ลูกติดเชื้อจากการกวาดยา
แม่สุดช็อค ลูกติดเชื้อจากการกวาดยา อาการหนักมาก ทั้งติดเชื้อในกระแสเลือด เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ด้วยความเชื่อที่ว่า การกวาดยาแบบโบราณจะช่วยให้ลูกไม่เจ็บไม่ป่วย โดยแม่ได้พาลูกน้อยวัย 22 วัน ไปกวาดยาแบบโบราณตามที่มีคนแก่คนโบราณมาทักว่า กวาดแล้วจะไม่เป็นซาง
ตอนเด็ก ๆ ตัวคุณแม่เองก็เคยกวาดยาแต่ไม่เป็นไร จึงพาลูกไปกวาดยา ตี 2 กว่า ๆ ในคืนหนึ่ง ลูกก็ตื่นมาร้องกรี๊ดสุดเสียง ลูกร้องไม่หยุด แม่อุ้มเอากินนมก็ไม่กิน ร้องจนเหนื่อยถึงยอมกินนม แล้วหลับไป พอ 6 โมงเช้า ลูกร้องครางฮือ ๆ ตลอด เริ่มมีไข้ ซึมนิ่ง ไม่ยอมกินนม แม่จึงรีบพาลูกไปโรงพยาบาล หมอตรวจเบื้องต้น ลูกมีไข้ 38 กว่า ๆ ให้แม่เช็ดตัวลูก เช็ดอยู่หลายครั้งไข้ก็ไม่ลด เลยต้องเจาะเลือดหาสาเหตุ
ลูกติดเชื้ออย่างรุนแรงจากการกวาดยา
ผลปรากฏว่าลูกติดเชื้อในกระแสเลือด! หมอบอกว่า มีเด็กมากมายที่ไปกวาดยามาแล้วติดเชื้อ ซึ่งการติดเชื้อนี้เป็นไปได้ว่า มาจากมือคนกวาดยา หรืออาจจะอยู่ในยาที่เอามากวาด ซึ่งยากวาดมีส่วนผสมของฝิ่นที่อันตรายมากกับเด็กเล็ก และในวัยทารกเพดานปากจะอ่อนมาก เชื้อโรคเข้าได้ง่าย
หมอสั่งแอดมิทตึกเด็กทันที พอมาถึงมือหมอเด็ก มีหมอและนักศึกษาแพทย์เกือบ 10 คน ล้อมอยู่ที่เตียงลูก หมอบอกแม่ว่าต้องทำใจดี ๆ ไว้น้องเหนื่อยมากหายใจเองไม่ไหวต้องใส่ ท่อช่วยหายใจและย้ายไป ICU ต้องเจาะเอาน้ำกระดูกไขสันหลังมาตรวจเพิ่ม ผลตรวจออกมาเจอเชื้อเพิ่มอีกตัวทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (ติดเชื้อที่สมอง เชื้อตัวนี้จะไปทำลายเซลล์สมอง) หรืออีกชื่อ (เชื้อสเตรปโตคอคคัสกรุ๊ป บี Group B streptococcus หรือ ย่อว่า GBS) ทารก 1 ใน 200 ที่จะมีโอกาสเป็น
ทารกน้อยวัย 22 วัน ติดเชื้อในกระแสเลือดบวกกับเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
การติดเชื้อทำให้ลูกอาการหนัก 4 – 5 วันแรกยังทรง ๆ ไม่รู้สึกตัว ไม่ร้องสักนิด นอนนิ่งเฉยอย่างเดียว ต้องเจาะเลือดทุกวัน เจาะน้ำไขสันหลังไปตรวจอยู่หลายครั้ง เกือบทุกครั้งที่เจาะน้องก็จะชัก …ช่างบีบหัวใจคนเป็นแม่เหลือเกิน แม่เฝ้าก็ไม่ได้เข้าเยี่ยมได้ตามเวลาอย่างเดียวตลอด 7 วัน
ลูกเกือบตาบอดเพราะสมองส่วนที่รับภาพถูกเชื้อทำลาย
