ลดไข้ เพิ่มน้ำนม ใบกะเพรา ขึ้นชื่อว่าสมุนไพรไทย ย่อมมีคุณประโยชน์มากกว่า 10 อย่างแน่นอน… เช่นเดียวกับ “ใบกะเพรา” ที่บอกเลยว่างานนี้ มีดีมากกว่าความอร่อย!
ใบกะเพรานั้น นอกจากจะสามารถใช้ทำเป็นยาอายุวัฒนะแล้ว ยังมีคุณประโยชน์มากมายที่บอกเลยว่า ใช้ได้กับสมาชิกทุกคนในบ้านจริง ๆ และนี่คือคุณประโยชน์ทั้งหมดที่เรานำมาฝากกัน
ใบกะเพราช่วยอะไรได้บ้าง?
- ใบกะเพราช่วยทำให้ร่างกายอบอุ่นและป้องกันอาการหวัดได้
- รากกะเพราแห้งนำมาชงหรือต้มกับน้ำร้อนดื่ม ช่วยแก้โรคธาตุพิการ
- ใบกะเพราะช่วยบำรุงธาตุไฟ
- ช่วยแก้อาการคลื่นเหียนอาเจียน
- ช่วยแก้อาการปวดด้วยการใช้ใบกะเพรานำมาคั้นรับประทานสด 1 ถ้วยตะไล จะช่วยแก้อาการปวดมวนท้องได้เป็นอย่างดี
- ช่วยขับลมแก้อาการปวดท้องอุจจาระ
- ใบกะเพรามีสรรพคุณช่วยขับลมในกระเพาะ
- ช่วยแก้อาการจุกเสียดแน่นท้อง
- น้ำสกัดจากทั้งต้นของกะเพรามีฤทธิ์ช่วยลดการบีบตัวของลำไส้
- น้ำสกัดจากทั้งต้นสามารถช่วยในการย่อยไขมัน
- ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร
- กะเพรามีสรรพคุณช่วยขับน้ำดี
- นำใบกะเพราประมาณ 1 กำมือ มาตำผสมเหล้าขาวแล้วนำมาทาบริเวณที่เป็นลมพิษ ก็จะสามารถช่วยลดอาการลมพิษได้
- สรรพคุณของกะเพราใช้ทำเป็นยารักษากลากเกลื้อน ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 20 ใบนำมาขยี้ให้น้ำออกมา แล้วนำมาใช้ทาบริเวณที่เป็นวันละ 2 – 3 ครั้งจนกว่าจะหาย
- ใช้เป็นยารักษาหูด ด้วยการใช้ใบกะเพราแดงสดนำมาขยี้แล้วทาบริเวณที่เป็นหูดเช้า – เย็น จนกว่าหัวหูดจะหลุดออกมา โดยระวังอย่าให้เข้าตาและถูกบริเวณผิวที่ไม่ได้เป็นหูด เพราะจะทำให้เนื้อดีเน่าเปื่อยและรักษาได้ยาก
- ช่วยแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อยได้ ด้วยการใช้ใบกะเพรานำมาตำผสมกับเหล้าขาว แล้วนำมาทาบริเวณที่ถูกกัด ห้ามนำมารับประทานเด็ดขาดเพราะจะมีสารยูจีนอล ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการระคายเคืองในกระเพาะอาหารและอาจถึงขั้นโคม่าได้
- ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคและช่วยฆ่าเชื้อจุลินทรีย์บางชนิดได้ (น้ำมันใบกะเพรา)
- มีงานวิจัยพบว่ากะเพราสามารช่วยยับยั้งสารอะฟลาทอกซิน ซึ่งเป็นสารพิษที่มักพบเจือปนในอาหารซึ่งเป็นสารก่อโรคมะเร็งได้
- ใบกะเพรามีฤทธิ์ในการช่วยขับไขมันและน้ำตาลส่วนเกินออกจากร่างกาย ช่วยลดระดับไขมันในร่างกายและช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยป้องกันโรคเบาหวานได้ โดยมีการใช้ใบกะเพราในกระต่ายทดลอง โดยให้กระต่ายกินใบกะเพราติดต่อ 4 สัปดาห์พบว่าระดับไขมันโดยรวมลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งไขมันเลว (LDL) ลดลง แต่ไขมันชนิดดี (HDL) กลับเพิ่มขึ้น
- ช่วยเพิ่มน้ำนมให้สตรีหลังคลอดบุตร ด้วยการใช้ใบกะเพราสดประมาณ 1 กำมือ นำมาใส่แกงเลียงรับประทานบ่อย ๆ ในช่วงหลังคลอด
