ลูกสมองพิการ : คุณแม่ท่านหนึ่งพาลูกน้อยมาพบคุณหมอ เนื่องจากมีอาการเกร็งทั้งตัวจนเหมือนจะคว่ำได้ ทั้งที่อายุเพียง 1 เดือน เมื่อได้รับการตรวจร่างกายแล้ว คุณหมอวินิจฉัยว่า ทารกน้อยมีกล้ามเนื้อหลังที่ตึงตัวและเกร็งมากผิดปกติ จากภาวะสมองพิการ (Cerebral palsy) ลูกสมองพิการ อันเป็นภาวะความผิดปกติด้านการเคลื่อนไหวและการทำงานของกล้ามเนื้อจากการบาดเจ็บ และถูกทำลายของสมองอย่างถาวร ในช่วงที่สมองของเด็กยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่
ภาวะสมองพิการในทารกเกิดจากอะไร?
ภาวะสมองพิการในทารกเกิดได้จากหลายสาเหตุแบ่งได้เป็น 3 ช่วง คือ ตั้งแต่ในครรภ์ ระหว่างการคลอด และหลังคลอด ดังนี้
- สาเหตุตั้งแต่ในครรภ์ เช่น พันธุกรรมที่ผิดปกติ การติดเชื้อในครรภ์ การสัมผัสกับสารพิษตั้งแต่ในครรภ์ เช่นมารดาดื่มแอลกอฮอล์
- สาเหตุระหว่างการคลอด เช่น การบาดเจ็บระหว่างการคลอดในทารกที่คลอดยาก ภาวะเลือดออกในสมองขณะคลอด การขาดออกซิเจนแรกคลอด
- สาเหตุหลังคลอด เช่น การติดเชื้อของสมอง การบาดเจ็บหรือกระทบกระเทือนของสมองทารกหลังคลอด
ทราบได้อย่างไรว่าทารกมีภาวะสมองพิการ วิธีสังเกต?
หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตว่า ทารกน้อยมีอาการที่ผิดปกติเหล่านี้ควรปรึกษาคุณหมอ เพื่อหาสาเหตุ และประเมินอาการว่า เกิดจากสมองพิการหรือไม่
- พัฒนาการช้ากว่าปกติ
- มีการเคลื่อนไหวของแขนขาผิดปกติ หรือมีอาการชาร่วมด้วย
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวกเปียก
- มีปัญหาการดูดนมและการกลืนอาหาร
- มีการเกร็งของแขนขาและลำตัวผิดปกติ
- ใช้มือเพียงข้างเดียวคว้าของต่าง ๆ
- มีปัญหาการมองเห็นและการได้ยิน
การวินิจฉัยภาวะสมองพิการทำได้อย่างไร?
คุณหมอจะวินิจฉัยภาวะสมองพิการในทารกจากการตรวจพัฒนาการทุกด้าน ตรวจความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การมองเห็นและการได้ยิน และอาจพิจารณาส่องตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมทางสมอง หรือเจาะเลือด เพื่อหาสาเหตุว่าอาการผิดปกติดังกล่าวข้างต้นเกี่ยวกับภาวะสมองพิการหรือไม่
การรักษาภาวะสมองพิการในเด็กทำได้อย่างไร?
เนื่องจากภาวะสมองพิการในเด็กเป็นภาวะที่สมองมีการบาดเจ็บแบบคงที่ ไม่รุนแรงเพิ่มมากขึ้น การรักษาจะใช้วิธีการดูแลแบบประคับประคองอาการให้ดีขึ้นได้โดยการ ทำกายภาพบำบัดเพื่อให้ผู้ป่วยมีการเคลื่อนไหวที่ใกล้เคียงปกติมากที่สุด ฝึกกิจกรรมบำบัดและช่วยเหลือตัวเองในการทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ การใช้ยาหรือการผ่าตัดเพื่อลดการเกร็งของกล้ามเนื้อ การรักษาเพื่อแก้ปัญหาการได้ยินและการมองเห็น รักษาและควบคุมอาการชัก
ทั้งนี้ การรักษาที่ดีจะต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างแพทย์ นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด และสมาชิกในครอบครัวผู้ดูแลเด็กทุกคน
หากคุณพ่อคุณแม่สงสัยว่าลูกมีพัฒนาการช้า หรือมีอาการผิดปกติที่เข้าได้กับภาวะสมองพิการ ควรพาลูกไปพบคุณหมอเพื่อตรวจว่ามีความผิดปกติของสมองจริงหรือไม่ และมีสาเหตุจากอะไร เพื่อจะได้รีบรักษาและแก้ไขอย่างถูกต้อง รวดเร็ว ทั้งนี้ เด็กแต่ละคนอาจมีพัฒนาการเร็วหรือช้าแตกต่างกันเล็กน้อย โดยไม่ได้เป็นภาวะที่ผิดปกติ ดังนั้นหากคุณพ่อคุณแม่กังวลหรือไม่แน่ใจ ก็ควรจะได้รับการตรวจประเมินจากคุณหมอ
กินเหล้าขณะตั้งท้อง ส่งผลต่อใบหน้าของลูกในท้องน่ะรู้ยัง?
