รับมืออย่างไรเมื่อลูกแตกเนื้อหนุ่ม เนื้อสาว

รับมืออย่างไรเมื่อลูกแตกเนื้อหนุ่ม เนื้อสาว ช่วงเวลานี้อาจเป็นทั้งช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้น และน่าสับสนที่สุด ในชีวิตของเด็กผู้ชายคนหนึ่งเลย ในช่วงดังกล่าวนี้ เด็กชายแต่ละคนจะสังเกตเห็นถึงพัฒนาการทางร่างกาย และความเปลี่ยนแปลง ในขณะที่มีรูปร่างเหมือนผู้ใหญ่มากขึ้น แล้วคุณพ่อคุณแม่อย่างเรา รับมืออย่างไรเมื่อลูกแตกเนื้อหนุ่ม

 

ในช่วงแตกเนื้อหนุ่ม เด็กผู้ชายมักจะสูงขึ้น มีกลิ่นตัว และมีขนในบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย รวมถึงอวัยวะ และอารมณ์ทางเพศ ก็จะพัฒนาขึ้นมากด้วย แม้ว่าปกติแล้ว เด็กผู้ชายจะแตกเนื้อหนุ่มประมาณช่วงอายุ 9 – 12 ขวบปี (และมักสิ้นสุดในช่วง 16 – 18 ปี) และความเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกายจะเกิดขึ้นตามมา แต่เด็กทุกคนก็มีพัฒนาการมากน้อยต่างกัน หากคุณอยากรู้ว่า ลูกแตกเนื้อหนุ่ม หรือเปล่า ลองอ่านตามขั้นตอนเหล่านี้ค่ะ

 

 

ร่างกายเปลี่ยนแปลงอย่างไร?

จริงอยู่ที่ว่าการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย จากวัยเด็กเป็นวัยหนุ่มสาวนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ปัจจุบัน เราพบว่ามีเด็กจำนวนมากที่กำลังประสบกับภาวะที่เรียกกันว่า เป็นหนุ่ม เป็นสาวก่อนวัย นั่นคือ เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสรีระก่อนเวลาอันควร ซึ่งไม่เพียงส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางร่างกายเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อสภาพจิตใจของเด็ก ๆ อีกด้วย ดังนั้นการรู้เท่าทันปัญหา จะช่วยให้ผู้ปกครองสามารถสังเกตุเห็นความผิดปกติของบุตรหลาน และแก้ไขความผิดปกตินั้นได้ทันท่วงที

 

 

 

ทำความเข้าใจวัยรุ่น

ถ้าถามว่าวัยรุ่นเริ่มต้นที่ตรงไหน คำตอบคือแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนโตไวแต่บางคนอาจช้ากว่าคนอื่น เราจะเห็นเด็กบางคนโตเร็วพรวดพราดจนจำไม่ได้หรือบางคนค่อย ๆ โตไปทีละเล็กละน้อย จึงกล่าวได้ว่าขวบปีที่เด็กจะก้าวสู่วัยรุ่นนั้นเป็นช่วงระยะเวลาที่กว้างพอสมควร

 

อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ต้องเข้าใจจุดที่ต่างกันของวัยแรกรุ่น (Puberty) กับวัยรุ่น (Adolescent) กันก่อน ส่วนใหญ่แล้วเมื่อพูดถึงวัยแรกรุ่นก็จะกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายเป็นหลักเช่น มีหน้าอก ประจำเดือน ขนขึ้นตามใบหน้า และอวัยวะเพศ มักพบได้ระหว่างอายุ  8 – 14 ปี โดยประมาณ แต่นอกจากความเปลี่ยนแปลงทางกายที่เปลี่ยนผ่านจากวัยเด็ก สำหรับวัยรุ่น เราจะพูดถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภายในมากกว่า

 

