วิธีจัดการกับ วัย 2 ขวบ ทำความเข้าใจกับช่วงรับรู้ไว ให้ไปไกลได้กว่าที่คิด

เมื่อลูกน้อยเริ่มย่างเข้าสู่ วัย 2 ขวบ หลายๆ บ้านก็เริ่มพบกับความเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่าง เด็กวัย 2 ขวบ นี้เริ่มสื่อสารได้ดีขึ้น

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

เมื่อลูกน้อยเริ่มย่างเข้าสู่ วัย 2 ขวบ หลายๆ บ้านก็เริ่มพบกับความเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่าง เด็ก วัย 2 ขวบ นี้เริ่มสื่อสารได้ดีขึ้น มีพละกำลังของกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ มากขึ้น และเริ่มมีความคิดอ่านเป็นของตัวเอง เมื่อถึงจุดนี้ แม้จะมีเรื่องน่าภูมิใจหลายเรื่อง หากก็มักพบว่าลูกน้อยเปลี่ยนจากเด็กที่เคยว่าง่ายเป็นโวยวายได้ทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ แต่ก่อนคุณพ่อคุณแม่จะโทษทุกอย่างไปกับอาการที่เรียกกันว่า “ระยะวัยทองสองขวบ” เรามาลองพยามทำความเข้าใจลูกน้อยกันดีกว่าค่ะ ว่าสาเหตุอะไรที่ทำให้เด็กๆ มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นนี้

 

ถึงเราจะเรียกรวมๆ ว่าเป็นวัยทองสองขวบหรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า The terrible twos แท้จริงแล้ว สิ่งที่พ่อแม่สังเกตเห็นเป็นพฤติกรรมที่พบได้ทั่วไปของเด็กเล็กอายุราวขวบครึ่งถึงสามขวบค่ะ เด็กวัยนี้จะมีแรงกระตุ้นให้ต้องทำตามกฎระเบียบของตัวเอง หากพ่อแม่ทำอะไรที่ผิดจากสิ่งที่เด็กคิดไว้ว่าเป็นกฎกติกา เด็กอาจร้องไห้ขัดขืน ทำให้ผู้ใหญ่ชอบคิดว่าเด็กงอแงไม่เป็นเรื่อง แต่จริงๆ แล้ว เด็กน้อยกำลังอยู่ในช่วงที่เรียกว่า “ช่วงรับรู้ไว” หรือ sensitive period ต่างหาก ซึ่งในช่วงรับรู้ไวนี้ลูกมักจะตอบสนองอย่างรุนแรงต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างมีวัตถุประสงค์ ช่วงรับรู้ไวนั้นถือเป็นเวลาทองของการเรียนรู้ เพราะเด็กจะพัฒนาความสามารถลักษณะใดลักษณะหนึ่งได้ง่ายในช่วงรับรู้ไว เช่น ช่วงรับรู้ไวต่อระเบียบ ช่วงรับรู้ไวต่อการออกกำลังกาย ช่วงรับรู้ไวต่อสังคม ซึ่งหากผ่านเลยวัยที่เป็นช่วงรับรู้ไวของพัฒนาการด้านนั้นๆ ไปแล้ว ก็จะทำให้พัฒนาศักยภาพด้านนั้นๆ ได้ยากขึ้น จึงอยากชวนคุณพ่อคุณแม่มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับช่วงรับรู้ไวในรูปแบบต่างๆ กันค่ะ

 

ช่วงรับรู้ไวต่อระเบียบ 

ไวต่อระเบียบ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็อย่างเช่น พฤติกรรมยึดติดต่อลำดับขั้นตอน สำหรับหลายๆ บ้าน การแต่งตัวออกจากบ้านเป็นเหมือนสงครามย่อยๆ ในทุกๆ เช้า ในเวลาที่พ่อแม่เร่งรีบ พยามจะออกจากบ้านให้ทันเวลา เด็กๆ กลับทำนู่นทำนี่ซึ่งบางทีก็ไม่จำเป็น พอเริ่มจะสายพ่อแม่ก็จะเข้าไปช่วยเพื่อให้เร็วขึ้น ทีนี้ละอยู่ดีๆ เจ้าตัวน้อยก็ลงไปนั่งร้องไห้โวยวายเสียอย่างนั้น ซึ่งพ่อแม่บางทีก็จะมองว่าลูกนั้นโยเยเอาใจยาก แต่หากสังเกตให้ลึกลงไปอีกนิด พ่อแม่อาจค้นพบคำตอบง่ายๆ ก็ได้ เช่น ปกติตัวเองจะสวมเสื้อ สวมกางเกง แล้วค่อยสวมถุงเท้าให้ลูกสาวค่ะ แต่มีวันนึง คุณยายมาช่วยแต่งตัวตอนเช้า แล้วคุณยายไปใส่ถุงเท้าก่อนใส่กางเกง เพราะกางเกงขาค่อนข้างยาวและแคบ คุณยายแกสะดวกดึงขาลงมาปิดถุงเท้ามากกว่าพยายามที่จะเลิกขากางเกงขึ้นแล้วใส่ถุงเท้าตามไป ทีนี้ลูกสาวก็มีโมโห งอแงไม่ยอมออกจากบ้าน ซึ่ง ณ จุดนั้น ตอนแรกก็นึกว่าลูกงอแงไม่อยากไปโรงเรียน แต่พอเห็นเธอพยายามถอดทั้งกางเกงและถุงเท้าเพื่อใส่ใหม่ ให้ใส่กางเกงก่อนถุงเท้า เลยคิดได้ว่า น่าจะเป็นเรื่องของพฤติกรรมยึดติดต่อลำดับขั้นตอนมากกว่า 

