ลูกในท้องหายใจยังไง
เคยสงสัยไหมว่า ลูกในท้องหายใจยังไง ? ในระหว่างที่ลูกยังอยู่ในท้องของคุณแม่นั้น ระบบทางเดินหายใจของทารกจะเริ่มมีการเจริญเติบโตและพัฒนาขึ้น โดยที่ออกซิเจนจะถูกส่งผ่านจากแม่ไปสู่ลูกผ่านทางรก ซึ่งมีการพัฒนาขึ้นหลังจากการฝังตัวที่ผนังมดลูกได้ประมาณ 3 – 4 สัปดาห์ โดยพัฒนาการของระบบทางเดินหายใจ และปอดของทารกนั้น สามารถแยกได้เป็นระยะย่อยๆ ได้ 5 ระยะ ดังนี้
1. เริ่มต้นประมาณสัปดาห์ที่ 4 หลังจากการฝังตัวที่ผนังมดลูก
ระยะเริ่มต้นประมาณสัปดาห์ที่ 4 หลังจากการฝังตัวที่ผนังมดลูก จะมีการสร้างท่อทางเดินหายใจแรกเริ่ม โดยระยะนี้ มีเหตุการณ์ที่สำคัญเกิดขึ้น 2 อย่าง คือ
- มีการสร้างท่อทางเดินหายใจแรกเริ่ม ที่พัฒนามาจากการแตกแขนงของเยื่อบุทางเดินอาหารชั้นใน
- มีการสร้างหลอดเลือด บริเวณรอบๆ ทางเดินหายใจ
2. เริ่มประมาณสัปดาห์ที่ 6 หลังจากการฝังตัวที่ผนังมดลูก
ในระยะนี้ ท่อทางเดินหายใจขนาดใหญ่เริ่มปรากฏชัดเจนแล้ว มีการสร้างหลอดเลือดแดง ที่นำเลือดมาจากหัวใจห้องล่างขวาไปปอด และหลอดเลือดดำที่นำเลือดมาจากปอดสู่หัวใจห้องบนซ้าย และมีการพัฒนาท่อทางเดินหายใจแรกเริ่ม แยกส่วนของหลอดลมและหลอดอาหารออกจากกัน
ท่อทางเดินหายใจจะแตกแขนงไปจนกระทั่งถึงระดับของแขนงขั้วปอดที่มีขนาดเล็กที่สุด ซึ่งจะปรากฏชัดเจนเมื่ออายุครรภ์ 16 สัปดาห์
กะบังลมถูกสร้างขึ้นทั้ง 2 ข้าง ซ้ายและขวามาบรรจบกันต33รงกลาง ทำหน้าที่เป็นตัวปิดกั้นระหว่างช่องอกและช่องท้องและกำหนดการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อปอดในแนวตั้ง
3. เริ่มต้นเมื่ออายุครรภ์ได้ประมาณ 16 – 28 สัปดาห์
เริ่มต้นเมื่ออายุครรภ์ได้ประมาณ16 – 28 สัปดาห์ ทางเดินหายใจตอนต้นส่วนใหญ่พัฒนาเสร็จสมบูรณ์แล้ว พร้อมทำหน้าที่แลกเปลี่ยนก๊าซ เริ่มมีการสร้างเซลล์ทำหน้าที่สร้างสารลดแรงตึงผิว (Surfactant) เคลือบบริเวณถุงลม เพื่อเตรียมความพร้อมในการขยายตัวของปอดเมื่อลูกเริ่มหายใจครั้งแรก โดยจะเสร็จสมบูรณ์สามารถทำหน้าที่ได้เมื่ออายุครรภ์ 34 สัปดาห์ นอกจากนี้หลอดเลือดฝอยบริเวณรอบๆ ทางเดินหายใจเริ่มหนาแน่นและปรากฏชัดเจนขึ้น
รูจมูกของลูกจะเริ่มเปิดราวสัปดาห์ที่ 26 ลูกจึงเริ่มฝึกการหายใจ โดยมีการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อทรวงอก และมีน้ำคร่ำไหลจากจมูกเข้าสู่ปอด
4. เริ่มเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 28 – 36 สัปดาห์
ทางเดินหายใจส่วนปลายจะขยายกว้างออก โดยปอดของทารกจะเริ่มพัฒนาสมบูรณ์เต็มที่ เมื่ออายุครรรภ์ได้ 35 สัปดาห์เป็นต้นไป
5. เริ่มเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 36 – 37 สัปดาห์
ระยะนี้ มีการแยกของ Terminal saccules ออกเป็นถุงลมหลายๆอัน เมื่อทารกคลอดออกมา และคุณหมอทำการตัดสายรก เมื่อนั้นรกจะหมดหน้าที่ในการส่งออกซิเจนไปยังทารก เด็กก็จะเริ่มหายใจและได้รับออกซิเจนทางปอดแทน
ถ้าแม่ท้องหายใจไม่สะดวก ลูกจะหายใจติดขัดไหม
ก่อนอื่นเรามาดูกันก่อนครับว่า ทำไมคนท้องถึงหายใจไม่สะดวก โดยประมาณช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์นั้น ฮอร์โมนของแม่ท้องจะไปกระตุ้นให้แม่ท้องหายใจถี่และลึกมากขึ้น ซึ่งนั่นก็เป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงของร่างกายในระหว่างตั้งครรภ์ และในช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ ราวๆสัปดาห์ที่ 31 มดลูกของแม่ท้องได้มีการขยายใหญ่ขึ้น จนอาจไปกดบริเวณปอดของคุณแม่ ทำให้ปอดขยายไม่เต็มที่ แม่ท้องจึงรู้สึกหายใจลำบากนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคุณแม่ท้องจะรู้สึกหายใจไม่สะดวก และไม่สบายตัว แต่อาการเช่นนี้ไม่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์นะครับ เนื่องจากทารกในครรภ์มีการเก็บสะสมออกซิเจนอย่างเพียงพอผ่านทางรก
เมื่อไหร่ที่ต้องกังวล
หากแม่ท้องมีอาการหายใจติดขัดรุนแรง จนริมฝีปากหรือปลายนิ้วซีด หรือเปลี่ยนเป็นสีม่วง หรือมีอาการเจ็บหน้าอก ชีพจรเต้นเร็ว หรือไอไม่หยุด ควรรีบไปพบคุณหมอทันที หรือหากคุณแม่เริ่มหายใจติดขัดและรู้สึกกังวลใจก็สามารถไปพบคุณหมอเพื่อเข้ารับการวินิจฉัยแต่เนิ่นๆเพื่อความสบายใจก็ได้นะครับ
เรียบเรียงจาก whattoexpect, med.cmu.ac.th
บทความอื่นๆที่น่าสนใจ
อยากมีครรภ์คุณภาพ ลูกในท้องแข็งแรง ต้องดูแลแบบนี้ แท็กสามีได้เลย
ใกล้เวลาผ่าคลอดแล้ว คุณพร้อมแค่ไหน? มีใครตื่นเต้นบ้าง
ถ้าคนท้องอ้วน ลูกจะอ้วนตามไปด้วยไหม ตอนคลอดจะน่ากลัวขนาดไหน แล้วจะทำไงดี