ลูกจะเป็นอย่างไร หากแม่เป็นโรคซึมเศร้า

ปัจจุบันโรคซึมเศร้าเป็นโรคหนึ่งที่กำลังรุมเร้าคนไทย ยิ่งคนที่เป็นแม่ด้วยแล้ว ยิ่งมีโอกาสเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอด จากฮอร์โมนในร่างกาย และการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป หากภาวะนี้พัฒนาเป็นโรคซึมเศร้า จะเกิดผลกระทบต่อลูกอย่างคาดไม่ถึง

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

แม่เป็นโรคซึมเศร้า ลูกก็เศร้าไม่ต่างกัน

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด เป็นภาวะที่ทำให้แม่มีความเครียดทั้งร่างกายและจิตใจ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอย่างรวดเร็วเมื่อเด็กคลอดออกมา ประกอบกับความเครียดจากการเลี้ยงลูก การอดหลับอดนอน ความเหน็ดเหนื่อย ร่วมกับอาจมีความกังวลต่างๆนานาในการเลี้ยงลูก

ในคุณแม่ยุคใหม่ที่เป็นคนทำงาน อาจรู้สึกสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองเนื่องจาก กิจวัตรที่เคยทำ การทำงานประจำ การออกนอกบ้านก็ไม่ได้ทำเหมือนปกติเพราะต้องคอยดูแลลูกน้อยทำให้แม่หลังคลอดเกิดภาวะซึมเศร้าได้บ่อย โดยจะมีอาการตั้งแต่หลังคลอดและมีอาการได้นานถึง 6 สัปดาห์

สังเกตอาการเมื่อ แม่เป็นโรคซึมเศร้า

อาการที่จะสังเกตได้ว่าคุณแม่มีภาวะซึมเศร้า ได้แก่ กินได้น้อยหรือมากกว่าปกติ นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย ไม่ค่อยมีแรง อารมณ์หงุดหงิดง่าย เศร้า ร้องไห้ง่าย ไม่รู้สึกสนุกกับอะไรเลย สูญเสียความมั่นใจในตนเอง คิดโทษตัวเองในเรื่องต่างๆ เช่น ว่าตนเองเป็นแม่ที่ไม่ดี เลี้ยงลูกไม่เป็น ไม่มีน้ำนมให้ลูก เป็นต้น ในบางรายอาจมีอาการที่รุนแรง จนกลายเป็น "โรคซึมเศร้า" ได้ หากมีอาการนานกว่า 6 สัปดาห์

แม่ที่มีภาวะซึมเศร้า มักนิ่งเงียบ แยกตัว อยู่กับตัวเองมากทำให้ขาดการอุ้มชู พูดคุยหรือเล่นกับลูก จึงเป็นปัญหาในการสร้างความผูกพันระหว่างแม่และลูก

ลูกจะเป็นอย่างไร เมื่อมี แม่เป็นโรคซึมเศร้า

ในวัยทารกซึ่งเด็กยังต้องการความช่วยเหลืออย่างมาก แต่เมื่อเด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ความต้องการของตนเองไม่ได้รับการตอบสนองได้อย่างทันท่วงที เช่น เมื่อหิว เปียกแฉะ เหงา ง่วง จะส่งผลให้เด็กขาดความมั่นคงในจิตใจ รู้สึกไม่เป็นที่รัก

ในวัยเด็กเล็กจะพบปัญหา เลี้ยงยาก กินยาก นอนยาก ส่งผลให้เด็กมีปัญหาเรื่องน้ำหนักตัวขึ้นน้อยได้ ส่วนด้านอารมณ์ พฤติกรรมเด็กที่แม่ซึมเศร้า จะเป็นเด็กหงุดหงิดง่าย ผลกระทบจากวัยทารกนี้ ทำให้เด็กขาดความเชื่อมั่นต่อโลกใบนี้ (trust) เมื่อเติบโตขึ้นเด็กกลุ่มนี้จะไม่สามารถมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับใครได้ เนื่องจากไม่ไว้วางว่าใครจะรักหรือจริงใจต่อตนเองจริงๆ ขาดความมั่นใจในตนเอง รู้สึกตนเองไม่มีคุณค่า มีความวิตกสูง ในแง่พัฒนาการ เมื่อแม่ซึมเศร้า ก็จะไม่สามารถกระตุ้น ส่งเสริมพัฒนาการเด็กตามวัยอย่างเหมาะสม เช่น การตอบสนองในการพูดคุยสื่อสาร เมื่อถึงวัยที่เด็กหัดพูด หรือการส่งเสริมการพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อเมื่อเด็กหัดเดิน ปีนป่าย เป็นต้น

เด็กในวัยก่อนวัยเรียน จะติดแม่มากเพราะไม่มั่นใจ จึงกังวลจากการแยกจากแม่สูง ทำให้อาจมีปัญหาในการไปโรงเรียนได้มาก

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

เมื่อเข้าสู่วัยเรียน จะขาดความมั่นใจในตนเอง ไม่กล้าแสดงออกมีปัญหาด้านการเข้าสังคม การคบเพื่อน เพราะเด็กไม่ได้เรียนรู้ทักษะการเข้าสังคม เพราะแม่ไม่ได้สอนหรือแม่เองไม่ได้เป็นต้นแบบให้ลูก ปัญหาด้านอารมณ์พฤติกรรมของเด็ก มักได้รับการจัดการอย่างไม่เหมาะสม เพราะแม่เองไม่สามารถดูแลจัดการอารมณ์ตนเองได้ ทำให้เด็กอาจมีปัญหาในการควบคุมอารมณ์ตนเอง มีพฤติกรรมก้าวร้าว โดยปัญหาเหล่านี้จะมีได้ต่อเนื่องไปจนถึงวัยรุ่น

บทความแนะนำ รับมือโรคซึมเศร้าในเด็ก

เมื่อแม่เศร้า ลูกก็เศร้า ดังนั้น ภาวะซึมเศร้าในแม่ เป็นปัญหาที่ละเลยไม่ได้ หากคนรอบข้างหรือตัวคุณแม่เองสังเกตว่า เริ่มมีอาการของภาวะซึมเศร้า ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินอาการและรับการรักษา ในบางรายอาจจำเป็นต้องรับประทานยาต้านอาการซึมเศร้า ร่วมด้วย

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

หากแม่มีความสุขแล้ว ลูกย่อมมีความสุขด้วย มีสุขภาพกายและใจสมบูรณ์ช่วยส่งเสริมให้ได้เติบโตและมีพัฒนาการด้านอารมณ์ จิตใจ สังคม ที่ดีต่อไป

บทความที่น่าสนใจอื่นๆ

อาการซึมเศร้าหลังคลอดที่แม่ต้องรู้!

อุทาหรณ์!! แม่วัยรุ่นปลิดชีพตนเองเหตุจากโรคซึมเศร้าหลังคลอด

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา