เมื่อลูกน้อยวัยเตาะแตะ เริ่มแตะฝ่าเท้าเป็นก้าวแรก คุณพ่อคุณแม่ย่อมดีใจมากเป็นพิเศษ เนื่องจากได้เห็นพัฒนาการเริ่มต้นของลูก หลาย ๆ คนอาจจะคาดหวังอยากส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการที่ก้าวไกล อยากซื้ออะไรหลาย ๆ อย่าง เพื่อส่งเสริมทักษะและพัฒนาการของลูก รถหัดเดิน ก็เป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ยอดฮิตที่เหล่าคุณพ่อคุณแม่ซื้อให้ลูกไว้เพื่อหัดเดินเล่น ทว่า รถหัดเดิน นั้นมีความจำเป็นและควรซื้อให้ลูกจริงหรือ รวมทั้งยังช่วยทำให้ลูกเดินเร็วขึ้นจริงหรือไม่ การที่ผู้ปกครองอุ้มลูกเมื่อยจนมาก แล้วอยากมีเครื่องทุ่นแรง และอยากฝึกลูกให้เดินได้ไว ๆ รถหัดเดิน ใช่คำตอบที่ถูกต้องหรือเปล่า วันนี้เราจะพาทุกท่านไปหาคำตอบพร้อมกันกับบทความนี้ได้เลย
รถหัดเดิน ทำให้ลูกเดินเร็วขึ้นได้จริงหรือไม่ ?
ในช่วงที่ลูกน้อยยังเดินไม่ได้ หวังว่าลูกน้อยจะเดินได้เร็วขึ้นเพราะสามารถก้าวขาได้เร็ว ความเป็นจริงแล้วเมื่อลูกน้อยขยับตัวเพียงเล็กน้อย รถหัดเดินที่มีล้ออยู่โดยรอบก็พร้อมกลิ้งไปแบบอัตโนมัติ โดยที่ฝ่าเท้าของลูกไม่จำเป็น ต้องเหยียบเต็มฝ่าเท้าเสียด้วยซ้ำ และถ้าเด็กต้องอยู่ในรถหัดเดินบ่อย ๆ เป็นเวลานาน ก็ยิ่งทำให้เด็กเดินช้า เพราะไม่ได้ฝึกการใช้กล้ามเนื้อที่ถูกต้อง เพราะท่ายืนและท่าเดินของเด็กในตอนที่อยู่ในรถหัดเดิน จะไม่ใช่ท่าตามปกติแบบธรรมชาติ สำหรับเด็กบางคนขาลอยเหนือพื้น ขาเด็กไม่ได้สัมผัสพื้นจริงเพียงแต่เป็นการกวาดเท้าไปมาเท่านั้น บางครั้งยังสามารถทำให้เกิดอันตรายได้จากการเคลื่อนไหวของรถหัดเดินที่เคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว และอาจตกลงจากที่สูง หรือเคลื่อนตัวไปชนสิ่งของจนตกล้มได้อีกด้วย
นอกจากนี้จากคำยืนยันของ ผศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ที่กล่าวถึงรถหัดเดินไว้ว่า เด็กเล็กที่อยู่ในรถหัดเดินเวลาการเคลื่อนที่จะใช้ปลายเท้าจิกลง และไถไปข้างหน้า แต่เวลาเด็กเริ่มเดินจริง กลไกการเดินที่ถูกต้อง จะใช้ส้นเท้าลงก่อนเป็นอันดับแรก ดังนั้น เด็กที่อยู่ในรถหัดเดินเป็นเวลานานหลายชั่วโมงต่อวัน เมื่อตั้งไข่ได้ดีแล้วจะก้าวเดิน เด็กจะใช้ปลายเท้าจิกลงซึ่งจะทำให้เดินไม่ได้ หรือเดินเป๋ เพราะใช้ปลายเท้าในการเดิน โดยทั่วไปเด็กที่อยู่ในรถหัดเดินหลายชั่วโมงต่อวันจะเดินได้ช้ากว่าเด็กที่ไม่ได้ใช้ประมาณ 1-3 เดือน ซึ่งในสิงคโปร์มีการวิจัยในเด็ก 185 คน พบว่าร้อยละ 10.8 ของเด็กที่ใช้รถหัดเดินเป็นประจำจะมีพัฒนาการ ด้านการเคลื่อนไหวช้ากว่าเด็กที่ไม่ได้ใช้รถหัดเดิน