ถึงแม้ว่ามีคุณหมอบางท่านบอกว่าระหว่างที่คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถที่จะดื่มแอลกอฮอล์ได้ แต่ทางที่ดีควรจะงดดีกว่า เพราะถ้าคุณแม่ กินเหล้าขณะตั้งท้อง อาจจะทำให้ลูกในท้องมีรูปร่างหน้าตาที่ผิดปกติ ซึ่งนั่นเท่ากับว่าคุณแม่ทำร้ายลูกโดยไม่รู้ตัว
รู้จักกับโรคแอลกอฮอล์ซินโดรม
โรคนี้จะเกิดขึ้นกับแม่ที่กินเหล้าระหว่างตั้งครรภ์ โดยจะรุนแรงมากในช่วงไตรมาสแรก (3 เดือนแรก) เพราะมันจะไปทำร้ายเซลล์ประสาทและสมองของทารก รวมถึงอวัยวะต่างๆ เช่น ใบหน้า แขน ขา โดยเราจะเรียกโรคนี้ว่า กลุ่มอาการผิดปกติของทารกในครรภ์จากการดื่มแอลกอฮอล์ของมารดาโดยรวมว่า “FASD (Fetal Alcohol Spectrum Disorder)” ซึ่งจะมีอัตราส่วนเด็ก 1,000 คน จะเจอเด็กที่เป็นโรคนี้ 9 คน
ดื่มแอลกอฮอล์น้อย ๆ ได้ไหม
โรคนี้จะเกิดขึ้นกับทารกที่แม่ท้องชอบดื่มเหล้า โดยมีงานวิจัยของ Jane Halliday นักศึกษาปริญญาเอกด้านพันธุศาสตร์ ที่ Murdoch Childrens Research Institute ประเทศออสเตรเลีย เผยว่า การดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างตั้งครรภ์ในปริมาณที่น้อยก็ส่งผลกระทบต่อรูปร่างหน้าตาของลูกในท้องได้เช่นกัน และเขาก็ได้ถ่ายภาพ 3 มิติบนใบหน้าของเด็กอย่างละเอียดเมื่อเด็กอายุได้ 1 ปี พบว่า จมูกชี้ขึ้น ปากและตาบางลง
สำหรับคุณแม่ที่ดื่มหนักระหว่างตั้งครรภ์ จะทำให้ลูกมีตาที่เล็ก จมูกไม่มีร่องและชี้ขึ้น ตัวเล็ก น้ำหนักน้อย ทั้งยังมีพัฒนาการที่ไม่ดี ไม่ว่าจะเป็น การเรียนรู้ ความจดจำ การใช้ภาษาและอื่น ๆ
สำหรับวิธีป้องกันโรคนี้ มีเพียงแค่การงดแอลกอฮอล์อย่างเดียว ไม่ใช่แค่ช่วงที่ตั้งท้องเท่านั้น แต่ควรงดระหว่างที่คุณแม่ให้นมลูกด้วย เนื่องจากแอลกอฮอล์สามารถซึมซับผ่านทางน้ำนมแม่ได้เช่นกัน
อาการเกร็งของหนู…ผิดปกติมั้ย?