ในวัยรุ่น พ่อแม่จะเริ่มเห็นลูก ๆ มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป เริ่มปลีกตัวไปอยู่ตามลำพัง และคิดเองทำเองมากขึ้น  ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากว่าเพื่อนจะคิดกับตนอย่างไร และพยายามทุกวิถีทาง เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในกลุ่ม แน่นอนว่าเพื่อนสำคัญมาเป็นอันดับหนึ่งกว่าทุกเรื่อง และถ้าให้เลือก เขาจะเอนเอียงไปทางเพื่อน มากกว่าพ่อแม่

 

วัยรุ่นทั้งชายหญิงจะใช้ช่วงเวลานี้ “แปลงโฉม” ตัวเองเป็นลุค หรือสไตล์ต่าง ๆ ในขณะเดียวกันก็อยากเข้ากลุ่ม และทำอะไรเหมือนกับเพื่อน จุดนี้เองที่ถ้าผิดแผกแตกต่างจากเพื่อนเมื่อไหร่ เขาก็จะรู้สึกเป็นทุกข์ และอาจมีปากเสียงกับพ่อแม่ด้วยเรื่องเหล่านี้ได้

 

 

 

อาการดื้อ หัวแข็ง

ลักษณะทั่วไปอย่างหนึ่งที่พบได้ในช่วงวัยรุ่นคือ อาการหัวดื้อ ต่อต้านพ่อแม่ แม้บางคนอาจจะไม่เป็น ก็ยังมีภาวะอารมณ์แปรปรวนขึ้นลงให้เห็นบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับว่าวัยรุ่นทุกคนจะต้องมีอาการเหล่านี้เหมือนกันหมด

 

จุดเปลี่ยนสำคัญที่เกิดระหว่างช่วงวัยนี้คือความต้องการเป็นอิสระเสรี นี่คือสาเหตุที่เขาจะไม่เรียกหาพ่อแม่อีกต่อไป บ้านไหนเลี้ยงลูกอย่างใกล้ชิดจะจับสังเกตพฤติกรรมได้ชัดขึ้น เขาจะมีความคิดเป็นของตัวเอง ไม่คล้อยตามพ่อแม่อีกต่อไป หรือมีการแสดงออกว่าไม่อยากใกล้ชิดเหมือนเดิม

 

ความคิดอ่านของวัยรุ่นจะเริ่มเป็นนามธรรม และเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น เป็นความพยายามที่จะหาแนวทางที่เป็นแบบฉบับของตนเองจนพ่อแม่อาจรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงได้ว่าลูก ๆ ที่เคยว่านอนสอนง่ายกลับกลายเป็นคนละคน ทั้งความคิดเห็น และการแสดงออกติดจะหัวแข็ง และดื้อด้านขึ้น

 

 

เคล็ดลับสำหรับผู้ปกครองเมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่น

 

เรามีคำแนะนำง่าย ๆ ให้คุณพ่อคุณแม่ที่ลูกกำลังเข้าสู่วัยว้าวุ่นนำไปใช้ดู

 

1. หาข้อมูล และศึกษาการเปลี่ยนแปลงของวัยรุ่น

มีหนังสือว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของวัยทีนในท้องตลาดมากมาย หรือลองมองย้อนไปสมัยที่คุณเป็นวัยรุ่นก็ได้ จำได้ไหมเวลาเป็นสิวแค่เม็ดเดียวก็กลุ้มจะเป็นจะตาย หรือครั้งนั้นที่อายแทบแทรกแผ่นดินหนีเมื่อประจำเดือนมาก่อนใครเพื่อน หรือเพื่อน ๆ มีขนหน้าแข้งกันหมดแล้วแต่เรายัง ยิ่งพ่อแม่มีความรู้ความเข้าใจ และเตรียมพร้อมกับอารมณ์แปรปรวนของเขา และการถกเถียงต่อปากต่อคำที่จะเกิดขึ้นไว้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งรับมือง่ายขึ้นเท่านั้น

 

 

