ทำไมทารกนอนกัดฟัน ลูกฟันขึ้น ลูกเครียด ลูกป่วยไหม อันตรายหรือเปล่า

คุณพ่อคุณแม่เคยสังเกตไหมคะว่า บางครั้งลูกน้อยวัยทารกมีฟันเพียงไม่กี่ซี่ แต่ก็นอนกัดฟัน บางครั้งกัดฟันเสียงดังมาก ทำให้คุณพ่อคุณแม่กังวลใจ ว่าเกิดจากอะไร เป็นอันตรายหรือไม่ และทำอย่างไรให้ลูกเลิกกัดฟัน เรามาลองดูกันนะคะ

ลูกกัดฟันทำไงดี

ลูกกัดฟันทำไงดี ทำไมทารกน้อยชอบนอนกัดฟัน ลูกฟันขึ้น ลูกเครียด ลูกป่วยไหม อันตรายหรือเปล่า ลูกกัดฟัน เกิดจาก อะไร สาเหตุนอนกัดฟัน เกิดจากสุขภาพร่างกาย หรือปัญหาจิตใจ วัยทารกก็เครียดได้แล้วเหรอเนี่ย

 

ทำไมทารกถึงกัดฟัน ฟันขึ้น หรือเปล่า แม่มีวิธีบรรเทาได้อย่างไรบ้าง?

ทารกนอนกัดฟันเกิดจากอะไร?

การนอนกัดฟันพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แม้แต่ในเด็กวัยทารก จนถึงวัยเตาะแตะก็พบได้บ่อย ซึ่งจัดว่าเป็นความผิดปกติของการนอนภาวะหนึ่ง สาเหตุมีได้มากมาย ขอแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ค่ะ

  1. สาเหตุทางด้านร่างกาย เช่น การสบฟันที่ผิดปกติของทารก ฟันซ้อน ฟันเก ความเจ็บปวดจากการปวดหู หรือฟันขึ้น หรือภาวะความผิดปกติของระบบประสาทและสมอง เช่น ภาวะสมองพิการ
  2. สาเหตุทางด้านจิตใจ เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล ซึ่งเป็นอารมณ์ที่สามารถเกิดกับเด็กได้ โดยที่คุณพ่อคุณแม่อาจไม่ได้สังเกต
  3. สาเหตุจากยาบางชนิดที่ลูกทาน เช่น ยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นประสาทต่างๆ

 

การนอนกัดฟันก่อให้เกิดผลเสียอย่างไร?

การนอนกัดฟันของทารกส่วนมาก มักไม่ได้มีผลกระทบที่เป็นอันตราย และมักจะหายได้เอง แต่บางคนก็อาจมีอาการมากจนปวดศีรษะ ปวดหน้า หรือขากรรไกร เจ็บเวลาเคี้ยวอาหารได้ อีกทั้งยังก่อให้เกิดความกังวลใจต่อคุณพ่อคุณแม่ ผู้ดูแลทารก และยังนำมาซึ่งปัญหาฟันถูกทำลายจนฟันสึกได้หากมีอาการในระยะยาว

 

หากลูกนอนกัดฟันบ่อยๆควรทำอย่างไร?

จากผลเสียที่อาจตามมาจากการกัดฟันที่ได้กล่าวมาแล้ว หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกมีอาการกัดฟันบ่อยๆ ก็ไม่ควรจะนิ่งดูดายนะคะ ควรพาลูกไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจฟันจะได้หาสาเหตุของการกัดฟัน และได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง เพื่อที่คุณหมอจะได้ตรวจฟันอย่างละเอียด หากพบปัญหาการสบฟัน หรือโรคในช่องปาก ก็จะได้รับการรักษาทันท่วงที และนัดติดตามอาการ หากพบว่าลูกยังคงกัดฟันเป็นระยะเวลานานจนล่วงเลยวัยทารกแล้ว ก็อาจพิจารณาใช้เครื่องมือในช่องปากที่ช่วยป้องกันฟันของลูก อีกด้วย

ทั้งนี้ ทารกทุกคนควรจะได้รับการตรวจฟันกับทันตแพทย์ตั้งแต่เริ่มมีฟันซี่แรกขึ้น เพื่อสุขภาพฟันที่ดีค่ะ

 

การนอนกัดฟันของทารกจะหายเมื่อใด?

โดยทั่วไปหากไม่มีความผิดปกติที่เป็นสาเหตุรุนแรง หรือได้รับการแก้ไขสาเหตุต่าง ๆ แล้ว ทารกมักจะเลิกกัดฟันเมื่อฟันน้ำนมหลุดไป คือ อายุประมาณ 6 ปี แต่บางคนก็อาจยังกัดฟันต่อเนื่องจนเป็นวัยรุ่น และผู้ใหญ่ ส่วนการนอนกัดฟันที่มีสาเหตุจากความเครียด ความวิตกกังวลของทารก อาการก็จะหายไปอย่างรวดเร็วเมื่อความเครียดนั้นหายไป

 

วิธีป้องกันการนอนกัดฟันของทารก ทำได้อย่างไร?

  • หากการนอนกัดฟันเกิดจากสาเหตุที่ป้องกันได้ เช่น ความเครียด คุณพ่อคุณแม่ก็ควรจะทำให้ทารกรู้สึกผ่อนคลาย โดยเฉพาะช่วงก่อนเข้านอน เช่น ฟังเพลง อ่านนิทาน สบาย ๆ ก่อนเข้านอน
  • หากทารกนอนกัดฟันในช่วงที่ฟันขึ้น ซึ่งสังเกตได้จากลูกชอบเอามือเข้าปาก งอแงหรือตื่นบ่อยตอนกลางคืน มีน้ำลายเยอะ เห็นสันเหงือกลูกเริ่มมีสีซีด ๆ จับดูนูน ๆ ก็อาจบรรเทาอาการได้โดยใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำเย็นที่สะอาดพันนิ้วเพื่อนวดเหงือกให้ลูก
  • หากมีอาการมากก็ให้ทานยาลดไข้แก้ปวดได้ นอกจากนี้ การพาลูกไปพบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอตามนัดตรวจฟัน ก็จะเป็นการป้องกันการกัดฟันที่สำคัญ เพราะจะได้เฝ้าระวังปัญหาในช่องปาก หากพบก็จะได้รักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงทีค่ะ

 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

พัฒนาการลูก เห็น ได้ยิน พูด ลูกมองเห็นตอนกี่เดือน ทารกได้ยินตอนกี่เดือน ทารกพูดได้ตอนกี่เดือน

หลับเถอะคนดี พ่อเหนื่อยจะกล่อม! งั้นลองนี่ เทคนิค Dream Feed ฝึกลูกนอนยาวไป

ของใช้ลูกแต่ละอย่างหมดอายุเมื่อไหร่ ถึงเวลาซื้อใหม่ให้ลูกใช้หรือยัง

หลอดลมอักเสบ เพราะบุหรี่ที่พ่อสูบ ทุกมวนของพ่อ ส่งผลให้ลูกป่วยนะรู้ไหม