยิ่งเด็กคนไหนได้รับ DHA ควบคู่กับ MFGM อย่างเพียงพอจะช่วยเสริมพัฒนาการสมอง สติปัญญา และการเรียนรู้ของลูกมากขึ้นไปอีกระดับ 

นอกจากสารอาหารข้างต้นนี้แล้ว ควรเสริมด้วย วิตามินบี 6 และ 12 และสารอาหารที่ครบทั้ง 5 หมู่ตามวัยของลูก โดยช่วง 6 เดือนแรกนั้น ควรทานนมแม่ล้วน หลังจากนั้นเด็กควรทานนมแม่ต่อไปควบคู่กับอาหารเสริมจากแหล่งต่าง ๆ ที่หลากหลายค่ะ กรณีที่แม่ไม่สามารถให้นมบุตรได้ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือเลือกโภชนาการเสริมที่มีความใกล้เคียงนมแม่ และมีสารอาหารสำคัญอย่างครบถ้วนค่ะ โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่นี่

 

10 วิธีเล่นเพื่อพัฒนาสมองลูก เล่นอะไรกับลูกแล้วลูกฉลาดบ้าง

1. ทายชื่อสิ่งของ

สำหรับเจ้าตัวน้อยแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกใบใหม่นี้ล้วนแต่ดูน่าสนใจไปเสียหมด ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงสามารถเริ่มต้นพัฒนาสมองลูกได้ด้วยวิธีง่าย ๆ

แค่หาวัตถุที่ปลอดภัย และดูน่าสนใจสักชิ้น มาถือไว้ข้างหน้าลูก ให้ลูกได้ดู และถามลูกว่า “รู้ไหมว่านี่คืออะไร?” แล้วค่อย ๆ อธิบายให้ลูกฟังว่ามันคืออะไร และอย่าลืมอธิบายถึงคุณลักษณะอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย อย่างเช่น “นี่คือแอปเปิล มันเป็นผลไม้ที่มีสีแดง และมีลักษณะเป็นทรงกลม” แล้วคุณจะประหลาดใจ ที่เจ้าตัวเล็กสามารถเรียนรู้ และรู้จักคำศัพท์ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

2. เล่นสัมผัส

ลองให้ลูกน้อยของคุณ เรียนรู้จากการใช้ประสาทสัมผัส โดยอาจจะหาของเล่นที่มีพื้นผิวที่แตกต่างกัน เช่น ตุ๊กตานุ่ม ๆ หรือหุ่นที่มีรูปทรงต่าง ๆ หรืออาจจะเป็นของเล่นที่มีผิวเรียบ หรือของเล่นที่มีผิวหยาบ แต่อย่าลืมตรวจดูให้แน่ใจว่า ไม่มีวัตถุใดที่มีขอบคมที่จะทำให้เกิดอันตรายกับลูกได้

จากนั้นก็นำของเล่น หรือวัตถุที่เตรียมไว้ นำมาวางให้ลูกได้จับเล่น พร้อมทั้งนั่งอธิบายโดยใช้คำศัพท์ง่าย ๆ อย่างเช่น เหนียว นุ่ม เรียบ หยาบ หรือลื่น เป็นต้น

3. เล่นดมกลิ่น

ในช่วงแรก ๆ นั้น พัฒนาการทางด้านการมองเห็นของทารกจะมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว จนเมื่อเข้าสู่ช่วง 4-6 เดือน ทารกก็จะเริ่มมีพัฒนาการทางด้านการได้กลิ่นที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ ลูกน้อยของคุณจะเริ่มเกิดความสนใจเมื่อได้กลิ่นต่าง ๆ ชัดเจนขึ้น

คุณพ่อคุณแม่สามารถหาสิ่งต่าง ๆ ใกล้ตัว ที่มีกลิ่น อย่างเช่น แอปเปิ้ล สบู่อาบน้ำเด็กที่มีกลิ่นอ่อน ๆ มาไว้ใกล้ ๆ จมูกของลูก ให้ลูกได้ลองดม พร้อมทั้งพูดคุยกับลูก ถามลูกว่าได้กลิ่นอะไร แล้วค่อย ๆ อธิบายให้ลูกฟังถึงกลิ่นต่าง ๆ แต่ถ้าลูกน้อยเบ้หน้าหนีก็อย่าไปฝืนนะครับ เพราะลูกอาจจะไม่ชอบกลิ่นนั้น หรือกลิ่นนั้นอาจจะแรงเกินไปสำหรับทารก