2. พูดคุยกับลูกอย่างอบอุ่นใกล้ชิดแต่เนิ่น ๆ 

อาจสายไปถ้าจะเกริ่นเรื่องการมีประจำเดือนกับลูกสาว หรือฝันเปียกกับลูกชายเมื่อเขาก้าวล่วงเข้าสู่วัยว้าวุ่นเข้าไปแล้ว ผู้ใหญ่ในบ้าน ควรพูดถึงการเปลี่ยนแปลงที่เขาจะได้พบเจอกันไว้แต่เนิ่น ๆ ทั้งเรื่องความแตกต่างทางร่างกายของชายหญิง หรือแม้กระทั่งว่าเด็กทารกเกิดมาจากไหน

ถ้าใกล้ชิดกับลูกเพียงพอ ลูก ๆ จะกล้าเล่นมุกเรื่องเพศ หรือแสดงออกให้เราเห็น โดยไม่เคอะเขิน ว่าเขากำลังสนใจรูปโฉมของตัวเองมากขึ้น ซึ่งนี่แหละ คือจังหวะอันดีที่พ่อแม่จะสามารถเอ่ยถามถึงหัวข้อส่วนตั๊วส่วนตัวกับพวกเขาได้ เช่น

 

  • ร่างกายลูกมีอะไรเปลี่ยนไปบ้างไหม ?
  • ลูกรู้สึกแปลก ๆ หรือพิเศษกับคนนี้ไหม ?
  • รู้สึกเศร้าหรือเบื่อโดยไม่มีสาเหตุบ้างไหม ?

 

ถ้าครอบครัวพากันไปตรวจสุขภาพประจำปี ก็จะยิ่งเป็นโอกาสเหมาะที่จะได้พูดคุยกัน คุณหมอสามารถอธิบาย ถึงการเปลี่ยนแปลงให้เขาฟังโดยตรง และแนะนำคุณพ่อคุณแม่ได้ว่า จะพบเจอกับอะไรบ้างในช่วงวัยนี้

 

การตรวจสุขภาพจึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่พ่อแม่ลูก จะได้จับเข่าคุยกัน การปล่อยเวลาล่วงเลยให้ลูกวัยรุ่น เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย และจิตใจเพียงลำพัง อาจทำให้เขารู้สึกอับอาย หวาดกลัว หรือเข้าใจผิด ๆ ต่อสภาวะที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ

 

ยิ่งพ่อแม่เปิดอกคุยกับลูกเร็วเท่าไหร่ เขายิ่งกล้าเล่า กล้าเข้ามาปรึกษา ลองหาหนังสือคู่มือวัยรุ่นให้เขาอ่านแล้วทำความเข้าใจกับตัวเองสักเล่ม พร้อมกับเล่าประสบการณ์สมัยเป็นวัยรุ่นของตัวเองให้เขาฟัง ไม่มีอะไรจะทำให้เขาสบายใจ และให้ความไว้วางใจพ่อแม่ได้เท่ากับการได้รู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์แบบที่พ่อกับแม่เคยประสบมาเช่นเดียวกัน

 

 

 

3. เข้าอกเข้าใจลูก

พยายามเข้าอกเข้าใจ และให้กำลังใจเขา ว่าสิ่งที่กังวล หรือรู้สึกอยู่นั้นเป็นเรื่องธรรมชาติตามวัย ไม่เป็นไรเลยที่เขาจะรู้สึกว่า บางทีตัวเองก็อยากเป็นผู้ใหญ่ บางทีก็ยังอยากเป็นเด็ก

 

 

4. เลือกถกเถียงเฉพาะเรื่องที่สำคัญ

ถ้าลูกอยากย้อมผม ทาเล็บสีดำ หรือใส่เสื้อผ้าแหวกกระแส คิดให้ดีก่อนเอ่ยห้าม เด็กวัยนี้ต้องการความตื่นเต้น ถ้าพ่อแม่ออกอาการทักท้วงยิ่งถูกใจ ลองให้เขาทำสิ่งแปลกใหม่ แต่ไม่เป็นพิษเป็นภัยตามกระแสเพื่อนไปซักพัก แล้วสงวนพลังงานไว้ใช้กับเรื่องที่ใหญ่กว่านั้นดีกว่า เช่น บุหรี่ ยาเสพติด เหล้า หรือการทำอะไรถาวรกับร่างกายอย่างเจาะ สัก หรือระเบิดหู

