แม่โพสต์อุทาหรณ์ วัคซีนโรต้า
คุณแม่โพสต์อุทาหรณ์ เรื่องความสำคัญของ วัคซีนโรต้า ว่า สวัสดีค่ะ แม่ ๆ ทั้งหลาย วันนี้เรามีประสบการณ์เรื่อง “วัคซีนโรต้า” มาฝาก
- ช่วงปีใหม่ลูกเรามีอาการ อ้วก ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่เป็นอะไรเลย ไม่มีอาการว่าจะไม่สบาย ลูกนั่งเล่นปกติ อ้วกพุ่งออกมา เราเลยแปลกใจว่า ลูกเป็นอะไร กินนมก็อ้วกออกตลอดวันละ 4-5 ครั้ง จนเริ่มซึม เราเข้าไปดูใน google คิดว่าลูกอาจจะเป็นโรคขาดน้ำ เราเลยให้ลูกกินเกลือแร่ ซึ่งช่วงแรก ๆ ลูกจิบ ๆ ๆ พอทุเลาได้บ้าง
- วันที่ 2 มีอาการ อ้วก และไข้ขึ้น ขึ้นประมาน 38.5 กว่า ๆ เช็ดตัวกินยาก็ไม่ดีขึ้น และเริ่มซึม ซึ่งลูกเราอาจจะไม่ใช่เด็กที่ร่าเริงมากมายเท่าไหร่ นางจะขี้ร้องและเอาแต่ใจซะมากกว่า แต่นางเริ่มซึม ไม่เล่นไม่เอาอะไร โทรศัพท์ไม่เตะ ให้ท่องอะไรไม่ท่อง จากเป็นเด็กขี้ร้อง ก็ไม่ร้อง นอนซึม นอนเฉย ๆ
- เป็นอย่างนี้มาถึงคืนที่ 3 ถ่ายท้อง เป็นน้ำสีเขียว ๆ อ้วก ไข้ขึ้น (อย่าดราม่านะคะว่า ทำไมไม่พาลูกไปหาหมอ ติดช่วงปีใหม่ หมอเด็กขาดแคลน) เราให้ลูกกินอะไรก็ไม่กิน กินแต่นม และน้ำ ผอมลงทุกวัน เป็นแบบนี้จนเข้าวันที่ 4 พาไปหาหมอ หมอรับตัวไว้เลยค่ะ ช่วงระยะเวลานั้น อยู่กับหมอก็ไม่ดีขึ้น หมอเลยคิดว่าน่าจะ ลำไส้ติดเชื้อ ก็ให้กินนม ท้องเสีย ป้อนข้าวต้ม ให้น้ำเกลือ ก็ยังเหมือนเดิม และซึมมากขึ้น จนวันที่หมอขอดูสมุดชมพู
หมอตอบเราอย่างมั่นใจว่า น้องเป็นไวรัสโรต้า ต้องให้ยาฆ่าเชื้อตลอด เพราะในระหว่างลูกอายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน ลูกไม่ได้เสริมวัคซีนโรต้า เราไม่คิดว่ามันจะสำคัญขนาดนั้น หมอบอกว่า ไวรัสตัวนี้เกิดขึ้นกับเด็กตั้งแต่ 6 เดือน – 5ขวบ เป็นมากเป็นน้อยคือเป็น แล้วแต่ภูมิต้านทานเด็กแต่ละคนมีมากมีน้อย เพราะความที่เราไม่ดูแลใส่ใจเรื่องการฉีดยาลูกว่าควรเสริมตัวไหนบาง คิดว่าแค่ที่เด็กต้องได้รับก็พอ ทำให้ลูกเราเป็นได้ขนาดนี้ สำคัญมากนะคะ ถึงจะแพงแต่ก็คุ้มกับลูกเรา ถ้าเราเห็นลูกเราซึม แบบไม่พูดไม่จา เราก็น้ำตาตกในแล้วค่ะ ฝากด้วยนะคะ
*ไม่ได้เกิดจากวัคซีนอย่างเดียวนะคะ ต้องดูแลเด็ก เช่น ล้างมือบ่อย ๆ ของเล่นของลูก สิ่งของที่นำเข้าปาก ดูแลความสะอาดลูกด้วยเช่นกัน ลูกบ้านนี้ 2 ขวบ 10 เดือน ไม่ค่อยเอาไรเข้าปากมั่ว เพราะนางโตแล้ว มีหลายปัจจัยค่ะ*
ขอบคุณ แม่ ๆ ๆ ทุกท่านที่อ่านจบ ฝากถึงแม่ ๆ ที่กำลังจะคลอดน้องด้วยนะคะ สำคัญมากค่ะ จำให้ขึ้นใจเลย **วัคซีนโรต้า**
โรต้าไวรัส สาเหตุโรคอุจจาระร่วง
วิจัยพบว่า เด็กแรกเกิดถึง 5 ขวบแทบทุกคนเคยติดเชื้อนี้กันมาแล้ว และมีถึง 1 ใน 10 รายที่อาจเป็นซ้ำ ๆ ได้ถึง 5 ครั้ง ไวรัสโรต้าเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงรุนแรงในเด็กเล็กที่อาจคร่าชีวิตลูกน้อยได้
