ลูกเสียนิสัย โดยไม่รู้ตัว
กุมารแพทย์ออกมาเตือนพ่อแม่และผู้ปกครองทั้งหลาย ต้องระวังการเลี้ยงลูกในยุคดิจิตอลให้มากขึ้น เพราะพฤติกรรมบางอย่างจากพ่อแม่เองก็เป็นปัจจัยสร้างให้ ลูกเสียนิสัย จนนิสัยเสียได้ จากเด็กที่เคยสดใส แข็งแรง อาจกลายเป็นเด็กขี้โรค พฤติกรรมที่ว่ายังส่งผลร้ายสุขภาพ และมีผลกระทบระยะยาวต่อการดำเนินชีวิตในอนาคตของลูกได้
10 พฤติกรรมที่สร้างให้ ลูกเสียนิสัยรู้ตอนนี้แก้ไขไม่มีคำว่าสาย!
#1 ปล่อยให้ลูกไม่ได้ทานอาหารเช้า
อาหารเช้าสำหรับเด็ก ๆ จำเป็นมากนะคะ เพราะการกินเช้านั้นจะมีประโยชน์ต่อสมองของลูก ช่วยให้สมองเรียนรู้ได้ดี และหากปล่อยให้ลูกหิว พอเข้าช่วงพัก เด็ก ๆ มักจะสนใจขนมขบเคี้ยวหรือขนมหวานกินมากกว่าข้าวแล้ว พฤติกรรมเหล่านี้จะทำให้ลูกติดนิสัยการกินที่ไม่ดี ติดกินแต่ขนม ที่จะทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารน้อย ส่งผลไม่ดีต่อร่างกายและการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ได้นะคะ
#2 ปล่อยให้ลูกกินเครื่องดื่มรสหวานหรือน้ำอัดลมชนิดต่างๆ
เครื่องดื่มเหล่านี้บอกได้เลยว่าไม่มีประโยชน์ต่อเด็ก ๆ เลย เพราะมีน้ำตาลค่อนข้างมากที่ให้พลังงานเกินความต้องการของร่างกาย เมื่อกินเยอะก็จะสะสมเป็นไขมันและเกิดโรคอ้วนในเด็กตามมาได้ แถมในน้ำอัดลมยังมีแก๊สที่ไปทำร้ายกระเพาะ ลำไส้ ดื่มมากไปก็อาจทำให้เกิดเกิดแผลในกระเพาะได้ ในปัจจุบันประเทศที่ผลิตน้ำอัดลมรายใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา ก็ออกมารณรงค์ให้เด็กลดการดื่มน้ำอัดลมกันแล้วนะคะ
#3 ปล่อยให้ลูกนั่งกินข้าวหรือเล่นคนเดียว
นักวิจัยพบว่าเด็กที่นั่งทานข้าวพร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัวทุกวัน จะมีภาวะโภชนาการที่ดีกว่าเด็กที่นั่งทานอาหารคนเดียว เพราะการทานอาหารร่วมกับครอบครัว จะช่วยให้พ่อแม่ควบคุมเรื่องปริมาณอาหารการกินของลูกได้ โดยเฉพาะลูกที่เลือกกินหรือกินน้อย สามารถเลือกอาหารที่มีคุณค่าให้ลูกกิน สร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครอบครัว ที่ใช้เวลาอาหารร่วมกัน
#4 ปล่อยให้ลูกดูทีวีนานเกินไป
การปล่อยให้ลูกดูทีวีหรือพวกอุปกรณ์สมาร์ทโฟนมาเกินไป โดยไม่จำกัดเวลาหรือนั่งควบคุมดูไปพร้อมกับลูก ทำให้เด็กขาดการทำกิจกรรมอื่น ๆ อาจทำให้ลูกกลายเป็นเด็กสมาธิสั้นไปได้ หรือกินไปดูไปก็ส่งผลให้เกิดโรคอ้วนที่จะตามมา ดังนั้นคุณพ่อคุณควรจำกัดเวลาดูของลูกที่ไม่ควรให้ลูกเล็กต่ำกว่า 2 ขวบได้สัมผัสกับสิ่งเหล่านี้ และสำหรับเด็กเล็กควรปล่อยให้ดูได้ไม่เกินวันละ 2 ชั่วโมงเพื่อสร้างนิสียดี ๆ ติดตัวให้ลูกตั้งแต่เล็กกันนะคะ
อะไรบ้างที่สร้างให้ลูกเสียนิสัยได้ เช็กกันให้ละเอียดต่อ
#5 ปล่อยให้ลูกใช้มือถือ แทปเล็ต มากเกินไป
อุปกรณ์มือถือ แทปเล็ตเหล่านี้หากสอนลูกใช้ทางที่ถูกก็จะเกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้ แต่หากปล่อยให้ลูกใช้โดยลูกไปดูยูทูปที่ไม่เหมาะสำหรับเด็ก เล่นเกมจนกลายเป็นเด็กติดเกม สิ่งเหล่านี้ล้วนง่ายต่อการจดจำของเด็ก และชักจูงให้ลูกทำสิ่งที่ไม่ดีได้ ดังนั้นหากเหล่าหลีกเลี่ยงเมื่อลูกขอเล่นไม่ได้ คุณพ่อคุณแม่ควรควบคุมพฤติกรรมการใช้ เช่น การกำหนดเวลา และการนั่งเล่นหรือดูไปพร้อมกับเพื่ออธิบาย ก็จะได้รับประโยชน์ที่แท้จริงจากการใช้อินเตอร์เน็ตนะคะ
#6 ปล่อยให้ลูกกินขนมกรุบกรอบ ขนมหวาน อาหารที่ไม่มีประโยชน์มากไป
ผู้ใหญ่ทุกคนรับรู้ได้ว่าอาหารชนิดไหนมีคุณค่าและมีประโยชน์สำหรับเด็ก การปล่อยให้ลูกกินขนมไม่มีประโยชน์ ของทอด ของมัน ๆ เช่น มันฝรั่งทอด ช็อกโกแลต ไอศกรีม ขนมที่มีรสหวาน ในปริมาณที่มากเกินไป หรือเอาใจให้ลูกกินทุกวันจะเป็นการทำร้ายสุขภาพร่างกายของลูกโดยไม่รู้ตัวนะคะ
#7 ไม่ปล่อยให้ลูกเล่นหลังเลิกเรียน
ลูกเรียนเหนื่อยที่โรงเรียนมาทั้งวัน เมื่อกลับมาถึงบ้านเด็กอาจจะต้องการรีแลกซ์ ปล่อยให้ลูกได้ออกไปเล่นขยับแข้งขยับขาหากิจกรรมที่ได้เคลื่อนไหว เพื่อช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ทำให้สมองปลอดโปร่ง ดีต่อสุขภาพลูกด้วยนะคะ
#8 ไม่ปล่อยให้ลูกเดินเอง
เจ้าตัวเล็กที่เข้าสู่วัยอนุบาล โตพอที่จะเดินได้เองแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรปล่อยให้ลูกได้เดินมากกว่าลงนั่งในรถเข็นนะคะ แถมการเดินถือเป็นการออกกำลังกายที่ดีต่อสุขภาพด้วยนะคะ
#9 ไม่ปล่อยให้ลูกเล่นกีฬา
การเล่นกีฬานอกจากจะช่วยเสริมร่างกายให้ลูกแข็งแรง ยังดีต่อพัฒนาการด้านเคลื่อนไหวของลูก และกีฬาจะเป็นกิจกรรมที่ช่วยหัดให้ลูกรู้จักเข้าสังคมร่วมกับคนอื่นได้ดี ไม่ทำให้ลูกเครียด
#10 ไม่ควรพาลูกออกไปทานนอกบ้านบ่อย
ไลฟ์สไตล์ในปัจจุบันที่ครอบครัวมักจะพาลูก ๆ ออกไปทานอาหารนอกบ้านบ่อยหรือเกือบทุกวัน อาจกลายเป็นการส่งเสริมนิสัยที่ฟุ่มเฟือย และการกินข้าวนอกบ้านเป็นประจำทำให้เด็กช่วยให้เจริญอาหารมากเกินไป การกินเค็มหรือรสชาติที่จัดมากเกินไปก็จะส่งเสียต่อสุขภาพเจ้าตัวเล็กได้นะคะ
รู้อย่างนี้แล้ว ถึงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่ควรปรับพฤติกรรมตัวเอง ไม่ทำให้เจ้าตัวเล็กเสียนิสัย และไม่สร้างพฤติกรรมนิสัยเสียให้ลูก เพื่อผลดีต่อลูก ๆ ที่กำลังเติบโตกันนะคะ
ที่มา : www.gotoknow.org
บทความเกี่ยวข้องที่น่าสนใจ :
พ่อแม่ 4 ประเภท ที่ทำให้ลูกมีพฤติกรรมดีหรือก้าวร้าว คุณเป็นพ่อแม่แบบไหน
โรคพฤติกรรมผิดปกติในเด็ก 3 โรคพฤติกรรมเด็ก วิธีสังเกตลูกเป็นโรคพฤติกรรมผิดปกติหรือไม่
กุมารแพทย์แนะ 5 เรื่องที่พ่อแม่เข้าใจผิดบ่อย ๆ ในการดูแลลูกน้อย
ของที่แม่ท้องต้องเตรียมก่อนคลอด ประสบการณ์จากกุมารแพทย์ คุณแม่ลูกสอง