ทางที่ดีคือการถามเขาตรง ๆ ว่าทำไมถึงอยากแต่งตัวแบบนี้ และรับฟังคำตอบของเขาด้วยความเข้าใจ อาจอธิบายเสริมให้เขารู้ว่าการแต่งตัว หรือรูปลักษณ์นั้นทำให้คนอื่นมีมุมมองต่อเขาอย่างไร

 

 

5. ตั้งความคาดหวังแต่พอดี

แม้จะไม่อยากถูกคาดหวังสักเท่าไหร่ แต่วัยรุ่นก็ยังอยากให้พ่อแม่แสดงความสนใจ และชื่นชมเขาหน่อย เวลาเขาทำคะแนนได้ดี ทำอะไรได้เรื่องได้ราว หรือปฏิบัติตามกฎระเบียบในบ้านได้ไม่ขาดตกบกพร่อง ถ้าความคาดหวังอยู่ในระดับเหมาะสม ไม่บีบคั้นเขาจนเกินไป เขาก็จะไม่อึดอัดใจที่จะพยายามทำตาม แต่ถ้าใส่ความคาดหวังมาก หรือน้อยจนเกินไป กลับกันเขาจะเกิดความรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่สนใจ หรือแคร์ความรู้สึกเขาเลย

 

 

6. สอนเขาในสิ่งที่ควรรู้ และหมั่นสอดส่องอย่างใกล้ชิด

เพราะช่วงวัยรุ่นเป็นวัยแห่งการลอง และบางครั้งสิ่งที่อยากรู้อยากลองก็อาจเป็นเรื่องอันตราย อย่าเลี่ยงที่จะพูดกับลูกเรื่องเพศสัมพันธ์ ยาเสพติด การดื่มเหล้า หรือสูบบุหรี่ ขอให้พูดคุยกับเขาอย่างเปิดกว้าง ก่อนที่เขาจะได้ไปสัมผัสสิ่งเหล่านั้นอย่างมีความรับผิดชอบ เมื่อเวลานั้นมาถึง ให้เขามองเห็นค่านิยม และศรัทธาต่าง ๆ ที่ครอบครัวยึดถือ อธิบายว่าอะไรคือถูกผิด และทำไมจึงที่เป็นเช่นนั้น

อย่าลืมทำความรู้จักกับเพื่อนของลูก และพ่อแม่ของพวกเขาไว้บ้าง ความสัมพันธ์อันดีระหว่างกลุ่มพ่อแม่ด้วยกันเอง คือการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย เพราะจะได้ช่วยกันเป็นหูเป็นตาว่าเด็ก ๆ ทำอะไรบ้าง โดยไม่เข้าไปก้าวก่ายโดยตรงให้เขารู้สึกอึดอัด

 

 

7. สังเกตสัญญาณอันตราย

ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงต่อบุคลิก หรือพฤติกรรมอย่างรุนแรงจากหน้ามือเป็นหลังมือ หรือหมกมุ่นอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งยาวนานเกินไป อาจเป็นสัญญาณถึงปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขจากแพทย์อย่างจริงจัง ลองสังเกตสัญญาณเตือนเหล่านี้

 

  • น้ำหนักเพิ่มขึ้น หรือลดลงอย่างมากผิดปกติ
  • มีปัญหาการนอนต่าง ๆ เช่น ไม่นอนหรือนอนมากเกินไป
  • บุคลิกเปลี่ยนไปจากเดิมมากแบบปุบปับ
  • เปลี่ยนกลุ่มเพื่อนใหม่
  • โดดเรียนเป็นประจำ
  • เกรดตก
  • พูดหรือคุยเล่นถึงเรื่องการฆ่าตัวตาย
  • มีเครื่องบ่งชี้ว่าดื่มเหล้า สูบบุหรี่ หรือใช้ยาเสพติด
  • ข้องเกี่ยวกับเรื่องผิดกฎหมาย

