ระวัง!! ไส้เลื่อนในทารกเป็นได้ทั้งชายและหญิง
ไส้เลื่อนเป็นอย่างไร
รศ.นพ. รวิศ เรืองตระกูล สาขาวิชากุมารศัลยศาสตร์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวถึง โรคไส้เลื่อนในทารก ดังนี้ โรคไส้เลื่อนเกิดขึ้นจากถุงเยื่อบุช่องท้องที่ยื่นออกมาบริเวณขาหนีบไม่ปิดเองตามธรรมชาติ ส่วนใหญ่จะเกิดกับเด็กผู้ชาย เพราะถุงเยื่อบุช่องท้องนี้จะยืดยาวลงมาถึงถุงอัณฑะ ขณะที่เด็กผู้หญิงจะลงมาถึงหัวหน่าวเท่านั้น ซึ่งถ้าถุงเยื่อบุช่องท้องนี้ไม่ปิดไปตามธรรมชาติ ก็จะเกิดการผิดปกติขึ้นได้ทั้งเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย โดยในลักษณะของความผิดปกตินั้นจะขึ้นอยู่กับขนาดของถุง ถ้าถุงมีขนาดใหญ่ก็ทำให้มีลำไส้ หรืออวัยวะภายในช่องท้องเลื่อนลงมาทำให้กลายเป็นไส้เลื่อน พบว่า เด็กผู้ชายมีโอกาสเป็นไส้เลื่อนได้มากกว่าเด็กผู้หญิง ประมาณ 5-10 เท่า และเกิดขึ้นในข้างขวามากกว่าข้างซ้าย และพบในเด็กที่คลอดก่อนกำหนดมากกว่าเด็กที่ครบกำหนด
อาการของเด็กที่เป็นไส้เลื่อน
1. จะมีก้อนบริเวณเหนือขาหนีบและข้างหัวเหน่าเข้าๆ ออก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเบ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเบ่งอุจจาระ ปัสสาวะ ไอ หรือร้องไห้ก็ตาม โดยสังเกตเห็นว่าเป็นก้อนนูนจากข้างหัวเหน่าลงไปในถุงอัณฑะในผู้ชายหรือข้างหัวเหน่าในผู้หญิง
2. ก้อนที่ออกมาจะยุบหายไปหมดเมื่อเด็กนอนหลับ
3. บางครั้งคุณพ่อคุณแม่ก็สามารถดันก้อนไส้เลื่อนกลับเข้าไปในช่องท้องได้ ซึ่งถ้าคุณหมอได้ตรวจร่างกายและพบก้อนไส้เลื่อนและสามารถดันกลับเข้าไปได้ ก็สามารถให้การวินิจฉัยได้ทันทีว่าเป็นไส้เลื่อน สมควรที่จะได้รับการผ่าตัดรักษาโดยไม่ต้องรับการตรวจด้วยวิธีการพิเศษอื่น ๆ
ปล่อยไว้ อาจไส้เน่า
หากตรวจพบว่าเป็นไส้เลื่อน ก็ควรได้รับการผ่าตัดรักษาเลย ไม่ควรปล่อยทิ้งเอาไว้ เนื่องจากจะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง คือ “ไส้เลื่อนติด” โดยลำไส้ที่เลื่อนลงมาในถุง ไม่สามารถเลื่อนกลับขึ้นสู่ช่องท้องได้ ทำให้เกิดการขาดเลือดและลำไส้เน่าได้ เมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้น อาการของโรคไส้เลื่อนจะเปลี่ยนไปจากอาการที่มีก้อนโต ๆ ยุบ ๆ ได้ กลายเป็นก้อนติดแน่น อาจมีอาการบวมแดงร่วมด้วย ขณะเดียวกันก็จะมีอาการปวดรุนแรง ร่วมกับการคลื่นไส้ อาเจียน และมีไข้ กลายเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรักษาก่อนที่ลำไส้จะเน่า
คุณหมอฝากเตือน
การรักษาไส้เลื่อนที่ดีที่สุด คือ การผ่าตัดแม้ว่าจะทำให้คุณพ่อคุณแม่ไม่สบายใจเมื่อได้ยินคำนี้ แต่การประวิงเวลาการผ่าตัดออกไม่มีผลดีต่อเด็ก และการผ่าตัดไส้เลื่อนในเด็กไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด คือ
1. การดมยาสลบในเด็กซึ่งไม่เคยมีโรคประจำตัวใด ๆ มาก่อนมีความเสี่ยงต่ำมาก ๆ การผ่าตัดนี้ไม่ได้ผ่าตัดเข้าไปภายในช่องท้องเพียงแต่ผ่าตัดซ่อมแซมผนังหน้าท้องที่เป็นปัญหาเท่านั้น
2. การผ่าตัดใช้เวลานาน 30 – 45นาที และเมื่อเด็กฟื้นจากการดมยาสลบและตื่นได้ดี ทางโรงพยาบาลก็จะให้กลับบ้านได้เลยในวันเดียวกัน โดยไม่จำเป็นต้องนอนรับการรักษาในโรงพยาบาล
3. กรณีเด็กมีอายุน้อยมาก ๆ เช่นเป็นเด็กคลอดก่อนกำหนดและมีอายุน้อยมาก ๆ ในขณะที่ผ่าตัดหรือเด็กมีโรคประจำตัวบางอย่างเช่นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคไต เป็นต้น ซึ่งในกรณีเช่นนี้ ก็ควรนอนโรงพยาบาลหลังผ่าตัด 1 – 2วัน
4. การรอทำผ่าตัดตอนเด็กโต จะมีความเสี่ยงของการเกิดไส้เลื่อนติดคาได้ ถ้าประวิงเวลาการผ่าตัดไส้เลื่อนออกไป เด็กอาจจะเกิดไส้เลื่อนติดคาอาจจะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
หากพบว่าลูกมีอาการไส้เลื่อนตามที่ได้กล่าวมา อย่ารอช้ารีบปรึกษาคุณหมอเพื่อวินิจฉัยและรักษาต่อไป เพื่อความปลอดภัยของลูกนะคะ
อ้างอิงข้อมูลจาก
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ลูกสะดือจุ่นแบบนี้ ทำไงดี มีอันตรายหรือเปล่า
พบ! เด็กไทยเป็นโรคไตมากขึ้น! ผลจากขนมซองและฟาสต์ฟู้ด