4. เล่นจ๊ะเอ๋

การเล่นจ๊ะเอ๋กับทารก เป็นการเล่นที่ทำให้เห็นว่า สมอง และความคิดของลูกกำลังทำงานอยู่ ซึ่งลูกจะแสดงออกโดยการยิ้ม หัวเราะ ที่เป็นการสื่อให้เห็นถึงความพึงพอใจและมีความสุข ซึ่งในช่วงอายุ 2-4 เดือน ทารกจะเริ่มมีพัฒนาการด้านสังคม ด้วยการตอบสนองการยิ้ม หรือส่งเสียงตอบได้

การเล่นจ๊ะเอ๋ จะแสดงพัฒนาการขั้นพื้นฐานของเด็กได้เป็นอย่างดี ทารกในวัย 6 เดือน อาจจะตกใจเมื่อพ่อแม่เล่นจ๊ะเอ๋ด้วย แล้วพ่อแม่หายไป เหลือแต่ผ้า หรือมีฝ่ามือมาปิดหน้า จนเมื่อหน้าแม่หรือพ่อกลับมา ลูกก็จะทำหน้าประหลาดใจ

การเล่นจ๊ะเอ๋กับลูก จึงเท่ากับเป็นการฝึกให้ลูกได้รู้จักการคิด และใช้สมองทั้งซีกซ้าย และขวา เพื่อการวิเคราะห์  ทำให้สมองมีการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แม้ว่าลูกอาจจะตอบกลับมาไม่เป็นคำพูดในตอนนี้ แต่รอยยิ้มและเสียงหัวเราะของลูกก็เปรียบเสมือนคำพูดที่ใช้สื่อสารกับพ่อแม่นั่นเอง

5. เล่นซ่อนของในมือ

เกมที่จะทำให้ลูกได้ฝึกพัฒนาสมองด้วยการคาดเดา คุณพ่อคุณแม่อาจจะลองหาของเล่นสีสดใสมากำไว้ในมือ แล้วให้ลูกทายว่าสิ่งที่อยู่ในมือนั้นคืออะไร จากนั้นก็เฉลยพร้อมอธิบายโดยใช้คำศัพท์ต่าง ๆ เพื่อให้ลูกเข้าใจ และเรียนรู้คำใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น

หรืออาจจะลองกำของเล่นไว้ แล้วทำมือหมุน ๆ แล้วให้ลูกทายว่าของเล่นชิ้นนั้นอยู่มือไหน ซ้ายหรือขวา ก็จะเป็นการฝึกให้ลูกมีทักษะในการแยกแยะทิศทางได้ดีขึ้น

6. ผ้าคลุมร่างกาย

คุณพ่อคุณแม่อาจจะหาผ้าบาง ๆ ผืนเล็ก ๆ มาคลุมอวัยวะบางส่วนของลูก เช่น คลุมขาของลูกไว้แล้วถามลูกว่า “ขาอยู่ที่ไหนนะ?” จากนั้นก็ดึกผ้าออกแล้วบอกลูกว่า “ขาอยู่นี่!” แล้วทำซ้ำกับส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ก็จะช่วยให้เด็กรู้จักถึงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้

7. เล่นแยกซ้ายขวา

เมื่อลูกเริ่มโตขึ้น เริ่มคลาน หรือเริ่มเดินได้แล้ว คุณพ่อคุณแม่ลองหาของเล่นที่ลูกชอบสักสามชิ้น วางไว้ด้านหน้าของลูกให้ห่างออกไปเล็กน้อย โดยวางแยกกันแบ่งเป็น ซ้าย ขวา และตรงกลาง จากนั้นก็บอกให้ลูกคลานหรือเดินไปหยิบของเล่นที่อยู่ทางด้านซ้าย ขวา หรือตรงกลาง พร้อมทั้งพยายามแนะนำลูกว่าด้านไหนคือซ้าย ด้านไหนคือขวา โดยอาจจะทำซ้ำในทิศทางเดียวกันสัก 2-3 ครั้ง และที่สำคัญ อย่าลืมชื่นชมเมื่อลูกไปถูกทาง และหยิบของเล่นได้อย่างถูกต้องด้วยนะ