วันที่ 7 หมอบอกลูกอาการดีขึ้นให้ย้ายออกไปอยู่ห้องรวม เริ่มหายใจเองได้แต่ยังต้องใส่สายอ็อกซิเจนช่วย เริ่มให้ลูกกินนมทางสายยาง จนอาการดีขึ้น ค่อยเริ่มดูดขวดได้ แต่อยู่ ๆ ลูกก็ลืมตาข้างซ้ายไม่ขึ้น หมอเลยส่งไปเอ็กซเรย์ สแกนสมอง พบว่า มีน้ำบางอย่างจำนวนมากคลั่งอยู่ในโพรงสมอง ส่งผลให้ลูกลืมตาไม่ขึ้น พอผ่านมาระยะหนึ่ง น้องเริ่มลืมตาขึ้นมาได้ไปเอ็กซเรย์ ผลคือน้ำในโพรงมันลดจำนวนลงไม่ต้องเจาะแล้ว พอน้องอาการดีขึ้นลืมตาได้ แม่สังเกตว่า น้องไม่จ้อง ไม่มองหน้าแม่ ไม่มองอะไรเลย ตอนนั้นน้องยังไม่ถึง 2 เดือนเลยคิดว่าเค้าอาจจะยังเห็นไม่ชัด ก็บอกหมอ หมอนัดมาตรวจทีหลัง น้องดีขึ้นจนหาย
น้องฉีดยา กินยา รวมแล้วอยู่โรงพยาบาล 42 วัน หมอเห็นว่า หายดีกลับบ้านได้ ดีใจที่สุด แล้วหมอก็นัดตรวจตาที่แผนกหมอตา หมอบอกกับแม่ว่า น้องมองไม่เห็น แม่ก็ถามถึงวิธีรักษาต่าง ๆ หมอก็บอกว่า ไม่มีวิธีรักษาแล้ว สมองส่วนที่รับภาพถูกเชื้อทำลายไปบางส่วน
จนแม่เปลี่ยนไปโรงพยาบาลที่เชี่ยวชาญเรื่องตา หมอบอกว่า ดวงตาน้องปกติดี แต่ปัญหาอยู่ที่สมองไม่สั่งการให้เห็น (คล้ายกับเราถ่ายรูปเลนส์กล้องดี แต่พอกดถ่าย ภาพไม่ปรากฏออกมาที่จอ) หมอจึงให้แม่กระตุ้นตาลูก แต่หมอบอกไม่ได้ว่า เมื่อไหร่ลูกจะมองเห็น แม่ทำตามที่หมอบอกทุกอย่าง ในที่สุด สังเกตได้ว่า ลูกเริ่มจ้องของ เริ่มมองตามของที่สีเด่น ๆ แต่ยังไม่มองหน้า ลูกเริ่มมองเห็นตอนอายุ 5 เดือน การมองเห็นดีขึ้นเองเรื่อย ๆ จนน่าแปลกใจ แม่ดีใจที่สุดในชีวิตเพราะหวังมาตลอด
“ถึงตอนนี้ วันนี้น้องอายุ 11 เดือนแล้ว น้องจ้องมองหน้าแม่ได้แล้ว แต่ยังเห็นได้ไม่ไกล น้องยังไปตามนัดของหมอตาอยู่ น้องจะดีขึ้นเรื่อย ๆ แม่คิดอย่างนั้น”
ที่มา : khaosod.co.th
ทางทีมงานดิเอเชี่ยนพาเร้นท์ ได้ติดต่อกับคุณแม่ ทราบว่าตอนนี้น้องแข็งแรงดีแล้ว นอกจากเคสนี้ ยังมีเด็กคนอื่น ๆ และแม่ที่มาแชร์ว่าลูกติดเชื้อจากการกวาดยา ซึ่งการติดเชื้อนั้นก่อให้เกิดโรคได้หลายโรค เช่น ฝีหลังคอหอยในทารก
เมื่อลูกติดเชื้อจากการกวาดยาเกิดเป็นฝีหลังคอหอยในทารก
รศ. พญ. รวีรัตน์ สิชฌรังษี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน ระบุว่า น้องไก่ (นามสมมติ) อายุ 2 เดือน มาพบแพทย์ด้วยอาการไข้สูง คอบวมและดูเอียง น้ำลายไหลตลอด ไม่ยอมดูดนม หายใจลำบากจนดูเหมือนเหนื่อย หลังจากไปกวาดยาที่คอ มาประมาณ 1-2 วัน เมื่อตรวจร่างกายก็พบว่าน้องไก่มีอาการของโรคฝีหลังคอหอย และมีการอุดกั้นทางเดินหายใจ ซึ่งต้องรับไว้รักษาตัวในโรงพยาบาลโดยด่วน คุณหมอสันนิษฐานว่า ฝีหลังคอหอยในทารก น่าจะเกิดจากการที่ไปกวาดยา เกิดการบาดเจ็บบริเวณด้านหลังของคอหอย และมีการติดเชื้อตามมา
โรคฝีหลังคอหอยคืออะไร?