อาการเกร็งของลูกน้อยมีทั้งปกติและไม่ปกติ แต่ก็สร้างความกังวลให้คุณพ่อคุณแม่เสมอ หากรู้สาเหตุและรู้วิธีตอบสนองอย่างถูกต้องเรื่องนี้ก็ไม่น่ากลัวอีกต่อไป
อาการเกร็งมักเกิดในเด็กอายุ 0 – 3 ปี การแยกแยะว่าอาการเกร็งแบบปกติหรือไม่ปกตินั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตอาการของลูกอย่างใกล้ชิด ว่าลูกเริ่มเป็นตั้งแต่อายุเท่าไหร่ เป็นช่วงเวลาไหนสัมพันธ์กับช่วงเวลาที่ทำกิจกรรมใดอยู่หรือไม่ และในระหว่างที่เกร็งมีอาการผิดปกติอย่างอื่นร่วมด้วยอย่างไร เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นประวัติช่วยในการวินิจฉัยแยกโรคของคุณหมอต่อไปได้
เกร็งแบบนี้…หนูปกติดี
อาการเกร็งต่อไปนี้ คืออาการเกร็งที่เป็นปกติ เพียงแต่จะต้องตอบสนองลูกให้ตรงจุดและถูกเวลา
1. เกร็งแบบบิดปวด อาการนี้เป็นได้ตั้งแต่แรกเกิด ลูกจะมีอาการบิดปวด เช่น ปวดปัสสาวะ ปวดอุจจาระ คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้ง่าย คือ ลูกจะบิดก่อนทุกครั้งเมื่อมีอาการปวด เช่น เกร็งแขนเกร็ง ขา และทำท่าพยายามเบ่งจนหน้าแดง ซึ่งหลังจากนั้นก็จะมีปัสสาวะหรืออุจจาระออกมา
แก้อาการเกร็ง หากลูกมีอาการเกร็งแบบนี้ สักพักเขาก็จะคลายตัวได้เอง แต่หากลูกไม่มีอุจจาระออกมาหลังจากที่เกร็งคุณแม่อาจต้องดูว่าลูกมีอาการท้องผูกหรือไม่ หากลูกท้องผูกก็ต้องปรึกษาคุณหมอ เพื่อแก้อาการท้องผูกอย่างถูกวิธีต่อไป
2. เกร็งแบบโคลิค อาการนี้มักเป็นตอนกลางคืน ซึ่งลูกจะกรีดร้อง ร้องเสียงแหลม หรือเกร็งทั้งตัว บางคนอาจมีการผายลม หรือเรอออกมาด้วย
แก้อาการเกร็ง ส่วนมากอาการเกร็งแบบโคลิค จะไม่มีผลต่อพัฒนาการ ทั้งน้ำหนัก และส่วนสูงยังเป็นไปตามวัย สายตายังตอบสนอง กลอกไปกลอกมาได้ปกติ เพียงแค่คุณแม่อุ้มให้เขาได้เรอ แล้วรอสักพักอาการนี้ก็จะดีขึ้นได้ แม้ว่าต้องใช้เวลานานสักหน่อยก็ตาม
3. เกร็งเพราะถูกกระตุ้นทางอารมณ์ อาการเกร็งแบบนี้จะเกิดขึ้นบ่อยกับลูกอายุ 1 ขวบขึ้นไป อาการนี้เกิดขึ้นเมื่อมีการกระตุ้นอย่างชัดเจน เช่น กระตุ้นให้เกิดอารมณ์โกรธ ไม่พอใจ เวลาเป็นลูกจะกรีดร้องดัง ๆ ร้องไม่หยุด จะเขียวไปทั้งตัว ซึ่งอาจเกิดจากภาวะเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ แต่ไม่ได้มีอันตราย และไม่มีผลต่อพัฒนาการของลูก
แก้อาการเกร็ง คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้ ว่าหลังจากเกร็งแล้วสักพัก ลูกจะเริ่มหายใจเข้าแรง ๆ แล้วร้องไห้ต่อได้ ซึ่งเวลาที่ลูกหายเกร็งแล้ว ให้เข้าไปตอบสนองด้วยการอุ้ม หรือถ้าลูกอยู่ในวัยที่เริ่มพูดคุยรู้เรื่องแล้ว คุณแม่ค่อยคุยกับเขาว่าสิ่งที่ทำถูกหรือไม่ โดยไม่ต้องพูดถึงเหตุผลมาก