8. ทายของช่วยความจำ

คุณสามารถช่วยลูกน้อยให้มีพัฒนาการที่ดีทางด้านความจำได้ ด้วยวิธีการเล่นง่าย ๆ อย่างเช่น หาของเล่นมาวางไว้หน้าลูกสัก 4-5 ชิ้น แล้วให้ลูกดู แล้วจำว่ามีอะไรบ้าง จากนั้นก็ใช้ผ้าปิดของเล่นไว้ แล้วนับ 1-10 แล้วจึงให้ลูกทายว่าภายใต้ผ้าคลุมนั้นมีของอะไรอยู่บ้าง

หรืออาจจะหาลูกบอลเล็ก ๆ มาวางแบ่งเป็น 3 กอง จำนวนต่างกันไป แล้วให้ลูกจำว่ากองไหนมีจำนวนลูกบอลเท่าไหร่ แล้วจึงหาแก้วทึบ หรือภาชนะมาปิด แล้วให้ลูกทาย โดยคุณพ่อคุณแม่อาจจะลองสลับกองไปมา เพื่อให้ลูกได้มองและคิดตามไปด้วยก็ได้

9. ซ่อนของตามรูปทรง

หาของเล่นที่มีรูปทรงต่างกันออกไป เช่น ทรงกลม ทรงสี่เหลี่ยม ทรงสามเหลี่ยม โดยอาจจะเลือกของเล่นที่มีสีสันสดใส แล้วนำไปซ่อนในที่ที่คิดว่าลูกจะหาเจอ และให้ลูกน้อยช่วยค้นหาโดยการพูดว่า “มีของเล่นรูปสี่เหลี่ยมสีแดงซ่อนอยู่ตรงไหนนะ?” “บนเตียงนอนมีของเล่นทรงกลมสีเหลืองหรือเปล่านะ ลองขึ้นไปหาให้พ่อกับแม่หน่อยนะจ๊ะ” เพราะคำถามเหล่านี้จะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับรูปร่าง รูปทรง และสีสัน รวมไปถึงทิศทางได้

10. เล่นนิ่งชนะ

เพราะเด็กในช่วงวัยนี้ มักจะได้รับการกระตุ้นอยู่ตลอด ทั้งจากพ่อแม่ หรือญาติที่มาเยี่ยม ซึ่งในบางครั้ง เด็ก ๆ ก็อาจจะต้องการเวลาที่เงียบสงบ ในการคิด และเรียนรู้สิ่งที่อยู่รอบตัวของพวกเขาบ้าง เมื่อลูกน้อยโตพอที่จะเข้าใจประโยคง่าย ๆ ได้แล้ว ก็อาจจะลองบอกลูกว่า “ใครขยับตัวก่อนชนะ” หรือหากไม่เล่นเกม ก็อาจจะหาที่สงบ ๆ นั่งบนเก้าอี้โยก ให้ลูกนั่งตัก แล้วอ่านนิทานให้ลูกฟังก็ดีไม่น้อย


ที่มา sg.theasianparent

 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

รู้หรือไม่!! MFGM คือ สารอาหารในนมแม่ ช่วยพัฒนาสมองของลูกรัก ให้พร้อมเรียนรู้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

มัดรวมประโยชน์ของ “แลคโตเฟอร์ริน” สารอาหารยืนหนึ่ง เรื่องสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกรัก

4 เรื่องต้องรู้เมื่อมีลูกน้อย ตารางเลี้ยงเด็ก วัย 0-1 ปี อะไรบ้างที่สำคัญ

วิธีทําให้ลูกฉลาด 30 วิธีง่ายๆ ช่วยลูกสมองดี หัวไวตั้งแต่ยังแบเบาะ

บทความโดย

P.Veerasedtakul