 

พฤติกรรมน่าสงสัยอื่น ๆ ที่ลูกหมกหมุ่นยาวนานมากกว่า 2 เดือนก็อาจเป็นเหตุปัจจัยของปัญหาที่จะตามมาด้วยเช่นกัน โดยปกติแล้วจะมีพฤติกรรมเพียงแค่อย่าง หรือสองอย่างที่อาจเปลี่ยนไป หรือผลการเรียนอาจตกไปบ้าง แต่ถ้าลูกซึ่งเคยทำเกรดได้ดีมาตลอดแล้วตกฮวบฮาบ หรือจากที่เคยร่าเริงสดใสแต่จู่ ๆ กลับกลายเป็นคนเก็บตัวผิดสังเกต จงอย่ารีรอที่จะปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านเด็ก หรือจิตแพทย์เพื่อการช่วยเหลือที่ถูกต้อง

 

 

8. เคารพความเป็นส่วนตัวของเขา 

พ่อแม่หลายคนน่าจะมีปัญหากับเรื่องนี้ เพราะรู้สึกว่าทุกเรื่องของลูกเป็นภาระหน้าที่ต้องดูแล แต่ในความเป็นจริง การช่วยประคับประคองวัยรุ่น ให้ก้าวผ่านรอยต่อสู่ความเป็นผู้ใหญ่นั้นจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องให้เขามีพื้นที่ส่วนตัว ถ้าได้กลิ่นไม่ชอบมาพากลถึงสัญญาณปัญหาที่กล่าวมา อย่าเพิ่งรุกล้ำความเป็นส่วนตัวของเขาทันทีเพื่อเค้นหาความจริง ทางที่ดีลองถอยออกมาดูอยู่ห่าง ๆ ก่อน

พื้นที่ส่วนตัวที่พ่อแม่ไม่ควรเข้าไปก้าวก่าย คือห้องนอน และโทรศัพท์มือถือของเขา อย่าซักไซ้ให้ลูกบอกทุกอย่างที่คิด หรือรายงานว่าทำอะไรบ้างตลอดเวลา ขอเน้นแค่ความปลอดภัยของเขาเป็นหลัก ว่าเขากำลังจะทำอะไรที่ไหนกับใคร และกลับเมื่อไหร่ โดยไม่ต้องให้แจกแจงรายละเอียด รวมทั้งต้องอดใจอย่าทู่ซี้ ขอไปไหนมาไหนด้วยเมื่อเขาไม่ต้องการเป็นอันขาด

จุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่พ่อแม่ต้องมีก่อน คือความไว้เนื้อเชื่อใจ แสดงให้เขาเห็น และบอกเป็นคำพูดว่าเราไว้วางใจเขา ซึ่งตรงนี้ต้องอธิบายไว้ด้วยว่า ถ้าความไว้วางใจนี้ถูกสั่นคลอน พ่อแม่ก็มีสิทธิลิดรอนเสรีภาพบางอย่างของเขาจนกว่าจะปรับปรุงตัวใหม่ด้วยเช่นกัน

 

9. สังเกตว่าลูกเสพสื่อแบบไหน

สอดส่องข้อมูลที่ผ่านหูผ่านตาเขาบ่อย ๆ อย่าง รายการทีวี แมกกาซีน หนังสือ และเวปไซต์ที่ลูกเข้าเป็นประจำ รวมทั้งระมัดระวังไม่ให้เขาเข้าถึงสื่อต่าง ๆ ที่เป็นพิษเป็นภัย การจำกัดช่วง และระยะเวลาที่เขาสามารถอยู่หน้าจอทีวี หรือเล่นคอมพิวเตอร์ ก็เป็นอีกวิธีที่แนะนำ เช่นกำหนดให้เล่นได้ไม่เกินสี่ทุ่ม เป็นต้น รวมทั้งพ่อแม่ต้องหมั่นติดตามสังเกตด้วย ว่าลูกเข้าถึงเนื้อหาอะไรในทีวี อินเตอร์เนท หรือพูดคุยกับใครออนไลน์บ้าง