 

คำแนะนำในการรับมือกับลูกที่อยู่ในช่วงรับรู้ไวต่อระเบียบ คือ สังเกตลำดับขั้นตอนและความต้องการของลูก และพยายามทำตามลำดับขั้นตอนนั้นๆ เพื่อลดความสับสน เช่น เราเคยให้ลูกกดลิฟท์เองนะ เราเคยให้ลูกเปิดประตูเองนะ พฤติกรรมใดที่ไม่พึงประสงค์ก็ควรรีบห้ามเพื่อไม่ให้ทำจนติดเป็นกิจวัตร และควรมีความสม่ำเสมอ คือถ้าจะห้ามก็ห้ามให้ตลอด จะอนุญาตก็อนุญาตให้ตลอด ตั้งให้เป็นกฎกติกาเพื่อฝึกระเบียบวินัยไปด้วยในตัว อีกทั้งเราสามารถจะช่วยลูกให้คิดและจัดการด้วยตนเองในช่วงไวต่อระเบียบนี้ได้ ด้วยการพยายามส่งเสริมให้ลูกอธิบายลำดับที่ต้องการออกมา อาจใช้คำถามชี้นำ ถามว่าต่อไปลูกอยากจะทำอะไร ให้ตัวเลือก เพื่อให้ลูกได้ฝึกการตัดสินใจด้วยตัวเอง อีกทั้งสามารถถามก่อนจะช่วยเหลือว่าลูกอยากจะให้ช่วยอะไรไหม ซึ่งเด็กหลายๆ คนจะพึงพอใจมากกว่าที่ได้รู้สึกว่าได้ทำเองโดยมีผู้ใหญ่ช่วยเหลือเล็กน้อย มากกว่าการไปทำให้เลยค่ะ

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ช่วงรับรู้ไวต่อการออกกำลังกาย

ไวต่อการออกกำลังกาย

เด็กวัยนี้ มีความต้องการที่จะบริหารกล้ามเนื้อ ขยับแขนขา ทดลองใช้อวัยวะต่างๆ ของร่างกาย และเรียนรู้ที่จะบ่มเพาะประสาทรับรู้ความสมดุล เด็กในช่วงรับรู้ไวต่อการออกกำลังกายนี้จะชอบเดินบนพื้นต่างระดับ ปีนป่ายที่สูงๆ หรือขว้างปาสิ่งของเพื่อทดสอบพลังแขน ถึงแม้คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องปวดหัวกับพฤติกรรมเหล่านี้ของลูกน้อย แต่ขอให้พยายามรำลึกไว้เสมอว่า ทุกๆ กิจกรรมที่ลูกได้บริหารกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกายนั้น เป็นโอกาสทองที่พ่อแม่กำลังได้สนับสนุนลูกให้เพิ่มศักยภาพการใช้อวัยวะต่างๆ ให้ได้อย่างแคล่วคล่อง และที่สำคัญ ยังช่วยให้สมองกับร่างกายทำงานสัมพันธ์กันได้ดี โดยเฉพาะกิจกรรมที่บริหารปลายนิ้วเช่นการหยิบ จับ ดึง คีบ จะเป็นพฤติกรรมที่ช่วยกระตุ้นสมอง เตรียมพร้อมต่อการหยิบจับปากกาดินสอ ลากเส้น ระบายสี ไปจนถึงการเขียนตัวหนังสือในอนาคต

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

วิธีการส่งเสริมลูกในช่วงรับรู้ไวต่อการออกกำลังกาย คือพยายามห้ามให้น้อย สิ่งนี้อาจจะดูทำได้ยากสำหรับพ่อแม่ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องเป็นห่วงกลัวว่าลูกจะมีอันตราย แต่อย่างไรก็ดี พ่อแม่ก็ยังมีวิธีพูดที่ให้ได้ประสิทธิผลโดยห้ามให้น้อยเข้าไว้ เช่น แทนที่จะห้ามว่าอย่าวิ่ง ก็ให้พูดว่า เดินช้าๆ นะลูก หรือบอกเป็นกติกาว่า ลานจอดรถวิ่งไม่ได้ แต่ลูกวิ่งในสวนสาธารณะได้เต็มที่เลยนะ หากเด็กขว้างปาข้าวของก็อาจจะจัดมุมปาของแข่งกัน ให้เด็กได้ทดลองกำลังตามความสนใจแต่ก็เข้าใจในกติกาว่าจะปาของได้เฉพาะในพื้นที่นี้เท่านั้น ดังนั้นถ้าเห็นเด็กทำอะไรแปลกๆ เช่น เดินตามเส้นตามพื้นถนน ปีนพื้นเอียง หยิบจับเศษผงเล็กๆ บนพื้น ฉีกกระดาษสมุดหนังสือแทนที่จะดุว่าห้ามปราม ลองเปิดใจและหาวิธีตั้งกติกาที่เหมาะสมและปล่อยให้เค้าได้เล่นบ้างตามสมควรนะคะ