โรคฝีหลังคอหอย (retropharyngeal abscess) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น group A streptococcus, S. aureus หรือ เชื้อในกลุ่ม anaerobic bacteria มักพบในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี สาเหตุส่วนมากเป็นผลจากการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินหายใจ เช่น จมูก ทอนซิล คอหอย หูชั้นกลาง หรือ ไซนัส นำมาก่อน สาเหตุอื่นๆที่พบได้ในเด็กเล็กอายุไม่เกิน 3 ปีอาจเป็นผลจากการกวาดยาที่คอ ในผู้ใหญ่อาจเกิดจากการกลืนติดกระดูกไก่ หรือก้างปลาที่คอ และเกิดแผลติดเชื้อแบคทีเรีย
อาการของโรคฝีหลังคอหอยในเด็กเป็นอย่างไร?
- เด็กที่เป็นโรคนี้จะมีไข้สูง
- เจ็บคอ
- กลืนลำบาก
- เบื่ออาหาร
- น้ำลายไหลตลอดเพราะกลืนน้ำลายไม่ได้
- คอบวม คอแข็ง
- บางรายมีอาการหายใจลำบาก หอบเหนื่อย จากการอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนบน
ข้อควรระวังของการกวาดยาคืออะไร?
การกวาดยาโดยทั่วไปมีจุดประสงค์เพื่อรักษาโรคแบบแผนโบราณ ไม่ได้มีอันตรายร้ายแรง แต่มีข้อควรระวังคือหากกวาดยาลงไปในลำคอด้วยนิ้วที่ไม่สะอาด หรือกวาดแรง อาจจะทำให้เกิดแผลในคอ โดยเฉพาะที่หลังคอหอย และเกิดลุกลามจนเกิดภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญคือ ฝีหลังคอหอยได้ ซึ่งหากเกิดในเด็กเล็ก อาจเป็นอันตรายร้ายแรงจากภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นจนถึงแก่ชีวิตได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
หากลูกมีอาการไข้สูง คอบวม น้ำลายไหลตลอด หายใจลำบาก หลังจากการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินหายใจ หรือหลังจากไปกวาดยาที่คอมา อาจเป็นโรคฝีหลังคอหอยได้ คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาลูกไปพบคุณหมอทันที เพราะเป็นไปได้ว่าลูกติดเชื้อจากการกวาดยานะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
อุธาหรณ์ เด็ก2ขวบเดินสะดุด ดินสอทิ่มฝังหัวเกือบตาย เฉียดลูกตาเกือบทะลุสมอง
ลูกหัวกระแทกพื้น ลูกล้มหัวโน หงายหลังหัวฟาดพื้น แบบไหนอันตราย ต้องไปหาหมอ
โรคที่เกิดขึ้นในวัยทารก โรคยอดฮิตในหมู่เด็กมีอะไรบ้าง พ่อแม่จะรู้ได้ไงว่าลูกป่วย
ลูกเป็นแผลในปาก ร้อนใน แม่จะรู้ได้ไงว่าลูกเป็นแค่ร้อนใน หรือป่วยร้ายแรงกว่านั้น