สอนลูกเดินอย่างไรให้ปลอดภัย
1. เริ่มจากการคลาน
ก่อนที่จะมาฝึกลูกเดินนั้น ผู้ปกครองต้องทำความเข้าใจพัฒนาการของลูกตนเองให้ดีเสียก่อน โดยก่อนที่จะฝึกลูกให้เริ่มเดิน ลูกจะต้องเริ่มจากการคลานก่อนเป็นอันดับแรก แต่ในทารกบางคนอาจข้ามขั้นตอนนี้ไปเลยก็ได้ และเริ่มด้วยการยืน หลังจากนั้นจะต่อด้วยการเดิน ซึ่งการคลานจะช่วยให้ลูกเรียนรู้ที่จะเคลื่อนไหวได้ด้วยตัวเอง และเมื่อคลานได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เด็กจะค่อย ๆ ยืนและหาที่เกาะเพื่อทรงตัวให้ได้
2. ค่อยๆ เดินเกาะไปเรื่อยๆ
หลังจากที่ลูกเริ่มยืนเกาะและทรงตัวได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปลูกจะค่อย ๆ เรียนรู้ที่จะเดินไปด้วยด้วยตัวเอง พร้อมกับเกาะสิ่งต่าง ๆ ไปเรื่อย ๆ และเมื่อลูกอายุประมาณ 9-10 เดือน เด็กจะเริ่มเรียนรู้การทรงตัว และในระหว่างนี้ผู้ปกครองอาจจะต้องคอยสังเกตมากเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้เกิดสิ่งของของตกใส่ลูกหรืออาจเกิดอันตรายจากการหกล้มได้
3. เริ่มเดินแบบปล่อยมือ
หลังจากที่ลูกเริ่มมีความมั่นใจว่าตัวเองสามารถเดินได้โดยไม่ต้องเกาะสิ่งของต่าง ๆ รอบตัวแล้ว หลังจากนี้ลูกจะค่อย ๆ เดินด้วยตัวเอง ซึ่งแน่นอนว่าอาจมีการล้มลุกคลุกคลานบ้าง ผู้ปกครองควรปล่อยให้ลูกเรียนรู้ที่จะลุกได้ด้วยตัวเอง เพื่อให้ก้าวต่อไปของลูกมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น โดยเด็กจะเริ่มเดินได้เองอย่างอิสระเมื่ออายุ 12-14 เดือน หรืออย่างช้าที่สุดคือ 18 เดือน
บทความที่น่าสนใจ : การเรียนรู้และการพัฒนาอย่างสร้างสรรค์ ของเด็กวัยหัดเดินมีความสำคัญอย่างไร
รถหัดเดิน ส่งผลอันตรายอย่างไร
โดยส่วนใหญ่แล้วลักษณะการออกแบบของรถหัดเดินจะมาพร้อมฐานที่มีความกว้างน้อย รวมทั้งโครงสร้างที่เปราะบาง อาจทำให้เกิดเหตุพลิกคว่ำอยู่เสมอได้ โดยเฉพาะเมื่อเวลาที่เด็กไถไปด้วยความเร็ว แล้วไปเจอกับพื้นต่างระดับ สะดุดกับสิ่งของบนพื้น หรือแม้แต่ชน กับเสาหรือกำแพง จนได้รับบาดเจ็บไม่ว่าจะที่แขน ขา ใบหน้า หรือศีรษะ ที่สำคัญคือ รถหัดเดินร่วงลงมาจากที่สูง ไม่ว่าจะเป็นชั้นบนของบ้าน หรือบ้านที่มีใต้ถุน อาจส่งผลทำให้เด็กบางคนถึงขั้นพิการหรือเสียชีวิตได้