 

ช่วงรับรู้ไวต่อสังคม

ไวต่อสังคม

ถ้าสังเกตดีๆ ช่วงอายุนี้จะเป็นช่วงที่เด็กกระตือรือร้นที่จะทำตามแบบอย่างและพยายามช่วยงานคุณพ่อคุณแม่เป็นอย่างมาก นี่เป็นส่วนหนึ่งของช่วงรับรู้ไวต่อสังคมของเด็กที่อยากทำตัวมีประโยชน์ อยากทำให้คนรอบข้างยอมรับ และ อยากแสดงให้ผู้ใหญ่เห็นว่ามีศักยภาพที่จะทำสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง เรื่องราวแบบนี้อาจพบเจอบ่อยกว่าที่คิด อย่างเช่นวันก่อนแต่งตัวกันอยู่ดีๆ ลูกสาวก็ลงไปกรีดร้อง ดิ้นๆ พยายามทึ้งเสื้อออกจากตัว แม่ก็ได้แต่งงว่า มันเกิดอะไรขึ้น ใช้เวลาหลายนาทีทีเดียวค่ะ ที่จะทำความเข้าใจกับลูก ที่ยังพูดไม่คล่อง ว่าเป็นเพราะแม่เบลอ มือไวไปปิดกระดุมให้ ทั้งๆ ที่ปกติแล้ว เสื้อกระดุมแป๊ะแบบนี้ จะให้ลูกได้ลองปิดด้วยตัวเอง หนูน้อยเลยต้องการเอาเสื้อออก เพื่อใส่ใหม่แล้วเธอจะได้ปิดกระดุมด้วยตัวเอง ซึ่งก็จะเป็นความต้องการของเด็กวัยนี้ที่พยายามจะแสดงออกว่าทำอะไรๆ ได้ด้วยตัวเองแล้ว ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องพยายามเข้าอกเข้าใจ เผื่อวันไหนพลาดไปแล้วลูกน้อยโยเย จะได้แก้ได้ถูกจุดอย่างใจเย็น

 

คุณพ่อคุณแม่สามารถสนับสนุนพัฒนาการของลูกในช่วงรับรู้ไวต่อสังคมได้โดยการปล่อยโอกาสให้ลูกได้ลองผิดลองถูกเองบ้าง อย่าเพิ่งรีบเข้าไปช่วย แม้เราจะทำเองเร็วกว่า หรือทำได้ถูกต้องเรียบร้อยมากกว่าเพราะการได้ทำด้วยตัวเองนั้นจะเสริมสร้างความมั่นใจให้กับลูกน้อย ฝึกให้ลูกได้ช่วยงานบ้านที่ง่ายๆ เพื่อให้ลูกรู้สึกได้รับการยอมรับเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว มีหน้าที่รับผิดชอบของตน อีกเรื่องที่ควรระวังไว้เมื่อลูกช่วยงานเรา หลายๆ ครั้งพ่อแม่ก็อดจะออกปากชมไม่ได้ว่า เก่งจังเลย อย่างไรก็ดี ถ้าชมบ่อย เด็กจะยึดติดกับคำชมซึ่งไม่ดีในอนาคต ดังนั้นสิ่งที่น่าจะทำมากกว่าคือการขอบคุณอย่างจริงใจ แค่ได้ยินพ่อแม่พูดว่าขอบคุณนะ ลูกก็จะเกิดความภาคภูมิใจในตัวเองแล้ว

 

จะเห็นได้ว่า อาการต่างๆ ของวัยทองสองขวบหลายอย่างเลยที่เป็นผลพวงมาจากช่วงรับรู้ไวต่างๆ ซึ่งความเข้าใจตรงนี้จะทำให้คุณพ่อคุณแม่สามารถรับมือกับพฤติกรรมของลูกน้อยได้อย่างใจเย็น และมีวิธีการดูแลหนูน้อยอย่างเข้าอกเข้าใจเพื่อใช้ประโยชน์จากช่วงรับรู้ไวให้ได้เต็มที่ในการพัฒนาศักยภาพของลูกน้อยให้เก่งรอบด้านอย่างเหมาะสมค่ะ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

 

เรียบเรียงจาก หนังสือ หนูทำได้สไตล์มอนเตสซอรี เขียนโดย คันนาริ มิกิ

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ :

นมเด็กแต่ละช่วงวัย ข้อควรรู้ก่อนการเสริมนมผง แม่ทุกคนต้องทราบ

อาหารเด็ก 2 ขวบ ของหวาน เมนูเด็ก รสชาติอร่อย เพิ่มพัฒนาการ!

เมนูผัก 2 ขวบ เมนูผักที่เด็กกินได้ เมนูผักแสนอร่อย น่ากิน