 

แม้จะโตพอสมควร แต่ในวัยนี้พ่อแม่ก็ยังไม่ควรปล่อยให้เขาดูทีวี หรือเล่นอินเตอร์เนทส่วนตัวแบบไม่จำกัด ทีวี และคอมพิวเตอร์ควรอยู่ในจุดที่พ่อแม่สามารถมองเห็น กับควรพยายามฝึกนิสัยให้เขาเล่น และหยุดเป็นเวลา เช่นกำหนดว่าหลังสี่ทุ่ม จะเป็นเวลาเข้านอนที่เขาไม่สามารถแตะมือถือ หรือเล่นคอมพิวเตอร์ได้อีกแล้ว

 

10. ตั้งกฎระเบียบในบ้านที่เหมาะสม 

วัยรุ่นจำเป็นต้องนอนให้ได้ 8 – 9 ชั่วโมง ดังนั้น การตั้งกฎให้เข้านอนเป็นเวลาจึงเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากเป็นการฝึกให้เขารู้กฎระเบียบ สุขภาพร่างกายก็จะเจริญเติบโตได้เต็มที่เมื่อพักผ่อนเพียงพอ

นอกจากนั้นการให้รางวัลเล็กๆน้อยๆเพื่อชื่นชมที่เขาประพฤติตัวดี เช่น อนุญาตให้เข้านอนดึกกว่าเวลาที่กำหนดครึ่งชั่วโมงในวันหยุด หรือพากันทั้งครอบครัวไปเที่ยวตามสถานที่ที่เขาชื่นชอบ ใช้เวลาสำหรับครอบครัวร่วมกันแต่ก็ยังมีความยืดหยุ่นกับลูกด้วย คือไม่จำเป็นต้องให้เขาต้องทำกิจกรรมที่เราอยากทำ หรือตัวติดกับพ่อแม่ตลอดเวลา ลองคิดถึงช่วงที่คุณเป็นวัยรุ่นดูว่า ตอนนั้นคุณคิดแบบเดียวกันนี้กับพ่อแม่ไหม

 

 

ลูกจะก้าวผ่านช่วงวัยรุ่นรอดใช่ไหม?

ช่วงเวลาที่ลูกเข้าสู่วัยรุ่น ความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของทั้งร่างกาย และพฤติกรรมที่กล่าวมา จะเคลื่อนผ่านไปเร็วบ้างช้าบ้าง จนในที่สุด เราก็จะไม่เห็นภาพเด็กวัยกำลังโตอีกต่อไป ในที่สุดเขาจะกลายเป็นผู้ใหญ่ตัวน้อยที่ช่วยเหลือตัวเองได้ รู้จักความรับผิดชอบ และพูดจาเป็นเรื่องเป็นราว

ที่สุดแล้ว ขอมอบกำลังใจเป็นคำขวัญสำหรับคุณพ่อคุณแม่ ที่จะนำพาลูกวัยรุ่นให้ก้าวเดินผ่านช่วงวัยนี้กันไปให้ได้ทุกคนว่า “เราจะเผชิญกับช่วงเวลานี้ และข้ามผ่านมันไปได้ด้วยกันอย่างงดงามในที่สุด”

 

 

 

ที่มา : bumrungrad , ignitethailand

 

 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

5 สัญญาณของลูกน้อยเกี่ยวกับความสูง สิ่งที่มีผลต่อ ความสูงของลูก

ระวัง! ลูกเป็นโรคโตเกินวัย เป็นหนุ่มสาวเร็ว ภัยร้ายท่ี่พ่อแม่สร้าง

เปิดใจสอนเรื่อง เซ็กส์กับลูก ที่กำลังก้าวสู่วัยรุ่นดีกว่าให้ลูกเรียนรู้แบบผิด ๆ 

บทความโดย

Arunsri Karnmana