ลูกอ้วนจ้ำม่ำแปลว่าสุขภาพแข็งแรง จริงหรือไม่
ทารกอ้วนจ้ำม่ำดูน่ารัก น่าฟัด ที่ใครๆ ก็บอกว่า ถ้าลูกคลอดออกมาแล้วดูอ้วนท้วนหมายถึงร่างกายแข็งแรงดี แต่จริงหรือไม่ที่ทารกตัวใหญ่แสดงถึงสุขภาพที่แข็งแรง…
เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ ที่ทารกจะมีรูปร่าง ขนาด และน้ำหนักตัวที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งจริงๆ แล้วมีปัจจัยอยู่หลายอย่างที่มีผลต่อขนาดทารก เช่น เรื่องพันธุกรรม สิ่งที่เกิดในครรภ์ และอาหารที่ทารกได้รับ
พ่อแม่ที่เห็นขนาดลูกใหญ่กว่าค่าเฉลี่ยหรือขนาดตัวที่เล็กเกินไป ต่างก็กังวลถึงความผิดปกติของร่างกายลูกไม่แตกต่างกัน แล้วที่ใครต่อใครบอกกันว่าลูกอ้วนท้วน หมายความว่าแข็งแรงดีนั้นจริงหรือไม่? ลองมาดูกันว่าอะไรคือปัจจัยที่ทารกน้ำหนักเยอะ และความอ้วนจ้ำม่ำของลูกนั้นแสดงถึงสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์จริงเหรอ
1. ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์มีผลต่อน้ำหนักตัวลูก
โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทารกจะตัวโตและมีน้ำหนักตัวเยอะ มีดังนี้
– ภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์
– เบาหวานประเภทที่ 2 (Type 2 Diabetes)
– ขณะตั้งครรภ์แม่มีภาวะอ้วน
– แม่มีน้ำหนักตัวเพิ่มเกินเกณฑ์ปกติ
ถ้าคุณแม่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคเบาหวาน ก็จะส่งผลให้น้ำตาลในเลือดสูงเช่นเดียวกับระดับอินซูลินที่จะเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการเติบโตของทารกในครรภ์ ที่น่าเป็นห่วงคือ การที่ทารกตัวโตเกินกว่าปกติจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนและโรคเบาหวาน แต่คุณแม่ไม่ต้องกังวลไป เพราะการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นสามารถลดความเสี่ยงโรคเหล่านี้ได้
2. การให้นมแม่ช่วยลดความเสี่ยงของโรคเบาหวาน
ถ้าลูกตัวโตเกินไป จนคุณแม่เริ่มกังวลว่าจะเสี่ยงเป็นโรคอ้วนในอนาคต ก็ยิ่งต้องเลือกการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะนมแม่สามารถลดความเสี่ยงการเป็นโรคอ้วนได้ และยังมีงานวิจัยระบุว่า การให้นมลูกช่วยลดความเสี่ยงการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ทางฝั่งคุณแม่ได้ด้วย
3. ลูกดูดนมแม่ได้เพียงพอเท่าที่ร่างกายต้องการ
ทารกที่ดูดนมจากอกแม่โดยตรง จะสามารถดูดนมได้เพียงพอเท่าที่ร่างกายต้องการ ทั้งการได้รับน้ำนมแม่อย่างเต็มที่ และการดูดเต้านมเปล่า (non-nutritive sucking) จึงได้จำนวนเพียงพอต่อการเจริญเติบโต และยังไม่ต้องห่วงว่าการดื่มนมแม่มากๆ จะทำให้ลูกอ้วน
4. ทารกที่ไม่ได้ดื่มนมแม่เสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน
อย่างแรกเลยคือ ทารกที่ดื่มนมจากขวดจะไม่สามารถควบคุมปริมาณนมที่ต้องการอย่างพอดีได้ ด้วยเหตุผลดังนี้
– ทารกไม่สามารถดูดเต้าเฉยๆ ได้แบบการดูดเต้านมเปล่า (non-nutritive sucking) จากอกของแม่
– นมจากขวดไหลเร็วกว่านมแม่จากเต้า
– ทุกครั้งที่ดูดนมจากขวด น้ำนมก็จะไหลออกมา แม้ว่าลูกไม่ต้องการดื่มนมแล้ว
– ยิ่งให้นมลูกมากเท่าไหร่ ลูกก็ยิ่งอ้วน
– ทารกจะดื่มไปเรื่อยๆ จนกว่านมจะหมด แม้ว่าทารกอิ่มแล้ว
การให้นมจากขวดนั้นคำนวณได้ยากว่า ให้แค่ไหนถึงจะเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของลูก แถมนมผงยิ่งดื่มมากก็ยิ่งเสี่ยงต่อโรคอ้วน เพราะนมผงไม่มีฮอร์โมนเลปติน หรือฮอร์โมนความอิ่ม ลูกจึงกินนมได้เรื่อยๆ แถมนมผงยังมีโปรตีนสูงส่งผลให้ทารกเป็นโรคอ้วนได้ในอนาคต
5. ควบคุมปริมาณนมผงให้ทารกดื่มอย่างพอดี
ปัจจุบันมีนมผงสูตรโปรตีนต่ำ ที่จะช่วยให้ทารกลดความเสี่ยงการเป็นโรคอ้วนในอนาคตได้ นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรจะปรึกษาแพทย์เพื่อควบคุมปริมาณนมผง หรือการให้นมจากขวด ว่าควรให้ในปริมาณต่อวันมากเท่าไหร่จึงจะพอดี
6. กินอย่างพอดี
ถ้าลูกเกิน 6 เดือนแล้ว จะอยู่ในวัยที่ให้ลูกเริ่มทานอย่างอื่นนอกเหนือจากนม เป็นช่วงที่คุณพ่อคุณแม่ต้องใส่ใจในการเลือกสรรอาหารที่ดีมีประโยชน์ เหมาะกับลูก เมื่อลูกเติบโต คุณพ่อคุณแม่ก็ควรจะแนะนำให้ลูกทานสิ่งที่ดีมีประโยชน์ต่อร่างกาย
– คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก โดยเลือกกินสิ่งที่ดีมีประโยชน์ในแต่ละมื้อ
– ควรจะทานอาหารพร้อมหน้าพร้อมตากันทั้งครอบครัว เพื่อจะได้เลือกสรรเฉพาะอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
– เลือกโปรตีนที่ดีแต่ไม่อ้วน เช่น เป็ด ไก่ ปลา นำมาทำอาหารอร่อยๆ แล้วใส่ผักชนิดต่างๆ ลงไปเพื่อเพิ่มคุณค่าทางอาหาร และในโต๊ะอาหารก็ไม่ควรขาดผลไม้ นอกจากนี้ ยังต้องเพิ่มผลิตภัณฑ์จากนมลงไปให้กับลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี รวมทั้งเพิ่มเติมเมนูไขมันดีอย่างไข่และอโวคาโด และไม่ควรพลาด ธัญพืช โฮลเกรน เช่นพวกขนมปังโฮลวีทและข้าวซ้อมมือ เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ลูกเติบโตอย่างแข็งแรง
– ลด ละ เลิก อาหารที่ไม่มีประโยชน์ เช่น บิสกิต เค้ก น้ำผลไม้ หรือน้ำอัดลม
จะเห็นได้ว่า ลูกอ้วน ไม่ใช่ว่าลูกสุขภาพดี แต่กลับเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคร้ายในอนาคต จึงต้องควบคุมให้น้ำหนักลูกอยู่ในเกณฑ์ปกติ และเพิ่มเติมสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ลูกจะได้สุขภาพดีอย่างแท้จริง
ที่มา : bellybelly.com
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
เด็กอ้วนเสี่ยงความจำไม่ดี เรียนไม่เก่ง