- นำเมล็ดไปแช่น้ำจะพองตัวเป็นเมือกขาว นำมาใช้พอกบริเวณตา เมื่อมีฝุ่นละอองหรือเศษผงเข้าตา ผงหรือฝุ่นละอองก็จะหลุดออกมา โดยไม่ทำให้ตาของเรานั้นช้ำอีกด้วย
- ใบและกิ่งสดของกะเพรามีการนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยด้วยการต้มกลั่นจนได้น้ำมันหอมระเหยร้อยละ 0.08 – 0.1 โดยมีราคาประมาณกิโลกรัมละหนึ่งหมื่นบาท
- ใช้ไล่ยุงหรือฆ่ายุง ด้วยการใช้ทั้งใบสดและกิ่งสด เอาใบมาขยี้แล้ววางใกล้ตัว ๆ จะช่วยไล่ยุงและแมลงได้ โดยน้ำมันกะเพราที่สกัดมาจากใบจะมีคุณสมบัติช่วยไล่ยุงได้ดีกว่าต้นสด
- น้ำมันสกัดจากใบสด ช่วยล่อแมลง ทำให้แมลงวันทองบินมาตอมน้ำมันนี้
- ประโยชน์ของกะเพรา ใช้ในการประกอบอาหารและช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ ในเมนูกะเพราสุดโปรด เช่น ผัดกะเพรา แกงเลียง แกงป่า แกงคั่ว แกงเขียวหวาน แกงส้มมะเขือขื่น ผัดกบ ผัดหมู ผัดปลาไหล พล่าปลาดุก พล่ากุ้ง หรือจะนำใบกะเพรามาทอดแล้วใช้โรยหน้าอาหารเมนูต่าง ๆ ก็ได้ ฯลฯ
- ใบกะเพราสามารถช่วยดับกลิ่นปากอันไม่พึงประสงค์ได้
และที่น่าสนใจสำหรับคุณแม่ทุก ๆ คนก็คือ กลิ่นและรสอันเป็นเอกลักษณ์ของใบกะเพรา มีองค์ประกอบหลักคือ น้ำมันหอมระเหยที่ชื่อว่า จีนอล กับเมทิลยูจีนอลนั้นส่งผลดีต่อระบบทางเดินหายใจ ในตำรับยาไทยจึงบอกว่า กะเพราช่วยขับเสมหะ ขับเหงื่อ ลดและแก้ไข้ และมีการศึกษาในคนไข้หอบหืดยืนยันว่า กะเพราทำให้ปอดมีการทำงานดีขึ้น การหายใจสะดวกขึ้น มีฤทธิ์เสริมภูมิคุ้มกันในร่างกายให้แข็งแรงขึ้นได้อีกด้วย
ข้อควรระวังของใบกะเพรามีอะไรบ้าง?
- เป็นพืชที่มีรสเผ็ดร้อนมาก หากรับประทานมากจนเกินไป ก็อาจจะทำคุณแม่เกิดอาการฃร้อนในได้
- เลือกกะเพราที่ปลอดสารพิษ หรือปลูกเองได้จะดีที่สุด
- หากคุณแม่ใช้เพื่อการรักษาควรเลือกใช้ในปริมาณที่เหมาะสมจะดีกว่า และไม่ควรใช้ติดต่อกันนานจนเกินไป
สมุนไพรเพิ่มน้ำนม และอาหารกระตุ้นน้ำนมจริงไหม?
สำหรับคุณแม่ ทีมีปัญหาเรื่องน้ำนมน้อย เรามีเมนูจากสมุนไพรเพิ่มน้ำนม ที่นอกจากจะมีประโยชน์ในการเพิ่มน้ำนมแล้ว ยังมีสรรพคุณทางด้านอื่น ๆ ที่ดีต่อสุขภาพของทั้งคุณแม่ และลูกน้อยอีกด้วย เรามาดูกันว่า สมุนไพรเพิ่มน้ำนม ที่คุณแม่สามารถหากินได้ง่าย ๆ แถมยังช่วยเพิ่มน้ำนมอย่างได้ผล มีอะไรบ้าง
1. กุยช่าย
กุยช่ายเป็นสมุนไพรที่มีแคลเซียม ฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก คาร์โบไฮเดรต และวิตามินซี ช่วยในการขับน้ำนม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ และขับลมได้ดี
เมนูแนะนำ
นำส่วนดอกมาผัดกับเนื้อสัตว์ หรือนำใบมากินสดแกล้มกับผัดไทยหรืออาหารอื่น ๆ
2. กานพลู
น้ำมันที่อยู่ในดอกกานพลูมีส่วนประกอบสำคัญคือยูจีนอง กานพลูนอกจากจะช่วยขับน้ำนมแล้ว ยังมีฤทธิ์ช่วยขับน้ำดีเพื่อนำไปย่อยอาหาร และบรรเทาอาการจุกเสียด แน่นท้องได้ด้วย
เมนูแนะนำ
นำดอกตูมแห้งประมาณ 5 – 8 ดอก มาชงในน้ำเดือด แล้วดื่มแต่น้ำ
3. ขิง
ขิงจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ทำให้น้ำนมของคุณแม่ไหลได้ดี และช่วยขับลม แก้อาเจียน และเชื่อกันว่าหากคุณแม่ทานขิงเข้าไป สรรพคุณที่ดีของขิงจะผ่านไปสู่ลูกผ่านการให้นม ทำให้ลูกไม่ปวดท้อง
เมนูแนะนำ
ยำขิงอ่อน ไก่ผัดขิง โจ๊กใส่ขิง หรือต้มเป็นน้ำขิงดื่มอุ่น ๆ ก็ได้นะ
4. มะรุม
ใบมะรุมมีวิตามินซีสูงกว่าส้ม มีโปรตีน และแคลเซียมสูงกว่านม มีวิตามมินเอสูงกว่าแครอท และมีโพแทสเซียมสูงกว่ากล้วย ซึ่งดีสำหรับแม่และลูก โดยมะรุมถูกนำมาใช้ในการรักษาโรคขาดสารอาหารในเด็กแรกเกิดถึง 10 ขวบ ใบและดอกของมะรุมมีสรรพคุณในการขับน้ำนมได้เป็นอย่างดี
เมนูแนะนำ
แกงส้มใบ หรือดอกมะรุมก็เป็นเมนูที่ทำได้ไม่ยากแถมยังถูกปากคุณแม่หลายท่านอีกด้วย
5. ใบแมงลัก
ใบแมงลักเป็นสมุนไพรที่มีรสหอมร้อน ทำให้น้ำนมไหลได้ดี อีกทั้งยังช่วยขับลม ขับเหงื่อได้อีกด้วย
เมนูแนะนำ
ใส่ใบแมงลักลงในแกงเลียง แกงป่า หรือกินสดแกล้มกับขนมจีน
6. พริกไทย
พริกไทยเป็นสมุนไพรที่มีรสร้อน ทำให้น้ำนมไหลได้ดี และช่วยขับลม ขับเหงื่อ
เมนูแนะนำ
พริกไทยอ่อนผัดกับเนื้อสัตว์ หรือเป็นพริกไทยผงใส่ในต้มเลือดหมูหรือโจ๊กก็ได้
7. ใบตำลึง
ใบตำลึงมีสารอาหารและเส้นใยอาหารในปริมาณมาก ช่วยบำรุงน้ำนม ทำให้มีน้ำนมมากและช่วยบำรุงเลือด บำรุงกระดูก บำรุงสายตา และยังหาได้ไม่ยาก จึงเป็นที่นิยมนำมาประกอบอาหารกันอยู่บ่อย ๆ
เมนูแนะนำ
ต้มจืดใบตำลึง แกงเลียงตำลึง หรือแกงกะทิลูกตำลึง
8. หัวปลี
หัวปลีนั้นอุดมไปด้วยสารอาหารมากมาย และเป็นอาหารที่นิยมทานเพื่อเพิ่มน้ำนมมาตั้งแต่สมัยโบราณ นอกจากนั้นยังมีสรรพคุณในการแก้โรคกระเพาะอาหารและช่วยบำรุงเลือดได้อีกด้วย
เมนูแนะนำ
ยำปลีกุ้งสด ลวกจิ้มน้ำพริก(เวลาลวกให้ใส่เกลือและน้ำตาลลงในน้ำที่ต้มด้วย จะได้ลดความฝาด) ทอดมันปลีกล้วย ห่อหมกปลีกล้วย แกงเลียงปลีปลาช่อนใส่ใบแมงลักและใบตำลึง แกงไก่ใส่ปลี (แต่อย่าทานบ่อยนะครับ เพราะอาหารรสฝาดจะทำให้เด็กท้องผูกได้)
9. น้ำนมราชสีห์
น้ำนมราชสีห์เป็นสมุนไพรที่คนสมัยก่อนใช้ต้มให้ผู้หญิงที่มีน้ำนมน้อยดื่มเพื่อเพิ่มน้ำนมได้ดีทีเดียว
เมนูแนะนำ
ใช้ต้นสด 1 กำมือ ต้มน้ำดื่ม
นอกจาก สมุนไพรเพิ่มน้ำนม แล้ว คุณแม่ควรดื่มน้ำมาก ๆ การดื่มน้ำอุ่นก็เป็นการช่วยเรียกน้ำนมได้อีกทางหนึ่งโดยเฉพาะในช่วงต้นของการให้นมลูก และหากคุณแม่ท่านใด มีเมนูเด็ด ๆ ที่ช่วยเพิ่มน้ำนมอย่างได้ผล ก็อย่าลืมนำมาบอกเล่าเพื่อเป็นประโยชน์กับผู้อ่านท่านอื่นกันได้นะ
แหล่งอ้างอิง : สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.), สำนักงานหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, กรมชลประทาน, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (EN)
ที่มา : https://medthai.com/
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
5 น้ำสมุนไพรที่ควรดื่มสำหรับคนท้อง
รู้ก่อนใช้ สมุนไพรสำหรับแม่ท้อง
คนท้องกินสมุนไพรรางจืดได้มั้ย สมุนไพรอะไรที่คนท้องห้ามกินบ้าง