นอกจากการไถรถหัดเดินวิ่งไปชนกับ “ของแข็ง” ยังมีโอกาสวิ่งไปชน “ของร้อน” ได้อีกด้วย เช่น โต๊ะที่วางกาน้ำร้อน หม้อหุงข้าว หรือเตารีด หากโดนน้ำร้อนลวกเพียงแค่ 30 วินาที ผิวหนังจะไหม้ และอาจเกิดความเสียหายอย่างถาวร และการโดนของร้อนอาจทำให้เกิดอาการช็อกได้ เนื่องจากร่างกายสูญเสียน้ำ และเกลือแร่อย่างฉับพลัน และสิ่งที่อาจจะนึกไม่ถึง แต่ได้เกิดขึ้นแล้วก็คือ รถหัดเดินเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เด็ก “จมน้ำตาย” เช่น จากรายงานทั้งในไทยและต่างประเทศ เกิดกรณีเด็กไถรถหัดเดินจนหล่นลงไปในสระน้ำ บ่อน้ำ การไถรถไปชนจนหน้าคว่ำลงไปในอ่างน้ำ ถังน้ำ หรือแม้แต่ส้วมชักโครกก็เคยเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นมาแล้ว ซึ่งสามารถนำมาสู่ภาวะสมองตายเพราะขาดอากาศหายใจได้
อันตรายของรถหัดเดิน
ผลการวิจัยจากศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัย และป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้รวบรวมข้อมูลการใช้ผลิตภัณฑ์ทารกจำนวน 12 ชนิด ในครอบครัวที่มีลูกอายุไม่เกิน 2 ขวบ ได้แก่ กรุ๊งกริ๊ง หัวนมหลอก รถเข็นเด็ก ยางกัด เตียงเด็ก เปลคอก เปลไกว รถพยุงตัว (หัดเดิน) เก้าอี้สูง เก้าอี้นั่งโยก เก้าอี้กระโดด และเป้อุ้มเด็ก นั้นทำให้พบสิ่งที่น่าตกใจมากว่า ในจำนวนเด็ก 245 ราย มีเด็กบาดเจ็บจากการใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ถึง 82 ราย โดยบาดเจ็บจากรถหัดเดินสูงสุดถึง 47 ราย ตามติดมาด้วยของเล่นยอดฮิตในเด็กทารก “กรุ๊งกริ๊ง” (24ราย) เปลไกว (20ราย) รถเข็นเด็ก (10ราย) และอื่น ๆ ตามลำดับ
ส่วนในบ้านเราทุกวันนี้ หน่วยงาน สคบ. (สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค) ได้ออกกฎหมายให้ผู้ผลิตต้องเปลี่ยนชื่อจากรถหัดเดินมาเป็น “รถพยุงตัว” และให้ปิดฉลากคำเตือนที่ตัวรถว่า “อุปกรณ์ชิ้นนี้ไม่ได้ช่วยหัดเดิน” แต่ก็ยังขายได้อย่างเสรี รศ.นพ.อดิศักดิ์ ระบุว่า รถพยุงตัวหรือรถหัดเดินเป็นอุปกรณ์ที่ยังคงวางขายทั่วไปในห้างสรรพสินค้าและร้านของใช้เด็ก พ่อและแม่ในสังคมไทยมีความเคยชินในการใช้เป็นอย่างมาก ส่วนใหญ่แล้วมักจะจัดหาให้เด็กเมื่อเด็กอายุประมาณ 5-6 เดือน ขณะที่การศึกษาพบว่า พ่อแม่หาซื้อให้เด็กตั้งแต่เด็กอายุประมาณ 4 เดือน ร้อยละ 50 คิดว่า จะช่วยให้เด็กเดินได้เร็วขึ้น ร้อยละ 40 ให้เหตุผลว่า ใช้เพราะผู้ดูแลไม่ว่าง ต้องทำงานบ้าน จึงต้องมีที่ที่วางเด็กไว้โดยไม่ต้องดูแลเอง ซึ่งเป็นเหตุผลที่ตรงข้ามกับข้อควรปฏิบัติในการใช้ทั้งสิ้น