4. เกร็งเพราะเกิดความสุข มักเกิดในเด็ก 1 – 3 ปีขึ้นไป เด็กผู้หญิงจะเอาขาไขว้กัน ถู ๆ แล้วก็เกร็ง ส่วนเด็กผู้ชายนั้นจะเกร็งเป็นท่าคว่ำขย่มและเกร็งขา ซึ่งลูกไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำคืออะไร เพียงแต่รู้ว่าทำแล้วมีความสุข คุณพ่อคุณแม่จึงอาจมองว่าลูกมีพฤติกรรมผิดปกติได้
แก้อาการเกร็ง ถ้าลูกพยายามเกร็งแบบนี้ ให้คุณพ่อคุณแม่รีบหาอย่างอื่นให้ลูกเพื่อเบนความสนใจ เช่น ของเล่น ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ลูกก็หายได้เอง
5. เกร็งเพราะเกิดกรดไหลย้อน กรดไหลย้อนนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นกับลูกตั้งแต่วัย 0 – 3 ปี ซึ่งสังเกตได้ง่าย ๆ เวลาที่ลูกกินนมหรือหลังกินสักพัก จะมีอาการร้องงอแง ตัวเกร็ง
แก้อาการเกร็ง เวลาที่คุณแม่ให้นม หรือป้อนนมจากขวด จะต้องยกหัวลูกให้สูง หากยังไม่หายต้องรีบพาไปพบคุณหมอ เพื่อคุณหมอจะให้ยาทำให้หูรูดของหลอดอาหารของลูกทำงานดีขึ้น
เกร็งแบบนี้…ไม่ปกติแล้ว
อาจนำไปสู่โรคทางระบบประสาทและสมองได้ ต้องรีบพาไปพบคุณหมอโดยเร็วที่สุด
1. เกร็งชัก ลูกจะมีอาการเกร็งทั้งตัว ตาจะไม่ตอบสนองต่อสิ่งรอบข้าง เช่น ตาเหลือก หรือมองด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษแล้วค้างอยู่อย่างนั้น บางคนอาจมีอาการกัดฟันร่วมด้วย คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสังเกตลูกอย่างใกล้ชิด เพราะอาการชักนี้ไม่ได้เป็นเฉพาะช่วงที่ลูกตื่นอย่างเดียว แต่จะเป็นช่วงที่หลับด้วย ซึ่งเกิดจากภาวการณ์ทำงานผิดปกติของเซลล์สมอง ต้องรีบพาลูกไปพบคุณหมอเพื่อตรวจคลื่นสมองและวินิจฉัยอย่างละเอียดมากขึ้น
2. เกร็ง CP เป็นภาวะที่ลูกมีอาการเกร็งตลอดเวลา และถ้ามีเสียงหรือมีสิ่งใดมากระตุ้นให้เขาตกใจก็จะยิ่งเกร็งมากขึ้นอาการเกร็งแบบนี้อาจเข้าข่ายอาการ CP (Cerebral Palsy) หรือโรคพิการทางสมองได้ คุณพ่อคุณแม่ต้องรีบพาไปพบคุณหมอ เพื่อเช็กอาการอย่างละเอียด ประเมินว่ามีภาวะใดที่เกี่ยวข้องกับสมองหรือระบบประสาทอื่น ๆ อีกหรือไม่
การสังเกตของคุณพ่อคุณแม่ นอกจากจะช่วยให้สามารถตอบสนองอาการเกร็งของลูกได้ถูกต้องแล้ว ยังช่วยให้คุณหมอประเมินและสามารถแยกวินิจฉัยโรค จากอาการเกร็งที่ผิดปกติของลูกได้ง่ายมากขึ้น ส่งผลให้การรักษามีความถูกต้องและรวดเร็วด้วย
แหล่งอ้างอิงจาก : ems.bangkok.go.th
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
พัฒนาการลูก เห็น ได้ยิน พูด ลูกมองเห็นตอนกี่เดือน ทารกได้ยินตอนกี่เดือน ทารกพูดได้ตอนกี่เดือน
เปิดพัดลมจ่อลูก ทารกปอดอักเสบ ได้ง่ายๆ ระวังนะแม่ ทารกบอบบางกว่าที่คิด
สีอึของทารก แต่ละสีบอกอะไรบ้าง พ่อแม่จ๋า อย่ารังเกียจอึหนู