ลูกท้องผูกแก้ยังไงเพื่อเลี่ยงการใช้ ยาสวนทวาร
ปรับพฤติกรรมลูกรักก่อนจะสาย แก้ปัญหาลูกท้องผูกจนต้องใช้ ยาสวนทวาร
เอ๊ะ อะไรตุงๆ นกกะทุงจะออกไข่
คุณพ่อคุณแม่คงสบายใจที่ร้องเพลงนี้เชียร์ลูกเสร็จก็ได้เวลาอึ๊อึจะถูกเบ่งออกมาให้ลูกน้อยสบายพุง พ่อแม่สบายใจ ซึ่งโดยทั่วไปเด็กที่อายุ 4 ขวบขึ้นไปอาจจะอุจจาระวันละ 1 ครั้ง แต่เอาล่ะสิ เมื่อลูกอุจจาระน้อยกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์เป็นเวลามากกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป อุจจาระลำบากต้องเบ่งนาน อุจจาระแข็งเป็นก้อนเล็กก้อนน้อยเหมือนขี้แพะ แถมอาจมีอาการปวดบริเวณทวารหนักหรือบางครั้งมีเลือดปนออกมาด้วย ก็จะหมายความว่าลูกน้อยมีเหตุให้ “ท้องผูก” มาเยือนซะแล้วค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ อาหารแก้ท้องผูกสําหรับคนท้อง ตั้งครรภ์ท้องผูก มีวิธีแก้ยังไงบ้าง
เหตุให้ท้องผูก ? & วิธีป้องกัน
- ทานอาหารไม่มีกากใย ใยอาหารเป็นพระเอกที่ช่วยเพิ่มกากอาหารหรือปริมาณเนื้ออุจจาระและอุ้มน้ำทำให้อุจจาระอ่อนตัวขับถ่ายได้สะดวกขึ้น ค่ะ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรช่วยกระตุ้นให้ลูกน้อยทานอาหารที่มีกากใยมากขึ้น ได้แก่ ผักและผลไม้ต่างๆ โดยผลไม้บางชนิดมีคุณสมบัติช่วยระบายโดยธรรมชาติ เช่น ลูกพรุน กีวี มะละกอ กล้วยน้ำว้าสุก อ้อ! อย่าลืมให้ลูกดื่มน้ำอย่างน้อย 6 – 8 แก้วต่อวันด้วยนะคะ
- นั่งดูโทรทัศน์หรือเล่นคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ จะทำให้เด็กขาดการเล่นที่มีลักษณะเคลื่อนไหวร่างกาย คุณพ่อคุณแม่ควรลดเวลาของลูกกับสื่อเหล่านี้และเพิ่มกิจกรรมการเคลื่อนไหวเพื่อให้ร่างกายและลำไส้ของลูกน้อยมีการเคลื่อนไหวมากขึ้นค่ะ
- การกลั้นอุจจาระ เป็นเพราะเด็กบางคนอาจไม่ชอบอุจจาระนอกบ้าน ซึ่งอุจจาระเมื่ออยู่ในร่างกายนานๆ ก็จะแข็งขึ้น ก้อนใหญ่ขึ้น ในที่สุดก็จะเกิดอาการท้องผูกตามมาค่ะ ให้คุณพ่อคุณแม่บอกลูกนะคะว่าทุกครั้งที่รู้สึกอยากถ่ายอุจจาระให้ถ่ายทุกครั้งไม่ควรกลั้นไว้ การฝึกนิสัยให้ลูกขับถ่ายเป็นเวลาทุกวันก็ช่วยได้นะคะโดยควรฝึกหลังทานอาหารเพราะเมื่อท้องอิ่มจะกระตุ้นให้ลำไส้อยากถ่ายตามธรรมชาติ (gastrocolic reflex) ซึ่งจะเกิดในช่วง 5-30 นาทีหลังจากทานอาหารค่ะ เวลาลูกถ่ายก็ควรจะอยู่ใกล้ๆ ไม่ควรดุหรือทำโทษเพราะจะทำให้ลูกมีความรู้สึกไม่ดีกับการขับถ่าย นอกจากนี้ควรให้เวลากับการถ่ายอุจจาระให้เพียงพอ ไม่ควรรีบเร่งค่ะ
แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่ทำตามวิธีที่แนะนำไปข้างต้นแล้วลูกยังคงท้องผูกอยู่ก็ถึงเวลาปรึกษาคุณหมอแล้วค่ะ ซึ่งหมอจะให้ยาระบายที่เหมาะกับลูก โดยจะเลือกยาที่ปลอดภัยแลมีผลข้างเคียงต่ำ เช่น หากลูกมีอุจจาระอัดแน่นในลำไส้หมออาจจะให้ยาสวนทวารหนักหรือให้ยากลีเซอรีนเหน็บทวารหนักซึ่งให้ผลเร็วกว่าการรับประทานไปก่อน
หลังจากนั้น จึงจะให้ยาระบายที่ทำให้อุจจาระนุ่มขับถ่ายออกได้ง่าย แล้วจึงค่อยๆ ลดยาจนหยุดยาได้ กรณีที่ท้องผูกเรื้อรังไม่ควรหยุดยาระบายเร็วเกินไปและไม่ควรหยุดยาเองเพราะทำให้อาการกลับมาเป็นใหม่ทั้งๆที่กำลังดีขึ้น เพราะฉะนั้นอย่าลืมใช้ยาตามที่คุณหมอด้วยนะคะ
ที่มา : med.mahidol.ac.th
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ท้องผูก ลูกถ่ายเหมือนขี้แพะ!! ท้องผูกแบบไหนที่เรียกว่าไม่ธรรมดา ทารกท้องผูกทำอย่างไร
ลองดู! อาหาร 5 อย่าง บรรเทาอาการทารกท้องเสีย
ทารกควรนอนท่าไหน ปลอดภัยที่สุด