ขณะที่ในต่างประเทศอย่างแคนาดา ออสเตรเลีย และบางรัฐในสหรัฐอเมริกา ได้มีกฎหมายห้ามมิให้มีการจำหน่ายรถหัดเดินแล้ว ซึ่งในบางรัฐให้มีการจำหน่ายพร้อมคำเตือนอันตรายแก่ผู้ซื้อ สำหรับในบ้านเราปัจจุบันสำนักงานคุ้มครอง ผู้บริโภคกำหนดให้เรียกว่า รถพยุงตัว ไม่ให้ใช้คำว่า รถหัดเดิน และให้กำกับฉลากคำเตือนบนผลิตภัณฑ์ให้ผู้ดูแลเด็กรู้ว่าอาจมีอันตราย ต้องอยู่ใกล้ชิดเด็กเมื่อใช้ผลิตภัณฑ์นี้ และไม่ช่วยในการหัดเดิน แต่ที่เป็นผลเสียมากกว่านั้นคือ อันตรายจากอุบัติเหตุ จากข้อมูลการวิจัยพบว่า หนึ่งในสามของเด็กที่ใช้รถหัดเดินจะเคยได้รับบาดเจ็บจากรถหัดเดิน อันตรายที่รุนแรงพบได้จากการตกจากที่สูง การพลิกคว่ำจากพื้นที่มีความต่างระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้รถหัดเดินในบ้านที่มีหลายชั้น หรือบ้านที่ยกระดับมีใต้ถุนบ้านแล้วไม่ได้ทำประตูกั้นหน้าบันได หรือทำประตูกั้นแต่เปิดได้สองทิศทาง
บทความที่น่าสนใจ : แม่แชร์ รถหัดเดิน ทำให้ลูกต้องทำกายภาพ
แม้ว่ารถหัดเดินในทางการแพทย์ จะไม่ได้ระบุไว้ว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เด็กมีพัฒนาการในการเดินที่เร็วขึ้น รวมถึงยังมีผลการวิจัยต่าง ๆ ยืนยันว่ารถหัดเดินมีผลเสียมากกว่าผลดีต่อเด็กเป็นอย่างมาก แต่ถ้าหากผู้ปกครองมีความจำเป็นในการใช้งาน อาจไม่ว่างที่จะอุ้ม ก็ควรอย่าให้ลูกคลาดสายตาเด็ดขาด ควรจัดพื้นที่ภายในบ้านให้ปลอดภัย ไร้สิ่งกีดขวาง พื้นต้องเรียบ แต่ถ้าให้ดีที่สุดควรจะเป็นคอกกั้นจะดีกว่า ได้ใช้พื้นที่ที่ปลอดภัย อยู่ในคอกที่เรามั่นใจได้ว่าไม่มีสิ่งอันตราย และเด็กยังสามารถฝึกหัดเดินได้ดีกว่าเดิม
โดยทั่วไปแล้วหมอไม่แนะนำให้ผู้ปกครองใช้รถหัดเดินกับลูก เนื่องจากท่ายืนและท่าเดินของเด็กขณะอยู่ในรถหัดเดินจะไม่ใช่ท่าเดินตามปกติ เด็กบางคนเพียงใช้ปลายเท้าแตะพื้นรถก็จะขยับไปได้ ขาลอยเหนือพื้น ขาเด็กไม่ได้สัมผัสพื้นจริง การใช้รถหัดเดินอาจจะทำให้เด็กเดินเองได้ช้า การที่มีรถช่วยพยุงน้ำหนักทำให้กล้ามเนื้อขาไม่ได้ออกแรงรับน้ำหนักตัว ทำให้ขา เท้า ไม่แข็งแรง นอกจากนี้เมื่อเด็ก ๆ ใช้รถคล่อง จะเคลื่อนไหวได้ไว อาจไปชนสิ่งของมาถูกที่ตัวเด็กและหกล้มได้ และเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เช่น ในบ้านที่มีสระน้ำ หรือบ่อน้ำ เด็กอาจพลัดตกลงไปในบ่อน้ำ หรือชนกับถ้วยกาแฟที่มีกาแฟร้อนๆ
บทความที่น่าสนใจ :
แพทย์ตอบข้อสงสัย ทำไมถึงไม่ควรใช้ รถหัดเดิน ในเด็กที่กำลังหัดเดิน
ซื้อรถหัดเดิน ให้ลูกดีไหม ช่วยให้ลูกเดินได้เร็วจริงหรือเปล่า อันตรายของรถหัดเดิน
ชวนคุณแม่ ฝึกลูกน้อยเคลื่อนไหว เสริมพัฒนาการร่างกาย ในวัยขวบปีแรก
ที่มา : oknation, Facebook: นมแม่, thaihealth