สังเกตอย่างไรว่าลูกติดเชื้อไวรัสโรต้า
- มีอาการถ่ายเหลว
- อาเจียนอย่างหนัก จนเกิดภาวะขาดน้ำ
- ไม่สามารถรับประทานอาหารได้
- ถ้าเป็นซ้ำ ๆ อาจทำให้ขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต
ส่วนผลร้ายของโรคอุจจาระร่วง ไม่ใช่แค่อาการท้องเสียที่ส่งผลต่อร่างกายลูกน้อย แต่ยังหมายรวมถึง การส่งผลร้ายต่อพัฒนาการของเด็ก ทำให้พัฒนาการของเด็กหยุดชะงัก โดยเฉพาะวัย 5 ปีแรก ซึ่งเป็นวัยแห่งพัฒนาการ ทั้งศักยภาพทางสมองและสมรรถภาพร่างกายกำลังเจริญเติบโตเต็มที่
วิจัยพบผลกระทบต่อพัฒนาการทารก
เด็กที่ได้รับเชื้อไวรัสโรต้าและมีอาการของโรคท้องเสียซ้ำ ๆ ในช่วงวัย 1 – 2 ปี จะได้รับผลกระทบต่อร่างกายด้านต่าง ๆ เช่น
- ความสูงที่อาจจะต่ำกว่าเด็กทั่วไปถึง 8.2 เซนติเมตร ในวัยก่อน 7 ปี
- ความพร้อมต่อการเรียนรู้ช้ากว่าเด็กทั่วไปในช่วงวัยเรียน
- เด็กที่ท้องร่วงซ้ำ ๆ ก่อนอายุ 2 ปี จะทำให้เด็กมีพัฒนาการทางสมองหรือไอคิวต่ำกว่าเด็กวัยเดียวกันถึง 10 จุด
การศึกษาวิจัยยังพบอีกว่า ท้องร่วงยังมีผลต่อภาวะขาดสารอาหารตั้งแต่เด็ก ซึ่งส่งผลกระทบทำให้น้ำหนักของเด็กบางคนเพิ่มขึ้นน้อยกว่าปกติ
วิธีป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการที่พ่อแม่สอนลูกน้อยให้มีสุขอนามัยที่ดี สอนให้ลูกรู้จักล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำ เปลี่ยนผ้าอ้อม ทำธุระเสร็จ หรือก่อนรับประทานอาหาร หมั่นทำความสะอาดของเล่นทุก ๆ ครั้ง หลีกเลี่ยงการใช้ช้อนร่วมกันขณะรับประทานอาหาร นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกน้อยไปรับการหยอดวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า เพื่อป้องกันและลดความรุนแรงของโรคอุจจาระร่วงได้
วัคซีนโรต้าสามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้
1) วัคซีนโรต้า ชนิดที่ทำมาจากสายพันธุ์มนุษย์
โดยจะหยอด 2 ครั้ง เมื่อเด็กอายุ 6 สัปดาห์ขึ้นไปและ 4 เดือน
2) วัคซีนโรต้า ชนิดที่ทำมาจากวัว
โดยจะหยอด 3 ครั้ง จะให้กิน 6 เดือน
นอกจากนี้ยังมีวิธีง่ายๆ ที่คุณแม่สามารถป้องกันได้ด้วยตนเอง คือ ให้นมลูกอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อให้เด็กมีภูมิคุ้มกันที่ดีอีกด้วย
อาการข้างเคียงหลังฉีด วัคซีนโรต้า
อาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน ได้แก่ ลูกน้อยอาจมีอาการท้องร่วงหรืออาเจียนภายใน 7 วันหลังรับวัคซีนได้ แต่อาการจะมีเพียงเล็กน้อยและมีโอกาสพบน้อย ไม่พบทำให้เกิดอาการข้างเคียงรุนแรง
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ผู้ใหญ่เป็นพาหะเชื้อไวรัส RSV สู่ทารก เอ็นดูอยู่ห่าง ๆ ปลอดภัยกับเด็กมากกว่า
แม่แชร์ลูกชายป่วยเป็นโรคคาวาซากิ โชคดีที่รักษาเร็ว ไม่งั้นลูกคงไม่รอด
ลูกจำเป็นต้องฉีดวัคซีนไหม ในเมื่อฉีดแล้วแพ้ มีไข้ บางทีต้องแอดมิน